“ช็อคซีนีม่า” ทางด้านการศึกษาใน จ.ชุมพร


ผมจึงเริ่มต้นพูดกับที่ประชุมโดยตั้งใจที่จะ “ช็อค” ให้ตระหนักถึง ปัญหา ที่แท้จริงของโรงเรียน เพราะผมเชื่อว่าท่านผู้อาวุโสเหล่านี้มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ สติปัญญาเพียงพอที่จะ ใคร่ครวญ ให้ เข้าถึง-เข้าใจ และสามารถกำหนด ภารกิจ ของตนเองในการรับผิดชอบร่วมกันสร้างสรรค์เพื่อโรงเรียนได้

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2550 ผมขึ้นเวทีอภิปรายในหัวข้อ การรังสรรค์ให้โรงเรียนพัฒนาชุมชนสู่มาตรฐานการศึกษา ซึ่งจัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม ประธาน และ เลขานุการคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสิ้น 282 คน เข้าใจว่าคงจะมาจากโรงเรียน 141 แห่งทั่วทั้งเขตพื้นที่การศึกษา 1 ซึ่งครอบคลุม 3 อำเภอ คือ ปะทิว, ท่าแซะ และ อ.เมืองชุมพร

ก่อนหน้านั้นก็ได้รับรู้มาบ้างเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังเน้นหนักในช่วงนี้ โดยได้เชิญปรมาจารย์ในการปฏิรูปการศึกษา Michael Fullan จากประเทศอังกฤษ มาจัดเวิร์คช็อปให้กับผู้บริหารระดับสูง และมีการขยายผลไปทั่วทั้งประเทศในช่วงปิดเทอมใหญ่ที่ผ่านมา

คำว่า ผู้นำการเปลี่ยนแปลง, การกระจายอำนาจ, มาตรฐานการศึกษา จึงเป็น คำหลัก ที่นักบริหารการศึกษาทุกระดับ ตั้งท่า นำมาใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อน การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเริ่มจะออกอาการแผ่วปลายให้เห็น เหมือนอาการของนักมวยไทยยกห้าที่พี่เลี้ยงยืนโบกผ้าให้ถอยวนอยู่ข้างเวที

การประชุมเมื่อวันที่ 13 เป้าหมายจึงเป็นการนำแนวทางดังกล่าวขยายผลเข้าสู่ คณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้มีขึ้นทุกโรงเรียน แต่ที่ผ่านมาผมเข้าใจเอาเองว่าการทำงานร่วมกันคงจะวนเวียนอยู่กับการ นั่งฟังท่านอวดอ้าง-ก้าวย่างเรื่องขาดแคลน-จบด้วยแผนระดมทุน ฯลฯ ข้อมูลและท่าทีหน่อมแน้มแบบนี้ กระตุกโพธิ์ คณะกรรมการสถานศึกษาฯ ไม่ไหวหรอกครับ

ผมจึงเริ่มต้นพูดกับที่ประชุมโดยตั้งใจที่จะ ช็อค ให้ตระหนักถึง ปัญหา ที่แท้จริงของโรงเรียน เพราะผมเชื่อว่าท่านผู้อาวุโสเหล่านี้มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ สติปัญญาเพียงพอที่จะ ใคร่ครวญ ให้ เข้าถึง-เข้าใจ และสามารถกำหนด ภารกิจ ของตนเองในการรับผิดชอบร่วมกันสร้างสรรค์เพื่อโรงเรียนได้

ใคร ๆ ก็รู้ว่าปัญหาของโรงเรียนมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนซึ่ง วิกฤติหนัก เรื่องจำนวนนักเรียนที่ลดน้อยถอยลง เท่าที่ได้รับรู้มาในพื้นที่เขต 1 จ.ชุมพร เรามีโรงเรียนที่มีเด็กไม่ถึง 50 คน บางท่านก็บอกว่าประมาณ 20 โรง แต่บางกระแสบอกว่าเกือบ ๆ 60 โรง ต้องเปิดสอนตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ป.6 จำนวนครูก็ขาดแคลนมีไม่ครบทุกห้องเรียน ของจริงคืออะไร ? มีเหตุปัจจัยอะไรเป็นตัวกำหนด ? แล้วจะแก้ไขกันอย่างไร ? นี่คือ ช็อคซีนีม่า ของโรงเรียนเล็ก

แต่ในทางกลับกัน โรงเรียนใหญ่ ๆ ในตัวเมืองชุมพร 3 แห่ง คือ ศรียาภัย, สอาดฯ และอนุบาล โตแล้วโตอีก ด้วยจำนวนนักเรียนอัดแน่น หลายห้องต้องใส่เด็กเข้าไปมากกว่า 50 คน/ห้อง เรื่องนี้ผมมั่นใจว่าไม่ผิดไปจากความจริง ถ้าจะระคายเคืองกันบ้างก็ต้องขอโทษ ไหน ๆ เราจะ ช็อค กันแล้ว ต้องใช้ข้อมูล จริงกับตรง เท่านั้นจึงจะได้เรื่อง

ผลที่เกิดขึ้นจึงกระทบกับ มาตรฐานการศึกษา ของนักเรียนเข้าไปเต็ม ๆ ผมชอบใจที่ท่าน ผอ.เขตพื้นที่ฯ นายกำจัด คงหนู ได้นำ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จากการสอบ NT (National Test) ของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 มานำเสนอเป็นรูปกราฟฟิกเปรียบเทียบออกมาเป็นสีเขียว-สีแดง โรงเรียนใดที่มีผลสัมฤทธิ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเขตและของประเทศในวิชาภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ก็จะได้สีเขียว ส่วนโรงเรียนที่ได้สีแดง นั่นคือมีค่าเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าเขตและประเทศ แต่จะว่าไปสีเขียวที่ปรากฏออกจะต้วมเตี้ยมอยู่แถว ๆ 30-50% ดังนั้น คำว่า ชัยชนะในกลุ่มผู้แพ้ ของท่าน ผอ.กำจัด จึงเป็นอะไรที่ จริงกับตรง เหมือนกัน

ข้อมูลผลการสอบ NT เขตพื้นที่การศึกษาชุมพร 1 นำขึ้นไปเผยแพร่ทางเว็บไซท์ http://area.obec.go.th/chumphon1 เชิญติดตามอ่านได้ทั้งในระดับโรงเรียนและตัวนักเรียน (เขาไม่เอาชื่อนักเรียนออกมาแสดง แต่ระบุรหัสประจำตัวประชาชน)

น่าใจหายและน่าเป็นห่วงมาก ๆ ครับ เป็นอย่างนี้แล้วเราทุกฝ่ายคงจะต้องช่วยกัน อันที่จริงมาตรการดี ๆ ก็มีอยู่ ได้แก่

  • เสริมความเข้มแข็งให้แก่ ผู้บริหารและคณะกรรมการสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฟื้นศรัทธา ความหวัง ให้ทำงานร่วมกันเป็นทีม มิใช่การยกทีมจากภายนอกเข้าไป จัดการแทน
  • การสนับสนุนให้วางแผนพัฒนาร่วมกันด้วยการประเมินตนเอง และวางเป้าหมายการพัฒนาเป็นระยะๆ
  • เป้าหมายการพัฒนาในเบื้องต้น ไม่ควรซับซ้อนมากนัก แต่ควรมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนานักเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องพื้นฐาน เช่น การอ่านออกเขียนได้ การคิดคำนวณ และคุณภาพชีวิต
  • การจัดให้มีโรงเรียนพี่เลี้ยง หรือเครือข่ายที่จะติดตามสนับสนุน แต่มิใช่ไปพัฒนาแทน

ฯลฯ 

ถ้าพวกชาวชุมพรเราไม่ช่วยกัน คนละไม้-คนละมือ ก็อย่าหวังเลยว่า ใครจะมาช่วยลูกหลานของเราได้ ... ผมเชื่ออย่างนั้น.

คำสำคัญ (Tags): #ปฏิรูปการศึกษา
หมายเลขบันทึก: 98812เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2007 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีครับคุณไอศูรย์
  • น่าสนใจมากๆ เลยนะครับ สำหรับข้อมูลที่ให้รับรู้กันนะครับ
  • ผมเห็นด้วยว่า การศึกษา ควรจัดการอย่างจริงๆ จัง และจริงใจ แล้วคิดกันวางแผนกันในระบบของเราเอง ไม่ควรไปหาใครมาจัดการจากภายนอก ไปเยี่ยมดูงานได้ และมาปรับใช้ได้ แต่ไม่ใช่ไปยกทั้งโครงการครอบเลย คนภายในจะอึดอัด ควรจะคิดเองได้ในการบริหารตัวเองครับ
  • ขอเป็นกำลังใจในการทำงานด้านนี้นะครับ หากว่างๆเชิญถกใน บล็อก มิสเตอร์ช่วย ด้วยนะครับ แต่ผมยังมีประสบการณ์น้อยเกี่ยวกับการศึกษาครับ
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท