เรื่องเล่า : กลุ่มการเรียนการสอน


UKM-10

กลุ่มที่  2  การเรียนการสอน

ผู้เล่าเรื่อง  ..รศ.ดร. อรรณพ วราอัศวปติ   

ตำแหน่ง   อาจารย์หมวดวิชาศึกษาทั่วไป

สังกัดหน่วยงาน ฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์   มหาวิทยาลัย มหาสารคาม

เบอร์โทรติดต่อ  089-424-9989            

Email-Address : [email protected]

เรื่องเล่าโดยสังเขป 

ชื่อเรื่อง   การสอนวิทยาศาสตร์นิสิตการปกครองท้องถิ่น 

         C: Content เนื้อหาของเรื่องที่จะเล่า        เมื่อภาคเรียนที่ผ่านมาต้องร่วม สอนวิชา วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นวิชาศึกษาทั่วไป ที่นิสิตเกือบทุกหลักสูตรของ มหาวิทยาลัยมหาสารคามต้องลงทะเบียนเรียน นอกเหนือจากการสอนนิสิตภาคปกติแล้วยังต้องไปสอนนิสิตภาคพิเศษด้วย  เรื่องที่จะนำมาเล่านี้เป็นการไปสอน นิสิตภาคพิเศษของสาขาวิชาเอก การปกครองท้องถิ่น  ซึ่งมาเรียนกันเฉพาะในวันเสาร์และอาทิตย์  การจัดการเรียนการสอนจึงต่างจากภาคปกติ โดยจัดการเรียนการสอนแต่ละครั้งแบบใช้เวลาทั้งวัน  แทนการสอนครั้งละคาบ ๆ ละ 2  ชั่วโมงเหมือนภาคปกติ   ในการสอนครั้งนี้ผมต้องจัดการเรียนการสอนใน 3  หัวเรื่อง ด้วยกัน คือ เรื่อง วิวัฒนาการและพันธุศาสตร์  เรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพ และ เรื่อง มิติวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาพื้นบ้าน  นอกจากเรื่องของระยะเวลาที่แตกต่างแล้ว นิสิตภาคพิเศษกลุ่มนี้ยังเป็นนิสิตที่ประกอบด้วย คนที่ทำงานแล้ว  มีความหลากหลายในเรื่องอายุ ประสบการณ์การทำงานของผู้เรียนมาก  จำนวนนิสิต 98 คน  ตามรายชื่อที่ได้จากระบบการลงทะเบียน Online ของมหาวิทยาลัย จึงต้องคิดวางแผนการจัดการเรียนการสอน ที่แตกต่างไปจากการสอนภาคปกติ เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปด้วยดี  และ เกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์

         A: Action วิธีการหรือแนวทางปฏิบัติที่นำไปสู่ความสำเร็จ      เนื่องจากจะเป็นการพบกันครั้งแรกและครั้งเดียว คือ 1 วันเต็ม ๆ เพื่อการเรียนการสอนวิชานี้า  ผมจึงเริ่มต้น ด้วยการแนะนำตัวให้นิสิตทราบสั้น ๆ และบอกกล่าวให้ทราบว่า เป็นการสอนวิชานี้เป็นปีแรกของผม จึงอาจจะแตกต่างกับการสอนของอาจารย์ท่านอื่นที่ผ่านมาก็เป็นได้  ต่อจากนั้นก็สอบถามถึง ข้อมูลเกี่ยวกับนิสิตพอสมควร จึงทราบว่านิสิตกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ทำงานใน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น  โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. มีทั้งที่เป็น นายก อบต. กรรมการ อบต. และเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ของ อบต.  จึงน่าจะมีความหลากหลายในเรื่องของประสบการณ์ต่างกันมากพอสมควร         ผมเริ่มเข้าสู่การเรียนการสอนโดยนำเอาเทคนิค การจัดการความรู้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  โดยวิธีการ เล่าเรื่อง หรือ Storytelling มานำเสนอ  เริ่มด้วยให้นิสิตได้เห็นภาพว่า ความรู้สองประเภท ได้แก่ ความรู้ชัดแจ้ง (Expicit Knowledge) และ ความรู้ฝังลึก หรือ ความรู้ในตัวคน (Tacit Knowledge)  แตกต่างกันอย่างไร ? และ จัดการได้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันอย่างไร ?   และเน้นให้ทราบว่า ในวันนี้ ผมต้องการที่จะมา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนิสิต  และ กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระหว่างนิสิตด้วยกันเอง โดยการเล่าเรื่อง ที่เป็นความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตัวนิสิตทั้งหลาย ที่เป็นคนทำงานแล้ว  แต่ละคนย่อมมีความรู้จากประสบการณ์การทำงานที่แตกต่างกัน ก็จะได้มีโอกาสนำมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน นำไปคิดต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป        หลังจากนำเรื่องด้วย Power Point ตามหัวเรื่องแรกแล้ว ผมได้เน้นประเด็นเรื่องความรู้ในเอกสารตำราหรือสื่อต่าง ๆ ที่เป็นความรู้ชัดแจ้ง สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ตามเวลาและโอกาสที่ตนเองสามารถกำหนดได้  แต่เรื่องความรู้ฝังลึกในคน ต้องเกิดมาจากการมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนในกลุ่มเท่านั้น  จึงขอให้ทุกคนใช้โอกาสนี้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด   โดยผมแบ่งนิสิตออกเป็น   8  กลุ่ม ๆ ละ 12  คน  (ซึ่งลงตัวพอดี คือ 96 คน เนื่องจากมีนิสิตไม่สามารถมาเรียนได้ ในวันนั้น 2 คน)   และมอบหมายงานให้นิสิตแต่ละกลุ่ม อภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตามหัวข้อที่กำหนด และนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียนให้นิสิตทั้งหมดได้รับทราบ  หัวข้อที่กำหนดในช่วงแรก ตามที่มีในเอกสารที่อยู่ในคู่มือการเรียน เรื่อง วิวัฒนาการและพันธุศาสตร์ แล้วคือ  ข้อดีข้อเสียของการใช้ จีเอ็มโอ (GMO)  และ  การโคลนนิ่ง (Cloning)  รวมทั้งผลกระทบต่อประเทศไทย  โดยให้ 4 กลุ่ม เลขคี่  ทำเรื่อง GMO ส่วนอีก 4 กลุ่มเลขคู่ ทำเรื่อง Cloning  กำหนดให้ใช้เวลาในการอภิปรายและสรุปพร้อมเตรียมการนำเสนอ  1  ชั่วโมง  และให้แต่ละกลุ่มเลือกตัวแทนออกมานำเสนอ กลุ่มละประมาณ  5 นาที  เผื่อเวลาสำหรับตอบคำถามอีก 1-2 นาที  (ใช้เวลารวมประมาณ อีก 1 ชั่วโมง)  จบเรื่องที่หนึ่ง ก็ถึงเวลาพักเที่ยงพอดี         ในช่วงบ่ายยังมีเรื่องที่จะต้องอภิปรายและนำเสนออีกสองเรื่อง คือ เรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพ และ เรื่อง มิติวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาพื้นบ้าน  ผมจึงนำเสนอด้วย Power Point ที่เตรียมมาควบทั้งสองเรื่อง และ ให้งานกลุ่มทั้งสองเรื่องไปพร้อมกันเพื่อให้ทันเวลาในเวลาที่เหลือ แต่ครั้งนี้จะเน้นให้แต่ละคนได้เล่าเรื่องของตนให้คนในกลุ่มฟัง  คนละ 2-3  นาที  แล้วแต่ละกลุ่มเลือกเรื่องที่ดีที่สุด ช่วยกันเพิ่มเติมเพื่อให้ออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน   หัวเรื่องที่กำหนด 2  เรื่องคือ   1.  สัตว์หรือพืชท้องถิ่นที่ข้าพเจ้าภูมิใจที่สุด     2. ภูมิปัญญาพื้นบ้าน หรือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ข้าพเจ้าภูมิใจที่สุด  โดยให้เวลาแลกเปลี่นเรียนรู้ ประมาณ 1  ชั่วโมง  ก่อนออกมานำเสนอ

         R: Result ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น          จากการจัดการเรียนการสอนตามที่เล่ามาข้างบน  ผมคิดว่าเกิดผลสำเร็จในการเรียนการสอนครั้งนี้พอสรุปได้ดังนี้สรุปเป็นคำสั้น ๆ ว่า  การเรียนการสอนครั้งนี้  งานได้ผล คนเป็นสุขคือ ทำให้เกิดการเรียนการสอนเรื่องของวิทยาศาสตร์ แก่นิสิตที่ไม่ใช่ผู้มีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง  ได้เรียนรู้เรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อย่างไม่เครียด  ในเรื่องที่กำหนดครบถ้วน ในเวลา 1 วัน   นิสิตได้เห็นความเชื่อมโยงของวิทยาศาสตร์กับเรื่องราวและข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือทีวี ในชีวิตประจำ   เห็นความสำคัญของความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่น และ ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ควรช่วยกันรักษา            ที่ว่า คนเป็นสุข นั้นผมสอบถามนิสิตในตอนท้าย ว่าจากการจัดการเรียนการสอนของผม ตลอดหนึ่งวัน เป็นอย่างไร ? ก็ได้คำตอบว่า  ดีครับ และ เป็นการเรียนการสอนที่ไม่เครียด  ได้เปลี่ยนบรรยากาศในการเรียน  หลาย ๆ คนชอบการที่ให้เล่าเรื่องที่ตนเองภูมิใจ ทั้งพืชหรือสัตว์ที่ภูมิใจ  และ ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ภูมิใจ  แต่ละคนมีความสุขในการเล่าเรื่อง (อันนี้ผมสังเกตเองในช่วงที่ให้แต่ละคนผลัดกันเล่าเรื่องให้กลุ่มฟัง)

เรื่องเล่านี้ใช้หลักการบริหารจัดการที่ดีหลักใดบ้าง ( ต้องให้ผู้อ่านและฟังช่วยกันตัดสินครับ )

o  หลักคุณธรรม   

oหลักนิติธรรม    

oหลักความโปร่งใส  

oหลักการมีส่วนร่วม  

oหลักความคุ้มค่า        

o  หลักการสำนึกแห่งความรับผิดชอบ

o  หลักการจัดการทรัพยากรมนุษย์ 

o หลักการบริหารจัดการ

o หลักการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้   

o หลักการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร          

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องเล่า
หมายเลขบันทึก: 98630เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2007 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • อยากบอกว่าท่านอาจารย์ panda เก่งมากๆๆ
  • ใจดีด้วยครับผม

เป็นครูวิทยาศาสตร์ ประถม แต่ไม่ได้เรียนสายวิทย์ สนใจแนวคิดมิติวิทยาศาสตร์พื้นบ้าน ของอาจารย์สำหรับทำหลักสูตสาระเพิ่มเติม ขอรายละเอียดและ เอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ไหมคะ ขอบคุณล่วงหน้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท