บทความชุด นักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ (ตอนที่ 6)


การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานที่ใช้ในการทำงานกับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรเพื่อพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตร ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่ สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม

ตอน “ การปรับกระบวนการทำงานในพื้นที่ ”

            ทิศทางการพัฒนาในปัจจุบันมุ่งเน้นการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามขีดความสามารถและความเหมาะสมกับศักยภาพ มุ่งสู่การเป็นชุมชนที่เข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เลยกับแนวคิดนี้ เพราะในอดีต ชุมชนท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ก็เคยเป็นชุมชนที่เข้มแข็งมาก่อน และสามารถพึ่งพาตน เองได้อยู่แล้ว รูปแบบการพัฒนาสมัยใหม่ที่ผ่านมาต่างหาก ที่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง เป็นต้นสายปลายเหตุแห่งปัญหาสารพัดในปัจจุบัน ทำให้ชุมชนอ่อนแอ และจำเป็นต้องหวนกลับมายึดแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาอีกครั้งหนึ่ง

            ในเมื่อรูปแบบและแนวทางในการพัฒนาสังคมและชุมชนได้ปรับเปลี่ยนไป กระบวนการส่งเสริมการเกษตรหรือวิธีการทำงานในด้านการส่งเสริมการเกษตร ที่เน้นการพัฒนาคน ก็น่าจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการตามไปด้วย เพราะปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ประชาชนสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาอาชีพ หรือสามารถจัดทำโครงการพัฒนาต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาอาชีพทางด้านการเกษตรได้เอง

..............ดังนั้นการทำงานในพื้นที่ของหน่วยงานด้านการส่งเสริมการเกษตรจึงมีความจำเป็นต้องมีการปรับกระบวนการทำงาน……..

ความหมายของการปรับกระบวนการทำงานในพื้นที่…

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

ปรับ หมายถึง ทำให้อยู่ในสภาพที่เหมาะ หรือดีขึ้น

กระบวนการ หมายถึง กรรมวิธีหรือลำดับการกระทำซึ่งดำเนินต่อเนื่องกันไปจนสำเร็จลง ณ ระดับหนึ่ง เช่น กระบวนการเคมีเพื่อผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

            การปรับกระบวนการทำงานในพื้นที่ จึงน่าจะหมายถึง “การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานที่ใช้ในการทำงานกับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรเพื่อพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตร ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่ สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม”

โดยนักส่งเสริมการเกษตรต้องมีหลักการและแนวคิดในการทำงานที่เหมาะสม เช่น

            1. เริ่มที่การปรับแนวคิดว่าการพัฒนาอาชีพที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ต้องเริ่มมาจากข้างใน ไม่ใช่คนนอกคิดหรือกำหนดให้ หรือจากอดีตการปฏิบัติงานจากบนลงล่าง ควรปรับเปลี่ยนเป็นจากล่างขึ้นบน เช่น จากการเอาโครงการไปให้ชาวบ้าน เปลี่ยนมาเป็นการเข้าไปเรียนรู้และทำงานพัฒนาร่วมกัน เป็นต้น

            2. การปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอด (ผู้ให้ความรู้) เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (Facilitator) หรือ “คุณอำนวย” จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกร

            3. มีการเรียนรู้ระหว่างและหลังการทำงาน (After Action Review : AAR ) โดยการถอดบทเรียนแล้วบันทึกผลการทำงานแล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ในประเด็นหลักๆ เช่น

                 3.1   กระบวนการหรือวิธีการทำงานใหม่ๆ หรือองค์ความรู้ที่ทำให้การทำงานดีขึ้น ตลอดจนข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติในการทำงาน เป็นต้น

                 3.2   องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการผลิตทางการเกษตร

            4. ปรับการทำงานจากการจัดการโครงการ มาเป็นการจัดการพื้นที่และการจัดการความรู้ โดยการ ศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์พื้นที่ แล้วกำหนดแนวทางพัฒนา โดยยึดข้อมูลและการมีส่วนร่วมของเกษตรกร

            5. การเรียนรู้และทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ไม่ยึดการทำงานตามสั่ง หรือทำเฉพาะเมื่อมีโครงการ แต่ควรทำงานในลักษณะเช่นเดียวกับการทำงานวิจัยปฏิบัติการ (วิจัยจากงานประจำ) ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนการวิจัยของชาติ ที่ ศ.นพ. ประเวศ วะสี ได้สรุปว่าการวิจัยของประเทศไทยจะต้อง

                1)  วิจัยในทุกพื้นที่

                2)  วิจัยในทุกองค์กร และ

                3)  วิจัยในทุกเรื่อง (วิจัยในทุกประเด็น)

ฯ ล ฯ

            ทั้ง 5 ข้อที่ยกมาเป็นแนวคิดหนึ่งที่นักส่งเสริมการเกษตรสามารถนำไปปรับเป็นแนวทางหรือหลักในการทำงาน เพื่อปรับกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คิดว่าในแต่ละพื้นที่คงมีผู้รู้และมีแนวคิดที่เหมาะสมอีกมากมาย หากมีการเผยแพร่ - แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กันมากกว่านี้ คงเกิดแนวคิดและรูปแบบกระบวนการทำงานที่จะเป็นประโยชน์ต่องานส่งเสริมการเกษตรอีกมาก

            จากแนวคิดดังกล่าว หากนำมากำหนดเป็นกระบวนการทำงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่พอจะสรุปได้ว่า การทำงานส่งเสริมการเกษตรในปัจจุบัน กระบวนการทำงานควรเป็นไปในลักษณะของ “การส่งเสริมการเกษตรแบบมีส่วนร่วมและการวิจัยควบคู่กันไป”

            การส่งเสริมการเกษตรแบบมีส่วนร่วมฯ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้เพื่อสังคมไทย แต่เน้นภารกิจที่เฉพาะเจาะจงส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการเกษตร อันเป็นบทบาทและภารกิจหลักของนักส่งเสริมการเกษตร  โดยรูปแบบที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ ที่เหมาะสมกับงานส่งเสริมการเกษตรอาจมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเหมาะสมก็คือ การส่งเสริมการเกษตรแบบมีส่วนร่วมที่ใช้ “ กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ” ( Participatory Action Research : PAR )ในการทำงาน

            ลักษณะการส่งเสริมการเกษตรดังกล่าว จะต้องพัฒนารูปแบบโดยเน้นผสมผสานหลักการระหว่าง การวิจัยและพัฒนา (ผู้ใช้คิด นักวิจัยทำ) และการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (ชุมชนคิด ชุมชนทำ) เพื่อสร้างความรู้(วิจัย) และนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อไป เพราะมีความสอดคล้องกับบริบทของงาน และสมรรถนะหลักของนักส่งเสริมการเกษตรที่ถือว่าเป็นจุดแข็งที่มีอยู่แล้ว โดยหลักการของการมีส่วนร่วม ที่สำคัญที่ต้องเน้นใน 2 มิติใหญ่ๆ คือ

              1. มิติของคนที่เข้ามามีส่วนร่วม ยึดหลักการมีส่วนร่วมของคนในทุกภาคส่วนของพื้นที่ อย่างน้อย 3 ภาคส่วน คือ

  • เกษตรกร , กลุ่มอาชีพ

  • นักส่งเสริมการเกษตร/นักพัฒนา หรือนักวิจัย

  • ผู้นำชุมชน, ผู้นำท้องถิ่น และ อบต.ฯลฯ

              2. มิติของขั้นตอนการมีส่วนร่วม ยึดหลักการมีส่วนร่วม ทุกขั้นตอนการทำงานและวนซ้ำหลายๆ รอบ

       ปัญหา.......แนวทางแก้ไข.......การปฏิบัติ.......การประเมินผล (วนหลายๆ รอบ)          

            จะเห็นได้ว่า การปรับกระบวนการทำงานด้านการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องปรับกระบวนการทำงาน ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง และสอดคล้องกับสภาพต่างๆ ที่เปลี่ยนไปของสังคม เดิมจากการทำงานที่รวมศูนย์ที่ส่วนกลาง (คิดและกำหนดการพัฒนา) ปรับมาเป็น “การส่งเสริมการเกษตรแบบมีส่วนร่วมโดยมีการวิจัยควบคู่กันไป” เน้นให้คนทุกภาคส่วนมีโอกาสได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานร่วมกันในทุกขั้นตอนของการพัฒนา เป็นการพัฒนาที่เริ่มมาจากข้างใน สื่อให้เห็นรูปธรรมของการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ย่อมจะส่งผลให้งานส่งเสริมการเกษตรมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล บรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจ ของกรมส่งเสริมการเกษตรตลอดไป

วีรยุทธ  สมป่าสัก

  
หมายเลขบันทึก: 9849เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2006 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท