แนวคิดการพัฒนา 50 ปี


หากพิจารณาประสบการณ์การพัฒนาชนบทของไทย ก็จะพบว่า แนวทางของเราไม่ต่างจากแนวทางในระดับสากลเท่าใดนัก

Frank Ellis and Stephen Biggs (2001)  ได้แบ่งยุคของการพัฒนาชนบท (ในระดับสากล) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ออกเป็น 5  ช่วงเวลา  ได้แก่ 

n  ทศวรรษ 1950      ช่วงหลังสงคราม (Post war) 

n  ทศวรรษ  1960     ช่วงของการทำให้ทันสมัย  (Modernization)   

n  ทศวรรษ 1970      ช่วงของการแทรกแซงโดยรัฐ (State intervention) 

n  ทศวรรษ 1980      ช่วงของการเปิดตลาดเสรี (Market liberalization) 

n  ทศวรรษ 1990      ช่วงของการมีส่วนร่วมและการสร้างพลังชุมชน  (Participation and Empowerment) 

พวกเขาสรุปว่า   ในช่วงสามสิบปีหลังสงคราม  หรือช่วงทศวรรษ 1950-70  เป็นยุคของการพัฒนาแบบบนลงล่าง  (top-down approach) หรือการพัฒนาแบบพิมพ์เขียว  (blueprint approach) ที่มีแนวคิดของ การพัฒนาให้ทันสมัย (Modernization)”  โดยรัฐเป็นผู้มีบทบาทสำคัญนับตั้งแต่การฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม  การเข้ามากำหนดแทรกแซง หรือแม้แต่ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเสียเอง   (ของไทยก็เกิดเผด็จการทหารที่คุมรัฐวิสาหกิจ   สัมปทานทรัพยากรธรรมชาติ และอื่นๆ) 

ตั้งแต่ทศวรรษ1980-90 เป็นต้นมา  เป็นยุคของการพัฒนาจากฐานราก  (bottom-up, grassroots approach)  หรือการพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับกระบวนการ (process approach)   โดยในช่วงต้น คือ ทศวรรษ 1980  ภาคเอกชนเข้มแข็ง และรัฐเริ่มถอนตัวออกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เกิดเป็นยุคของการเปิดตลาดเสรี (Market liberalization)  แต่กลไกตลาดที่มีภาคเอกชนในเมืองเป็นตัวจักรสำคัญก็ยังไม่สมบูรณ์  ชุมชนจึงเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น (Participation and Empowerment)  ในยุค 1990s

หากพิจารณาประสบการณ์การพัฒนาชนบทของไทย  ก็จะพบว่า  แนวทางของเราไม่ต่างจากแนวทางในระดับสากลเท่าใดนัก (ซึ่งจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป)  แสดงว่าการพัฒนาชนบทไทยที่ผ่านมา ถูกเหนี่ยวนำจาก (หรือปรับตัวตาม) การเปลี่ยนแปลงบริบทเศรษฐกิจและสังคมโลก   กรอบใหญ่ๆของแนวคิดการพัฒนาชนบทของผู้กำหนดนโยบาย  นักคิดและนักเคลื่อนไหวของไทยก็ได้รับอิทธิพลมาจากภายนอกมากทีเดียว

ยกเว้น เศรษฐกิจพอเพียง ที่น่าจะเรียกได้ว่า  มีความเป็นไทยอยู่สูง     

 
หมายเลขบันทึก: 98387เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2007 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
เห็นด้วยว่าจริงๆมันต่อกันหมดครับ แนวทางของไทยก็รับอิทธิพลมาจากสากล แต่ถ้าใช้กรอบคิดแบบของนักมานุษยวิทยาด้านการพัฒนา (Anthropology of Development) จะได้ขั้นตอนการพัฒนาเป็นอีกแบบ อย่าง Arturo Escobar (จาก Encountering Development, 1995) เรียกวาทกรรมการพัฒนารวมๆ ทั้งที่เน้น State Intervention, Modernization และที่สำคัญคือ Economic Liberalization ว่าเป็น Development Discourse (วาทกรรมการพัฒนา) Escobar ต่อต้านแนวทางดังกล่าวว่าแท้จริงเป็นการพัฒนาเป็นการเสริมอำนาจให้ขาติตะวันตกครอบงำประเทศกำลังพัฒนา และได้เสนอแนวคิด Post-Development Post-Development ที่ว่านี่ก็คือเน้นไปที่ท้องถิ่น (Local) ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมผ่านกระบวนการ Empowerment และ Participation ครับ Post Development นั้นรวมก็เป็นการปฏิเสธแนวทางการพัฒนาแบบ Modernization ครับ มองว่าการพัฒนาไม่ได้มีเส้นทางเดียว แต่ละประเทศควรมีรูปแบบการพัฒนาต่างกัน รวมไปถึงปฎิเสธการพัฒนาแบบ"ตะวันตก" จะว่าไปสำหรับผมแล้วเศรษฐกิจพอเพียงก็นับเป็นหนึ่งในแนวคิดแบบ Post-Development ที่ว่ามาข้างต้นครับ เพราะปฏิเสธการพัฒนาแบบทุนนิยม ซึ่งเรามองว่าเป็น"ตะวันตก" และชูคุณค่าที่เป็น "ท้องถิ่น" (นักวิชาการสากลที่เคยเขียนเรื่องนี้ในวารสารต่างชาติก็มี Kevin Hewison เรื่อง Resisting globalization: a study of localism in Thailand’) สุดท้ายคือตอนนี้มีนักมานุษยวิทยายุคล่าสุด งานช่วงปี 2000 นี่ล่ะครับ กล่าวไปถึงแนวคิดแบบ Post-Post Development แล้ว คือบอกว่า Empowerment กับ Participation นี่เอาเข้าจริงก็ไม่ Work เหมือนกัน เพราะกระบวนการมักตกเป็นเครื่องมือของ "การเมือง" ครับ (งานแนวนี้ก็เช่น Participation: the New Tyranny หรือ Cultivating Development ของ David Mosse ครับ) นั่นเป็นมุมมองจากวิชามานุษยวิทยาครับ
ขอโทษครับ เมื่อกี้จัดย่อหน้่าดีๆแต่ส่งไปแล้วมันรวมกันหมด ขออนุญาตโพสอีกทีครับ เห็นด้วยว่าจริงๆมันต่อกันหมดครับ แนวทางของไทยก็รับอิทธิพลมาจากสากล แต่ถ้าใช้กรอบคิดแบบของนักมานุษยวิทยาด้านการพัฒนา (Anthropology of Development) จะได้ขั้นตอนการพัฒนาเป็นอีกแบบ อย่าง Arturo Escobar (จาก Encountering Development, 1995) เรียกแนวคิดด้านการพัฒนารวมๆ ทั้งที่เน้น State Intervention, Modernization และที่สำคัญคือ Economic Liberalization ว่าเป็น Development Discourse (วาทกรรมการพัฒนา) Escobar ต่อต้านแนวทางดังกล่าวว่าแท้จริงเป็นการพัฒนาเป็นการเสริมอำนาจให้ขาติตะวันตกครอบงำประเทศกำลังพัฒนา และได้เสนอแนวคิด Post-Development Post-Development ที่ว่านี่ก็คือเน้นไปที่ท้องถิ่น (Local) ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมผ่านกระบวนการ Empowerment และ Participation ครับ Post Development นั้นรวมก็เป็นการปฏิเสธแนวทางการพัฒนาแบบ Modernization ครับ มองว่าการพัฒนาไม่ได้มีเส้นทางเดียว แต่ละประเทศควรมีรูปแบบการพัฒนาต่างกัน รวมไปถึงปฎิเสธการพัฒนาแบบ"ตะวันตก" จะว่าไปสำหรับผมแล้วเศรษฐกิจพอเพียงก็นับเป็นหนึ่งในแนวคิดแบบ Post-Development ที่ว่ามาข้างต้นครับ เพราะปฏิเสธการพัฒนาแบบทุนนิยม ซึ่งเรามองว่าเป็น"ตะวันตก" และชูคุณค่าที่เป็น "ท้องถิ่น" (นักวิชาการสากลที่เคยเขียนเรื่องนี้ในวารสารต่างชาติก็มี Kevin Hewison เรื่อง Resisting globalization: a study of localism in Thailand’) สุดท้ายคือตอนนี้มีนักมานุษยวิทยายุคล่าสุด งานช่วงปี 2000 นี่ล่ะครับ กล่าวไปถึงแนวคิดแบบ Post-Post Development แล้ว คือบอกว่า Empowerment กับ Participation นี่เอาเข้าจริงก็ไม่ Work เหมือนกัน เพราะกระบวนการมักตกเป็นเครื่องมือของ "การเมือง" ครับ (งานแนวนี้ก็เช่น Participation: the New Tyranny หรือ Cultivating Development ของ David Mosse ครับ) นั่นเป็นมุมมองจากวิชามานุษยวิทยาครับ
การจัดย่อหน้าล้มเหลวทั้งสองครั้ง หวังว่าคงไม่ทำให้ที่เขียนไปมันอ่านยากครับ ขอโทษครับ
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

อ่านไม่ยากเคยค่ะ   ขอบคุณมาก

สิ่งที่เราคุยกันตอนนี้มีสองส่วน คือ สิ่งที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ควรจะเป็น  คิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็อยู่ในข่ายของกระแสท้องถิ่นอย่างที่ธรว่าค่ะ

พอดีตอนที่พี่เขียนสรุปมันข้ามช็อตไปหน่อย   เพราะในใจมีรายละเอียดของบางแนวคิด เช่น Sustainable Livelihood Approach หรืออื่นๆซึ่งสิ่งที่ฝรั่งพูดถึง ก็ไม่ต่างจากสิ่งที่นักคิดไทยในแนวกระแสทางเลือกพูดถึงอยู่มากๆ   เช่น ศักดิ์ศรี  สิทธิชุมชน

 ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงแม้มีฐานคิดอยู่ในข่ายกระแสท้องถิ่นนิยม แต่ก็มีปรัชญาศาสนาพุทธเข้ามา  จึงทำให้มีความเป็นไทยสูงกว่า  และอยู่บนฐานวัฒนธรรมไทยมากกว่าค่ะ

ขอบคุณมากที่เข้ามาแลกเปลี่ยนค่ะ

วันนี้จะไปร่วมสัมมนาเรื่อง แผนแม่บทการเงินการคลังเพื่อสังคม  แล้วจะกลับมาเล่าให้ฟังนะคะ

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

อ้อ  ขอเพิ่มเติมนิดหนึ่งว่า   ข้อดีของการแบ่งแบบ Ellis and Biggs ก็คือ ทำให้เห็นตัวละครหลักชัดดีค่ะ 

สวัสดีครับ

ประเทศไทยก็ไม่ได้หลุดไปจากกรอบคิดการแบ่งยุคของการพัฒนาดังกล่าว

ผมเห็นด้วยอย่างมากว่า การพัฒนาในเมืองไทยนั้นตกอยู่แก่นักการเมือง และระบบราชการ การเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เป็นงานพัฒนานั้นภาคประชาชนแม้จะมีบทบาทมากขึ้นในช่วงหลังมาจนถึงปัจจุบัน แต่โครงครอบใหญ่ก็ยังไม่สามารถสลัดหลุดไปจาก นักการเมือง และราชการ ลองหยิบมาสักชิ้นสิครับ 2 ภาคส่วนดังกล่าวต้องมีบทบาทอยู่ด้วย

 

ผมเคยร่วมงานกับ Dr. Kewin Hewison สมัยทำงานกับ MPW & COFFEE  ที่ ขอนแก่น เป็นนักวิชาการที่ใกล้ชิดเมืองไทยมากท่านหนึ่ง ไม่ได้ติดต่อกันนานแล้ว

น่าสนใจบันทึกนี้ที่ตรงกับสิ่งที่ผมทำอยู่ครับ  ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆมาเติมเต็มให้กับผม

ขออภัยที่เขียนชื่อ Dr. Kevin Hewison ผิดไปครับ

ขอบคุณคุณบางทรายที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ค่ะ

ไม่ทราบว่า สิ่งที่อาจารย์ธรเขียนเล่ามุมมองของนักมนุษยวิทยาที่ว่า  Empowerment กับ Participation นี่เอาเข้าจริงก็ไม่ Work เหมือนกัน เพราะกระบวนการมักตกเป็นเครื่องมือของ "การเมือง"    นั้น  อยากฟังความเห็นว่า  เพื่อนชาวบล็อกท่านอื่นที่มีประสบการณ์ทำงานในพื้นที่มีความเห็นอย่างไร

อยากฟังความเห็นของคุณภีมค่ะ เพราะคุณภีมมีประสบการณ์ทำงานกับหลายฝ่าย  ถ้าอ่านบันทึกนี้แล้ว ช่วยตอบด้วยนะคะ  ขอบคุณค่ะ

ขออธิบายเพิ่มเติมก่อนละกันครับ เขียนไปสั้นๆลอยๆ น่ากลัวจะโดนว่าได้

คือที่ผมเขียนถึงเป็นงานของนักมานุษยวิทยาที่่ไปทำงานกับ NGOs ในประเทศเช่น  อินเดีย (David Mosse, Cultivating Development)  หรือ ฟิลิปปินส์ (Dorothy Hilhorst, The Real World of NGOs) เป็นงานที่กำลังเป็นที่สนใจในต่างประเทศครับ ถ้ามีในเมืองไทยก็แนะนำให้ลองอ่านดูครับ

มุมมองของนักมานุษยวิทยาก็คือสิ่งที่เขาได้จากการไปอยู่ในพื้นที่น่ะครับ แต่ก็เข้าใจได้ว่าแต่ละพื้นที่ก็มีเหตุปัจจัยต่างกัน

ผมเองก็ไม่ได้คิดว่ามันต้องเป็นไปตามที่เขาว่า และก็มีความเห็นแย้งกับเรื่องที่เขาเขียนมากมาย (ตอนผมอ่านงานของ David Mosse ครั้งแรกหงุดหงิดมากกับเรื่องที่เขาเขียน) แต่แน่นอนการได้รับรู้มุมมองที่ต่างไปมันก็มีประโยชน์

ส่วนใหญ่ที่่นักมานุษยวิทยาเหล่านี้พูดถึงการมีปัญหาของ Empowerment และ Participation ก็คือเป็นแนวคิดที่ดี แต่จะให้เกิดขึ้นได้จริงๆก็ยาก

ทำไมน่ะหรือ เพราะไม่ว่าในไม่ว่าจะในระดับไหนก็ตามก็มีการเมือง (การเมืองในที่นี้ความหมายกว้างกว่านักการเมืองเข้าไปเกี่ยวนะครัับ) Empowerment กับ Participation เองก็เกิดขึ้นบนความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและNGOsหรือรัฐ ซึ่งความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นก็เป็น 'การเมือง' เหมือนกัน 

ถ้าArgument ของ David Mosse จะบอกว่าการประสานความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างๆในโครงการพัฒนาที่เน้น Participation และ Empowerment เป็นตัวตัดสินความเป็นไปขององค์กร ในขณะที่ Dorothy Hilhorst ไปไกลกว่าโดยบอกว่าการเมืองมักทำให้ Empowerment ไม่ได้เป็น Empowerment จริงๆ คือความต่างระหว่างคนที่มี Power กับคนที่ไม่มี Power ก็ยังอยู่ต่อไป 

ผมเข้าใจว่าที่เขียนมาทั้งหมดเป็นเนื้อหาจากตำรา และผมยังไม่มีประสบการณ์ในพื้นที่จริง แต่การมีความรู้ที่กว้างขึ้นจากตำราก็น่าจะนำมุมมองอะไรใหม่ๆมาให้คิดได้ โดยเฉพาะความรู้จากแวดวงสากล เหมือนที่อาจาร์ปัทตั้งข้อสังเกตว่าจริงๆสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยกับประเทศอื่นๆนั้นก็เกี่ยวข้องกัน

ขอบคุณครับ
  • แล้วหลังจากช่วง "๑๙๙๐ ช่วงของการมีส่วนร่วมและการสร้างพลังชุมชน"  ละครับ น่าจะเป็น ช่วงของชนเผ่านะครับ :-) โดยที่ชุมชนนั้นๆ มีทรัพยากรอะไรก็นำทรัพยากรเหล่านั้นให้กลายเป็นมูลค่า ผู้อยู่นอกชุมชนแม้จะเป็นคนเชื่อสายเดียวกันต้องอยู่ในฐานะผู้ใช้บริการ (หรือเปล่าครับ)
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมองน้อยๆในฐานะผู้สังเกตครับท่านอาจารย์ครับ :-)

อาจารย์ธรคะ

ความคิดเห็นและข้อมูลที่มาร่วมแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันเป็นประโยชน์เสมอค่ะ   

มุมมองของนักวิชาการตะวันตกที่ทำงานในโลกตะวันออกมีความน่าสนใจตรงเขามีวิธีคิดเชิงระบบดี แต่เขาย่อมมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจพื้นที่บ้างไม่มากก็น้อย

ขนาดนักวิชาการไทย พูดภาษาไทยถ้าไม่คลุกคลีกับพื้นที่จริงๆก็ยังมีโอกาสตีความพลาด หรือได้ข้อมูลไม่ลึกจริงๆ

แต่อย่างที่ธรว่า  คือเราสามารถคิดตาม (เห็นด้วย /ไม่เห็นด้วย) และคิดต่อได้

ถ้ามีเวลาก็เขียนมาคุยกันอีกนะคะ  กลับมาเมืองไทยเมื่อไหร่ ถ้าจังหวะเหมาะ จะชวนอาจารย์ลงพื้นที่ด้วยกันค่ะ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์เอก

หลังทศวรรษ 1990  ก็คงยังอยู่ในกระแส empowerment และ participation มังคะ

พี่ด้วงที่สมาคมหยาดฝนบอกว่า "ไม่ใช่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม   เพราะจริงๆแล้วประชาชนเป็นเจ้าของ (คงหมายถึงอำนาจอธิปไตย  สิทธิเหนือทรัพยากร)  รัฐต่างหากที่ต้องเข้ามาเป็นฝ่ายมีส่วนร่วม"  

ใครจะเป็นเจ้าของใครจะเป็นผู้ใช้บริการ ก็ไม่รู้  แต่ดิฉันเห็นว่า  ถึงที่สุด  สังคมต้องเป็นสังคมที่เกื้อกูลกัน  ทำหน้าทีของตนให้สมบูรณ์  ให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกัน  ..... 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท