การให้อภัย


อภัยเป็นหัวใจของการช่วยผู้ป่วยติดยา

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการให้อภัย

 

บทความนี้เขียนขึ้นสำหรับทุกคนที่เคยโกรธ ความรู้สึกหนึ่งที่ทำให้เราไม่สบายใจ จนมีคำพูดว่า "อย่าโกรธให้เสียหัวเลย ปล่อยๆไปบ้างจะดีกว่า" จริงๆแล้ว ถ้าไม่โกรธได้เลยก็คงจะดีแน่ แต่หลายคนคงจะนึกอยู่ในใจว่ามันพูดง่ายแต่ทำยาก  ซึ่งก็คงจะเป็นความจริงอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เพราะผู้ที่ละความโกรธได้ คือ ผู้ที่บรรลุโสดาบัน ถ้าเราสามารถละความโกรธได้ง่ายก็คงมีผู้ที่บรรลุโสดาบันอยู่มากมาย อย่างไรก็ตาม สำหรับปุถุชนคนธรรมดา ผู้ที่ยังไม่สามารถบรรลุถึงขั้นนั้นได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีทางทำอะไรกับ "ความโกรธ" เหล่านั้นของเราได้เลย การ "ให้อภัย" หรือ "เลิกโกรธ" ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้เรา ดับไฟในใจ มีจิตใจที่ผ่องใส โปร่งเบาสบายได้ ดังนั้นถ้า ห้ามใจไม่ให้โกรธไม่ได้ ฝึกใจให้ เลิกโกรธ ได้ก็ยังดี อย่างไรก็ตามมีความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับการ "เลิกโกรธ" หรือ "ให้อภัย" อยู่มากมาย ความเข้าใจผิดเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถให้อภัยได้ ผู้เขียนจึงอยากอธิบายขยายความถึงความเข้าใจผิดต่างๆเหล่านั้นเพื่อช่วยให้ท่านผู้อ่านสามารถ "ให้อภัย" และ เลิกโกรธได้อย่างหมดใจ

 

"เขาทำผิดจึงสมควรได้รับโทษ"

 

หลายๆคนพอพูดถึงเรื่องการให้อภัยก็มักจะบอกว่า "ถ้าให้อภัยเขาแล้วเขาก็จะไม่ได้รับโทษที่ก่อ" หรือ บอกว่า "อยากสั่งสอนให้รู้สำนึก ยกโทษให้ง่ายๆเดี๋ยวได้ใจ จะทำผิดซ้ำอีก" ทั้งหมดนั้นเป็นความเข้าใจผิดว่า การที่เราโกรธเขาอยู่จะทำให้เขาได้รับโทษจากการกระทำความผิดของเขา ความเชื่อนี้เป็นความเข้าใจผิดๆที่พบได้บ่อยมาก ในความเป็นจริงนั้น การที่เราจะโกรธหรือ ไม่โกรธ เขานั้น ไม่ได้เกี่ยวกับการได้รับโทษ ถ้ายึดตามหลักกฎแห่งกรรม การที่เขาทำผิด ไม่ว่าเราจะยกโทษให้หรือไม่ก็ตาม เขาก็ยังต้องได้รับผลกรรมนั้นอยู่ดี ลองคิดดูง่ายๆ สมมุติ มีคนขับรถปาดหน้าท่าน เสร็จแล้วก็ขับเลยไป การกระทำของเขานั้นทำให้ท่านโกรธมาก หลังจากที่เขาขับผ่านไปแล้ว ท่านก็ยังโกรธเขาอยู่มาก ด่าว่าเขาสาบแช่งเขาอยู่ คำถามคือ "คำด่าว่าสาบแช่งของท่านนั้น ทำให้เขาได้รับโทษจากการกระทำผิดของเขาหรือไม่?" ถ้าท่านตอบว่าใช่ แปลว่า ท่าน หลงตัวเองคิดว่าตนเองมีฤทธิ์วิเศษ มีปากอาญาสิทธิ์ ที่สาปใครได้จริงๆ ถ้าท่านเชื่ออย่างนั้นผมคงต้องปล่อยให้ท่านเชื่อไปตามนั้น แต่ถ้าท่านคิดว่าท่านไม่ได้มีปากอาญาสิทธิ์ ต่อให้ว่าเขาจนเสียงแหบเสียงแห้งเขาก็ไม่ได้ยิน คำพูดท่านไม่ได้มีผลอะไรกับเขา ซ้ำร้ายคำพูดผรุสวาทที่ท่านว่าเขานั้น คนที่ได้ยินคำพูดเหล่านั้นก็คือ ตัวท่านและคนรอบข้างท่านเอง ถ้าเข้าใจตามนี้จะเห็นว่า ความโกรธของเรานั้นไม่ได้มีผลทำให้คนทำผิดได้รับกรรมจากความผิดที่เขากระทำแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายอาจมาทำให้เราและคนรอบข้างพลอยทุกข์ใจ หงุดหงิดใจซะด้วยซ้ำ หลายท่านก็คงจะถามต่อว่า เออย่างนี้แล้วผู้ที่กระทำผิดเขาจะได้รับผลกรรมจากการกระทำของเขาหรือ การที่เขาจะได้รับผลกรรมจากการกระทำของเขานั้นก็เป็นไปตามกฎแห่งกรรมนั่นเอง ไม่ต้องมีใครไปทำอะไร กรรมที่เขาทำก็จะมีผลต่อตัวเขาเองในที่สุด ถ้าอย่างในรายขับรถปาดหน้าดังตัวอย่าง ถ้าเขาจะยังคงขับรถแบบเดิม สักวันก็จะเกิดอุบัติเหตุกับเขาเอง ได้รับกรรมเองโดยไม่ได้ขึ้นกับใคร

  

ผู้ที่ให้อภัยคิดว่าการให้อภัยนั้น เป็นการทำเพื่อ ผู้กระทำผิด เข้าใจว่าการให้อภัย เป็นการยกโทษที่ทำให้คนทำผิดไม่ต้องรับผิด  ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดถนัด จริงๆแล้ว การให้อภัย เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของ "ผู้ให้อภัย" เอง การที่เราจะยังโกรธใครอยู่นั้นความโกรธนั้นไมได้ทำร้ายใครที่ไหน นอกจากตัวเราเอง ความโกรธเหมือนไฟ คนที่ถือไว้ก็โดนไฟลวกมือเองถ้าทราบอย่างนี้แล้วท่านจะยังอยากถือไฟไว้ผมคงจะห้ามไม่ได้

 

 

"ถ้าเขาขอโทษก็จะให้อภัยเขา" "เขาไม่ยอมขอโทษจะให้ให้อภัยได้อย่างไร"

 

ข้ออ้างนี้เป็นอีกข้ออ้างหนึ่งที่เรา มักจะใช้เป็นข้ออ้างในการที่จะ ไม่ยอมให้อภัยใคร ก่อนอื่นคงต้องบอกว่า การให้อภัยนั้น เป็น การ ให้ทาน อย่างหนึ่ง ดังจะเห็นจากการที่เราเรียกการให้อภัยว่า "อภัยทาน" การให้ทาน ไม่ใช่การ ค้าขาย นึกถึงเวลาเราจะให้ทานใคร เราจะให้โดยไม่ได้ไปเรียกร้องอะไรคืนจากเขา ให้เพื่อทำให้ใจ "ของเราเอง" สบายขึ้น การให้อภัยทานก็เช่นเดียวกัน เป็น การให้ทานที่ไม่ต้องหวังผลตอบแทน ชื่อบอกอยู่แล้ว ว่าเป็น การให้ทาน ไม่ใช่การแลกเปลี่ยน ถ้าเราต้องการให้เขา "ขอโทษ" เราก่อนถึงจะให้อภัยเขาได้ แปลว่าเรา กำลังแลกเปลี่ยน ไม่ได้ ให้ อภัยทาน ที่สำคัญมากที่สุด คือ การให้ อภัยทานนั้น เหมือนกับการให้ทานอื่นๆ คือ ผู้ให้คือผู้ที่ได้ ได้ความสบายใจ อันนี้ทำให้ พระท่านว่า อภัยทาน เป็นทานอันประเสริฐนักแล

 

 

 "ฉันพยายามให้อภัยเขาแล้ว พยายามจะลืมๆเรื่องที่เขาทำอยู่"

 

การให้อภัย ไม่ใช่การ "ลืม" แต่เป็นการ "เลิกโกรธสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต่างกันอย่างมาก ถ้าจะเทียบคงคล้ายกับการที่เรามีจานเปื้อนเศษอาหาร จานเปรียบเหมือนความจำ เศษอาหารเปรียบเป็นความโกรธ การลืมคือการโยนทั้งจานและเศษอาหารทิ้ง ซึ่งทำให้เสียจานไปด้วย ในขณะที่การให้อภัยคือการล้างเศษอาหารออกจากจาน แต่ไม่ได้โยนจานทิ้งยังเก็บจานไว้ทำประโยชน์ต่อได้ การลืมถ้าลืมได้จริงๆก็อาจช่วยให้เราหายโกรธได้ แต่จะทำให้เราไม่เรียนรู้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น (เทียบได้กับไม่ได้ใช้ประโยชน์จากจาน) ดังนั้นเราก็อาจจะต้องกลับมาเสียใจในเรื่องคล้ายๆเดิมอีกในอนาคต อย่างที่เขาเรียกว่า "เจ็บแล้วไม่รู้จักจำ" ทางที่ดีเราจึง ควรที่เจ็บแล้วต้องรู้จักจำ จำเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นจะได้ไม่ต้องทำผิดพลาดอีก แต่ไม่ต้องเก็บความโกรธเอาไว้ด้วย คนที่ "เลิกโกรธ"ได้จะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นได้โดยไม่รู้สึกโกรธ แต่คนที่ "ลืมเรื่องที่เกิดจะจำไม่ได้ทั้งเรื่องที่เกิดขึ้นและความรู้สึก (โกรธ) ที่เกิดขึ้นในตอนเกิดเรื่อง  ซ้ำร้ายหลายๆครั้งที่เราพยายามลืม แต่ลืมได้ไม่จริง เพียงแค่กดเก็บความทรงจำที่ไม่ดีนั้นไว้ในส่วนที่ลึกๆของใจ ความทรงจำในเหตุการณ์ไม่ดีนั้นก็จะเก็บไว้ร่วมกันกับความโกรธ ถูกอัดเอาไว้ในใจไม่ได้หายไปไหน รอวันที่มีอะไรไปกระตุ้น ความรู้สึกไม่สบายใจโกรธเคืองเหล่านั้นก็จะพลุ่งพล่านขึ้นมา   ดังนั้นขอให้ทุกท่านเข้าใจว่า การ เลิกโกรธ ไม่ใช่การลืม เรายังจำเหตุการณ์นั้นได้ดี เรียนรู้ความผิดพลาดจากเหตุการณ์นั้นได้ ใช้ประโยชน์จากอดีตมาช่วยป้องกันไม่ให้เราพลาดซ้ำในอนาคตได้ แต่ "หายโกรธ" ผู้ที่ทำให้เราไม่พอใจนั้นแล้ว ใจเราเบาสบายขึ้นแล้ว

 

"ฉันให้อภัยเขาก็เท่าเป็นการยอมแพ้เขาซิ เขาทำกับฉันมากอย่างนี้ฉันไม่มีทางยอมแพ้ง่ายๆหรอก"

 

การให้อภัย ไม่ได้แปลว่าต้องยอมแพ้ ซ้ำร้ายยิ่งต้องการ"เอาชนะ" มากแค่ไหน ยิ่งต้องให้อภัย หรือ เลิกโกรธ มากแค่นั้น ในตำราพิชัยสงคราม กลวิธีหนึ่งในการจะเอาชนะข้าศึก คือการ "ยั่วให้โกรธ" เพราะว่า ความโกรธ ทำให้คนเรา "โง่และบ้า" ทำอะไรหุนหันพลันแล่น เพลี่ยงพล้ำได้โดยง่าย ดังนั้นถ้าอยากเอาชนะ ต้องสามารถเลิกโกรธได้ เราจะได้มี สมาธิ มิจิตใจที่จะเอาชนะได้ ความโกรธเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด โกรธทำให้ขาดสติ คนที่ขาดสติ ทำอะไรก็ล้มเหลวไปครึ่งหนึ่งแล้ว ในทางตรงกันข้ามผู้ที่มีสติ จะสามารถคิดแก้ปัญหาได้อย่างง่ายดาย สติไม่สามารถเกิดได้ถ้ามีความโกรธ

 

"ให้อภัยแล้วเขาจะได้ใจ ไม่รู้สำนึก"

 

 ข้ออ้างนี้คล้ายๆกับข้อแรก เพียงแต่ผู้เขียน อยากเน้นว่า "ให้อภัย" ต่างจาก "อภัยโทษ" อภัยโทษ เป็นศัพท์ทางกฎหมาย แปลง่ายๆว่า ยกโทษให้ ไม่ต้องรับผิด แต่ ให้อภัยแปลว่าเลิกโกรธ แต่ไม่ได้แปลว่า ต้องยกโทษด้วย เพียงแต่ว่า ถ้าเราให้อภัย แล้วทำโทษผู้ที่ทำผิด เราจะทำเพราะ "ความหวังดี" หวังให้เขาได้ดี ไม่ใช่ลงโทษเพื่อการแก้แค้น อันนี้ถ้าจะให้เห็นตัวอย่างชัดต้องนึกถึง พ่อแม่ที่มีลูกเกเร ลูกทำผิด ทำให้พ่อแม่โกรธ ถ้าพ่อแม่ลงโทษด้วย ความโกรธ เด็กจะจำได้เพียงว่า พ่อแม่โกรธตน แต่จำคำสอนที่พ่อแม่บอกไม่ได้ การลงโทษเลย ไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าพ่อแม่ ให้อภัยและ หายโกรธลูก ก่อนที่จะลงโทษ พ่อแม่จะลงโทษเด็กด้วยความหวังดี จะสามารถสอนลูกได้ว่า เขาทำผิดอะไร ทำไมจึงได้รับโทษนั้น เด็กจะได้เรียนจากความผิดเขา และไม่ทำสิ่งเหล่านั้นอีก

 

 

"เขาไม่ได้เป็นคนรู้จักกันมาก่อน เลยอภัยยาก"

จริงๆแล้วข้อนี้ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่อภัย แต่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเราให้อภัยคนใกล้ตัวได้ง่ายกว่า ความเข้าใจผิดนี้ ทำให้เราคิดว่าเราให้อภัยคนใกล้ตัวที่เรารักได้แล้ว ทั้งๆที่ส่วนใหญ่ เป็นการ "ลืม" (หรือพยายามลืมเก็บกดความรู้สึกโกรธไว้ ไม่ใช่การให้อภัย หรือ เลิกโกรธ ที่แท้จริง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเช่นนั้น ข้อนี้สังเกตได้ไม่ยาก ถ้าเราไม่อยากพูดถึงเรื่องที่เขาทำให้เราโกรธ หรือพอนึกถึงแล้วรู้สึกไม่สบายใจ นั่นแปลว่าเรายังไม่หายโกรธ แต่ถ้าเราสามารถพูดถึงเรื่องเหล่านั้นได้ มองเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องตลกขบขันได้ นั่นแปลว่าเราลดความโกรธไปได้บ้างแล้ว หรือถ้าจะสังเกตอีก อย่าง คือดูว่ามีเรื่องอะไรไหม ที่คนอื่นทำแล้วเราไม่โกรธ (หรือโกรธน้อย) แต่พอคนใกล้ตัวเราทำ เรากลับโกรธมากเป็นฟืนเป็นไฟ ถ้ามีแปลว่าเรายังเก็บ ความโกรธ เก่าๆ ที่มีต่อคนใกล้ตัวเราคนนั้นไว้ คนที่เราไม่รู้จักหรือ ไกลตัว มักจะมีโอกาส ทำให้เราโกรธ ครั้งสองครั้งก็ ไม่ได้เจอกันอีก ถึงแม้ว่าตอนที่ทำให้เราโกรธนั้น เราจะโกรธมาก แต่พอเราหายโกรธได้เรื่องก็มักจะจบเพราะไม่ได้เจอกันอีก แต่สำหรับคนใกล้ตัวนั้น เรื่องที่ทำให้เราโกรธอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าเราทยอยเก็บความโกรธเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ไว้ มันก็จะกลายเป็นความโกรธมากๆได้ ดังนั้นสำหรับคนใกล้ตัวที่เรารัก เรายิ่งต้องให้ความสำคัญกับการเลิกโกรธให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อ ความสุขของตัวเราเอง พอเรามีความสุข ใจสงบเย็น มันก็จะทำให้คนที่อยู่ใกล้เรา (ทุกๆคนไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยทำให้เราโกรธหรือไม่ก็ตาม) มีความสุขไปด้วย  ในทางตรงกันข้ามถ้าเราเก็บความโกรธไว้ กลายเป็นคนขี้หงุดหงิด เป็นคนร้อน คนใกล้ตัวเรา ทั้งที่เคยทำให้เราโกรธและไม่เคย ก็จะพลอยทุกข์ใจไปด้วย

 

 จากที่เขียนมาข้างต้นท่านผู้อ่าน คงจะเห็นโทษภัยของการเก็บความโกรธไว้ และนึกอยากที่จะ เลิกโกรธ เพื่อช่อยให้ใจของท่านเป็นสุข ไม่ยากไม่ง่ายครับ แต่ต้องลองทำดู ถ้าลองแล้วยังไม่สำเร็จ ผมมีเคล็ดลับง่ายๆ สำหรับการ เลิกโกรธ "ให้อภัย" ขอให้ติดตามอ่านในเรื่อง "วิธีเลิกโกรธอย่างง่าย" สำหรับตอนนี้ ผมขอเอาใจช่วย ให้ผู้อ่านทุกท่านที่ตั้งใจจะ "เลิกโกรธ" สามารถทำได้ดั่งตั้งใจ เลิกโกรธ และมีใจที่สงบสุขได้ทุกๆคน ขอบคุณและสวัสดีครับ

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #อภัย
หมายเลขบันทึก: 97627เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2007 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาอ่านครับ

โทสะ แก้ด้วยเมตตา/อภัย

เมตตาและอภัยเพื่อให้จิตเกิดอิสระ

สวัสดีค่ะ

เคยคิดเรื่อง การให้อภัย ไว้ค่ะ อ่านบันทึกของคุณหมอแล้ว ยิ่งรู้สึกชัดเจนเลยว่า การให้อภัยเป็นการสร้างสมดุลให้ชีวิตของผู้อภัยจริงๆ ...ขอบคุณกับบันทึกนี้ค่ะ

ขอรวมบล็อกของคุณหมอไว้ในแพลเนต Live ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท