สะพานที่ไม่มีฐานที่มั่นคง พร้อมจะพังลงได้เสมอ


ถ้าฉันหันไปให้ความสำคัญกับการกระตุ้นจิตสำนึกในหัวใจคน มันคงจะมั่นคงจะยั่งยืนกว่า และเมื่อนั้นดอกผลต่างๆ ก็คงจะผลิบานออกมาจากหัวใจที่งดงามของพวกเขาและเธอเอง

บางครั้งที่ทฤษฎีมากเกินไป ก็อาจหลงลืมบางสิ่งที่เป็น "หัวใจ" จนอาจหลงทางไปได้ หากไม่ฟัง "สัญญาณ" เตือนภัย !!

ฉันโชคดีที่ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานเมื่อเรียนจบ ได้มีโอกาสทำงานกับผู้ใหญ่ที่มักจะให้อิสระในการคิดสร้างสรรงานต่างๆ โดยผู้ใหญ่จะเป็นคนแนะนำไม่ห่าง หรือเข้ามาแนะนำใกล้ชิดเมื่อประสบปัญหา แต่มักไม่ชี้นำหรือบังคับจนขาดความมั่นใจ

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่ฉันได้กลับมาทำงานในที่เดิมที่เคยอยู่ในบทบาทใหม่ แต่ผู้ใหญ่ก็ยังให้อิสระที่ฉันจะคิดงานต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยท่านช่วยวางกรอบให้บ้าง

ฉันจึงเริ่มต้นจากการกลับไปสัมผัสกับความเป็นจริงของผู้คนและชุมชนในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปมาก กับปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นที่ฉันได้แบ่งปันในหลายบันทึกใน blog นี้

พร้อมๆ กับได้พยายามนำทฤษฎีหลายอย่างที่ฉันได้สะสมเรียนรู้ในช่วงการทำงานที่ผ่านมา มาผสมผสานเพื่อต้องการวางแผนแก้ไขปัญหาตรงหน้าที่ฉันและเขากำลังประสบ

อาทิ การรวมกลุ่ม หรือรูปแบบสหกรณ์ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน

ฉันใส่ใจอยู่กับ "รูปแบบ" พยายามศึกษาเรียนรู้จากหลายพื้นที่ หลายคน เพื่อมาปรับประยุกต์ให้เป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับคนที่ฉันอยู่ด้วย

วันหนึ่ง ผู้ใหญ่ที่แสนดีของฉันซึ่งคอยติดตามดูความกระตือรือร้นของฉันอยู่ไม่ห่าง ได้มีโอกาสคุยกับฉัน พร้อมๆ กับแบ่งปันประสบการณ์ของท่านและบางคนที่เริ่มต้นจาก "รูปแบบ" อย่างที่ฉันกำลังทำ เมื่อกว่า ๑๐ ปีก่อน แต่สุดท้ายไม่เหลืออะไร

ท่านว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้ "ความรู้" เพื่อพัฒนา "จิตใจ" ที่ก่อให้เกิด "จิตสำนึก" แล้วสิ่งอื่นๆ จะตามมาเองและคงอยู่ต่อไป

จริงซิ ! ถ้าฉันมัวแต่จะกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่ม โดยยังไม่เกิดจิตสำนึกที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างแท้จริงแล้ว ทุกอย่างก็คงเป็นเพียงแค่รูปแบบที่อาจเกิดขึ้นชั่วประเดี๋ยว แล้วก็ล้มลง เหมือนที่เห็นหลายแห่ง

แต่ถ้าฉันหันไปให้ความสำคัญกับการกระตุ้นจิตสำนึกในหัวใจคน มันคงจะมั่นคงจะยั่งยืนกว่า และเมื่อนั้นดอกผลต่างๆ ก็คงจะผลิบานออกมาจากหัวใจที่งดงามของพวกเขาและเธอเอง

จริงซิ ! ฉันเกือบจะหลงทางแล้ว สะพานของเราเกือบจะพังเร็วกว่าที่คิดเพราะฉันมัวแต่นึกถึงสะพานที่สวยงาม จนลืมมองถึงฐานรากที่มั่นคงก่อน

ฉันจะกลับไปค่อยๆ วางรากฐานที่มั่นคงให้สะพาน แต่ยังคงต้องการคนช่วยสร้างฐานสะพานอยู่เช่นเดิมค่ะ !!

หมายเลขบันทึก: 97610เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2007 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ถ้าเจ้าของปัญหาสร้างสะพานได้

ถึงสะพานพัง ก็ไม่เป็นไร สร้างใหม่กี่รอบ ก็ได้ค่ะ

ใช่ค่ะ ต้องสอนให้เขาและเธอสร้างสะพานกันได้เอง ขอบคุณค่ะ

ชอบความเห็นของ อ.วิจารณ์ ใน "Teaching and Learning" ขอเอามาบันทึกไว้ตรงนี้ด้วยค่ะ

คุณค่าสูงสุดของมหาวิทยาลัยไม่ใช่ตัวความรู้   แต่เป็นการส่งเสริมให้เกิดความงอกงามของพลังแรงบันดาลใจภายในตน ของนักศึกษาแต่ละคน

ขอบคุณอาจารย์ปัทมาวดี มากนะคะสำหรับหนังสือ "เท่าทันทุนนิยม" ของอาจารย์เกียรติวรรณ อมาตยกุล ที่อาจารย์กรุณาส่งมาให้ คิดว่าจะมีประโยชน์มากๆ และเป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับการวางรากฐานให้สะพาน ที่เรากำลังจะสอนให้เขาสร้างกันเองค่ะ

และขอบคุณสำหรับคำแนะนำดีๆ และกำลังใจจากอาจารย์เสมอค่ะ

เห็นด้วยว่า การให้ความรู้เพื่อพัฒนาจิตใจ  และการให้ความรู้เพื่อให้เขาคิดเป็น สร้างสะพานเป็น  เป็นสิ่งสำคัญที่สุด  ยั่งยืนที่สุด  ค่ะ

ฐานรากเป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำในงานก่อสร้างครับ...เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นที่อยู่ในดิน...เป็นงบประมาณก้อนใหญ่ที่ต้องทุ่มเท...ยิ่งสร้างสะพาน การทำฐานรากยิ่งยากนะครับ เพราะต้องสู้กับน้ำที่ไหลอยู่ตลอดเวลา....

เอาใจช่วยครับ...

โอชกร

ขอบคุณ อ.โอชกร มากค่ะ

เห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่งค่ะว่างานสร้างฐานรากนี่ยากที่สุด และต้องทุ่มเทอย่างมากมายทั้งแรงกาย แรงใจ แรงสติปัญญา และแรงทรัพย์ ถ้าไม่มีเป้าหมายและความหวังที่ชัดเจนอาจท้อไปก่อนได้ เพราะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น หลายครั้งการฝึกอบรมคนไม่เห็นผลงานทันทึ ต้องคอยเวลา แถมยังต้องสู้กับกระแสอะไรมากมายที่คอยจะมากัดเซาะ แย่งชิง ตลอดเวลาจริงๆ ด้วยค่ะ ทำให้หลายครั้ง ก็มีบางส่วนหรือบางคนที่เสียหายไปก่อน ต้องกลับมาซ่อมแซมได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท