การเปลี่ยนแปลงการบริหาร (4)


ปัจจุบันการบริหารให้ความสำคัญกับคน เพราะความสำเร็จขององค์กรอยู่ที่คน

ผมคงไม่ย้อนประวัติศาสตร์การบริหารไปยาวนัก  แต่เชื่อว่าแนวคิด  ทฤษฎีการบริหารปัจจุบันมีรากมาจากอดีต  และพัฒนามาเป็นลำดับจากการเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ

เคยได้ยินคำพูดนี้ไหมครับ?

“ทำงานทั้งวันได้พันห้า  เดินไปเดินมาได้ห้าพัน”

ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้  ต้องพูดว่า

“ทำงานทั้งวันได้หมื่นห้า  เดินไปเดินมาได้ห้าหมื่น”

ฟังแล้วอิจฉาคนเดินไปเดินมาใช่ไหมครับ?

ถ้าอยากจะสบาย (ตามที่คิด) คือเดินไปเดินมา  ต้องไปอ่านทฤษฎีนี้ครับ

Management by Walking Around (การบริหารแบบเดินไปรอบๆ  หรือการบริหารแบบเดินไปเดินมา) หรืออาจเรียกว่า Walking Around Management (WAM)

การบริหารแบบนี้มีบริษัทชั้นนำหลายบริษัทนำไปใช้ครับ  เช่น  บริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ (Apple Computer) บริษัทฮิวเลท-แพคการ์ด (Hewlett-Packard) บริษัทโมโตโรล่า (Motorola) และบริษัทวอลมาร์ท (Wal-Mart)

วิธีบริหารทำอย่างไรครับ?

แต่ละวัน  ผู้บริหารจะออกเยี่ยมเยียนหน่วยงานโดยพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่างๆ  กับคนในหน่วยงาน  ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับงานที่รับผิดชอบ  หรือนอกเหนืองานที่รับผิดชอบ  คือเรื่องส่วนตัวก็ได้  อาจใช้เวลาสำหรับพนักงานแต่ละคนราว 20 นาที

ทำอย่างนี้ทุกวันครับ  แต่อย่าไปพูดคุยขณะที่เขาทำงานคร่ำเคร่งอยู่นะครับ  เดี๋ยวจะเสียทั้งงาน  และคนคุยด้วยเสียอารมณ์  เพราะไปขัดจังหวะการทำงานของเขา  การพูดคุยก็ต้องอยู่ในช่วงเวลา  และขอบเขตที่เหมาะสมด้วย

พูดคุยแล้วต้องจดบันทึกครับ  ข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยต้องนำมาพิจารณา  ปรับปรุง  พัฒนาหรือแก้ไข  ไม่ใช่เฉพาะงานนะครับ  ข้อร้องเรียนต่างๆ ที่เป็นปัญหาต้องแก้ไขและคลี่คลายด้วย

การบริหารงานอย่างนี้  ผู้บริหารต้องสลัดความเป็นเจ้าขุนมูลนายทิ้ง  การพูดคุยอย่างกันเองและจริงใจจะทำให้ได้ใจลูกน้อง  หรือผู้ใต้บังคับบัญชา  แต่ถ้าล้ำเส้นความเหมาะสม  หรือเกินพอดี  ก็จะเป็นผลเสีย  กลายเป็นก้าวก่าย  และเกิดความกระด้างกระเดื่องได้

ข้อดีของการบริหารแบบ WAM จะทำให้ผู้บริหารได้สัมผัสปัญหาอย่างแท้จริง  ดีกว่าการนั่งประจำโต๊ะ  และคอยฟังแต่รายงาน  ข้อสำคัญอย่าทำให้ผู้ที่ไปพูดคุยด้วยอึดอัด  เข้าใจผิดว่าผู้บริหารมาสืบความลับหรือจับผิด  อย่างนี้แทนที่จะเป็นคุณ  กลับกลายเป็นโทษครับ

ปัจจุบันการบริหารให้ความสำคัญกับคน  เพราะความสำเร็จขององค์กรอยู่ที่คน

การที่ผู้บริหารสนใจเพื่อนร่วมงานทั้งด้านงาน  และสารทุกข์สุกดิบอื่นๆ  ก็จะทำให้บรรยากาศองค์กรเต็มไปด้วยมิตรภาพ

เกือบลืม  เดินกี่ก้าวดีครับในหนึ่งวัน  ผมคิดเอาเองว่า  ยิ่งเดินมากเท่าไหร่ยิ่งดี  ดูเหมือนทฤษฎีบอกว่าอย่างน้อย 5,000 ก้าว  ถ้าคิดว่าก้าวละ 50 ซ.ม.  ก็เดินวันละ 2,500 เมตร  หรือ 2 กิโลเมตรครึ่ง  แต่ถ้าหน่วยงานแคบและเล็ก  ก็อย่าไปเดินให้ครบ 5,000 ก้าวนะครับ  ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาจะมองดูแปลกๆ  และนึกในใจว่าผู้บริหารเราท่าจะเพี้ยน  วันนึงๆ เดินไปเดินมา  วนเวียนอยู่นั่นแหละ (ท่าจะบ้า)

ประยุกต์แนวคิดเอาไปใช้นะครับ

แต่ถ้าเห็นว่ามันไม่เหมาะกับองค์กรของเรา  ก็อย่าเอาไปใช้  จะโดนเสียดสีเอาได้ว่า

“เดินไปเดินมาได้ห้าหมื่น  (ใครก็ทำได้วะ)  สบายจะตาย”

เป็นผู้บริหาร  อย่าให้คนหมั่นไส้ครับ

ผมเคยได้ยินเรื่องเล่าว่า  เจ้าของสวนสนุกแห่งหนึ่งใช้วิธี WAM ในการบริหาร  แต่แตกต่างกับวิธีการข้างต้น

วิธีการของเขาก็คือ “เข็นรถขายของ”  ก็พวกสินค้ากระจุกกระจิก  ของขบเคี้ยว  นั่นแหละครับ  เข็นไปขายรอบๆ สวนสนุก  มีลูกค้าคือพวกมาเที่ยวพักผ่อน  โดยเฉพาะเด็กๆ ชอบมาก  มักเซ้าซี้ให้ผู้ปกครองซื้อของให้  ระหว่างรอรับสินค้าผู้ใหญ่ก็จะบ่นหรือระบายเรื่องที่ไม่ชอบ  เช่น  สวนสนุกค่าตั๋วแพง  เครื่องเล่นเก่า  พนักงานไม่สุภาพ  ฯลฯ  หรืออาจพูดชื่นชมก็ได้ครับ  เช่น  เครื่องเล่นทันสมัย  สถานที่สวยงาม  ฯลฯ  ข้อมูลเหล่านี้ได้มาโดยไม่จำเป็นต้องจ้างนักวิจัยครับ  เจ้าของเป็นนักวิจัยเอง  ได้ข้อมูลตรง  เป็นข้อมูลปฐมภูมิ  ส่วนตัวเจ้าของได้ออกกำลัง  และตรวจตราการทำงานของลูกน้องอีกวิธีหนึ่งด้วย

เข้าท่าไหมล่ะครับ ?

ผู้บริหารเลือกใช้ WAM แบบไหนดี?  ลองประยุกต์ใช้ดูครับ

หมายเลขบันทึก: 97592เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2007 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ผมได้ปรับตรงนี้มาใช้เรื่อยครับอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นงานคณะ งานมหาวิทยาลัย หรืองานในระดับประเทศ
  • ผมถือคติที่ว่า น้องเราทำ เพื่อนเราทำ เราเป็นหัวหน้าเราจะทิ้งคนเหล่านี้ไม่ได้ ใครไม่อยู่เราต้องอยู่ ต้องได้พูดคุย เพื่อดู Feed back
  • บางครั้งนะครับ ผมทำเป็นนอนหลับในที่งาน เพื่อแอบฟังน้องๆคุยกัน (น้องๆคิดว่าผมหลับไม่ได้ยิน) หรือจะแกล้งฟังเพลงใส่หูฟัง แต่จริงๆ ไม่ได้เปิดเพลงอะไร ทั้งนี้เพื่ออะไรครับ เพราะต้องการ Feed back
  • แล้วก็เหมือนที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ การเป็นผู้บริหารจะทำให้ครหมั่นไส้ไม่ได้ ภาพลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญ
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ
  • อาจารย์ครับ สภาเยาวชนจังหวัดพิษณุโลก ส่งหนังสือมาเชิญผมไปเป็นกรรมการบริหาร ผมสมควรจะไปมั้ยครับ ปี ๔ แล้ว งานองค์การนิสิตก็มาก กลัวจะกระทบการเรียน แต่คิดๆดูก็เสียดายโอกาส เพราะคำว่าเยาวชน จบปริญญาตรีคำว่าเยาวชนก็ใช้กับผมไม่ได้แล้ว
  • รบกวนด้วยนะครับอาจารย์

บีเวอร์

ขอบใจบีเวอร์ที่ติดตามอ่านบล็อกของครูอย่างต่อเนื่อง  ครูเกือบเลิกเขียนไปแล้ว  เพราะคิดว่าเขียนเชิงวิชาการดูจะหนักเกินไป  แต่พอไปดูจำนวนคนอ่านแต่ละบล็อกพบว่า  บล็อคที่มีคนอ่านมากที่สุด (วันนี้) คือ  การบริหารความขัดแย้ง  มีคนเข้ามาอ่าน 2,090 คน  ก็เลยคิดว่า  ข้อเขียนในบล็อกอาจเกิดประโยชน์กับคนที่สนใจ  จึงเขียนมาเรื่อยๆ  และคงไม่เปลี่ยนสไตล์การเขียน

ถ้าครูเป็นบีเวอร์จะเข้าไปร่วมกับสภาเยาวชนพิษณุโลกตามที่เขาเชิญ  คิดว่าน่าจะได้ประโยชน์ หรือในทางกลับกัน  บีเวอร์จะเป็นประโยชน์สำหรับสภาฯ ด้วย  ข้อสำคัญต้องแบ่งเวลาให้เป็น  และบริหารเวลาให้ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท