สมาธิคืออะไร?


ความสงบ สบาย และความรู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่งที่มนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตนเอง

เมื่อกล่าวถึงสมาธิ ต้องเข้าใจในเบื้องต้นว่า สมาธิมิใช่เรื่องของ ฤๅษี ชีไพรหรือมิใช่เป็นเรื่องที่ประพฤติปฏิบัติได ้เฉพาะผู้ที่เป็นนักบวชเท่านั้น แต่สมาธิเป็นเรื่องของการฝึกฝนอบรมจิตใจ และเป็นการพัฒนาจิตใจให้มีความมั่นคง ตั้งมั่น และทำให้มีคุณภาพทางจิตใจที่ดีขึ้น ซึ่งในทางพระพุทธศาสนานั้น สมาธิสามารถประพฤติปฏิบัติได้ ทั้งเพื่อประโยชน์ต่อความมีชีวิตที่อยู่เป็นสุขในเพศภาวะของผู้ที่ยังครอง เรือน และยังเป็นการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้นสำหรับผู้ที่เป็นนักบวชอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม สมาธิ ถือเป็นเรื่องสากล กล่าวคือ มิใช่เฉพาะพุทธศาสนิกชนเท่านั้นที่จะสามารถปฏิบัติสมาธิได้ แม้ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นก็สามารถปฏิบัติสมาธิได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การฝึกสมาธิจะเน้นให้ความสำคัญของการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ปฏิบัติเห็นผลด้วยตนเองแล้ว หากมีข้อสงสัยในเชิงปฏิบัติ ก็สามารถที่จะสอบถามจากผู้รู้ผู้ชำนาญได้อย่างตรงเป้าหมายหรือตรงต่อ ประสบการณ์ที่ตนเองได้ปฏิบัติมา และถึงแม้จะมีการอธิบายรายละเอียดความรู้ของสมาธิในเชิงทฤษฎี แต่กระนั้นก็มิอาจจะที่จะละเลยสมาธิในเชิงปฏิบัติได้

ความหมายของสมาธิ

การอธิบายความหมายของสมาธิ สามารถอธิบายได้ทั้งในเชิงลักษณะผลของสมาธิที่เกิดขึ้นและอธิบายในลักษณะในเชิงการปฏิบัติ เช่น สมาธิ คือความสงบ สบาย และความรู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่งที่มนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตนเอง เป็นข้อควรปฏิบัติ เพื่อการดำรงชีวิตทุกวันอย่างเป็นสุข ไม่ประมาท เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญา อันเป็นเรื่องไม่เหลือวิสัย ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ

ความหมายในเชิงลักษณะผลของสมาธิ

สมาธิ คือ อาการที่ใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่อง หรือ อาการที่ใจหยุดนิ่งแน่วแน่ ไม่ซัดส่ายไปมา เป็นอาการที่ใจสงบรวมเป็นหนึ่งแน่วแน่ มีแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใส สว่างไสวผุดขึ้นในใจ จนกระทั่งสามารถเห็นความบริสุทธิ์นั้นด้วยใจตนเอง อันจะก่อให้เกิดทั้งกำลังใจ กำลังขวัญ กำลังปัญญา และความสุขแก่ผู้ปฏิบัติในเวลาเดียวกัน1 

ความหมายในเชิงลักษณะการปฎิบัติสมาธิ

กล่าวอีกนัยหนึ่งในเชิงลักษณะการปฏิบัติ สมาธิ แปลว่า ความตั้งมั่นของจิต หรือภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด หรือการที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน

ความหมายในเชิงเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย

พระราชภาวนาวิสุทธิ์2 ได้ให้ความหมายของการทำสมาธิภาวนาในเชิงของการปฏิบัติว่า การทำสมาธิก็คือการทำใจของเราให้หยุดนิ่ง อยู่ภายในกลางกายของเรา กล่าวคือการดึงใจกลับเข้ามาสู่ภายใน อยู่กับเนื้อกับตัวของเรา ในอารมณ์ที่สบาย เป็นการดึงใจที่ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ ในความคิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว ธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน เรื่องสนุกสนานเฮฮา หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ก็ตาม ดึงกลับมาไว้อยู่กับตัวของเราให้มามีอารมณ์เดียว ใจเดียว ซึ่งท่านได้อ้างอิงถึงพระมงคลเทพมุนี(หลวงปู่วัดปากน้ำฯ) ซึ่งได้เคยอธิบายเรื่องการทำสมาธิว่า คือการทำให้ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ รวมหยุดเป็นจุดเดียว หรือให้รวมหยุดเป็นจุดเดียวในอารมณ์ที่สบายที่กลางกายของเรา ซึ่งวิธีที่จะทำให้เกิดสมาธิเพื่อการเข้าถึงธรรมกายก็คือฝึกใจให้หยุดให้ นิ่งอยู่ภายใน


1พระภาวนาวิริยคุณ(เผด็จ ทัตตชีโว), [2545] พระแท้, ปทุมธานี, หน้า 210.
2 พระราชภาวนาวิสุทธิ์, [2537] บทพระธรรมเทศนา วันอาทิตย์ต้นเดือน,( 6 พฤศจิกายน 2537) ปทุมธานี.
 
 สมาธิมีกี่ประเภท?
โดยปกติแล้ว มนุษย์ย่อมจะเกลียดความทุกข์และมุ่งแสวงหาความสุขให้กับตนเอง แต่ความสุขที่ ต่างคนต่างแสวงหานั้น ส่วนใหญ่เป็นเพียงความสุขที่ให้ผลชั่วครั้งชั่วคราวหรือเป็นความสุขภายนอก ที่ยังไม่สามารถทำให้จิตใจคลายจากรากเหง้าของความทุกข์และนำไปสู่ความสุข ที่ถาวรได้ ทั้งนี้ เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่นั้น ยังไม่เข้าใจว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจนั้น จะต้องแก้ที่จิตใจ หาใช่แก้ที่ร่างกายหรือสิ่งที่เป็นปัจจัยภายนอก เช่น มีการเสพยาเสพติด การเที่ยวเตร่เฮฮา ซึ่งเป็นการทำให้จิตใจเพลิดเพลิน ลืมความทุกข์ไปชั่วขณะ แต่ในที่สุดก็หาได้ทำให้พ้นจากความทุกข์ดังกล่าวได้ ดังนั้น การทำสมาธิ จึงเป็นวิธีการที่สำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การพ้นจากความ ทุกข์ได้อย่างแท้จริง ดังจะพบว่าปัจจุบัน ผู้คนในสังคมต่างๆ โดยเฉพาะในสังคมของประเทศตะวันตก เริ่มให้ความสนใจกับการฝึกสมาธิกันแพร่หลายมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม การฝึกสมาธิที่มีการสอนกันโดยทั่วไปนั้น มีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่น เพื่อการแสดงฤทธิ์ทางใจในรูปของการปลุกเสก ร่ายคาถา อาคม เป็นต้น ซึ่งย่อมทำให้ผู้คนเกิดศรัทธา ชื่นชม ยกย่องในความเก่งกล้าสามารถ หรือการฝึกสมาธิบางประเภทก็มุ่งเพื่อการเจริญสติ ก่อให้เกิดปัญญา นำไปสู่ทางพ้นทุกข์ หากจะอธิบายโดยทั่วไปได้คือ สมาธิที่มีการสอนในโลกนี้สามารถจัดแบ่งได้หลายประเภทตามหลักปฏิบัติ วิธีการ หรืออื่นๆ มากมาย ในเบื้องต้นนี้ สมาธิสามารถจัดแบ่งเป็นประเภทได้ ดังต่อไปนี้ คือ

1. สัมมาสมาธิ

2.มิจฉาสมาธิ

ที่มา จากเว็บไซต์ DMC.tv :http://www.dmc.tv/pages/meditation/meditation01.html

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สมาธิคืออะไร
หมายเลขบันทึก: 97568เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2007 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ศึกษาสมาธิภาวนาวิชชาธรรมกายทุกแง่มุมได้ที่เวป http://khunsamatha.com/

 

ห้องสนทนาสมาธิภาวนาวิชชาธรรมกาย มีวิทยากรให้คำแนะนำวิธีการฝึกสมาธิมากมาย http://forums.212cafe.com/samatha/

ขออนุโมทนาครับ และขอบคุณที่ท่านได้มอบความรู้ดีๆนี้ให้ ขอให้พระรัตนตรัยคุ้มครองท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท