แลป(Lab) มันหลับ


ทำไงมันจะตื่น

UNDP  ให้โอกาสนักการศึกษาไทยหลายคนไปดูงานการศึกษาที่มลรัฐฟอริด้า  ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาเกือบ ๑  เดือน  ขณะนั้น  ฟอริด้า  กำลังทดลองปฏิรูปการศึกษา  โดยใช้  เอกสารที่เรียกว่า  Blue  Print  ๒๐๐๐  ดูตามเอกสารดังกล่าวแล้วเห็นว่า  ทั้งนักบริหารและนักวิชาการของฝรั่งเขาเอาจริงเอาจังดีจริงๆ  และเอกสารเขาเปิดเผยอย่างทั่วถึง  ทำให้ทุกคนหากไม่เป็นคนขี้เกียจละก็  มีโอกาสได้ร่วมปฏิรูปการศึกษาอย่างเต็มที่ที่เดียว


คณะดูงานมีโอกาสได้ไปดูงานที่มลรัฐเคนตักกี้ด้วย  มีหลายอย่างคล้ายๆการศึกษาในเมืองไทย  ไม่รู้ว่าเป็นไปโดยบังเอิญหรือเราไปลอกแบบเขามาก็ไม่ทราบ  แต่มีอยู่อย่างหนึ่ง  คือ  แลป  (Lab)  ของเขาไม่มีหลับเลย  แถมผู้ปกครองมีส่วนช่วย  และใช้ด้วย  นี่ซิ  มันต่างกับ  แลป  (Lab)  ในโรงเรียนบ้านเราที่มันไม่ยอมตื่นเอาเสียเลย  บางโรงเรียนยังแถมมีกุญแจปิดตายตู้เครื่องมือซะแน่นอีกด้วย  ไม่มีรายงาน  หรือองค์ความรู้ใดๆในห้องแลป ของโรงเรียนไทย  แต่ของเขา  มีสิ่งที่เรียกว่า  Port  folio  ของนักเรียนเยอะแยะไปหมด  มีตั้งแต่ผลงานระดับเณรน้อย  ระดับปานกลาง  ระดับดี  และระดับมืออาชีพ  อยากจะดูระดับไหนก็ดูได้ทุกเมื่อ


มีแลป    (Lab)   อย่างหนึ่งที่อาจารย์ใหญ่โรงเรียน  Southside  Elementary:  Shelby  County,  Kentucky.  มีความภาคภูมิใจอยากจะให้ดูซะจริงๆ  แต่ไม่ค่อยมีท่านใดสนใจอยากดู  อาจารย์ใหญ่ท่านรู้ได้ยังไงก็ไม่ทราบ  เล่นคว้าข้อมือได้กึ่งลากกึ่งชวนรีบเดินไปดู  Open  Science  Lab  ที่ลือเลื่องของโรงเรียนของท่าน  ไปถึงเห็นมีแต่สนามหญ้า  หญ้ายาวเชียว  มีโต๊ะทำท่าโย้เย้  ตั้งอยู่ข้างสนาม  ๑  ตัว  เก้าอี้  ๓  ตัว  มีเก้าอี้ตั้งอยู่ด้านซ้ายมืออีก  ๒  ตัว  ผมไม่รู้เรื่องมาก่อน  ก็ถามว่า  ขอโทษครับ  ไหนล่ะ  Open  Science  Lab?  


อาจารย์ท่านใจดี  บอกว่านั่งลงซิ  ก้มดูที่พื้นสนาม  เห็นอะไรบ้าง?  เห็นมีแต่หญ้า  ท่านบอกว่า  แล้วคูณรู้ไหมว่านั่นน่ะเขาเรียกว่าหญ้าอะไร?  โอ/  ไม่ทราบครับ  เขาเรียกว่าหญ้า  Blue  Grass   ซึ่งเป็นหญ้าคุณภาพดีที่สุดของมลรัฐนี้   คุณรู้ไหม?ปศุสัตว์ที่ดีที่สุดของอเมริกาเขาเลี้ยงด้วยหญ้าชนิดนี้ละ  เราต้องให้เด็กๆได้ศึกษาเพื่อจะได้สืบทอดทำฟาร์มที่มีชื่อเสียงต่อไป  ถ้ามีเวลาอย่าลืมไปดูที่ห้องสมุดนะ  เด็กๆของเราศึกษาเรื่องนี้อย่างเต็มที่เลย  ถามว่า   Open  Science  Lab   มีเท่านี้เองหรือ?  ยัง /  มองดูลงไปใต้หญ้าซิ  เห็นอะไร?  มีแมลงตัวขาวๆ  นั่นละตัวอะไร  ไม่ทราบครับ  ต้องศึกษาให้รู้  และยังมีแมลงอื่นๆอีก  ๓๐  กว่าชนิด  มีประมาณ  ๒๒  ชนิดที่มีประโยชน์ต่อดิน  มีประโยชน์ต่อการผุพังของเชลลูโลส   ยิ่งไปกว่านั้น  ดินยังแบ่งได้เป็นชั้นๆ  มีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกัน  นี่ถ้ามีต้นไม้เด็กๆก็จะได้ศึกษาส่วนต่างๆของต้นไม้  คุณประโยชน์ของมัน  และอาจได้ศึกษาถึงเรื่องนกและสัตว์อื่นที่มีตามต้นไม้  ตลอดจนระบบนิเวศน์วิทยาด้วย

โอ้โฮ/  พี่แกไม่ต้องลงทุนอะไรเลย  ก็มีแลป  (Lab)  ได้เรียนอย่างกว้างขวาง  แถมความรู้ที่ได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง  และนี่เป็นโรงเรียนประถมดอกนะ  ถ้าเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาสูงๆ เขาจะมีความก้าวหน้าขนาดไหน?  ข้าพเจ้าอึ้ง  "นึกถึงโรงเรียนบ้านเรา"  ที่จริง  Open  Science  Lab   เราก็ทำได้  เป็นเพราะเราไม่ได้คิดเอง  ความรู้ใกล้ตัวจะเรียกว่ามันอยู่ใต้อุ้งเท้าของเราเลยก็ว่าได้  แต่ไม่ได้ศึกษากันเอง  และยิ่งไปกว่านั้น  ยังทำลายทิ้งจนสูญพันธ์เสียมากต่อมาก  คิดดูซี/  ผักตามท้องนา  ตามป่า  ตามห้วยหนองคลองบึงมีมากแค่ไหน  ปัจจุบันนี้เหลืออะไรบ้าง?  เห็นไหม เพราะเราไม่ค่อยทำ  Open  Science  Lab  นี่เอง 

หมายเลขบันทึก: 97199เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2007 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
แค่เข้าใจแก่นของมัน ก็สามารถนำทุกอย่างมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ขอบคุณที่ทำให้มองเห็นภาพห้องแล็ปมีชีวิตชัดเจน...อยากทำค่ะ...แต่คงต้องใช้คำว่าพยายาม..บ้านเรามีตัวแปรเยอะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท