ทฤษฏี เดิน คลาน วิ่ง เพื่อบ่มเพาะ SMEs


“โครงการบันไดเศรษฐี” โดยอาศัยแนวคิดของการพัฒนาผู้ประกอบเลียนแบบการเติบโตของคนเราตามธรรมชาติ นั่นคือ “การคลาน เดิน และวิ่ง”

ในช่วงที่ผ่านมาผมและทีมงานได้มีโอกาสที่ได้ร่วมงานศูนย์ประยุกต์บริการและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันจัดทำโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการระดับอุดมศึกษา (In-wall Incubator) โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีเป้าหมายที่จะบ่มเพาะ เตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการเมื่อเขาเหล่านั้นได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว  ซึ่งผมคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ท้าทายมาก เนื่องด้วยนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นหลายๆ คนไม่มีพื้นฐานหรือประสบการณ์ทางด้านธุรกิจมาก่อนเลย

ในขณะเดียวกัน โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการที่จัดทำขึ้นเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งไม่ได้คิดหน่วยกิตให้เพื่อใช้สมทบกับการเรียนของนักศึกษา ดังนั้น นักศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการต้องใช้ความแน่วแน่และความอดทนเป็นอย่างมากในการเข้ามาร่วมโครงการดังกล่าว  

โครงการบ่มเพาะที่ว่านี้เราใช้ชื่อว่า โครงการบันไดเศรษฐี โดยอาศัยแนวคิดของการพัฒนาผู้ประกอบเลียนแบบการเติบโตของคนเราตามธรรมชาติ นั่นคือ การคลาน เดิน และวิ่ง

 เนื่องจากทีมผู้ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ในครั้งนี้เชื่อว่า   เมื่อเริ่มแรกของวัยเด็กก่อนที่จะสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วและมั่นคง  พวกเขาต้องเริ่มจากการคลานก่อน คลานกลับไปมาจนกระทั่งเขาสามารถพัฒนาศักษาภาพของแขน ข้อขาและเท้าให้แข็งแรง  รู้จักจัดความสมดุลของร่างกาย เมื่อทุกอย่างพร้อมเด็กเหล่านี้ก็พร้อมที่จะยืน เมื่อพวกเขายืนได้   ในระยะเวลาไม่นาน พวกเขาก็จะเริ่มเดิน ซึ่งการเดิน ก็จะค่อยๆ ก้าวที่ละนิด ละหน่อย แต่ละก้าวก็จะได้รับการประคับประคองจากพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงจนกระทั่งเขาสามารถเดินได้อย่างมั่นคง ก้าวได้ยาวๆ ก้าวได้เร็ว ก้าวได้ถี่จนกลับการเป็นกลายเป็นความสามารถในการวิ่ง 

การที่นักศึกษาจะสามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการจริงๆ นั้น ต้องอาศัยเวลาและการเรียนรู้   ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการที่พวกเขาพยายามพยายามจะคลาน ยืน เดิน จนกระทั่งสามารถวิ่งได้นั้นย่อมเป็นบทเรียนที่ดีที่พวกเขาเพื่อที่จะเติบโตไปเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง มีความอดทน และหนักแน่พร้อมที่จะออกไปเผชิญกับภาคธุรกิจที่อาจจะดูโหดร้ายซักหน่อยสำหรับ มือใหม่

โลกธุรกิจอาจไม่ยอมรับการผิดพลาดซ้ำกันหลายๆครั้ง เพราะนั้นการผิดพลาดแต่ละครั้งคือต้นทุนที่พวกเขาต้องเสียไป ต้นทุนที่ว่าอาจเป็นเงินทุนสะสม หรือรวบรวมได้จากที่ต่างๆ จนถึงการกู้ยืม และถ้าหากว่าพวกเขาทำพลาดบ่อยครั้ง โลกธุรกิจอาจไม่มีที่สำหรับเขาได้ก้าวยืนอีกต่อไปดังนั้นความคิดในการฝึกอบรมบ่มเพาะ 

ทำไมไม่เริ่มจากแผนธุรกิจ

ในขณะที่ทีมงานของเรากำลังร่างหลักสูตรกันอย่างนั้น มีคำถามหลายคำถามเกิดขึ้นเกี่ยวกับโครงการบันไดเศรษฐีว่าจะเกิดเป็นจริงได้อย่างไร แต่คำถามหนึ่งดูเป็นคำถามที่ได้รับการสอบถามจากบุคลากรหลายฝ่ายว่า ทำไมไม่เริ่มการบ่มเพาะนักศึกษาจากการเริ่มการทำแผนธุรกิจ” 

 การที่โครงการบันไดเศรษฐีไม่เริ่มบ่มเพาะนักศึกษาจากการให้เรียนรู้การเขียนแผนธุรกิจเพราะทางทีมผู้ออกแบบหลักสูตรคิดว่า การเขียนแผนธุรกิจนั้นเป็นผลผลิตปลายท่อสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์  ซึ่งแตกต่างจากการบ่มเพาะบุคคลภายนอกที่สนใจธุรกิจเป็นทุนเดิม และได้มีการศึกษาปัญหา และโอกาสในการทำธุรกิจมามากพอควรแล้ว เมื่อพวกเราได้เรียนรู้การเขียนแผนธุรกิจพวกเขาก็น่าจะเขียนแผนธุรกิจได้ดี   และใช้แผนนั้นในการขอการสนับสนุนการเงินจากแหล่งทุนต่างๆ 

แต่ในทางกลับกันแล้วถ้าเราจะให้นักศึกษาที่ไม่มีความรู้ในการทำธุรกิจเลย หรือถ้ามีก็เป็นแต่ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะทำธุรกิจ  บางส่วนที่มีความรู้ก็จะมีความรู้ในด้านทฤษฎีเป็นหลัก แต่ขาดการปฏิบัติภาคสนามจริง  เฉพาะแต่ความมุ่งมั่นและความรู้ภาคทฤษฎีนั้นไม่ได้เป็นเครื่องประกันใดๆ ว่านักศึกษาจะสามารถยืนหยัดอยู่ในธุรกิจได้  

ข้อสำคัญคือการเขียนแผนธุรกิจนั้นทำได้ไม่ยาก  แต่จะเขียนแผนให้สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้  ไม่มองโลกธุรกิจแต่ในด้านดี แต่มองธุรกิจได้อย่างรอบด้านนั้นเป็นไปได้ยากสำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ภาคสนามของการทำธุรกิจมาก่อน ความยากของการเขียนแผนอยู่ที่ความสามารถที่จะทำให้ผู้สนับสนุนเห็นว่าแผนที่เขียนขึ้นนั้นมีที่จะเป็นจริงได้อย่างไร 

ตั้งท้อง

โครงการบันไดเศรษฐี ถือเป็นโครงการนำร่องของมหาวิทยาลัยที่จะช่วยสนับสนุนประเทศในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้กับสังคม  โครงการนี้เป็นโครงการที่นักศึกษาสามารถเข้าร่วมได้ด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ และต้องใช้เวลานอกเวลาเรียนมาเข้าร่วมเรียนและทำกิจกรรม และข้อสำคัญโครงการบันไดเศรษฐีในขั้นนำร่องนี้เป็นโครงการที่นักศึกษาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นตลอดจนจบโครงการ ซึ่งยาวนานถึง  4 เดือน

จากโจทย์ดังกล่าวทำให้ทีมบริหารโครงการต้องคิดอย่างหนักว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถรับนักศึกษผู้สนใจเข้าร่วมที่มีความมุ่งมั่นที่จริงจัง มีเป้าหมายของการเป็นผู้ประกอบการในหัวใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่การสมัครเพื่อแค่อยากรู้และเมื่อโครงการดำเนินการไปได้สักพักก็จะมีผู้ที่ขาดหายไปจากโครงการไปเป็นจำนวนมากๆ เนื่องเพราะไม่สามารถทำกิจกรรมที่กำหนดไว้ได้   

ดังนั้นการพิจาราณาคัดเลือกนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการบันไดเศรษฐี จึงตั้งขอกำหนดว่า นักศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการนั้นต้องเขียนเรียงความในหัวข้อ ธุรกิจในฝันที่ท่านอยากทำ  ความยาวอย่างน้อย 1 หน้ากระดาษ A4 แนบมาพร้อมกับใบสมัครเพื่อใช้ประกอบในการคัดเลือกนักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการ

เหตุผลของการให้นักศึกษาเขียนเรียงความก็เพื่อที่จะทดสอบความเป้าหมาย ความเข้าใจ และความพร้อมในเบื้องต้นของการเป็นผู้ประกอบการของนักศึกษาเอง  ซึ่งในที่สุดโครงการสามารถคัดเลือกนักศึกษาได้จำนวน 100 คนซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับตั้งแต่ปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอกหลังจากคัดเลือกนักศึกษาได้ครบจำนวน 100 คนแล้ว โครงการได้พานักศึกษาไปทำการสัมนากลุ่มเพื่อสร้างความรู้สึกของการทำงานเป็นทีมก่อนที่จะมอบหมายภารกิจที่ 1 ให้

เมื่อกลับมาจากการสัมนากลุ่มทางโครงการได้จัดสอนให้ความรู้ในการประกอบการด้านต่างๆ ให้กับนักศึกษาเช่น การตลาด การเงิน การจัดการ กฏหมาย โดยกำหนดให้นักศึกษาเข้ามาร่วมโครงการในทุกวันเสาร์ และเมื่อการให้ความรู้สิ้นสุด ทางโครงการจึงมอบหมายภารกิจแรกให้กับนักศึกษา 

ถึงแม้จะรับนักศึกษาไว้เข้าร่วมโครงการ 100 แต่ทีมงานก็เชื่อว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการอาจจะมีนักศึกษาที่ยืนหยัดอยู่ได้ประมาณแค่ครึ่งเดียว ซึ่งเราคะเนกันว่า ผู้ที่เข้ามาในโครงการและเริ่มรู้ว่าการเป็นผู้ประกอบการนั้นไม่ง่ายอย่างที่ฝัน และไม่สามารถอดทนกับสภาวะที่กดดัน ไม่ว่าเป็นการทำกิจกรรมตามภารกิจที่กำหนดให้ และเรียนหนังสือภาคปกติไปพร้อมกัน นักศึกษาก็จะเริ่มรู้จักตัวเองได้ดีขึ้น เพราะการตามล่าฝันนั้นคนเราคิดได้แต่เมื่อลงมือนั้นจะพบว่ามันไม่ง่ายดังที่วาดภาพไว้ในตอนแรก  คนที่มีความมุ่งมั่น แสวงหา และเรียนรู้เท่านั้นที่จะล่าฝันมาเป็นจริงได้ 

คลาน

ในภารกิจแรกนั้นโครงการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำธุรกิจในภาคสนามคือได้สัมผัสกับการทำงานจริงๆ (Moment of Truth) โดยโครงการได้นำผลิตภัณฑ์ยากันยุงสมุนไพรที่มีส่วนผสมของไพรหอม ผลิตโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลมาให้นักศึกษาลองทำการจำหน่าย นอกจากนี้ยังเตรียมเงินทุนอุดหนุนเบื้องต้นไว้ให้นักศึกษาตามกลุ่ม (กลุ่มละ 7-8 คน) อีกจำนวน 3,000 บาท โดยเงินดังกล่าวมอบให้นักศึกษาเพื่อใช้ในการจัดทำสิ่งสนับสนุนการขาย เช่น โปสเตอร์ แผ่นผับ โต๊ะ เก้าอี้  ซึ่งอุปกรณ์สนับสนุนการขายนั้นนักศึกษาแต่ละทีมธุรกิจต้องคิดเอาเองจะจะใช้อะไร จะจัดการอย่างไร

นอกจากนี้โครงการยังจัดเตรียมเงินอุดหนุนสำรองไว้ให้นักศึกษาอีกจำนวน 2,000 บาท ซึ่งถ้าหากนักศึกษาต้องการเงินทุนดังการเพื่อใช้ในการต่อยอดการขายก็สามารถทำได้  ในภารกิจแรกนั้นโครงการให้เวลาแต่ละกลุ่มเป็นเวลา 2 อาทิตย์ในการทำการขายสินค้า เหล่านั้น  สำหรับราคาสินค้าและบรรจุภัณฑ์นั้นนักศึกษาสามารถกำหนดปรับเปลี่ยนเองได้ และเมื่อภารกิจสิ้นสุดนักศึกษาต้องนำเงินต้นทุนมาคืนให้กลับโครงการและเคลียร์บัญชีให้เสร็จสิ้น สำหรับกำไรที่เกิดขึ้นจากการขายนั้น ทางโครงการจะมอบคืนให้กับนักศึกษาเนื่องจากถือเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากแรงงานและแรงกายที่นักศึกษาได้ลงทุนลงไป

หลังจากจบภารกิจที่ 1 แล้ว โครงการได้ให้นักศึกษาเขียนเรียงความบอกเล่าถึงซึ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้มาจากภารกิจที่ 1 ว่าพวกเขาได้เรียนรู้การทำธุรกิจอย่างไรบ้าง ผลของภารกิจแรกได้ผลเป็นที่น่าพอใจเมื่อนักศึกษาสามารถจัดจำหน่ายสินค้าได้ตามเป้าหมายโดยกลุ่มและไม่น่าเชื่อว่าในช่วงเวลา 2 สัปดาห์กับเงินอุดหนุนเริ่มต้น 3,000 บาทนักศึกษาบางกลุ่มสามารถทำยอดขายได้มากถึงกว่า 30,000 บาท ซึ่งกำไรที่เกิดขึ้นจากการทำภารกิจในครั้งนี้ทางโครงการก็ได้จัดสรรให้นักศึกษาเป็นรางวัลของการทำงานของพวกเขา 

ในครั้งนี้เราเห็นผู้ที่ลาจากโครงการไปน้อยมาก เดินหลังจากจบภารกิจที่ 1 โครงการก็ได้มอบหมายภารกิจที่ 2 ให้กับนักศึกษาโดยภารกิจที่ 2 มีความแตกต่างจากภารกิจแรกคือเรื่องของเวลาที่ให้ทำภารกิจและจำนวนของสินค้าที่นักศึกษาต้องทำการบริหาร (Product Portfolio Management) สำหรับเวลาในการทำภารกิจนั้นโครงการได้ให้เวลานักศึกษาเพิ่มจาก 2 เป็น 3 อาทิตย์ สำหรับสินค้าที่มอบให้นักศึกษาบริหารในครั้งนี้เป็นชุดอาบน้ำสุขภาพที่สกัดจากมะพร้าว ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นงานวิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยโครงการได้มอบหมายผลิตภัณฑ์ให้นักศึกษาจัดจำหน่าย 3 ชนิด คือ แชมพูสระผม ครีมนวดผม และสบู่อาบน้ำ  มีขนาดบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่แตกต่างกันจำนวน 6 ขนาด โดยในครั้งนี้โครงการได้มอบเงินทุนในการทำธุรกิจให้กับนักศึกษาจำนวน 5,000 บาท และวงเงินทุนสำรองอีก 2,000 บาท และเมื่อสิ้นสุดโครงการนักศึกษาต้องนำใบเสร็จมาเคลียร์ให้โครงการในลักษณะเดียวกับภารกิจแรก และนักศึกษายังต้องเขียนเรียงความถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการจัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์มาส่งให้กับโครงการด้วย   

นักศึกษจะได้รับกำไรจากการทำธุรกิจที่เกิดขึ้นคืนหลังจากโครงการได้ตรวจสอบบัญชีของแต่ละกลุ่มเรียบร้อยแล้ว ผลการดำเนินงานในครั้งนี้เป็นไปตามที่คาดหวังคือได้ยอดขายเป็นที่น่าพอใจ

ผลของภาระกิจนี้เราพบว่านักศึกษาบางคนเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้า ท้อถอย และบางคนเริ่มรู้ตัวเองว่า  ในเวลานี้พวกเขายังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งบางส่วนก็ขอลาออกไปเมื่อภารกิจที่ 2 เสร็จสิ้นและสิ่งที่พบและเกิดขึ้นคือนักศึกษาบางคนที่รู้สึกไม่ชอบการบริหารจัดการหรือ ไม่ชอบงานขายก็เริ่มขอลาออกจากโครงการไป 

วิ่ง  

นักศึกษาที่ผ่านการฝึกฝนมาทั้ง 2 ภารกิจจะได้รับมอบภารกิจสุดท้ายให้ ซึ่งภารกิจสุดท้ายเป็นการทำธุรกิจอะไรก็ได้ตามที่แต่ละกลุ่มได้คิดฝันกันเอาไว้  ซึ่งนักศึกษาต้องใช้ช่วงเวลา  2 อาทิตย์แรกในการคิดหาธุรกิจที่เขาต้องการจะทำ และต้องทำการนำเสนอแนวคิดการทำธุรกิจดังกล่าวต่อคณะกรรมการเพื่อพิจาราณา หากธุรกิจที่นำเสนอนั้นมีความเป็นไปได้และไม่เสี่ยง หรือมีความอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของทั้งผู้ดำเนินธุรกิจและลูกค้าจนเกินไป โครงการก็จะอนุมัติเงินทุนในการดำเนินธุรกิจจำนวน 20,000 บาทให้กับกลุ่มธุรกิจนั้น  เมื่อภารกิจสิ้นสุดในสัปดาห์ที่ 7 นักศึกษาต้องทำการเคลียร์ค่าใช้จ่ายและแจงรายได้ให้กับโครงการ และเหมือนกับทั้งสองภารกิจแรก กำไรที่เกิดขึ้นจากการทำภารกิจจะมอบคืนให้กับนักศึกษาไป หักไว้แต่วงเงินสนับสนุนการลงทุนจำนวน 20,000 บาทแรกเท่านั้น 

ผลของการทำภารกิจที่ 3 พบว่านักศึกษานำเสนอธุรกิจมาหลายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริการเช่น การบริการเช่าหนังสือ  การฝึกอบรมร้องเพลง อบรมภาษาอังกฤษ หรือธุรกิจการผลิตและขายเช่นการผลิตและขายไอครีม ธุรกิจเครื่องประดับ  ธุรกิจผูกปิ่นโต ซึ่งในตอนการนำเสนอนั้นแต่ละทีมได้ทำนำเสนอว่าธุรกิจของพวกเขาจะอยู่ได้และสามารถทำกำไรให้กับทีมของพวกเขาอย่างไร ซึ่งดูแล้วล้วนแต่มองเห็นโอกาสของธุรกิจเหล่านี้กันมากมาก

เมื่อเริ่มทำโครงการการก็พบว่า หลายธุรกิจนั้นไม่สามารถเป็นไปตามที่พวกเขาคาดหวัง ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขอยู่ตลอดการทำโครงการ บางคนถึงกับท้อถอยและรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาวาดแผนเอาไว้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้เป็นไปได้ตามแผน

 อย่างไรก็ตามเมื่อนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการก็สามารถผ่าฝันมาจนจบได้ ซึ่งในครั้งนี้จำนวนนักศึกษาที่เหลืออยู่ในโครงการก็มีเหลือเพียงครึ่งเดียวตามที่ได้คาดหมายไว้  ถึงแม้จะประสบปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาอย่างมากมายแต่แทบทุกทีมก็สามารถทำธุรกิจได้อย่างมีกำไร มากบ้างน้อยบ้าง ทีมที่สามารถทำรายได้สูงสุดเป็นเงินประมาณ 130,000 บาท ทีมนี้ทำธุรกิจรับจัดอาหารและขายสินค้าผ้าชิ้น ซึ่งก็น่ายกย่องความมุ่งมั่นดังกล่าว 

ไต่บันไดเศรษฐี

เมื่อจบโครงการผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการหลายคน ซึ่งให้มุมมองของการเข้าร่วมโครงการที่หลากหลายแต่ที่น่าประทับใจคือ พวกเขาคิดว่าการเข้าร่วมโครงการบันไดเศรษฐีนั้น ผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการทำงานและรางวัลที่ได้จากการทำภารกิจเสร็จสิ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญเท่ากับการที่พวกเขาได้รู้จักตัวเองว่าพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการหรือไม่  พวกเขาเรียนรู้การแบ่งปันการเสียสละในการทำงานเป็นกลุ่ม  เรียนรู้ที่จะเติบโตจากความล้มเหลวและความผิดหวังที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำกิจกรรม   ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นในโลกธุกิจ สามารถเขียนแผนธุรกิจที่มีความเป็นจริงได้มากขึ้น โดยมององค์ประกอบธุรกิจอย่างรอบด้าน   

ส่งเศรษฐีขึ้นบันได

ผมเชื่อว่าบันไดเศรษฐีของนักศึกษาในวันนี้แม้แต่ละขั้นจะไม่สูงชั้นมากนัก แต่มีมากมายหลายขั้นที่พวกเขาต้องไต่ขึ้นไป แต่เพื่อที่จะตามล่าหาฝันของการเป็นผู้ประกอบการ พวกเขายังมีภารกิจที่จะต้องไต่บันไดกันอีกหลายขั้น เพียงแต่ว่าวันนี้พวกเขาแข็งแรงขึ้น มีความยืนหยัดที่จะสานฝันของพวกเขาให้เป็นจริงมากขึ้น โครงการบันไดเศษฐีแม้จะเป็นเพียงบันไดขั้นสั้นๆ ที่ให้พวกเขาฝึกก้าวขึ้นแต่ผมและทีมบริหารก็เชื่อว่า การฝึกฝนและเตรียมพร้อม และประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับและเป็นตัวเร่งที่ทำให้เขาสามารถก้าวได้ยาวขึ้นและไต่บันไดของการเป็นผู้ประกอบการนี้ได้มั่นคงตามที่พวกเขาคาดหวังไว้

 บุริม โอทกานนท์

หมายเลขบันทึก: 97074เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2007 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท