ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย


(คำกล่าวพิธีเปิดการสัมมนา ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย ครั้งที่ 2 วันที่ 27 เม.ย. 50 ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน)

                เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของมนุษย์และของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัย 4 เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน เป็นส่วนหนึ่งที่ควรจะมีอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การที่การเคหะแห่งชาติและองค์กรพันธมิตรมีความพยายามที่จะให้มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยถือว่าเป็นความพยายามที่น่าชื่นชม  ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานจัดสัมมนา เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย ครั้งที่ 1 เห็นว่าเป็นความริเริ่มที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่การมียุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ทันการประกาศใช้ในรัฐบาลชุดนี้ แต่เท่าที่ฟังจากการสนทนาเมื่อเช้าว่า ขั้นตอนในการทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย อาจจะใช้เวลาพอสมควร ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าช้านัก พอเสนอไปถึงคณะรัฐมนตรีก็อาจจะบอกว่าไม่มีเวลาแล้ว จึงอยากให้เร็วหน่อย เร็วพอที่ว่าเมื่อรัฐบาลได้พิจารณาและยอมรับหรือถือเป็นแนวทางที่จะพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัยนั้น จะไม่ถูกทำคำครหาว่าเป็นรัฐบาลตั้งหลายเดือนเพิ่งจะมาคิดเรื่องที่อยู่อาศัยออก ที่จริงก็ได้คิดมาระหว่างการเคหะแห่งชาติกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ว่ายังอยู่ในระดับความคิด ยังไม่ได้แปลออกมาเป็นยุทธศาตร์ชาติอย่างแท้จริง  

                        ในความเห็นของผมเองยุทธศาตร์ชาติเป็นเรื่องของการจัดระบบความคิดที่หวังว่าจะมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความคิดที่ลึกซึ้ง แยบคาย ซึ่งผมเชื่อว่าอยู่ในสมอง อยู่ในใจของผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก เพียงแต่ต้องการการนำมาหล่อหลอม ผสมผสาน บูรณาการเข้าด้วยกัน น่าจะไม่ต้องใช้เวลานาน ส่วนการทำแผนละเอียด หรือแผนปฏิบัติสามารถจะดำเนินการต่อเนื่องไปได้ หลังจากที่มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยแล้ว จึงจะอยากฝากว่ากรุณาเร่งรีบทำให้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อที่จะได้เสนอต่อรัฐบาลและต่อสังคมได้ในเร็ววัน อย่างน้อยที่สุดก็เป็นประเด็นสำคัญที่สังคมและรัฐบาลจะได้พิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และเห็นควรแก้ไขปรับปรุงอย่างไร ก็ล้วนแต่เป็นประโยชน์ เหมือนอย่างเรื่องรัฐธรรมนูญที่กำลังถกเถียงกันอยู่ คงไม่สามารถจะเห็นด้วยได้อย่าง 100% แต่ว่าถ้าให้มีโจทย์ มีรูปแบบที่นำเสนอ เชื่อว่าแนวทางความคิดเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์แน่นอน ไม่ว่าจะได้รับความเห็นชอบ และประกาศใช้เป็นนโยบายของรัฐบาลแค่ไหนเพียงใดหรือไม่ เพราะว่าเรื่องที่อยู่อาศัยนั้นคงไม่ได้อยู่กับรัฐบาลนี้เท่านั้น เป็นเรื่องที่อยู่กับรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย และจะต้องอยู่กับรัฐบาลในช่วงต่อ ๆ ไปอีกด้วย

                เรื่องที่อยู่อาศัยโยงใยกับหลาย ๆ เรื่อง มากกว่าเรื่องบ้านแน่นอน บ้านเป็นเพียงวัตถุเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้น เราอาจจะนึกถึงคำพูดที่สื่อถึงความหมายที่แตกต่างในเชิงระดับและความซับซ้อน คำว่าที่อยู่อาศัยคงจะมีความหมายที่แคบที่สุด เรามีการใช้คำว่าการอยู่อาศัยมากขึ้น และกว้างกว่านั้นคือ การอยู่ร่วมกัน ที่อยู่อาศัยก็คงจะหมายถึง ตัวบ้าน (Housing) การอยู่อาศัย หมายถึง อาณาบริเวณ (settlements) ส่วนการอยู่ร่วมกัน คือ การใช้ชีวิตร่วมกัน (living together) มีความหมายโยงไปถึงชีวิตจิตใจของทุกคน นั่นก็เป็นสามคำพูดซึ่งสื่อถึงมิติและอาณาเขตของการพิจารณาเลือกที่อยู่อาศัย  ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย เราคงต้องการทำให้เกิดความเพียงพอพร้อม ๆ กับความพอเพียง สมัยนี้เราคงเข้าใจคำว่าความพอเพียง ที่หมายถึงว่า ความพอประมาณ  ไม่เกินไป ไม่น้อยไป ไม่สูงไป ไม่ด้อยไป และเราคงต้องการความพอดี ทั้งอุปสงค์ อุปทาน ความพอดีในทางวัตถุ ในทางการเงิน ในทางสังคม ฉะนั้นความเพียงพอ ควบคู่กับความพอเพียงและความพอดีก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะมองเรื่องที่อยู่อาศัย ตลอดจนการอยู่อาศัยและการอยู่ร่วมกัน ขยายออกไปอีกเรื่องของที่อยู่อาศัย การอยู่อาศัย และการอยู่ร่วมกัน เราคงหวังผลให้เกิดสภาพที่สำคัญ อันได้แก่การมีครอบครัวที่อบอุ่น ลำพังบ้านไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด ชีวิตของคนในบ้านสำคัญกว่า นอกจากการมีครอบครัวที่อบอุ่น  

                เนื่องจากคนอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน  เราคงอยากจะเห็นการเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในชนบทที่มีอาณาเขตค่อนข้างชัดเจน เป็นหมู่บ้านในชนบท หรือชุมชนในเมืองที่กำหนดอาณาเขตได้ยากแต่ก็กำหนดได้ จะเป็นตามถนน ตามซอย ตามละแวก ก็ย่อมได้ เมื่อชุมชนรวมกันขนาดใหญ่ขึ้นเป็นเมือง เราคงอยากจะเห็นความเป็นเมืองที่น่าอยู่ ฉะนั้นความเป็นครอบครัวที่อบอุ่น ความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ความเป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะมองเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องการอยู่อาศัย และการอยู่ร่วมกัน  อีกวิธีหนึ่งที่จะมองเรื่องที่อยู่อาศัย  การอยู่อาศัยและการอยู่รวมกันก็คงเป็นเรื่องของตัวบ้านที่มีระดับราคาสูง มีระดับราคาปานกลาง และมีระดับราคาต่ำ ระดับราคาสูง ระดับราคาปานกลาง และระดับราคาต่ำจะสะท้อนถึงสภาพสังคม สะท้อนถึงฐานะทางเศรษฐกิจ และทำให้เกิดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์เรื่องที่อยู่อาศัย ว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องที่อยู่อาศัยที่มีราคาสูง ทำอย่างไรกับที่อยู่อาศัยที่มีราคาปานกลาง และทำอย่างไรกับที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำ 

                ที่อยู่อาศัยที่มีราคาสูง และปานกลางสามารถที่ควรจะเป็นเรื่องของตลาด แต่ก็ควรจะเป็นตลาดที่เหมาะสม พร้อม ๆ กับการนำมิติทางสังคมเข้ามาให้เห็นว่าที่อยู่อาศัยราคาสูงน่าจะได้รับการส่งเสริมหรือว่าน่าจะมีโอกาสกอปรกับให้เป็นเรื่องที่อยู่ในระดับที่สมควรในสังคม หรืออยู่ในระดับที่จะช่วยสังคมมีสภาพที่พึงปรารถนา ที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลางน่าจะเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญที่อยากจะให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมากที่สุดในสังคม มากกว่าที่อยู่อาศัยราคาสูงและมากกว่าที่อยู่อาศัยราคาต่ำ สำหรับที่อยู่อาศัยราคาต่ำในช่วงที่เศรษฐกิจสังคมของประเทศยังอยู่ในสถานะที่ยากจนหรือว่าค่อนข้างยากจน  แน่นอนต้องมีมาตรการหรือวิธีการที่จะดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยราคาต่ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพ ฐานะของประชากร แต่พร้อม ๆ กันนั้นก็ต้องนำไปสู่การพัฒนาผู้มีรายได้น้อยให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ที่พึ่งพาตนเองได้ ที่ในอนาคตสามารถจะมีที่อยู่อาศัยในราคาปานกลางได้ จึงไม่ใช่การพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาต่ำด้วยการคาดคะเนว่าจะต้องมีเช่นนี้ตลอดไป แต่เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาต่ำเพื่อปูทางไปสู่การมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ในเบื้องต้นต้องอยู่ในที่อยู่อาศัยราคาต่ำให้สามารถดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองให้ดีพอสมควรและดีขึ้นเป็นลำดับถัดไป นั่นก็เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่จะมองเรื่องที่อยู่อาศัย

                ท่านผู้มีเกียรติ ญาติมิตรทุกคนสิ่งที่ผมได้พูดมาอาจจะไม่ได้มีความลึกซึ้งอะไรมากในเชิงวิชาการ แต่เป็นการมองแบบสามัญสำนึก หรือมองแบบนโยบายที่มองสังคม มองเศรษฐกิจ มองพลวัตร ของประชากรและของประเทศชาติในภาพรวม และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปร่วมกันพัฒนายุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้นำไปประกอบการพิจารณาด้วย และท้ายที่สุดก็ขอกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่าอยากจะเห็นแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยออกมาโดยเร็ว โดยจะเป็นเค้าโครงที่ยังไม่ต้องลงละเอียดมาก หากจะใช้ภาษาอังกฤษหรือหลักวิชาการจัดการก็คงจะออกมาในทำนอง strategy map หรือที่ท่านจะเรียกว่าเป็น road map หากมีความละเอียดมากไปกว่านั้น ก็ย่อมเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างน้อยก็เป็นโอกาสให้ฝ่ายนโยบาย หมายถึง คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ  คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลมีโอกาสได้พิจารณาเรื่องยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย เมื่อพิจารณาแล้วอาจจะเห็นด้วยทั้งหมด หรือไม่เห็นด้วยบางส่วน หรืออยากจะแก้ไขปรับปรุง จะได้มีเวลามาแก้ไขปรับปรุงและสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ในระดับหนึ่ง ผมคิดว่าเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยแม้ไม่มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยก็มีแนวทางที่ชัดเจนควรจะทำ อยากจะเห็นด้วยซ้ำไปว่าการเคหะแห่งชาติร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์น่าจะมีนโยบายและแผนปฏิบัติออกมาได้ทันทีหรือว่าโดยเร็ว ส่วนว่าจะเป็นส่วนหนึ่งหรือจะผสมผสานกับยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยหรือไม่ คิดว่าถ้าเป็นส่วนหนึ่งก็ดี ถ้ายังไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งจะเดินหน้าไปก่อนตามประเด็นที่ได้มีการศึกษาหารือกันมา เป็นต้นว่าเรื่องแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่จะเน้นผู้อยู่อาศัย เน้นความเป็นชุมชนให้มากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเชื่อมโยงไปถึงแผนพัฒนาชุมชนแออัดที่ได้มีการพิจารณาไปบ้าง และเคยมีการยกร่างเป็นพระราชบัญญัติก็มี ก็อยากจะเห็น เรื่องเหล่านี้ได้มีการพิจารณา  และนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพราะว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่สะสมมาในความคิด สะสมในความพยายามนั้นจะได้รับการพิจารณา ตัดสินใจ และปฏิบัติได้โดยเร็วที่สุด รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่เข้ามาชั่วคราวก็จริง แต่ก็มุ่งมั่นที่จะพยายามทำเพื่อเป็นการแก้ปัญหาสังคมและพัฒนาสังคมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางส่วนหวังว่าจะเกิดผลทันที บางส่วนหวังว่าเป็นการปูพื้นฐาน หรือว่าวางโครงสร้างเพื่อการสานต่อต่อไป ส่วนว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาจะสานต่อไปอย่างไรแค่ไหน คิดว่าเป็นเรื่องวิวัฒนาการของกระบวนการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมซึ่งย่อมไม่มีความแน่นอน แต่ว่าถ้าอะไรที่มีเหตุมีผลเชื่อว่าจะได้รับการสานต่ออย่างน้อยก็ในระดับที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ 

                สุดท้ายนี้ผมต้องขอขอบคุณทุก ๆ ท่านที่มาร่วมงานสัมมนาในวันนี้ โดยเฉพาะขอบคุณท่านเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยและคณะที่มาร่วมงานในวันนี้ ตลอดจนความร่วมมือและการสนับสนุนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ได้มีต่อประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะในเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัย แต่เป็นเรื่องการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจอีกหลาย ๆ ด้าน ซึ่งผมเองได้มีโอกาสได้เกี่ยวข้องโดยตรงหลายโครงการด้วยกัน ในช่วงเวลาประมาณ 20 ปีที่ผมได้ทำงานด้านพัฒนาสังคมมา ขอชื่นชมยินดีต่อการริเริ่มที่ดีในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยอีกครั้งหนึ่ง และขอเปิดการสัมมนายุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย ครั้งที่ 2 บัดนี้ ขอให้การสัมมนาจงสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ ขอบคุณครับ
คำสำคัญ (Tags): #รองนายก
หมายเลขบันทึก: 96884เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2007 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ยุทธศาสตร์ที่  2  การสร้างสภาพแวดล้อมและเสริมปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป้าหมาย                ให้มีสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่เกื้อกูล ทั้งการจัดรูปพื้นที่พัฒนา  กฎระเบียบที่ไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนา  มีสิทธิประโยชน์และงบประมาณรัฐสนับสนุนในระดับต่างๆ  มีสถาบันการเงินที่มั่นคงรองรับ   มีมาตรการต่างๆดังนี้สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในรูปการจัดแบบพื้นที่ (Zoning) ที่สอดคล้องกับผังเมืองของประเทศ  ภายใต้การบูรณาการที่เชื่อมชุมชนทั้งภายนอกและภายในได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน                  สร้างบรรยากาศตอบสนองการให้บริการอย่างรวดเร็ว  ด้วยต้นทุนต่ำ  มีกฎระเบียบเอื้อการลงทุน  มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้  สร้างความสมดุลทั้งความต้องการ (Demand) และการสนับสนุน (Supplies) การให้สิทธิประโยชน์ของ BOI มองทั้งมิติของเศรษฐกิจ  สังคมและความมั่งคง ที่มีนโยบายสนับสนุนที่ครอบคลุมมารองรับการพัฒนาในพื้นที่ให้มากขึ้นปรับปรุงระบบการบริหารภายในให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน  ให้เกิดประสิทธิภาพ  ผลักดันกฎระเบียบภายในที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยน  และเชื่อมโยงกับแหล่งความรู้ต่างๆ                  ปรับปรุงกฎระเบียบให้เกื้อกูลกับการทำงานในการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่   โดยแก้ไขกฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ออกกฎระเบียบใหม่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในกระบวนทัศน์ให้มากขึ้น  สร้างระบบและสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่สร้างให้สถาบันการเงินของไทย  ธปท  ธอส  ธนาคารออมสินเป็นแหล่งเงินทุนที่มีสภาพคล่องทางการเงิน  สามารถให้สินเชื่อระยะยาวแก่ผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง  ตามกำลังซื้อและความสามารถที่แท้จริง  ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการแก้ปัญหาหนี้เสีย(NPL) ดังที่ผ่านมา           จัดตั้งกองทุนการเงินจากการกระตุ้นการออมด้านที่อยู่อาศัยของประชาชน และจำหน่ายพันธบัตรเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินไทยในด้านที่อยู่อาศัย ให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินที่เหมาะสม  สามารถปล่อยสินเชื่อระยะยาวแก่ประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง  ตามกำลังซื้อและความสามารถที่แท้จริงของประชาชน  สร้างความมั่นคงของบุคคลและครอบครัว ด้วยเครื่องมือในการระดุมทุน  ทุนสะสมในที่อยู่อาศัยจูงใจให้เกิดการเก็บออมและการทำงานที่หนักขึ้นช่วยทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนสร้างระบบและกลไกการปล่อยสินเชื่อที่เหมาะสมจากสถาบันเอกชน  ธนาคารพาณิชย์  บริษัทเงินทุนและการประกันภัย  ขยายสินเชื่อไปสู่ตลาดระดับล่างโดยอาศัยระบบและวิธีการดำเนินงานที่เหมาะสม  ไมโครไฟแนนซ์เป็นเป้าหมายสุดท้ายที่จะช่วยผู้มีรายได้น้อยให้สามารถปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยของตนให้ดีขึ้น  เป็นขั้นตอนหนึ่งในการเข้าสู่สินเชื่อในวงเงินที่มากขึ้น  ระยะเวลาผ่อนที่นานขึ้น  และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในระดับต่ำการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระยะยาวช่วยให้มีที่อยู่อาศัย  เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ด้วยการลงทุนในด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการด้วยงบประมาณแผ่นดินที่ผูกพันระยะยาว  สร้างความสามารถในการจ่าย/ผ่อนส่งให้กับประชาชนมากขึ้น โดยมีระบบธรรมาภิบาลในการบริหารงานด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตมีมาตรการด้านภาษีอากรสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่จัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการซื้อขายโยเฉพาะที่อยู่อาศัยหลังแรกและบ้านมือสอง  เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  ยุทธศาสตร์ที่   3  การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรภาครัฐ  เอกชน  ชุมชน  ครอบครัว และปัจเจกบุคคล ในด้านที่อยู่อาศัยเป้าหมาย                สร้างการมีส่วนร่วมให้ทุกฝ่ายของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ร่วมกันทำงานในทุกระดับและมิติของการพัฒนา   ด้วยการร่วมคิด ร่วมวางแผนและร่วมปฏิบัติ มีมาตราการต่างๆดังนี้ร่วมกับสถาบันการวิจัยและพัฒนา  นำเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างที่อยู่อาศัยมาใช้เพื่อต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมใหม่ภายใต้การมีส่วนร่วมและการแบ่งปันที่เท่าเทียมกัน เสริมสร้างความตระหนัก การเรียนรู้ และการมีส่วนร่วม  การจัดสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการแก่องค์กรและหน่วยงานท้องถิ่น การประชุมประชาคมเชิงปฏิบัติการร่วมกันระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นและประชาชน การจัดทัศนศึกษาดูงาน และการจัดนิทรรศการสร้างความร่วมมือกับองค์กรชุมชน เช่น นิติบุคคลบ้านจัดสรร นิติบุคคลอาคารชุด สหกรณ์ชุมชน  โดยส่งเสริมวิชาชีพด้านการบริหารชุมชน  ในการให้ความรู้ด้านการบริหารสภาพแวดล้อมและการดูแลชุมชน สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีความยืดหยุ่นในการมีส่วนร่วมและมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างสร้างสรรค์ยอมรับในความคิดที่แตกต่าง  และประสานการทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน                สร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์จริง  นำความรู้มาเชื่อมโยงกับเครือข่ายความรู้ต่าง ๆ   มีระบบแลกเปลี่ยนความคิด  มีการเผยแพร่ภายในองค์กร  สร้างวัฒนธรรมใหม่ ๆให้เกิดการไว้เนื้อเชื่อใจกันภายในและระหว่างหน่วยงาน  เกิดความรู้ความสึกร่วมกันในเป้าหมายที่มุ่งมั่นให้เกิดภายในอนาคตร่วมกัน                เปิดโอกาสให้ส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยได้รับรู้ยุทธศาสตร์การพัฒนาฯ  เพื่อกระตุ้นให้มีการปรับเปลี่ยนบทบาท  จากนักพัฒนา(Developer) ไปสู่ผู้ส่งเสริมและสนับสนุน(Facilitator and Promoter) และประสานความร่วมมือในการพัฒนา(Match Maker)ให้มากขึ้น  ทำการกำกับดูแลตามเงื่อนไขและกฏระเบียบ(Regulator)                ก่อให้เกิดบรรยากาศในการสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ระหว่างนักพัฒนา  นักลงทุน  ผู้ประกอบการ  และผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ  เพื่อสร้างให้เกิดการประสานงานและทำงานร่วมกัน  และลดข้อขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น                  ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างเสริมขีดความสามารถในการจัดการ และบูรณาการในการพัฒนาที่อยู่อาศัย เป้าหมาย                ให้เกิดการทำงานร่วมกันสู่เป้าหมายเดียวกัน  ด้วยความสามารถ  บทบาท  มาตราฐานการทำงานของแต่ละส่วนที่ชัดเจน  ปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนา  ถ่ายโอนการพัฒนาจากองค์กรภาครัฐ  ไปเอกชน  องค์กรส่วนท้องถิ่น  ชุมชนและปัจเจกบุคคล มีมาตราการต่างๆดังนี้ กำหนดให้ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยมีเป้าหมายในการทำงาน  มีบทบาทที่ชัดเจนทำให้สามารถวัดผลความสำเร็จได้ง่าย  ความสำเร็จไม่เพียงแต่วัดจากจำนวนของบ้านที่สร้างหรือจำนวนรายสินเชื่อที่ปล่อย  ควรวัดในด้านของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนที่ให้สินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น  สนับสนุนให้ทุกส่วนงานพัฒนาตนเองให้เป็นองค์กรสมัยใหม่  กำหนดบทบาทและพื้นที่ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ชัดเจน โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น การปรับปรุงชุมชนสลัม และการสร้างที่อยู่อาศัยต้นทุนต่ำที่มีการอุดหนุนทางการเงินเปลี่ยนบทบาทของการเคหะฯในการเป็นผู้ปลูกสร้างมาเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดที่อยู่อาศัยในราคาต่ำ  โดยให้การสนับสนุนเอกชนและเจ้าของบ้านในการปลูกสร้างบ้านเองให้มากขึ้นปรับเปลี่ยนวัฒนาธรรมการทำงานจากผู้พัฒนา  ไปสงเสริมผู้ประกอบการให้ทํางานแทนไม่ซ้ำซ้อน  ในตลาดที่สามารถตอบสนองอุปสงค์ได้อยู่แล  รวมทั้งพัฒนาบุคลากรของการเคหะในด้านการให้ความรู้และเป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้ปานกลาง รายได้ต่ำและรายได้ไม่แน่นอนสามารถพึ่งตนเอง จากแรงงานของตนเองได้สร้างมาตรฐานในวิชาชีพที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ และจัดตั้งสภาวิชาชีพเช่น บริษัทจัดสรรที่ดิน  บริษัทรับสร้างบ้าน  นักประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์  ตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์  นักบริหารจัดการทรัพย์สิน เป็นต้น รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของสมาคมวิชาชีพต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีความรู้ และมีระบบการติดตาม  กำกับดูแล  ประเมินผลเพี่อการป้องกันการทำงานที่ไม่โปร่งใสสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคเอกชน มีบทบาทนำในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  สำหรับผู้มีรายได้แต่ละกลุ่มตามฐานะและกำลังซื้อของประชาชน  ตามกลไกลตลาด  เพื่อให้ตลาดที่อยู่อาศัยของไทยขยายตัวและเติบโตในระยะยาวอย่างมีเสถียรภาพ และมีความมั่นคงยั่งยืน  ไม่ให้ขึ้นลงที่รุนแรง หรือเกิดปัญหาฟองสบู่แตก สนับสนุนผู้ประกอบการภาคเอกชนให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในทุกระดับโดยเฉพาะในเขต กทม.และปริมณฑล  ด้วยแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ของชุมชน  ส่วน กคช.ยังคงพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลร่วมกับภาคเอกชนในโครงการที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้ระดับต่ำ  ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบางส่วน  ในขณะที่ภาคเอกชนในท้องถิ่นยังไม่เข้มแข็งให้ กคช.พัฒนาที่อยู่อาศัยในจังหวัดที่มีความขาดแคลนที่อยู่อาศัยและผู้ประกอบการภาคเอกชนยังไม่มีศักยภาพในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพียงพอ  พร้อมทั้งให้ความรู้ด้านที่การพัฒนาที่อยู่อาศัยแก่ผู้ประกอบการ  และเสริมสร้างสมรรถนะให้องค์กรส่วนท้องถิ่นและภาคภาคีที่เกี่ยวข้องให้มีขีดความสามารถในการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองและการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยสนับสนุนให้ภาคภาคีต่างๆ เช่น ภาครัฐท้องถิ่น สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น องค์กรเอกชน และประชาชน มีความสามารถในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของตนเองได้สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของภาคภาคีต่างๆ   สร้างความพร้อมของการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยท้องถิ่นการพัฒนาชุมชนให้รักษาความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่แต่ละท้องถิ่น  การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมของเมืองและที่อยู่อาศัยที่มีการรุกล้ำเขตประวัติศาสตร์  โดยจัดเตรียมพื้นที่อยู่อาศัยในเมืองทดแทนการกระจายตัวออกสู่นอกเมือง ให้มีการจัดรวมที่ดินที่ไม่สามารถพัฒนาได้โดยเฉพาะที่ดินดินราคาถูกที่การคมนาคมไม่สามารถเข้าถึงได้(ที่ดินตาบอด  ถนนไม่ได้มาตรฐาน  รูปที่ดินบิดเบี้ยว) โดยการเวณคืนที่ดิน หรือจัดรูปที่ดิน นำมาพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้ระดับปานกลางและระดับต่ำ  โดยรัฐให้การสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยใหม่  ที่สอดคล้องกับเส้นทางขนส่งที่จะทำให้เกิดขึ้นเพื่อการประหยัดในการเดินทาง  มุ่งพัฒนารูปแบบของที่อยู่อาศัยที่แตกต่างจากแบบเดิมให้มีความหลากหลายมุ่งไปสู่การพัฒนาชุมชนเดียวที่มีทั้งอุตสาหกรรม  สถาบันการศึกษา  ส่วนธุรกิจ  ที่อยู่อาศัย  สถานบันเทิงและพักผ่อน  อยู่รวมกันเป็น  โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ที่อยู่อาศัยจะได้รับสูงสุดสนับสนุนในการจัดตั้งชุมชนที่อยู่อาศัยสอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศเช่นชุมชนเขตอุตสาหกรรม  เขตการศึกษา  ศูนย์ราชการ และพื้นที่ราชพัสดุต่างๆ  เป็นชุมชนที่มีศูนย์ธุรกิจและบริการ  จัดระบบและระเบียบของพื้นที่  ส่งเสริมให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้พัฒนาเป็นชุมชนตัวอย่างในอนาคต  ยุทธศาสตร์ที่ 5    การสร้างองค์ความรู้ที่อยู่อาศัยกระจายสู่ทุกภาคส่วนของสังคม เป้าหมาย                    นำเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการบริการ  เผยแพร่  ให้คำปรึกษา  พัฒนาระบบงานที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  สร้างองค์ความรู้เรื่องที่อยู่อาศัยจากงานวิจัยฯโดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา  พัฒนาความรู้สู่สถานศึกษาให้มีการเรียนการสอนเรื่องที่อยู่อาศัยในทุกองค์ประกอบแบบบูรณาการ   มีมาตรการต่างๆดังนี้จัดตั้งระบบ e-Housing  ประกอบด้วยการพัฒนาศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านที่อยู่อาศัย  โดยการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้  ให้บริการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร  บทวิเคราะห์  ความรู้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย  โดยมีการแลกเปลี่ยนและใช้ประโยชน์ร่วมกันของข้อมูล  ยกระดับให้เป็นศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ  ก่อตั้งโดยรวมศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ของ ธอส. และศูนย์ข้อมูลของการเคหะแห่งชาติ  และข้อมูลของหน่วยงานอื่นๆเช่นผังเมืองและที่ดินเป็นต้น  ให้เป็นองค์กรถาวรที่มีความเป็นอิสระมุ่งประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม  โดยองค์กรเดิมยังคงดำเนินต่อไปและสนับสนุนข้อมูลเฉพาะหน่วยงานให้แก่ศูนย์ข้อมูลฯดังกล่าวกำหนดให้ กคช. เป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้และคำปรึกษา  แนะนำ  แก่ผู้ซื้อบ้านหลังแรกหรือผู้ที่มีปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย  โดยมีระบบ Call  Center ที่อยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพ  และจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop  Services OSS)  ในภูมิภาคร่วมกับกระทรวง  และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  เพื่ออำนวยความสะดวกให้คำปรึกษากับผู้ลงทุนที่อยู่อาศัย  มีการบริหารข้อมูลข่าวสาร  การให้คำปรึกษา  และการขออนุมัติในเรื่องต่าง ๆ  รวมถึงให้บริการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองประเทศ  ผังภาค  ผังเมืองรวมจังหวัด  ผังเมืองรวม  ผังเมืองเฉพาะและผัง อบต.ให้การสนับสนุนการวิจัยด้านวัสดุก่อสร้างหรือเทคโนโลยีในการก่อสร้าง  โดยเฉพาะเพื่อการก่อสร้างที่อยู่อาศัยต้นทุนต่ำให้แก่ผู้มีรายได้น้อย  และส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษา  การฝึกอบรม  การวิจัย  จัดทำข้อมูลที่อยู่อาศัย  ข้อมูลบุคคล  ข้อมูลประชากรที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ  เช่นกลุ่มผู้สูงอายุ  การเป็นครัวเรือนเดี่ยว  แนวโน้มของตลาดผู้มีรายได้น้อย /บ้านเช่า /บ้านมือสอง  เป็นต้น  รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนในเรื่องที่อยู่อาศัยทุกองค์ประกอบแบบบูรณาการ  ผลักดันให้มีการศึกษาทั้งในระดับอาชีวะและระดับมหาวิทยาลัย  ทั่วทั้งประเทศ

ให้ความรู้ในการสร้างบ้านแบบอนุรักษ์พลังงาน จัดทำระบบฐานข้อมูลพลังงาน  เพื่อประโยชน์ในการลดต้นทุนการสร้างที่อยู่อาศัย  และการอยู่อาศัยแบบประหยัดพลังงาน 

ส่งเสริมให้มีการศึกษาพื้นที่ที่จะรองรับในการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั่วทั้งประเทศ  ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยที่จะเลือกพื้นที่ในการพัฒนาและผู้อยู่อาศัยสามารถเลือกพื้นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมตนเองได้  ส่งเสริมการวิจัยดัชนีชี้วัดด้านต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐานอ้างอิงได้อย่างน่าเชื่อถือ จนสามารถใช้วิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้ม และเตือนภัยสภาวะที่อยู่อาศัยของประเทศ ทั้งในระดับจุลภาคและมหภาคสร้างระบบติดตามประเมินผลในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  และแจ้งเตือนเพื่อการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง  เป็นศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยของชาติ (Housing  Cockpit) 1.        ยุทธศาสตร์ที่ 6  ส่งเสริมศักยภาพของประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ เป้าหมาย                ประชาชน  ชุมชน  ผู้ประกอบการในท้องถิ่นมีความรู้และความสามารถพัฒนาท้องถิ่น  ที่อยู่อาศัยได้ด้วยการพึ่งตนเอง  โดยมีฝ่ายรัฐให้การสนับสนุน มีมาตราการต่างๆดังนี้ให้มีนโยบายการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยภาครัฐ  นโยบายการส่งเสริมภาคเอกชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างมีเสถียรภาพ  นโยบายการพัฒนาและส่งเสริมตลาดบ้านมือสอง  นโยบายการส่งเสริมการพัฒนาระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง  นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคด้านที่อยู่อาศัย  นโยบายด้านกฎหมายและภาษีอากรเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยต้นทุนต่ำแก่ประชาชน  นโยบายด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่  โดยมีการการวางผังเมือง  การกำหนดนโยบายการใช้ที่ดินเมือง  และการจัดระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ  ที่สอดคล้องประสานกันส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปสามารถช่วยเหลือตนเองในการมีที่อยู่อาศัย  โดยสนับสนุนประชาชนที่มีรายได้ต่ำและรายได้ไม่แน่นอน  สามารถมีบ้านเป็นของตนเอง  ด้วยการให้ความรู้ในการปลูกสร้างบ้านโดยใช้แรงงานเป็นของตนเอง ในขณะที่การเคหะฯช่วยอุดหนุนในเรื่องของค่าแรงงานที่เจ้าของบ้านเป็นผู้ปลูกสร้าง และจัดหาวัสดุอุปกรณ์เองส่งเสริมให้ประชาชนยกระดับของการมีที่อยู่อาศัย  จากที่บุกรุกมาเป็นชุมชนสลัม  บ้านเช่า  ห้องชุด  ทาวน์เฮาส์และเป็นบ้านเดี่ยว  หรือจากบ้านขนาดเล็กมาเป็นบ้านขนาดกลางและขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ  และให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น  หรือการต่อเติมที่อยู่อาศัยด้วยตนเองโดยได้รับความรู้จากการเคหะแห่งชาติผู้มีรายได้ระดับต่ำให้การเคหะฯร่วมมือกับเอกชนจัดสร้างที่อยู่อาศัยโดยขอการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ให้เอกชนสร้างบ้านในราคาถูก  และรัฐสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการสนับสนุนให้ สคบ. ช่วยติดตามดูแลคุมครองผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัย  รวมไปถึงการกู้เงินหรือการบังคับจำนองขายทอดตลาดที่อยู่อาศัย  ให้มีความโปร่งใสและยุติธรรมต่อผู้บริโภค  องให้ผู้บริโภคเป็นศูนยกลางโดยกำหนดให้มีสัญญามาตรฐาน  มีบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่สร้างล่าช้า  ทิ้งงาน  หรือการยึดเงินดาวน์โดยไม่เป็นไปตามสัญญา  ให้มีโทษปรับในราคาสูงหากผิดซ้ำกันก็ให้ยึดใบอนุญาตตามกำหนดเวลา  แล้วประชาสัมพันธ์ให้ทั่วไปได้รับทราบ  เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเกิดความเชื่อมั่น  รวมทั้งจัดตั้งสภาเคหะชุมชนที่เป็นเครือข่ายของผู้บริโภคมาช่วยเสริมการทำงานเพื่อผู้บริโภค   ยุทธศาสตร์ที่ 7 สร้างมาตรฐานสู่คุณภาพของที่อยู่อาศัย เป้าหมาย        การสร้างงานที่อยู่อาศัยเข้าสู่มาตรฐานและคุณภาพ  มีระบบควบคุม  กำกับดูแล  ติดตาม  ประเมินผล  สร้างมาตรฐานการรับรอง  ให้งานที่อยู่อาศัยมีคุณภาพทั้งกระบวนการ   มีมาตรการต่างๆดังนี้กคช.เป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐาน  การควบคุม และกำกับดูแลด้านที่อยู่อาศัย  การบริการ  การจัดการและการทำงานที่เป็นระบบ  เพื่อพัฒนาคุณภาพที่อยู่อาศัยตลอดเวลา  ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยและผู้รับบริการมั่นใจในคุณภาพ  ด้วยการสร้างระบบการควบคุม  การตรวจสอบและการประเมินผลคุณภาพที่อยู่อาศัย  ผสมผสานและต่อเนื่อง โดยเน้นที่ผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ  สร้างมาตรฐานที่อยู่อาศัยทั้งในระดับหมู่บ้านและครัวเรือน  ในบ้านหลังแรกและหลังที่สอง  จะมีเกณฑ์ชี้วัดที่สอดคล้องกับความสุขมวลรวมของชาติ (Gross National Happiness : GNH) ที่กำหนดเอาไว้ในแผนสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  บ้านทุกระดับที่มีคุณภาพจะได้ใบรับรองคุณภาพจากการเคหะฯเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย  ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ใช้ควบคุมการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสาระในมาตราต่างๆของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย  ทั้งในส่วนผังเมือง  การจัดสรรที่ดิน  การควบคุมอาคาร  สิ่งแวดล้อม เป็นต้น  ให้เอื้ออำนวยและขจัดอุปสรรคในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการพัฒนาร่วมกันในการกำหนดเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน  การจัดระเบียบ  กฎระเบียบ  และข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงาน  เป็นการเพิ่มมูลค่าการพัฒนาที่อยู่อาศัย  มีมาตรฐานตัวอาคาร  วัสดุอุปกรณ์  รูปแบบการก่อสร้าง  ให้มีการสร้างในพื้นที่อยู่อาศัยตามผังเมืองรวม  ออกมาตรการควบคุม  ตรวจสอบการหลีกเลี่ยงการจัดสรรแบ่งพื้นที่เพื่อสร้างจำนวนน้อยแต่ขาดสาธารณูปการให้มีการรับผิดชอบดูแลหลังเสร็จโครงการ 

ขอโทษด้วยครับโพสผิดไปหน่อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท