อบรมครูผ่านแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง(4 พฤษภาคม 2550)


              ตอนเช้าตรู่เริ่มออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสระบุรีเพื่อเข้าสังเกตการณ์ในเวที อบรมครูผ่านแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  ผู้เข้าร่วมอบรม ได้แก่ คณะครู ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน นักเรียน ประเด็นการเรียนรู้เป็นการพูดคุยถึงที่มาของความทุกข์  ความแตกต่างของการทำมาหากิน-สังคมระหว่างอดีตถึงปัจจุบัน  และทางแก้ทุกข์  ในเวทีได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ ไม่มีอาการเขินอายหรือหลบสายตาวิทยากรอย่างเวทีอื่น ๆ ที่เคยไปร่วมสังเกตการณ์มา  เนื่องจากเวทีวันนี้เป็นเวทีของคุณครูนั่นเอง ซึ่งวิทยากรเองได้เกริ่นนำไว้แต่ต้นว่าส่วนใหญ่ ครูพูดเยอะ ฟังน้อย ซึ่งตีความได้ว่าอาจจะเป็นได้ทั้งจุดอ่อน และจุดแข็งของคุณครู  เมื่อระดมความคิดเรื่องความทุกข์ก็พบว่า เรื่องหลักหนีไม่พ้น หนี้สิน ซึ่งมาจากค่าใช้จ่ายปัจจัย 4 และค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน เช่นเดียวกับเวทีอบรมเกษตรกร (กาญจนบุรี) และเมื่อวิทยากรให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ช่วยกันใตร่ตรองระหว่างเรื่องความสุขกับความหฤหรรษ์(เพลิน)ในชีวิต ก็มีความเห็นออกมาคล้าย ๆ กันพอจะสรุปเป็นประเด็นของความสุข และความหฤหรรษ์ ได้ว่า ความสุข คือ การได้เห็นลูกหลานเรียนจบ มีงานทำ มีครอบครัวที่ดี, การได้ทำงานที่ตนเองชอบ, การได้ดูแลพ่อแม่  สำหรับความหฤหรรษ์ คือ การได้ออกไปเที่ยวในวันหยุดกับลูกหลาน หรือพ่อแม่  หลังจากที่ได้คำตอบของผู้เข้าร่วมอบรมแล้ว  วิทยากรก็ได้เฉลยถึงคำตอบของความสุข และความหฤหรรษ์ว่าแท้ที่จริงแล้ว ความสุข  และความหฤหรรษ์นั้นเป็นเพียง สุขจร  แต่ สุขถาวรของมนุษย์ทุกคนนั้นคือการได้เข้าสู่นิพพาน  นั่นเอง

หลังจากนั้นทั้งครู ผู้ปกครอง ผู้นำหมู่บ้าน และนักเรียน ได้ช่วยกันระดมความคิดเห็นร่วมกันถึงแนวทางการแก้ทุกข์ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ได้คำตอบว่า ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขความทุกข์  ต้องรับฟังความเห็นของผู้อื่น  และร่วมกันกำหนดแนวทาง/แผน ในการแก้ทุกข์ ในเวทีครั้งนี้ได้จำลองแนวคิดในการแก้ปัญหาร่วมกันโดยเริ่มจากสถาบันหลักในชุมชน ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ขั้นตอนแรก เริ่มจากการละลายพฤติกรรมระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง ด้วยการใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือ เช่น โรงเรียนจัดกิจกรรมกีฬา เชิญผู้ปกครองมาร่วมงาน และนิมนต์พระมาร่วมประกอบพิธีกรรมในการเปิดงานกีฬา,  การเรียนนอกสถานที่โดยเฉพาะเรื่องการเกษตรให้นักเรียนไปเรียนรู้ในพื้นที่จริงของผู้ปกครอง ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้จากของจริง ผู้ปกครองมีแรงงานช่วยงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับผู้ปกครองมากขึ้น  ขั้นตอนที่สอง  เมื่อทั้งครู ผู้ปกครอง และวัด  มีความสัมพันธ์  ใกล้ชิดกันในระดับหนึ่งแล้วสามารถจัดประชุมแลกเปลี่ยนปัญหา  ขั้นตอนที่สาม กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน(เน้นความคิดหลุดกรอบ) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วต่างฝ่ายต่างก็เห็นอกเห็นใจกัน โรงเรียนไม่ต้องเรี่ยไรเงินผู้ปกครองเพื่อมาสร้าง/ปรับปรุงอาคาร  โรงเรียนปลูกฝังเศรษฐกิจพอเพียงให้นักเรียนนำไปปฏิบัติ เช่น การไม่ขายน้ำอัดลม ขนมขบเขี้ยวในโรงเรียน และต้องปลูกฝังค่านิยมให้นักเรียนบริโภคเครื่องดื่มและขนมไทย เช่น น้ำใบเตย น้ำลำไย สุดท้ายหลังจากเวทีได้สรุปแนวทางแก้ทุกข์ได้แล้ว วิทยากรได้เสริมให้ทุกฝ่ายใช้ศีลธรรมเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างแน่วแน่ ไม่หลงทางหากมีสิ่งยั่วยุจากภายนอกมากระทบ โดยให้วัด  โรงเรียน และผู้ปกครองได้ปฏิบัติ ทาน ศีล สมาธิ เป็นแบบอย่างให้เยาวชนเห็น และสอนให้เยาวชนนำไปปฏิบัติด้วย  แนวทางที่วางไว้นับว่าเป็นการเข้าสู่เศรษฐกิจพอเพียงถึงขั้นที่ 2 จากทั้งหมด 3 ขั้น คือ พึ่งตนเอง(ระดับครัวเรือน)  พึ่งกันเอง(ระดับชุมชน)  พึ่งพิงอิงกัน(ระดับประเทศ) ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วประเทศไทยคงจะเข้าสู่เศรษฐกิจพอเพียงขั้นที่ 3 ได้ไม่ยากเลย

                     วันนี้ได้เต็มอิ่มกับความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงระดับครัวเรือน และชุมชน  อันที่จริงต้องสารภาพว่าเป็นครั้งแรกที่ได้รู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรมที่ผ่านมามัวแต่คิดถึงแต่เรื่องการจัดการพื้นที่เกษตรเป็นส่วน ๆ เพื่อปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ปลูกบ้าน แต่แท้ที่จริงแล้วเศรษฐกิจพอเพียงสามารถเกิดได้ในทุกองค์กร/สถาบันจริงและในทุกระดับจริง ๆ คงต้องยกความดีความชอบครั้งนี้ให้แก่วิทยากรที่สามารถอธิบายเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าใจง่ายและนำไปปฏิบัติได้จริงนะคะ
หมายเลขบันทึก: 96312เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2007 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หนูรัช

ตามมาอ่านต่อค่ะ ขอชมหนูรัชว่าเขียนบันทึกได้ดีมากเลยค่ะ เสียดายว่า น่าจะเติมข้อมูลตอนที่เราลงดูพื้นที่ แปลงนาของผู้ใหญ่สุชินและบ้านที่มีคอกควายหนึ่งเดียวคอกนี้ในหมู่บ้าน (เพราะถ้ารอให้อาจารย์ตุ้มเขียนเรื่องราวลง blog ก็คงไม่มีใครได้อ่านแน่นอนค่ะ เวลามีน้อยจังในหนึ่งวัน)

ช่วง 2 วันนี้มีเวทีคุณครูที่สระบุรีต่อค่ะ อ.เพิ่มศักดิ์ไปทำกระบวนการต่อ เมื่อวานหนูเจี๊ยบโทรมาคุยด้วย ส่วนวันนี้ก็เพิ่งโทรคุยกันกับอ.เพิ่มศักดิ์ค่ะ

แล้วเดือนหน้า อาจารย์ตุ้มมี "วงเรียนรู้" ของเครือข่ายคุณครูว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงทำนองนี้ในอีกหลายพื้นที่ ต้องเดินสายไปอีสานหลายจังหวัด หนูรัชสนใจจะตามเวทีด้วยกันไหมคะ (ท่าจะไม่ได้แล้วละ เพราะต้องตามงานของหน่วยจัดการความรู้ฯ ที่มวล. เป็นหลัก)

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท