ทำขวัญนาคกับวิธีการด้นกลอนสด


ความรวดเร็วในการคิดคำร้อง เป็นทางนำไปสู่การด้นสด

 

ทำขวัญนาค

กับวิธีการด้นกลอนสด

          พื้นที่ความรู้บนเว็บไซต์ GotoKnow.org เป็นแหล่งรวมความรู้ของผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษา และในอีกทุกเรื่องที่สามารถค้นหาได้ ผมเพิ่งจะเข้ามาสัมผัส เมื่อ 4 เมษายน 2550 แบบลองผิดลองถูก ใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะเข้าระบบและส่งขอมูลขึ้นบล็อกได้  สำหรับในส่วนของคำหลัก เรื่องทำขวัญนาค  ผมเขียนจากประสบการณ์ตรงที่สั่งสมมานาน เกือบ 40 ปี ที่ได้ประกอบพิธีทำขวัญนาค เพราะว่าผมคลุกคลีอยู่กับคุณตาหลายท่านที่มีความรู้ในภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายอย่าง

            ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้มีโอกาสติดตามคุณตาไปในงานเส้นผี (สอนคู่แต่งงาน) หลายสิบครั้ง และติดตามคุณตาอีกท่านไปในงานบวชนาคนับร้อยครั้ง คุณตา 3 ท่าน (พ่อของแม่ ลุงของแม่ และคุณตาอีกท่านเป็นสามีป้าของแม่) ท่านเป็นหมอทำขวัญ ส่วนคุณตาอีก 1 ท่าน เป็นนักดนตรีไทย มีวงเครื่องสาย มโหรี รับบรรเลงในงานมงคลทั่วไป  ผมจึงได้รับกลิ่นไอและอยู่ในบรรยากาศของภูมิปัญญามาตั้งแต่ต้น ในส่วนของสำนวนที่เขียนรวมทั้งสาระต่าง ๆ ล้วนเป็นความรู้ที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ อาจไม่ตรงกับหลักวิชาบ้าง (ขออภัยด้วย) แต่เป็นวิธีการที่บุคคลรุ่นเก่าได้ถ่ายทอดมาให้โดยตรง

         เมื่อเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่ง   ผมมีความสามารถจดจำเนื้อหา ในการนำเสนอเรื่องราวทั้ง 5 บท หรือ 5 ตอนของการทำขวัญนาคได้  กอปรกับในการนำเสนอเนื้อหาทำขวัญนาคในแบบฉบับครูส่วนใหญ่จะเป็นการว่าด้วยทำนองเสนาะ (ธรรมวัตร) และมีทำนองเพลงแหล่ เพลงร้องส่งแทรกอยู่บ้าง เป็นส่วนน้อย ในบางงานมีผู้ฟังขอให้ร้องแหล่แม่หม้าย แหล่บุญคุณบิดา มารดา แหล่อานิสงส์ของการบวช เป็นต้น บางท่านก็มาขอให้ร้องกล่อมด้วยทำนองเพลงพื้นบ้าน เช่น ขอให้กล่อนเป็นเพลงอีแซว เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว แต่ใส่เนื้อหากล่อมเด็ก  เป็นปริศนาที่ท้าทายมากในเวลานั้น ผมต้องกลับมาทำการบ้าน โดยการเขียนบทร้องเพื่อที่จะนำไปร้องแทรกเมื่อมีผู้ฟังมาขอให้ร้องเวลาทำขวัญนาค (หมอขวัญรุ่นเก่าไม่นิยมร้องแบบสากล)  แต่การประยุกต์ของผมก็มีกรอบบังคับให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ไม่เกินเลยไป อย่างเช่นการร้องเล่น กระเซ้าเย้านาคและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร้องขอเงินรางวัล จะต้องเกิดจากท่านเจ้าภาพต้องการให้ร้องเท่านั้น เพื่อรักษาเอาไว้ซึ่งมนต์เสน่ห์และความขลังของพิธี

พัฒนาการของการด้นกลอนสด ในพิธีทำขวัญนาค

           ระยะที่ 1 เมื่อเริ่มต้นทำขวัญนาคกับพ่อคุณ (คุณตาวัน มีชนะ) ผมได้แต่ว่าทำนองเสนาะ และร้องแหล่กำเนิดคน แหล่สอนนาค และขอพ่อคุณร้องกล่อมด้วยเพลงลูกทุ่งสลับกับทำนองไทยเดิมบ้าง เพลงลูกทุ่งที่นำมาร้องในยุคนั้น (พ.ศ. 2513) เป็นเพลงของครูคำรณ สัมบุญนานนท์ ชื่อเพลงพ่อนาคเอ๋ย (ราว 50 ปี) ฟังแล้วชวนให้คิดถึงคุณค่าของผู้ที่ให้กำเนิดได้เป็นอย่างยิ่ง ดังมีเนื้อหาในบทเพลงตอนหนึ่งว่า 

"พ่อนาคเอ๋ย  นาคเคยคิดบ้างหรือเปล่า  พ่อแม่นี้รักเจ้า  พ่อแม่ยังเฝ้า  พะเน้าพะนอ

นาคบวชเรียนไป  เท่าไรก็ไม่พอ        รู้ตัวอย่าได้รีรอ  บวชแล้วก็  กรวจน้ำให้ท่าน"

นอกจากนั้นยังได้นำเอาเพลงของครูก้าน แก้วสุพรรณ ชื่อเพลง นาคให้น้ำ เพลงนี้เก้ามาก ประมาณ  45 ปี ผ่านมาแล้ว มีเนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า

          "คอยพี่ก่อน  งามงอนยอดรัก   เพียง 3 เดือนต้องจาก  ไม่นานมานัก น้องจงคอยท่า

          ไม่บวชพรุ่งนี้  ชีวีพี่คงไร้ค่า     เป็นคนนอกศาสนา  ไม่มีราคา ของลูกผู้ชาย"

           ระยะที่ 2  หลังจากที่พ่อคุณถึงแก่กรรม  จากพวกเราไป  ผมกับบุญพา มีชนะ ทำหน้าที่รับงานทำขวัญนาคต่อจากพ่อคุณ ผมเขียนเพลงโดยใช้ทำนองไทยเดิมหลายเพลง เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันและนำมาร้องในการทำขวัญนาค  แต่ไม่นาน บุญพา มีชนะ คู่ที่ทำขวัญนาคด้วยกัน บวชพระและไม่มีกำหนดสึกจนสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ปล่อยให้ผมรับงานทำขวัญนาคคนเดียว (เหงาและโดดเดี่ยวมาก) ผมพยายามฝึกหัดเพลงแหล่ตามแบบครู จนว่าได้หลายบท เช่น แหล่แกะบายศรี  แหล่ลา  แหล่อวยพร เป็นต้น  ได้นำไปร้องเมื่อมีผู้ฟังมาขอให้ร้อง

           ระยะที่ 3  ประมาณ พ.ศ. 2518-2519 ผมฝึกร้องเพลงแหล่ตามแบบครู แล้วลองร้องแยกไปตามที่เราอยากจะร้อง ใช้เนื้อร้องสั้น ๆ และพยายามจำท่อนที่ลงค้างไว้ ตรงรอยต่อที่เราแยกไปร้องเนื้ออื่น ผมเริ่มต้นแหล่สดโดยใช้เพลงมาลัยดอกรัก ของครูชาย เมืองสิงห์  เป็นแบบ เมื่อร้องจบเกริ่นขึ้นต้น จะเป็นทำนองพวงมาลัยพื้นบ้าน บทสัมผัสจะเป็นกลอนไล  ฝึกร้องไปได้ 2-3 กลอนก็วกกลับมาร้องตอนที่ค้างไว้ กลับมาเข้าเนื้อเพลงเดิมก่อน แล้วก็แยกไปร้องตามความคิด (แต่งกลอนสดในอากาศ) ดังเช่น

        โอละหนอ ลอยมา (เออระเหย ลอยมา)  ลอยมาแล้วอย่า ลอยไป

         มาลัยมาถึง  อกพี่            ไม่มีทางหนี  จากพี่ไปได้

         มาลัยเจ้าอย่า  ลวงล่อ     จงสวมคล้องคอ  พี่เสียโดยไว

 

         รักน้อง  ดอกนะงามขำ     กลัวน้องจะช้ำ  เมื่อหลงทางไป

 

        "หอมกลิ่นมะลิ  ดอกรัก     ที่นำมาฝาก  อย่างละมุนละไม

 

         ขอเก็บ  ความทรงจำ       ที่มีค่าล้ำ  ยิ่งกว่าสิ่งใด" 

 

        พยายามปรับทำนองให้ออกเป็นแหล่ มีการเอื้อนเสียงต่อท้ายคำร้อง จากนั้นก็ฝึกร้องแหล่ที่มีคำลงอย่างอื่นบ้าง เช่นลงด้วยสระอี สระอา  เรียกว่า กลอนลี กลอนลา  จนคิดคำได้รวดเร็ว และเลื่อนไหลไปได้อย่างเป็นธรรมชาติ เขียนหัวข้อที่จะร้องเอาไว้ แล้วฝึกร้องตามหัวข้อ ร้องซ้ำไปเรื่อย ๆ จนขึ้นใจ แล้วเปลี่ยนเป็นหัวข้ออื่น ใช้เวลาเป็นเดือนในการฝึกแหล่ และต่อมา เป็นการฝึกหัดแหล่แบบกลอนแปด โดยศึกษาโครงสร้างของคำกลอน ตำแหน่งสัมผัสนอกและใน ตามแบบเพลงของพระพร ภิรมย์ ชื่อเพลงพ่อหม้ายลาบวช เพลงขึ้นต้นว่า

 

"แว่วเสียงโห่ โหยหวน  ขบวนแห่    แว่วเสียงแตรเสียงกลอง  ก้องเวหา

มิใช่ขบวน  ขันหมาก  เจ้าบ่าวมา     เป็นสัญญา  ชวนพ่อนาค  จากโลกีย์"

จำสระที่ลงท้ายว่าเราค้างไว้ที่ สระอี แล้วร้องไปตามที่คิดสร้างสรรค์คำมาใหม่ จากนั้นก็วกกลับเข้ามาที่สัมผัสกับกลอนเดิมคือคำสัมผัส สระอี เช่น

          "ได้ฟังเพลง ตามเนื้อหา  ว่าเมียจาก   ตอนตกยาก  น้องพี่  มาหนีหน้า

          ดูซิช่าง  ไม่สมเพช  เวทนา  แม่มาลา  จากไป  ไม่ใยดี"

จะเห็นได้ว่า คำลง ใช้สระอี (ไม่ใยดี) เพื่อให้รับสัมผัสกับกลอนเดิม  การร้องตามที่ใจคิด จะต้องฝึกฝนอยู่นาน จนกระทั่งมีความแตกฉาน คิดคำร้องสด ๆ ได้อย่างฉับพลัน

 

หลักการในการแหล่ด้นกลอนสด (ประสบการณ์จากการปฏิบัติ)

 

         1. ฝึกหัดร้องเพลงทำนองแหล่มาก ๆ หลาย ๆ เพลง เพื่อเก็บข้อมูลในความจำเอาไว้มาก ๆ

 

         2. นำเอาเพลงแหล่ที่เป็นต้นแบบมาร้องจนจำเนื้อหาได้อย่างแม่นยำ แล้วแยกจากเนื้อเพลงเดิม ออกไปร้องตามที่เราคิดได้ ฝึกร้องด้วยเนื้อร้องสั้น ๆ  ร้องซ้ำหลายๆ ครั้ง

 

        3. คิดหัวข้อที่จะร้อง แล้วนำมาผูกกลอนร้องสด ซึ่งอาจจะไม่สัมผัสบ้างแต่สามารถที่จะนำคำออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว

 

        4. กำหนดหัวข้อที่จะร้องอย่างรวดเร็ว นึกหัวข้อได้แล้วออกเสียงร้องในทันที

 

       5. ร้องด้วยเสียงดังและร้องบ่อย ๆ โดยเริ่มต้นจากการร้องช้า ๆ เพื่อนึกคำและเพิ่มความเร็วให้มากขึ้น

         

        การด้นกลอนสด จะต้องอาศัยความกล้า ความเร็วในการคิดคำร้อง ความกล้าที่จะออกเสียงร้องให้ดัง ร้องเต็มเสียง และการมีข้อมูลมาก ๆ เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การแหล่ด้นกลอนสดได้อย่างมั่นใจและนำเอาข้อมูลที่ได้รับมาร้องเป็นทำนองแหล่ในการทำขวัญนาคได้อย่างฉับพลัน

 

(ชำเลือง  มณีวงษ์ / 2550)

 

หมายเลขบันทึก: 95954เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2007 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท