ข้อคิดดีๆ จากกฎของเมอร์ฟี่


“ถ้าหากความผิดพลาดมีได้แบบเดียว.. มันจะเกิดในช่วงเวลาที่ทำให้คุณยับเยินที่สุด” แต่ “ถ้าหากความผิดพลาดมีได้หลายรูปแบบ.. เจ้าตัวที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายมากที่สุด.. จะเกิดก่อน”

             ดิฉันอ่านหนังสือ Know How & Know Why กฎพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง เขียนโดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ เห็นว่าน่าจะได้แนวคิดดีๆ ในการดำเนินชีวิต จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง.... ในส่วนของ กฎเมอร์ฟี่????... นะค่ะ

              กฎเมอร์ฟี่ เป็นกฎที่สุดจะดังในหมู่ฝรั่ง มีหลายคนแย่งเครดิตกันไม่น้อย แต่ถ้ายึดตามตำนานที่น่าเชื่อถือที่สุด (ซึ่งรางวัล “โนเบลเพี้ยน” ก็เชื่อตามกฎนี้) คงต้องย้อนกลับไปในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ที่ฐานทัพอากาศเอดเวิร์ด (Edwards Air Force Base) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

             ตอนนั้นรัฐบาลมะกันดำเนินโครงการ MX981 ซึ่งทดสอบว่าคนเราสามารถทนแรงที่เกิดจากความเร่งได้มากน้อยแค่ไหนในการชนกระแทก ในการทดสอบครั้งหนึ่ง เอ็ดเวิร์ค เอ. เมอร์ฟี่ (Edward A. Murphy) วิศวกรในโครงการได้พบว่า อุปกรณ์ตรวจวัดทั้งหมดถูกติดตั้งอย่างมั่วซั่วทำให้การทดสอบไม่ได้ผล เมอร์ฟี่จึงพูดโพล่งออกมาต่อว่าช่างเทคนิคที่รับผิดชอบขึ้นมาว่า “ถ้าหากจะมีวิธีการต่ออุปกรณ์อย่างผิดๆ แล้วละก็ ไอ้หมอนี่จะหามันจนเจอ”  

               หลังจากนั้นไม่นาน คุณหมอจอห์น พอล สแตปป์ (Dr. John Paul Stapp) ซึ่งอาสาทดสอบเอง ได้แถลงข่าวเมื่อการทดสอบเสร็จสิ้นว่า การที่โครงการนี้ประสบผลสำเร็จนั้นเป็นเพราะได้ตระหนักถึง “กฎเมอร์ฟี่” (Murphy’s laws) และพยายามทุกวิถีทางที่จะหลีกเลี่ยงกฎข้อนี้......  พอนักข่าวนำไปเขียน... ผู้คนก็อ้างถึง... จากนั้นกฎนี้ก็ฮ็อตติดปากคนจนถึงเดี๋ยวนี้

               จากกฎของเมอร์ฟี่เพียงข้อเดียวนี้... ได้มีหลายกฎที่ยกระดับให้เข้าข่ายกฎของเมอร์ฟี่ อาทิ

 “ถ้าอะไรสามารถเกิดความผิดพลาดได้ละก็.... มันจะต้องเกิดขึ้นแน่”


 “ถ้าหากความผิดพลาดมีได้แบบเดียว.. มันจะเกิดในช่วงเวลาที่ทำให้คุณยับเยินที่สุด” แต่ “ถ้าหากความผิดพลาดมีได้หลายรูปแบบ.. เจ้าตัวที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายมากที่สุด.. จะเกิดก่อน”


 “ความผิดพลาดทั้งหมด.. จะมาเป็นก้อนๆ ในคราวเดียวกัน”

 “ถ้าคุณบอกใครสักคนว่าในจักรวาลมีดาวนับแสนล้านดวง.. เขาจะเชื่อคุณในทันที.. แต่ถ้าคุณบอกเขาว่าที่นั่งนี้สียังไม่แห้ง.. เขาจะแอบแตะมันก่อน.. จึงจะเชื่อคุณ”

 “ยิ่งมีผู้เชี่ยวชาญมากเท่าไร (สังคม) ก็ยิ่งสับสนมากเท่านั้น”

 “นาฬิกาเดินเร็วขึ้นเมื่อคุณรู้สึกเพลิดเพลิน” (เปรียบเทียบได้กับคำกล่าวของไอน์สไตน์ที่ว่า “ถ้าคุณนั่งอยู่กับสาวสวย ๑ ชั่วโมง คุณจะรู้สึกเหมือนแค่ ๑ นาที แต่ถ้าคุณเอามือวางบนเตาร้อนๆ แค่ ๑ นาที คุณจะรู้สึกเหมือนเวลาผ่านไปเป็นชั่วโมง”)

 “ถ้าหากทุกอย่างดูราบรื่นแล้วละก็.. แสดงว่าคุณต้องลืมอะไรไปบางอย่างแน่ๆ “

 “อย่าได้เสียเวลาทะเลาะกับคนโง่ๆ .. เพราะคนอื่นอาจแยกความแตกต่างไม่ออก”

               กฎของเมอร์ฟี่นี้มีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านแย้งว่า กฎของเมอร์ฟี่นี่เป็นของเก๊ .. เพราะเน้นเฉพาะเรื่องยุ่งๆ ที่เกิดเป็นครั้งคราว ทีเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นบ่อยกว่ากลับไม่พูดถึง  อย่างนี้คงเป็นเพราะเราใช้ “ความรู้สึก” เข้ามาปน จึงทึกทักเอาว่าเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา (ที่เราต้องได้รับอยู่แล้ว)  แต่เรื่องผิดพลาดทำให้เราเดือนร้อน (ก็เลยต้องโวยหน่อย)"

             แต่นอกจากนี้กฎของเมอร์ฟี่ยังมีข้อหนึ่งกล่าวว่า “รู้กฎของเมอร์ฟี่ไปก็ช่วยอะไรไม่ได้” แต่ดิฉันคิดว่ากฎของเมอร์ฟี่ช่วยได้มากนะค่ะ.. คือ ทำให้เราเตรียมตัวให้มากขึ้นเพื่อลดข้อผิดพลาดที่จะเกิดได้มากให้น้อยลงได้ และเมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้น (ซึ่งการทำงานต้องมีข้อผิดพลาดอยู่แล้ว.. คงไม่มีงานใดสมบูรณ์แบบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์.. ถึงแม้เราคาดหวังอยากจะให้เป็น ) มันทำให้เรายอมรับกับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น (ทำใจได้ รู้ ยอมรับ และแก้ไขไม่ให้ผิดพลาดอีก)...และสุดท้ายมันทำให้เรามองโลกในแง่ดี..... โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน.. อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด.. เราต้องยอมรับมันให้ได้นะค่ะ

uraiMan สคส.


หมายเลขบันทึก: 95669เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2007 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ คุณ begood

        เพิ่งเจอบันทึกนี้ครับ  ตอนนี้มีบางคนเจอฤทธิ์กฎของเมอร์ฟี่เข้าไปแล้วมาเล่าให้ผมฟัง ก็เลยลองค้นๆ ดูซะหน่อยครับ

        ถ้ามีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทความในหนังสือเล่มนี้ ก็ยินดีนะครับ หลายเรื่องในเล่มนี้ผมนำมาบันทึกไว้ใน GotoKnow นานแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท