เครือข่าย กำแพงเพชร - สมุทรสงคราม


เริ่มแล้ว... การเชื่อมเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง เกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวาน จ.กำแพงเพชร กับ เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ จ.สมุทรสงคราม

เครือข่าย กำแพงเพชร - สมุทรสงคราม 

                เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม 2548  ที่ผ่านมา คณะของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ ของจังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 45 ท่าน ( วิชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม)  นำโดย คุณสรนพงษ์   บัวโรย  จากสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม  ได้เดิมทางมาเยี่ยมเยียน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มรายย่อยของตำบลยางสูง อำเภอขาณุวรลีกษบุรี  จังหวัดกำแพงเพชร   โดยการประสานงานของคุณสายัณห์  ปิกวงค์  คุณวีรยุทธ  สมป่าสัก คุณอารีรัตน์  ช่วงโพธิ์  และองค์การบริหารส่วนตำบลยาสูง และผู้นำในทุกระดับมีรายละเอียดของการศึกษาดูงานในจังหวัดกำแพงเพชร  ดังต่อนี้

·        ภาคเช้า เวลาประมาณ 08.00 – 08.20 น.  คณะได้เยี่ยมชมตลาดนัดสินค้าเกษตรอินทรีย์ บริเวณหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร  ซึ่งทางจังหวัดกำแพงเพชร ได้ดำเนินการจัดตลาดนัดสินค้าเกษตรอินทรีย์ มาตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2545  ตามนโยบาย "กำแพงเพชรเมืองเกษตรธรรมเทค" ของอดีตท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายกฤช  อาทิตย์แก้ว   สินค้าที่นำมาจำหน่าย จะมีการจำแนกหลายระดับ ตั้งแต่สินค้าแปรรูปของกลุ่มเกษตรกร , สินค้าปลอดภัย , สินค้าปลอดสารเคมี  และสินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

·        เสร็จแล้วได้เดินทางไปยังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลยางสูง   โดยท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลยางสูง คุณเจริญ  เลาห์ศักดิ์ประสิทธิ์  ได้ให้เกียรติและนำสมาชิกทุกท่านมาต้อนรับ  และนำผลผลิตส้มปลอดสารของตำบลมาให้แก่ผู้มาศึกษาดูงานได้ชิมด้วย   เป็นการต้อนรับที่อบอุ่นและท่านนกยกได้ นำเสนอถึงสถานการณ์การเกษตรของตำบลยางสูง และได้เล่าถึงกระบวนการผลิตอ้อยที่เป็นการลดต้นทุน – เพิ่มผลกำไร   (ดูรายละเอียดได้ที่ http://gotoknow.org/yutkpp2)  ให้แก่ผู้มาเยี่ยมชมได้รับทราบอีกด้วย

·        หลังจากนั้น ได้พาคณะศึกษาดูงานเดินทางต่อไปยัง ศาลาเอนกประสงค์ บ้านคลองวน หมู่ที่ 7 ตำบลยางสูง  เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำการเกษตรของทั้งทางสมุทรสงคราม และทางกำแพงเพชร โดยการเยี่ยมชมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยทีมคุณอำนวยดำเนินการจัดกระบวนการ ดังนี้

                                   

·        การสร้างบรรยากาศของความเป็นกันเอง อย่างไม่เป็นทางการ ใช้การพูดคุยบอกเล่าความเป็นมาของทั้งสองกลุ่ม  ความจำเป็นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่าพวกเราไม่ได้ขาดความรู้ แต่เราขาดการจัดการ ดังนั้น การนำพาให้มีโอกาสมาพบกันขอให้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

·        เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในขณะเดียวกัน  คือต่างฝ่ายก็ต่างนำประสบการณ์ของตนเองออกมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน  ทั้งประสบการณ์ของเกษตรกรทางจ.สมุทรสงครามและเกษตรกรผู้ปลูกส้มของจ.กำแพงเพชร  

 ·        มีการนำภูมิปัญญาของเกษตรกรทางสมุทรสงคราม มาเผยแพร่และแบ่งปัน แก่เกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวานของทางกำแพงเพชร โดยการนำ ขี้แดดนาเกลือ ที่ได้จากการวิจัยชุมชน มาให้ทดสอบในพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชร

·        การศึกษาดูแปลงของจริง ของคุณ พงษ์ศักดิ์  เกษตรกรผู้ปลูกส้มที่เป็นเกษตรกรผู้ที่มีประสบการณ์ และเป็นผู้กำลังทำการผลิตส้มนอกฤดู ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานวิจัยของชาวสวนส้มตำบลยางสูง  เกษตรกรที่มาเยี่ยมชม ต่างพูดคุยและซักถามรายละเอียดและกระบวนการผลิตกันอย่างสนใจ

          ก่อนเดินทางกลับ ทางท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลยางสูง ยังได้กรุณาเลี้ยงอาหารกลางวันให้แก่คณะผู้มาศึกษาดูงานและสมาชิกทุกท่านที่เดินทางมาในครั้งนี้ด้วย สร้างความประทับใจให้แก่คณะศึกษาดูงานจากจังหวัดสมุทรสงครามเป็นอย่างมาก   สร้างความประทับใจในการดำเนินงาน และการประสานงานในการพัฒนาทั้งจากส่วนภูมิภาค  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนเป็นอย่างยิ่ง

  วีรยุทธ  สมป่าสัก (13/12/48)

 

          

หมายเลขบันทึก: 9503เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2005 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท