ครม.พยุงจีดีพีเซ็นยืด VAT 7% ต่ออีกปี 'วรพล' กระทุ้งรัฐปลุกอสังหาฯ


ครม.พยุงจีดีพีเซ็นยืด VAT 7% ต่ออีกปี 'วรพล' กระทุ้งรัฐปลุกอสังหาฯ
คลังชง ครม.ยืดคงที่ VAT 7% อีก 1 ปีวันนี้ ชี้ภาวะเบิกจ่ายเริ่มดีขึ้น มี.ค.โต 9.8% เม็ดเงินกว่า 1.3 แสนล้าน ด้านที่ปรึกษาคลังกระทุ้งรัฐออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ชี้คุ้มค่า รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 พฤษภาคม 2550 นี้  ทางกระทรวงการคลังเสนอให้ ครม. พิจารณาขยายเวลาการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 กันยายน 2550 นี้ โดยขยายออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน  2551 ซึ่งมีเหตุผลเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซาจากปัจจัยเสี่ยงมากมาย เช่น ราคาน้ำมัน ภัยธรรมชาติ และปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง จนส่งผลให้กำลังซื้อประชาชนโดยรวมไม่ขยายตัวมากนัก ทั้งนี้แนวคิดการขยายระยะเวลานี้ได้รับความเห็นชอบจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวง พาณิชย์ และสำนักงบประมาณแล้ว  "ที่สำคัญหากรัฐบาลกลับมาใช้ภาษีในอัตรา 10% เหมือนเดิม จะซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ชะลอตัวมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง และกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว ซึ่งการคงที่ภาษีมูลค่า 7% จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวการใช้จ่ายของภาคเอกชนต่อไปอีก" รายงานข่าวระบุทั้งนี้ การปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 10% เหลือ 7% เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2548 และหลังจากนั้นก็ได้ขยายระยะเวลามาตลอด เพราะหากปรับเท่าเดิมเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ   ในด้านลบอย่างมากนายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยถึงภาวะการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐว่า  ขณะนี้การเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกรมบัญชีกลางได้เร่งกระตุ้นกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการทำงบประมาณ 2550 ล่าช้า ซึ่งทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณที่ผ่านมาพลาดเป้า เม็ดเงินไม่สามารถเข้าไปพยุงเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ แต่จากการติดตามเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังล่าสุดพบว่า รายจ่ายรัฐบาลได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐเบิกจ่ายงบประมาณได้ถึง 139,900 ล้านบาท ขยายตัว 9.8% ขณะที่มีรายได้จากการจัดเก็บเพียง 103,300 ล้านบาท ต่ำกว่า     ช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.0%  และต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในเอกสารงบประมาณ 3.4% ด้านนายวรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ในฐานะ  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์มาเป็นมาตรการเสริมอีก ทั้งการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ การลดค่าธรรมเนียมจดจำนอง และการเพิ่มค่าลดหย่อนดอกเบี้ยผ่อนบ้าน เพราะจะช่วยกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดีขึ้น หลังจากการก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเร่งรัดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเร่งปล่อยสินเชื่อลงสู่รากหญ้าเพิ่มขึ้นอีก 44,044 ล้านบาทแล้ว  "มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องทำ โดยจากตัวเลขไม่ได้กระทบรายได้รัฐบาลมาก ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ จะกระทบเพียงประมาณ 2 พันล้านบาท การลดค่าธรรมเนียมจดจำนองกระทบเพียงประมาณ 6-7 พันล้านบาท ส่วนการเพิ่มค่าลดหย่อนก็กระทบเพียงประมาณ 200 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งหากผลักดันมาตรการนี้สำเร็จ จะช่วยทั้งผู้ประกอบการและคนซื้อบ้าน ซึ่งจะเป็นปัจจัยเริ่มต้นที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น" นายวรพลกล่าว

ไทยโพสต์  8  พ.ค.  50

หมายเลขบันทึก: 94952เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2007 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท