"สหกรณ์ช่างเย็บผ้าบนดอย" ความฝันเพื่อโอกาสอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัว


ที่สำคัญหากแม่บ้านช่างเย็บผ้าเหล่านี้จะรวมตัวช่วยเหลือกันได้ในรูป "สหกรณ์" หรือทำนองนี้ ที่สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็คงมีรายได้จุนเจือครอบครัวได้อีกทาง ที่สำคัญ ครอบครัวคงมีสุขได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้า ไม่ต้องอยู่กันคนละทิศละทางเหมือนก่อน

เมื่อกว่า ๑๐ ปีก่อน ที่การศึกษายังไม่เข้าไปถึงหมู่บ้านบนดอยห่างไกลอย่างทั่วถึงเช่นปัจจุบัน ทำให้กลุ่มเยาวสตรีเป็นที่น่าห่วงใยต่อการถูกล่อลวง การมีวิชาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้อย่างสอดคล้องกับความเชี่ยวชาญด้านการปักผ้าของสตรีชนเผ่า เช่นวิชาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่หลายองค์กรใช้ในงานส่งเสริมศักดิ์ศรีของสตรีชนเผ่า

แต่การศึกษาจากภายนอกก็ล้วนนำพาเยาวชนให้ออกจากชุมชนไม่แตกต่างกัน เยาวสตรีที่ได้เล่าเรียนวิชาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าเหล่านี้ จึงไม่อาจกลับไปประกอบอาชีพในชุมชน ทั้งหมดล้วนมุ่งหน้าสู่ร้านเสื้อ หรือโรงงานในเมืองใหญ่แทบทั้งสิ้น

วันเวลาผ่านไป หลายคนมุ่งมั่นประกอบอาชีพตามที่ตนเรียนมาอยู่ในเมือง อีกหลายคนได้พบรักกับหนุ่มในเมือง จนไม่มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตบนดอยอีก แต่อีกหลายคนที่ได้พบรักกับหนุ่มดอยที่เข้าไปทำงานรับจ้างเช่นกัน ได้จูงมือกันกลับมาสร้างครอบครัวในชุมชนบนดอยอีกครั้ง หากเพียงพอแล้วกับชีวิตในเมืองใหญ่

ฉันกำลังอยู่กับอดีตเยาวสตรีที่เคยเป็นช่างเย็บผ้าหลายคน ที่ปัจจุบันกลับมาเป็นแม่บ้านที่ช่วยสามีทำไร่และเลี้ยงลูก ท่ามกลางการจำกัดการใช้ทรัพยากรป่าไม้ที่เคยใช้ได้อย่างเสรีเช่นในอดีต ทำให้หลายคนมีที่ทำกินไม่เพียงพอ ครั้นอยากจะเข้าไปทำงานในเมืองอีกก็สู้เศรษฐกิจไม่ไหว

จึงกำลังคบคิดช่วยเหลือกัน กัดฟันสู้ในท้องถิ่น เพราะยังสามารถเพาะปลูกยังชีพลดรายจ่าย ที่สำคัญหากแม่บ้านช่างเย็บผ้าเหล่านี้จะรวมตัวช่วยเหลือกันได้ในรูป "สหกรณ์" หรือทำนองนี้ ที่สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็คงมีรายได้จุนเจือครอบครัวได้อีกทาง ที่สำคัญ ครอบครัวคงมีสุขได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้า ไม่ต้องอยู่กันคนละทิศละทางเหมือนก่อน

แต่รูปแบบการรวมกลุ่มลักษณะนี้จะเป็นอย่างไรได้บ้าง อยากขอคำแนะนำ เพราะไม่อยากดำเนินการเป็นร้านของใครคนหนึ่งแล้วจ้างลูกจ้าง แต่อยากรวมกันเป็นร้านของเราที่ช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน

ใครพอมีคำแนะนำเรื่องนี้บ้าง ขอช่วยด้วยค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 94575เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2007 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

การจัดการองค์กรนั้นมันเป็นเพียง "อุปกรณ์" ค่ะ

เป้าหมายชัดๆ คืออะไร ? จะใช้สหกรณ์นี้ไปทำอะไรล่ะ ?

  • สวัสดีครับ
  • ผมแวะมาเป็นกำลังใจของคนทำงานและชาวบ้านในหมู่บ้านอันไกลโพ้น
  • ไม่มีความรู้เรื่องชุมชน...
  • แต่ขอชื่นชมวิถีคิดที่จะรวมกลุ่มของชาวบ้าน   โดยเฉพาะการยืนหยัดทายท้ายุคใหม่   ด้วยการไม่ยอมอพยพแรงงานออกจากท้องถิ่นที่เป็นบ้านเกิดของตนเอง
  • อย่าลืมแนวคิดความพอเพียงด้วยนะครับ   ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ "สหกรณ์"  เข้มแข็งและยั่งยืน
  • ผมเชียร์ขาดใจ  ครับ

ขอบคุณค่ะ ไม่ลืมแนวคิดความพอเพียงแน่นอนค่ะ

รูปแบบกลุ่ม หรือสหกรณ์ ที่อยากให้เกิดขึ้นนี้ เพราะเห็นแม่บ้าน (ความจริงอายุไม่มากประมาณ ๒๐-๓๐ ปี) จำนวนไม่น้อย ที่มีวิชาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าแต่ไม่ได้ใช้เพราะกลับมาทำไร่ในหมู่บ้าน และต่างคนต่างอยู่ จึงคิดว่า หากได้รวมตัวกันน่าจะมีโอกาสในการประกอบอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นรายได้เสริมได้ หลายรูปแบบ เช่นรับงานจากโรงงาน หรือมีงานหน้าร้าน ซึ่งแต่ละคนมีประสบการณ์มากมายอยู่แล้วตอนอยู่ในเมือง

ที่อยากให้เป็นรูปแบบสหกรณ์ หรือจะเรียกวิสาหกิจชุมชน หรืออะไรไม่ทราบ เพราะเข้าใจว่ารูปแบบสหกรณ์คือการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่ม โดยไม่ใช่มีเป้าหมายเพื่อแสวงหากำไร แต่เน้นการช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปันซึ่งกันและกัน

อันนี้กำลังพยายามศึกษารูปแบบสหกรณ์ให้มากกว่านี้ ยังเข้าใจไม่มากนัก แต่คิดว่าในหลักการเบื้องต้นน่าจะเหมาะมากกว่า เพราะไม่อยากให้เป็นบริษัทหากำไร (แต่แน่นอนต้องมีด้วย เพียงแต่ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด) นอกจากนี้หลายคนในกลุ่มมีปัญหา และลำพังตัวคนเดียวไม่เข้มแข็งพอที่จะแก้ไขปัญหาของตนได้ จึงคิดว่าหากมีกลุ่มจะสามารถช่วยเหลือกันได้ในหลายรูปแบบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และจิตใจ

ขอบคุณค่ะที่ช่วยตั้งคำถาม เพราะจะได้ช่วยกันขบคิดให้ชัดเจนขึ้นด้วยค่ะ หลายอย่างเป็นเพียงการเริ่มต้นในหัว กับสองตาที่มองเห็นปัญหา ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

 

อยากบอกว่า บางที การตั้งบริษัทก็ไม่หมายความว่า "ไม่พอเพียง" มันขึ้นอยู่กับ ความชัดเจนของกรรมการบริหารองค์กร และการมีส่วนร่วมของผู้ถือหุ้น การเป็นสหกรณ์ก็อาจไม่พอเพียง ถ้าเป้าหมายองค์กรไม่สมถะ

การสร้างความรู้ให้ชาวบ้านในกลไกที่ทุนนิยมใช้ ก็อาจเป็น "อุบาย" ที่ดี เป็นการนำคนในโลกเก่าไปเรียนรู้กลไกในโลกใหม่

คุณ pilgrim คะ

ขอบคุณสำหรับคำถามนะคะ   ต้องรีบมาให้กำลังใจ เพราะชื่นชมคนทำงานค่ะ

การให้คำแนะนำไม่ง่ายเลยค่ะ เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่จริงประการหนึ่ง  และประสบการณ์ก็ไม่มากอีกประการหนึ่ง    ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นก็แล้วกันนะคะ

เท่าที่อ่านคิดว่ามีปัญหาสองสามประการ คือ  มีรายจ่าย  มีที่ดินทำกินไม่พอ  และจำเป็นต้องหารายได้

เรื่องแต่ละคนมีที่ดินทำกินไม่พอ   ดิฉันเห็นบางพื้นที่หันไปใช้ระบบนารวมนะคะ   คือเอาที่ดินมาใช้ร่วมกัน ใช้แรงงานร่วมกัน  และพยายามใช้พื้นที่ตลอดทั้งปี  อาจต้องแบ่งงานกันทำ เช่น  การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำปุ๋ยพืชสด  การเก็บพันธุ์  คงต้องมานั่งคุยกันค่ะ 

เรื่องรายจ่ายกับรายได้สัมพันธ์กันค่ะ   การหารายได้บางอย่างต้องมีค่าใช้จ่ายสูงไปด้วย ก็จะต้องช่วยกันหาวิธี   ระบบสหกรณ์อาจช่วยได้  แต่อย่ายึดรูปแบบนัก  ยึดวิธีคิดแบบ "ช่วยเหลือกัน" จะมีความยืดหยุ่นในการหาทางออกมากกว่าค่ะ

ถ้าการทำเสื้อผ้า (รายละเอียดไม่มากพอว่าเป็นเสื้อผ้าแบบไหน)  ต้องซื้อด้าย ซื้อวัสดุ   การรวมกลุ่มกันซื้อวัสดุ จะทำให้ต้นทุนถูกลงได้   ถ้ามีโอกาสปรับการใช้วัสดุเป็นของท้องถิ่นก็จะดีค่ะ  แต่ดิฉันไม่แน่ใจว่าเป็นการตัดเย็บเสื้อผ้าตามสั่งหรือเปล่า

การรวมขายก็ไม่ง่ายค่ะ เพราะอำนาจต่อรองยังอยู่ภายนอก

ลองดูการผลิตเพื่อใช้ภายในก่อนด้วยดีไหมคะ

ลองจัดตลาดแลกเปลี่ยนแบบง่ายๆ เช่น เดือนละครั้ง เอาของที่ตัวเองมีอยู่ หรือของที่ตัวเองทำได้หาได้  มาแลกกับของอื่นๆจากเพื่อนๆ  เท่าที่ทำในหลายพื้นที่ ลดรายจ่ายเรื่องอาหารการกินได้  คนหันหน้าเข้าหากัน  และบางคนก็พยายามผลิตของที่ต่างจากคนอื่นก็มีค่ะ  

การที่ทุกบ้านตัดเย็บผ้าเหมือนกันนี่ก็เป็นความเสี่ยง เป็นการขาดภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่ง  ทำอย่างไรให้คนในชุมชนดึงศักยภาพของตนเองออกมาทำโน่นทำนี่ให้หลากหลายแตกต่างกันเพื่อตอบสนองความต้องการของคนภายในด้วยกัน  จะได้มีอาชีพเสริม (นอกจากเย็บเสื้อผ้า) ที่เป็นภูมิคุ้มกันเพราะตลาดอยู่ในชุมชนเอง

ที่แน่ๆ ต้องมานั่งคุยปัญหาและหาทางออกร่วมกันค่ะ  ใครมีอะไร ขาดอะไร  กินอะไรมาก ปัญหาอยู่ที่ไหน จะต้องเอาความรู้อะไรจากข้างนอกมาหนุนเสริมบ้าง

อ้อ  การออม มีไหมคะ   ถึงไม่มีรายได้ทุกวัน แต่มีรายจ่ายทุกวัน  ก็ออมวันละบาทจากรายจ่ายก็ได้ค่ะ

เป็นข้อเสนอที่อาจไม่มีประโยชน์นัก เพราะไม่ได้เห็นพื้นที่จริง  แต่นึกๆก็อยากไปเยี่ยมเหมือนกันนะคะนี่

ขอบคุณ อ.ปัทมาวดี มากค่ะ สำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์มากต่อการเริ่มต้น

ดิฉันเพิ่งเข้ามาอ่านบล็อคของอาจารย์วันนี้เอง และเห็นว่ามีบันทึกเก่าๆ ของอาจารย์หลายอันที่เป็นประโยชน์อย่างที่ดิฉันอยากได้ในเวลานี้ ยิ่งได้กลับมาเห็นอาจารย์ให้ความเห็นตอบไว้ ก็ยิ่งมีกำลังใจขึ้นมากว่าคงจะมีผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่งที่จะคอยช่วยดิฉันสร้างสะพานนี้

ต้องยอมรับว่าการกลับลงมาในชุมชนอีกครั้ง หลังจากที่ห่างไปนาน จึงได้พบอะไรเปลี่ยนแปลง หลายอย่าง อย่างที่เกริ่นไว้ใน http://gotoknow.org/blog/pilgrim/94137

จึงเริ่มจับต้นชนปลายที่ใกล้ตัว คืออดีตเยาวสตรีที่เคยรู้จัก ท่ามกลางปัญหาอีกหลายอย่างที่ยังไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ลองเรียนรู้ประสบการณ์จากชุมชนอื่นๆ ที่อาจารย์หลายท่านได้แบ่งปันไว้ใน gotoknow นี้ ก็พอมีความหวังอยู่บ้าง แต่คงต้องใช้เวลาพอสมควร และเห็นด้วยว่างานที่ยากมากและต้องใช้เวลา แต่มีความสำคัญมาก คืองานความคิด

แต่ที่อาจารย์แนะนำให้เริ่มต้นคุยกัน น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี และกำลังเริ่มอยู่ค่ะ เพียงแต่ยังแยกส่วนคุยแต่กับกลุ่มแม่บ้านตัดเย็บเสื้อผ้า คงได้มีเรื่องขอคำแนะนำอาจารย์อีกหลายเรื่อง เพราะกำลังสนใจแนวคิด "ระบบการแลกเปลี่ยนชุมชน" และ "คูปองรู้จักพอ" ที่อาจารย์แบ่งปันไว้

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

 

 

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ดีใจที่ได้รู้จักกันนะคะ

หนังสือเรื่อง "รู้เท่าทันทุนนิยม" จะจัดส่งไปให้นะคะ เพียงแต่ขอทราบชื่อที่อยู่เท่านั้นเองค่ะ   ดูในประวัติคุณ pilgrim ยังไม่เห็น address นะคะ

ถ้าไม่สะดวกบอกที่อยู่ทาง blog ก็เข้าไปบอกที่ อีเมล์ของดิฉัน คือ [email protected]  ได้นะคะ

 

ขอบคุณอาจารย์ปัทมาวดีมากค่ะ

ส่งที่อยู่ให้อาจารย์แล้วนะคะ

ดีใจมากเช่นกันที่ได้รู้จักอาจารย์และผลงานผ่าน blog ของอาจารย์ แล้วคงได้ขอคำปรึกษาแนะนำเป็นระยะนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท