พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดในโลก: ทำไม? (6)


ผมคิดว่าห้องปฏิบัติการฟอสซิลนี้ได้รับการออกแบบมาตั้งแต่ต้นให้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง แต่เป็นการแสดงที่นอกจากผู้มาชมจะได้เห็นแล้ว ยังได้งานจริงๆ ไปพร้อมกันด้วย

ไปบรรยายให้นักศึกษา ป.โท หลักสูตรสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยรามคำแหงในจังหวัดภาคอิสานมาสองวัน เลยไม่ได้เขียนบล็อก จึงมาเขียนเรื่องพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนต่อในวันนี้ จะเขียนไปเรื่อยๆ จนกว่าหมดซีรีส์นี้

ในบริเวณที่แสดงยุคสัตว์เลื้อยคลานครองโลก มีห้องปฏิบัติการฟอสซิล(เคยเห็นในตำราภาษาไทยบางเล่มเรียกฟอสซิลว่า ซากดึกดำบรรพ์ ไม่รู้ว่าในวงวิชาการบ้านเราจะยอมรับคำนี้กันหรือยัง ผมยังไม่เคยเช็คว่าราชบัณฑิตใช้อย่างไร) ขนาดพื้นที่ประมาณ 50 ตรม.เห็นจะได้ ผนังห้องมีกระจกให้มองผ่านเข้าไปได้ทุกด้าน วันที่ผมไปมีเจ้าที่กำลังทำงานอยู่คนหนึ่ง มีครูพาเด็กนักเรียนมายืนดูเจ้าหน้าที่กำลังแกะฟอสซิลผ่านกระจก (ดูรูป)

ภาพนี้ทำให้ผมนึกถึงตำราเรียนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาของอังกฤษและอเมริกา(ผมสะสมไว้หลายเล่มเพราะสนใจใน textbook design) เขามักเข้าสู่เนื้อหาบทเรียนแต่ละบทด้วยการเสนอเรื่องราวของผู้ที่มีอาชีพทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ คนใดคนหนึ่งก่อน มีชื่อจริง งานจริง รูปถ่ายจริง เช่น นักโบราณคดี ว่าวันหนึ่งๆ เขาทำอะไรบ้าง เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้มีอะไรบ้าง พร้อมบทสัมภาษณ์สั้นๆ ว่าคุณมีคำแนะนำอะไรบ้างหากนักเรียนสนใจอยากมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จากนั้นมีคำถามเล็กๆ น้อยๆ ให้นักเรียนสำรวจตัวเองก่อนเข้าสู่เนื้อหาบทเรียน ต่างกับตำราเรียนบ้านเราหลังจากสารบัญแล้วก็ บทที่ ๑ บทที่ ๒ ... เนื้อหาทฤษฎีเลย ภาพประกอบก็ไม่ค่อยมี มีก็ขาวดำอีก ของเขาตำราเรียนยังกะหนังสือภาพ ภาพสีด้วย ดูน่าตื่นตาตื่นใจ แค่ดูภาพแล้วอ่านคำบรรยายภาพก็ได้ความรู้เกิดความคิดมากมายแล้ว อยากให้หนังสือเรียนบ้านเราเป็นอย่างนั้นบ้าง เด็กๆจะได้อยากอ่านเพราะอ่านสนุกเพลิดเพลิน ไม่ชวนง่วงนอน ผมเขียนมาถึงตอนนี้เกิดความคิดขึ้นมาว่าต่อจากเรื่องพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนจะเขียนเรื่อง การออกแบบตำราเรียนของ textbook publisher ในยุโรปและอเมริกา เป็นลำดับต่อไป เพราะสะสมไว้เยอะทีเดียว โดยเฉพาะตำราเรียนวิทยาศาสตร์

ผมคิดว่าห้องปฏิบัติการฟอสซิลนี้ได้รับการออกแบบมาตั้งแต่ต้นให้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง แต่เป็นการแสดงที่นอกจากผู้มาชมจะได้เห็นแล้ว ยังได้งานจริงๆ ไปพร้อมกันด้วย  

ยิ่งกว่านั้นอีกก็คือถ้าคนที่มาดูอยากร่วมด้วยช่วยกันก็เชิญเลยครับ มีป้ายใหญ่ติดหราเลยว่าต้องการอาสาสมัครช่วยงาน Volunteers Wanted! (ดูรูปข้างล่าง - ไม่ค่อยชัดแต่พอดูได้)

อีกภาพเป็นฟอสซิลแมลงในก้อนอำพัน(ยางไม้ที่แข็งตัวหุ้มแมลงไว้)

ตอนต่อไปจะว่าด้วยห้องกิจกรรมสำหรับเด็กเล็ก

คำสำคัญ (Tags): #พิพิธภัณฑ์
หมายเลขบันทึก: 9434เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2005 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท