ปลูกอะไร?ที่กินได้ ขายได้ และทำบุญได้ (บ้านคลองเขิน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม)


คำตอบของชาวบ้านบางเรื่องเป็นสิ่งที่เราข้าราชการก็อาจจะนึกไม่ถึง

     เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2550 ได้ไปร่วมจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานเรื่อง หมู่บ้านเสรษฐกิจพอเพียง เพื่อเตรียมถวายในหลวงในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ที่จะถึงนี้

     ช่วงเช้า ทีมงานของเราได้ไปพบกลุ่มชาวบ้านหมู่ 8  ตำบลคลองเขิน  อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรสงคราม  โดยจัดกระบวนการคือ

       ขั้นที่ 1  ทักทายและแนะนำเพื่อทำความรู้จัก  ซึ่งมาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  กรมส่งเสริมการเกษตร  นักวิชาการอิสระ  วุฒิอาสา  นิสิตฝึกงาน  และเกษตรกร

       ขั้นที่ 2  ผู้แทนชาวบ้านให้ข้อมูลความเป็นมาของหมู่บ้าน  โดยใช้แผนที่ในการเล่าข้อมูล 

       ขั้นที่ 3  ทีมงานซักถามข้อมูลโดยการชวนคุยเพื่อจัดเก็บข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่  ประวัติหมู่บ้าน  ความเป็นมาของอาชีพที่ทำเป็นหลักและอาชีพเสริม  รายได้-รายจ่าย  ของดีหรือของเด่นของหมู่บ้าน  และเพราะอะไรถึงเป็นหมู่บ้านแห่งความพอเพียง และอื่น ๆ  ซึ่งขณะที่ทีมวิทยากรหลักกำลังชวนคุยอยู่นั้น  ดิฉันและคุณสรณพงษ์ บัวโรย ก็ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลลงในกระดาษฟางตามไปด้วย และมีวิทยากรแต่ละท่านก็บันทึกลงในสมุดโน๊ตตามไปด้วย และมีวิทยาหลักที่คอยชวนคุย ประมาณ 3-4 คน กับชาวบ้าน ประมาณ 10-15 คน

       ขั้นที่ 4 เชื่อมโยงเนื้อหาเข้าสู่ 3 ห่วง 2 เงื่อน ของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่  ความพอประมาณ  มีเหตุมีผล  มีภูมิคุ้มกัน  มีความรู้  และมีคุณธรรม  โดยการตั้งประเด็นคำถามเพื่อให้ชาวบ้านประเมินตนเองและบอกข้อความที่บ่งชี้ตามโจทย์ดังกล่าว

       ขั้นที่ 5  ประมวลและสรุปบทเรียน โดย 1)  เล่าภาพรวมข้อมูลพื้นฐานที่จัดเก็นนั้นมีอะไรบ้างที่เป็นเนื้อหาหรือข้อมูลจากการชวนคุยและเล่าสู่กันฟัง  2)  ข้อบ่งชี้และการสรุปความของ "ความพอเพียง" ของหมู่บ้านนี้มีอะไรบ้าง  และ 3) งานที่เราจะร่วมกันดำเนินการก็ไปคือ  การถอดบทเรียน  ซึ่งเราจะมาร่วมกันปฏิบัติกันอีกครั้งหนึ่ง

     ก็เป็นการจัดกระบวนการเพื่อทำความรู้จักกับกลุ่มชาวบ้านและการเก็บข้อมูลพื้นฐานทั่วไปก่อนที่จะลงมือถอดบทเรียนกันจริง ๆ โดยข้อมูลที่เกิดขึ้นจากพื้นที่นั้นทีมงานจะนำไปสรุปบทเรียนจากการลงไปคุยกับชาวบ้าน และนำไปสู่การจัดกรอบเพื่อถอดบทเรียนและการสร้างตัวชี้วัดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงกันต่อ

     ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดเก็บข้อมูล ก็คือ

       1)  ได้เรียนรู้เทคนิคการชวนชาวบ้านคุย "เป็นชุมชนหมู่บ้าน"

       2)  ได้เรียนรู้บรรยากาศของการสร้างการชวนคุยชวนเล่า เพื่อนำมาสู่การจัดเก็บข้อมูล

       3)  ได้เรียนรู้วิธีคิดของชาวบ้าน โดยเฉพาะ "การปลูกพืชนั้นดูจากอะไรบ้าง?  และเพราะอะไรถึงปลูกมะพร้าวเป็นหลัก และปลูกกล้วยเป็นหลัก"  คำตอบของชาวบ้านก็คือ "ปลูกพืชอะไรก็ได้ที่กินได้ ขายได้ และที่สำคัญเอาไปทำบุญได้...ก็เลยปลูกกล้วยและมะพร้าวเป็นหลัก  เวลาเอาไปทำบุญเมื่อรวมกันแล้วก็จะทำกล้วยบวชชีได้...นอกจากนี้ดินและน้ำเหมาะด้วย"

       4)  ได้เห็นความก้าวหน้าของการทำงานของเจ้าหน้าที่กับเกษตรกรที่เป็นงานส่งเสริมการเกษตร เช่น  การสร้างกลุ่ม  การแลกเปลี่ยน  การสร้างอาชีพ  และความร่วมมือที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นความอยู่รอดของชาวบ้านที่เป็นอาชีพการเกษตร

     ซึ่งก็เป็นอีกบทเรียนที่เราเป็นเพียงผู้ฟังชาวบ้านให้มากที่สุด แล้วเราจะรู้ว่า เขาคิดอะไรอยู่ เขาทำอะไรกันอยู่...แล้วเราควรจะเข้าไปอยู่ตรงไหนได้กับกลุ่มชาวบ้านที่เขาต้องการเราอย่างจริงใจค่ะ.

หมายเลขบันทึก: 93179เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2007 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท