4. มากกว่าเงิน มากกว่าการท่องเที่ยว (หัวใจท้องถิ่น : เจ้าเอื๊อกมาเมืองไทย)


เวลาที่เราคิดถึงการท่องเที่ยวที่มันมีมิติมากกว่าเงิน เราจะพบว่าเรามีพลังในการสร้างสรรค์

อาจารย์ อรรถจักร สัตยานุรักษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กรุณาให้ข้อคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา จนคนฟังซี้ดซ้าดไปตามๆกัน (สมกับเป็นคอลัมนิสต์จริงๆค่ะ) เลขาฯเห็นว่ามีข้อคิดที่น่าสนใจสำหรับหลายๆฝ่าย เลยเอามาลงเต็มๆไว้ตรงนี้ค่ะ

-------------------------------------------------------------------------

เรียนท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน เท่าที่ผมทราบ งานอาจารย์ดวงใจคืองานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ผมไม่ทราบว่าเสร็จหรือยัง ถ้าเสร็จแล้วพวกเราควรต้องอ่านถ้าสนใจ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เต็มทั้งข้อมูลและวิธีคิดที่ทำให้เราเข้าใจอะไรได้มาก เราจะเห็นได้เลยว่างานชิ้นนี้พูดถึงบทบาทรัฐ บทบาทรัฐท้องถิ่น บทบาทชุมชน และบทบาทเอกชนทั้งหมดเชื่อมต่อกัน เพื่อสร้างพัฒนาการท่องเที่ยว หากเรามองแค่นี้เราก็สามารถที่จะอัดรัฐไทยได้เลยว่า รัฐก็ไม่รู้เรื่อง บริษัทเอกชนก็เอาเปรียบ ชุมชนก็ไม่เข้มแข็ง ง่ายไป สำหรับผมคิดว่าถ้าหากเราจะเรียนรู้จากญี่ปุ่นเพื่อที่จะมาปรับบ้านเรา เราคงต้องเรียนรู้อะไรที่มันยากกว่านั้น

ผมอยากจะกลับหัวกลับหางกับสิ่งที่อาจารย์ดวงใจพูด เป็นมุมมองผม ผมคิดว่าสิ่งที่เราจำเป็นที่จะต้องมองประการแรกก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชุมชนญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษ มี relative autonomy  คือมีอิสระโดยสัมพัทธ์กับรัฐส่วนกลางสูง และในขณะเดียวกันในรัฐท้องถิ่นเอง เมืองต่าง ๆ ก็มีความสัมพันธ์กับหมู่บ้านอย่างเป็นอิสระ แปลว่าหมู่บ้านก็เป็นอิสระโดยสัมพัทธ์ ความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์นี้เอง เป็นรากฐานที่สำคัญที่ทำให้ตัวหมู่บ้านเองหรือตัวเมืองได้สร้างอัตลักษณ์ของตัวเองมาตั้งแต่ในสมัยอดีต เส้นทางโตไกโดที่เราเห็นในชาร์ตแรกของอาจารย์ดวงใจ เราจะพบว่าแต่ละจุดมีความเป็นเอกลักษณ์ค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์ของหมู่บ้านและของเมืองในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ได้สร้างสำนึกของความเป็นชุมชนที่สูงขึ้นมา  รากเหง้าที่ทำให้การท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่นแตกต่างกันคือตรงนี้ ผมคิดว่าความเป็นชุมชนญี่ปุ่น สำนึกของความเป็นชุมชนญี่ปุ่นมีมาก่อนและแรง จนกระทั่งทำให้รัฐส่วนกลางเวลาจะคิดแผนอะไรคุณต้องฟังข้างล่าง รัฐส่วนกลางไม่สามารถจะกำหนดท้องถิ่นได้ นอกจากจะเห็นพ้องต้องกัน ความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์ที่ทำให้เกิดความเป็นชุมชนนี้เอง จึงมีความพยายามที่จะรักษาสิ่งที่เราเรียกว่า common property มาตั้งแต่สมัยเมจิ ก่อนเมจิด้วยซ้ำ common property ในความหมายแคบก็คือ ดิน น้ำ ป่า  ในความหมายกว้างรวมทั้งหมดเลย ทำให้พอขึ้นสมัยเมจิ กลุ่มนักกฎหมายต่างๆ เริ่มคิดที่จะทำให้มีกฎหมายรองรับ common property พวกนี้

ถ้าเราอ่านประวัติที่น่ารักมาก ๆ ของหมู่บ้านอุมะจิ เราจะพบว่าการรื้อฟื้นกลับไปทำป่าไม้ของเขาได้เกิดขึ้นจากสำนึกตรงนี้เป็นฐาน ก็คือสำนึกของความเป็น common property ในป่า เพื่อนผมที่เจอในวงเหล้า ที่เป็นลูกชาวนาทั้งหมดก็จะเล่าให้ฟังถึงหมู่บ้านที่ดึงเอาป่าชุมชนมาเป็นสหกรณ์กันในนามหมู่บ้านและจัดการได้ รากฐานตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญ สำนึกของหมู่บ้านที่ทำให้เกิดการรองรับ รัฐส่วนกลางยอมรับใน common property แล้วออกมาเป็นกฎหมาย พวกนี้คือฐานที่สำคัญที่ทำให้คนทั้งหมดรู้สึกตัวเองว่าผูกพัน ย้ำนะครับ ถ้าหากไม่มีการยอมรับ common property สมบัติชุมชน ชุมชนก็อยู่เป็นชุมชนไม่ได้  ญี่ปุ่นตอนนี้มีปัญหาใหญ่คือปัญหาเรื่องการสูญเสียอัตลักษณ์บางอย่างในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยเหตุผลว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า common property เหลืออยู่ มีหนังสือเล่มใหม่ รู้สึกจะชื่อ The Collapse of Japanese Dignity ผมกำลังขอให้เพื่อนส่งมา ยังไม่ได้อ่าน เพราะเขาไม่มี common property อยู่ในหัวเขา แต่การพัฒนาที่ผ่านมามันมี common property ชุดหนึ่ง ซึ่งผูกพันทำให้คนมีชุมชนขึ้นมา และการมี common property มันทำให้เกิดชีวิตสาธารณะในชุมชน ชีวิตสาธารณะในชุมชนที่เราจะรู้สึกว่าเราจำเป็นต้องระมัดระวังในการที่จะเข้าไปทำอะไรในชุมชน ฐานนี้คือฐานที่สำคัญ สำนึกในชุมชนไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ หากแต่เป็นความสำนึกที่ผูกพันกับสมบัติชุมชน และที่สำคัญผูกพันอยู่กับอดีต ปัจจุบัน และอนาคต  

ที่อาจารย์ดวงใจพูดถึงหน่วยการศึกษาส่วนท้องถิ่น จริงๆ แล้วมีการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่นตลอดมาในแต่ละหมู่บ้านในแต่ละชุมชน ที่กิฝุทุกปีจะพาเด็กไปไหว้ศาลของวีรบุรุษของกิฝุ ซึ่งถูกผลิตโดยชาวบ้านแล้วก็ถูกสืบทอดต่อมาบนฐานที่เขามีสำนึกชุมชน มี common property แต่ของเราไม่มี วีรบุรุษของเราเป็นวีรบุรุษที่ถูกลากเข้ามาสัมพันธ์กับส่วนกลางหมด จริงเท็จไม่รู้ เช่น ย่าโม มีจริงไม่รู้ แต่ว่ากลายเป็นวีรบุรุษเพราะเข้ามารับใช้จักรวรรดินิยมสยาม เราจะเห็นได้เลยว่าโรงเรียนหรืออื่นๆ  เข้าไปรับใช้  

สำนึกอันนี้ของญี่ปุ่นไม่ใช่สำนึกที่ถูกสร้างโดยคนอื่น แต่ถูกสร้างโดยชุมชน พื้นฐานของการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวที่สามารถทำให้เกิดการปรับตัวของชุมชนได้ก็คือฐานตรงนี้ ผมชอบท่านที่ตั้งชื่อ ชุมชนมีชีวิตในญี่ปุ่น ชุมชนที่มีชีวิตคือชุมชนที่สามารถปรับตัวได้อย่างมีพลัง และจะปรับตัวได้ไหมถ้าหากไม่มี common property  ปรับตัวไม่ได้ แต่ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างนะ ถ้าหากสร้าง common property ขึ้นมาหรือสมบัติชุมชนขึ้นมา มีโอกาสในการปรับตัว ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับไทยเราจะพบเลยนะครับในกฎหมายไทยเราไม่เคยมีที่ว่างให้กับ common property เลยแม้แต่นิดเดียว และดังนั้นจะเรียกร้องให้ชุมชนปรับตัวได้อย่างไร ถ้าหากเรามองเปรียบเทียบเรามองลงที่รากตรงนี้ ในขณะที่นักวิชาการไทยหน้าโง่ทั้งหลายมักจะค่อย ๆ เปรียบเทียบว่า เมจิไทยกับรัชกาลที่ห้าญี่ปุ่นทำไมเป็นอย่างนี้ มักจะมองที่เหมือนกัน เอาเข้าจริงแล้วแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การค้าของญี่ปุ่นก่อนเมจิมีมากมายมหาศาลแล้ว เกิดสาเกในแต่ละเขตเมืองย่อยๆ ที่อร่อยๆ มากมาย แต่ถามว่ารัฐไทยเคยปล่อยให้ผลิตเหล้าขาวไหม เหล้าอาวาโมริของเขาได้ไปจากอยุธยา แต่เราถูกทำลายหมด เป็นเหล้าขาวเหม็นๆ ไป  

สิ่งสำคัญก็คือว่า ถ้าหากเราเปรียบเทียบให้ชัดว่า เปรียบเทียบในเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เราจะเห็นพลังที่แตกต่างกันคือพลังของชุมชนที่เขาสืบสานมาสู่การสร้าง common property ขึ้นมา ความสำนึกในชุมชนนี้ไม่ใช่แค่ด้านในชุมชนที่เป็นผู้ถูกท่องเที่ยวเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ  ความสำนึกในชุมชนได้ฝังเข้าไปอยู่ในหัวของผู้ไปเที่ยวด้วย ถ้าเรามองแต่ว่าความสัมพันธ์ทางชุมชนทำให้เกิดศูนย์กลางการเที่ยว หมู่บ้านโน้น หมู่บ้านนี้ก็ได้ แต่ถ้าหากเรามองอีกด้านหนึ่งความสำนึกชุมชนที่อยู่ในความเป็นคนญี่ปุ่นหรือความเป็นญี่ปุ่น ทำให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ไปเที่ยวหมู่บ้านหนึ่งก็จะเคารพความเป็นชุมชนของเขา ไม่เรียกร้องชุมชนนั้นให้ทำสิ่งที่ผิดต่อประเพณีเขา คุณเดินทางเที่ยว คุณเคารพในสิ่งที่เขาแสดงให้เห็น คุณก็ไปเดือนนี้สำหรับหมู่บ้านนี้ ไปเกียวโตหมู่บ้านเขาเผาไฟเดือนนี้ แต่ละเดือนไป เราไม่เรียกร้องให้ลีซอหรืออาข่าไกวชิงช้าให้เราทุกวันถ้าหากเราเคารพเขา ดังนั้นความสำนึกทางชุมชนนี้เอง สิ่งสำคัญนอกจากดูแลตนเอง มี common property แล้ว มันส่งผลด้านกลับก็คือ คน นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเองก็เคารพในความเป็นชุมชนของคนอื่น และการเคารพนี้เองมันก็ผูกพันเข้าไปถึงการดูแลทรัพยากรและอื่น ๆ ตามไปด้วย ในขณะที่สังคมไทยเราจะพบว่าความสำนึกในชุมชนชาวบ้านพอมี แต่ชนชั้นกลางดัดจริตทั้งหลายอยากจะไปดูทุกอย่างโดยที่ไม่เคยเคารพชาวบ้านเลย เราคงต้องคิดถึงความเคารพชุมชนของชนชั้นกลางต่างๆ ในบ้านเราด้วย ไปเที่ยวเชียงใหม่โดยที่คุณคิดถึงเชียงใหม่โดยที่ไม่เคยเคารพเชียงใหม่เลย ไปถ่ม ๆ ถุย ๆ ที่เชียงใหม่ ผมคิดว่านี่คือความหยาบคายของคนชั้นกลางไทยกับการท่องเที่ยว  

ดังนั้นถ้าหากเรามองความสำนึกในชุมชน เรามองสองด้าน เราจะพบว่าความยั่งยืนอยู่ตรงนี้ ผมไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ดวงใจในแง่ที่ว่าความสำเร็จของหมู่บ้านมีประมาณ 10-20% ผมคิดว่าความสำเร็จกระจายทั่วไป ถ้าหากว่าเราวัดความสำเร็จนั้นไม่ใช่ด้วยตัวเงิน แต่หมายถึงว่าได้มีการผลิตในเชิงโออิตะกระจายทั่วไป ผมคิดว่ามันเป็นพื้นฐานและกระจายทั่วไป หลักการของโออิตะ หลักการจริงๆ ของญี่ปุ่นคือการผลิตที่มี backward linkage และ forward linkage ของการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ผมคิดว่านี่คือลักษณะสำคัญ โออิตะเองบางส่วนอาจจะเจ๊งด้วยซ้ำถ้าคิดตามเศรษฐกิจ economic return ไม่คุ้ม คุณทักษิณก็ไปหยิบมาเฉพาะปลายยิ่งพังไปใหญ่ ใครเป็นนักเศรษฐศาสตร์ลองไปค้นดูได้เลยนะครับว่าตัวโออิตะเอง economic return อาจจะไม่คุ้ม แต่จำเป็นต้องรักษาโออิตะไว้ เพราะว่าโออิตะขยับตัวเองขึ้นมาเร็วไป ในทัศนะผมนะครับ แต่ถ้าหากเราไปเที่ยวหมู่บ้าน Sekigahara ไปพิจารณาหมู่บ้านเล็ก ๆ คนญี่ปุ่นอาจจะไม่ค่อยไป เราจะพบว่าสินค้าที่ขายเป็นสินค้าที่ผูกพันทั้งท้องถิ่นรวมกัน นี่คือหลักการ ผมคิดว่าความสำเร็จบนฐานของชุมชนมันกระจายทั่วไป

แต่แน่นอนสิ่งสำคัญที่ญี่ปุ่นเผชิญคล้าย ๆ กับเราก็คือ ชนบทล่มสลาย ตัวคนจะถอดถอยมา สมบัติชุมชนยังมีอยู่ มีคนแก่ดูแลสมบัติของชุมชนอยู่ แต่คนรุ่นหนุ่มสาวไม่มี เริ่มลดลง ในบางเขตก็ต้องสั่งภรรยาเข้าจากต่างประเทศ แต่นั่นก็เป็นจุดหนึ่งที่ผมคิดว่าต้องคิดกันใหม่ ว่าเราจะปรับทำให้สมบัติของชุมชนทั้งหลายสามารถที่จะทำรายได้ และดึงดูดให้คนจำนวนหนึ่งกลับมามีชีวิตอยู่กับวัฒนธรรมและเงินตราได้เท่าๆ เดิมไหม  ในกรณีของหมู่บ้านอุมะจิ ผมคิดว่าที่นี่น่าสนใจ นั่นคือการเปิดชุมชนเข้าไปสู่โลก globalization ที่อยู่บนฐานของชุมชน ผมเชื่อว่าบนพลังของสมบัติชุมชน บนพลังของญี่ปุ่นผมเชื่อว่าปรับได้ ในขณะที่ถ้าหากเปรียบเทียบกันแล้วเราจะพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นกับสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยนี่คนละเรื่องกัน สังคมไทย รัฐไทยริบสมบัติของชุมชนมาตลอดเวลาและไม่ยอมคืนซะที จนบัดนี้ก็ยังไม่คืน สิ่งสำคัญคือถ้าหากเราจะนึกถึงเศรษฐกิจพอเพียง นึกถึงอะไรก็ตามที่จะทำให้คนมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้ เราต้องคิดถึงการกระจาย กระจายสิทธิในการใช้ทรัพยากรลงไปสู่ชุมชนให้มากกว่านี้ ให้เข้มแข็งมากกว่านี้ นี่คือตัวอย่างของญี่ปุ่น ซึ่งนี่คือรากฐาน  หลังสงครามโลกครั้งที่สองญี่ปุ่นพังทลายหมด แต่อยู่ได้เพราะมีชาวนาเอกลักษณ์เล็กๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นสินค้าญี่ปุ่น ใครรุ่นผมอายุ 40-50 คงจำได้ว่า Seiko สมัยก่อนเราเรียกว่าเช้าโก้เย็นแก้ เพราะเป็นของคุณภาพค่อนข้างต่ำ ไม่ทราบว่าผมจะแก่ไปหรือเปล่านะครับ แต่ถามว่าใครคือผู้เลี้ยงอุตสาหกรรมในระดับนั้น  ตลาดภายใน ตลาดภายในอยู่ได้ไง อยู่ได้อย่างไร อยู่ได้เพราะมันมีสมบัติชุมชนกระจายทั่วไป มีชาวนาเล็ก ๆ ทั่วไป เราคงต้องมองญี่ปุ่นในฐานะที่เขาปรับโครงสร้างที่ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถอยู่ได้ สามารถครองชีวิตอยู่อย่างมีพลังและอุดหนุนเรา ในขณะที่บ้านเราไม่ได้ทำเลย การท่องเที่ยวของบ้านเราจึงเป็นการท่องเที่ยวที่ชุมชนไม่มีชีวิต ชุมชนถูกรับใช้การท่องเที่ยวอย่างเดียว และผู้ถูกท่องเที่ยวก็ขายทุกอย่าง ผู้ท่องเที่ยวก็จะเอาทุกอย่างตามความปรารถนาของตัวเอง ถ้าเป็นแบบนี้การท่องเที่ยวเราคงไม่ยั่งยืน เราคงต้องกลับมาคิดกันใหม่  

และสิ่งสำคัญประเด็นสุดท้าย ประเด็นหลักผมคิดว่าการท่องเที่ยวภายในญี่ปุ่นหรือการท่องเที่ยวต่างประเทศญี่ปุ่น ไม่ใช่ที่มาหลักของเศรษฐกิจของประเทศ แต่ถามว่าการท่องเที่ยวญี่ปุ่นมีความหมายอะไร การท่องเที่ยวญี่ปุ่นในสมัยก่อนเมจิ เป็นการท่องเที่ยวเพื่อทำบุญ ในช่วงเอโดะ การท่องเที่ยวที่กระจัดกระจายได้สร้างสินค้าเฉพาะท้องถิ่นอย่างหลากหลาย พอถึงเมจิก็ย้ำเตือนให้มีสินค้าเฉพาะถิ่นเกิดขึ้น และแต่ละชุมชนเขาก็จะไม่ลอกเลียนกันเพราะเขาเคารพซึ่งกันและกัน จึงมีสินค้าเฉพาะถิ่น ใครไปเกียวโตก็จะได้ไปกินน้ำตาลสมัยเมจิ ก้อนเล็ก ๆ เท่าปลายนิ้ว แพงมาก แล้วก็ไม่มีอะไรเลย น้ำตาลก้อนเดียว อมอยู่อย่างนั้นแหละ หวานๆ แต่เขายังขายได้ และก็ไม่มีใคร copy  ในส่วนพัฒนาการเขาก็สร้างความเฉพาะขึ้นมา ถามว่าพัฒนาการของบ้านเราได้สร้างความเฉพาะอะไรขึ้นมาไหม ความเฉพาะกลับถูกทำลาย ตอนนี้เรานึกถึงโมจิญี่ปุ่นซึ่งก็เพิ่งเกิด นึกถึงอะไรอีก แทบจะไม่มี เพราะเราขาดความเคารพ ขาดสำนึกชุมชน มันจึงทำให้เราไม่มี  

การท่องเที่ยวถัดออกมาหลังสมัยเมจิ เริ่มเป็นการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ การท่องเที่ยวในสมัยหลังที่เริ่มดึงเอาคนต่างชาติเข้าไป เป็นการท่องเที่ยวที่เขาบอกว่าญี่ปุ่นมีความหมาย มีคุณค่า ผมไม่คิดว่าญี่ปุ่น need เงินจากต่างประเทศ หลังเอ็กซ์โปที่โอซาก้า-ซึ่งเป็นต้นตอของแหล่ง homeless ใหญ่ที่สุดคือยามาซากิ ถ้าผมจำผิดขอโทษนะครับ การท่องเที่ยวในช่วงนี้คือการบอกว่าฉันยืนได้แล้ว ฉันเติบโตแล้ว ดังนั้นเวลาที่เราคิดถึงการท่องเที่ยวที่มันมีมิติมากกว่าเงิน เราจะพบว่าเรามีพลังในการสร้างสรรค์ เวลาที่คนญี่ปุ่นพูดถึง Kokusai ไม่ได้แปลว่าจะเอาเงิน คนที่ล้วงกระเป๋าแบบที่บ้านเราทำ แต่ Kokusai แปลว่าฉันยืนอยู่ในอินเตอร์ ฉันยืนอยู่ในนานาชาติ ผมเชื่อว่าเราคงต้องคิดกันใหม่ถ้าหากจะคิดถึงการท่องเที่ยว สำนัก ททท. ปลดออกทั้งหมด รับกันใหม่ เพื่อจะได้วิธีคิดกันใหม่ ถ้าทำอย่างผมว่าเมื่อไรคงตีกันตาย นี่ก็เพียงเสนอไว้นะครับ ขอบคุณมากครับ 

(ข้อคิดเห็นนี้เป็นส่วนหนึ่งในงาน สัมมนาพิเศษครั้งที่ 3 ของเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ประจำปี 2550 เนื่องในโอกาสครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศญี่ปุ่น - ประเทศไทย เรื่อง ชุมชนมีชีวิตในญี่ปุ่น : จากวิถีแห่งท้องถิ่นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน วันอังคารที่  27  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550  ณ ห้องประชุมจุมภฏ พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ) 

วุฒิชัย ครองสิทธิ์            ถอดความ

มุทิตา พานิช                  ตรวจทาน

หมายเลขบันทึก: 92907เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2007 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ ขอบคุณที่ยกคำบรรยายนี้มาให้ได้อ่าน อยากให้คนที่ทำงานเกี่ยวกับชุมชนทุกด้าน ไม่เฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวได้อ่านจังเลยค่ะ เป็นแนวคิดที่ผ่าลงได้ตรงๆถึงการไปไม่ถึงไหนหรือการสร้างความเสียหายแก่ชุมชนท้องถิ่นไทยโดยการตั้งหน้าตั้งตาจะหาเงินผ่านการท่องเที่ยว

เพิ่งเข้ามาอ่านตามรอยมาจากอาจารย์วิจารณ์ค่ะ

ตัวเองไม่ได้อยู่ในเซคเตอร์ท่องเที่ยว หรือพัฒนาท้องถิ่น เพียงแต่เป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีชีวิตในชนบทและเห็นการรุกคืบของการท่องเที่ยวที่ไม่สร้างสรรค์แถมทำลายสารพัดทุนของท้องถิ่นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท