ความแตกต่างของเทคโนโลยีบนอินเตอร์เน็ตที่ใช้กับการจัดการความรู้


เทคโนโลยีบนอินเตอร์เน็ตก็เหมือนกับรถ ถ้าใช้ได้ตรงกันกับการออกแบบ งานของผู้ใช้ก็ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จตรงความมุ่งหมายได้ง่าย แต่ถ้าใช้ผิดกับการออกแบบแล้ว ก็จะเหมือนนำรถสปอร์ตไปขับในถนนลูกรังหรือเอารถขับเคลื่อนสี่ล้อมาขับบนทางด่วนนั่นเอง

เทคโนโลยีที่ออกแบบเพื่อทำงานบนอินเตอร์เน็ตที่สามารถประยุกต์ใช้กับการจัดการความรู้ได้มีหลายอย่างด้วยกัน เทคโนโลยีแต่ละอย่างก็มีข้อดีข้อเสียและประโยชน์ในการใช้งานแตกต่างกัน บันทึกนี้ผมเขียนเพื่อสรุปความแตกต่างของเทคโนโลยีที่เหล่านั้นครับ

ในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยี เราต้องควรใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับเจตนาของการออกแบบเทคโนโลยีนั้นเพื่อจะให้เราผู้ใช้ก็ได้รับประโยชน์สูงสุดและไม่ต้องจัดการแก้ปัญหากับข้อจำกัดของเทคโนโลยีนั้นๆ ด้วย

เทคโนโลยีบนอินเตอร์เน็ตแม้จะมีแนวความคิดในการทำงานที่แตกต่างกันนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่เทคโนโลยีหลายตัวกลับมีระบบติดต่อกับผู้ใช้ที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่พัฒนาในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจะติดต่อกับผู้ใช้ผ่านเว็บแทบทั้งสิ้น สาเหตุนี้กลายเป็นต้นตอของความเข้าใจผิดและทำให้การเลือกใช้เทคโนโลยีไม่ตรงกับแนวคิดของการทำงาน นอกจากนั้นทำให้เกิดการเปรียบเทียบเทคโนโลยีที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน ในที่สุดก็กลายเป็นความสับสนของผู้ใช้

ผมเขียนบันทึกนี้หวังมีส่วนช่วยสร้างความกระจ่างถึงความแตกต่างของเทคโนโลยี แต่อย่างไรก็ตามขอให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ประเด็นสำคัญของความแตกต่างของเทคโนโลยีนั้นจะอยู่ที่แนวคิดในการทำงานของเทคโนโลยีเป็นหลัก มิได้อยู่ที่ส่วนติดต่อกับผู้ใช้

"เหมือนรถ"

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ก่อนผมจะอธิบายเทคโนโลยีเป็นรายตัวผมขอยกตัวอย่างของสิ่งที่มีความแตกต่างในแนวคิดในการทำงานแต่มีความเหมือนกันในบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการใช้งานคล้ายกับเทคโนโลยีบนอินเตอร์เน็ตที่ผมกำลังจะกล่าวก่อน

“รถ” เป็นสิ่งหนึ่งที่เจอปัญหาเดียวกันกับเทคโนโลยีบนอินเตอร์เน็ต เพราะ “รถ” มีส่วนประกอบโดยทั่วไปคล้ายกัน จะมีความแตกต่างก็ในเฉพาะส่วนเท่านั้น กล่าวในรายละเอียดก็คือ ประเภทของรถ อาทิเช่น รถยนต์นั่ง รถบรรทุก รถตู้นั่ง รถตู้ขนของ รถวิบาก รถกระบะ รถสปอร์ต เป็นต้น ต่างก็ออกแบบเจาะจงเพื่อการใช้งานเฉพาะงาน ซึ่งถ้าเราใช้งานตรงกับการออกแบบเราก็จะได้รับประโยชน์สูงสุดในการใช้งาน แต่ถ้าเราใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็สามารถใช้ได่เช่นกัน ผู้ผลิตรถก็ไม่ได้ห้ามอะไร

อย่างไรก็ตามการใช้รถนอกเหนือจากเจตนาที่ออกแบบมานั้น ก็ต้องปรับปรุงหรือรับกับปัญหาที่เกิดเพราะการไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับงานนั้น อาทิเช่น เราสามารถใช้รถตู้ขนของดัดแปลงเป็นรถตู้นั่ง แต่ที่นั่งช่วงหลังจะไม่ค่อยมีอากาศหายใจ และรถจะเขย่าเพราะระบบช่วงล่างจะใช้แหนบแบบแข็ง หรือเราจะเอารถวิบากขับเคลื่อนสี่ล้อมาขับในเมืองก็ได้ (เหมือนในบางประเทศ ประเทศไหนไม่รู้) แต่จะเปลืองน้ำมันเป็นพิเศษและไม่ค่อยจะมีพื้นที่ให้ขับเพราะถนนเล็กเกินไป รถสปอร์ตก็ลุยถนนลูกรังได้ แต่ช่วงล่างอาจจะพังได้ง่ายๆ เป็นต้น

"เจตนาการใช้"

ความแตกต่างของ “เจตนาการใช้” ของเทคโนโลยีบนอินเตอร์เน็ตเมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องรถแล้ว น่าจะช่วยให้ท่านเลือกใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นตรงกับวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้นนะครับ คราวนี้ลองอ่านดูว่าเทคโนโลยีแต่ละตัวจะทำอะไรได้บ้าง

Email
เจตนาการใช้งาน: เพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล (Person-to-Person Communication)
ข้อดี: ออกแบบให้ทำงานเช่นเดียวกับการ “ส่งจดหมาย” จึงสามารถใช้งานเพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลได้ดี
ข้อเสีย: ไม่ได้มีการออกแบบให้มีจัดการเก็บอีเมลเพื่อการอ้างอิงได้อย่างเป็นระบบ
หมายเหตุ: Email เป็นเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้นมาพร้อมอินเตอร์เน็ต การออกแบบของระบบอีเมลไม่ได้เจตนาเพื่อรองรับการใช้งานของผู้ใช้จำนวนมากอย่างที่ระบบได้ขยายตัวไปในปัจจุบัน

Mailing List
เจตนาการใช้งาน: เพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลกับชุมชน (Person-to-Community Communication)
ข้อดี: ขยายขอบเขตการสื่อสารของอีเมลไปอีกชั้นเพื่อการสื่อสารกับกลุ่มคนมากขึ้น
ข้อเสีย: ข้อความเข้ามาอยู่ในระบบเดียวกับอีเมลโดยใช้พื้นที่เก็บเดียวกัน ทำให้ไปเพิ่มปัญหาในข้อจำกัดของอีเมลที่มีอยู่แล้วดังกล่าวข้างต้นให้มากยิ่งขึ้น การจัดเก็บ mailing list เพื่อการอ้างอิงยิ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
หมายเหตุ: ปัจจุบันการใช้ mailing list จะลดลงมาก โดย Web Board กลายเป็นสิ่งที่นำมาใช้แทนที่ mailing list

Web Board
เจตนาการใช้งาน: เพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลกับชุมชน (Person-to-Community Communication) บนพื้นฐานของ “หัวเรื่อง” ในการสื่อสาร (Topic-Centered Communication)
ข้อดี: ตอบสนองต่อสื่อสารระหว่างบุคคลกับชุมชนได้ดี
ข้อเสีย: ข้อมูลของการสื่อสารจะอยู่ในพื้นที่ (Site) เดียวที่ Web Board นั้นเท่านั้น ไม่รวมและประสานเข้ากับข้อมูลของ Web Board ที่อยู่ต่างพื้นที่ (Site) ได้
หมายเหตุ: การออกแบบของ Web Board เน้นที่ “หัวเรื่อง” เป็นหลัก ส่วนใหญ่จึงใช้ในสร้างชุมชนของการ “ถาม-ตอบ”

Blog
เจตนาการใช้งาน: เพื่อการบันทึกเรื่องราวหรือเนื้อหาที่บุคคลต้องการนำเสนอต่อชุมชน (Persona-Based Storytelling) โดยจัดเรียงเนื้อหาตามวันเวลาที่เขียนเป็นหลัก
ข้อดี: ตอบสนองต่อการเล่าเรื่องสั้นๆ เพื่อบันทึกเก็บหรือสื่อสารเรื่องนั้นต่อชุมชนได้ดี
ข้อเสีย: โครงสร้างการจัดเรียงเนื้อหาไม่สามารถใช้ในการเขียนเนื้อหาที่มีโครงสร้าง (Structured Contents) หรือเนื้อหาที่มีความยาวในระดับหนึ่งได้
หมายเหตุ: บล๊อกเหมาะต่อการสกัดความรู้ฝังลึกหรือความรู้จากการปฎิบัติที่ผู้เล่าเกิดมีขึ้น (Impromptu Tacit Knowledge Sharing)

Wiki
เจตนาการใช้งาน: เพื่อการเขียนเอกสารร่วมกัน (Collaborative Writing) โดยจัดเรียงเนื้อหาตามโครงสร้างของเอกสารนั้นๆ เอกสารที่เขียนอาจจะเป็นคู่มือในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีโครงสร้างสามารถเขียนร่วมกันและเชื่อมต่อหากันในเนื้อหาของเอกสารได้
ข้อดี: ใช้เขียนเอกสารที่เนื้อหามีโครงสร้าง (Structured Contents) ร่วมกันได้ดี และเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเอกสารที่มีโครงสร้างนั้นได้รวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลง
ข้อเสีย: เอกสารที่เขียนต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วก่อนเปิดโอกาสให้มีการเขียนร่วมกันได้ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาในการเชื่อมต่อและการจัดเรียงเนื้อหา (Structural Problems)
หมายเหตุ: วิกิเหมาะต่อการสกัดความรู้ชัดแจ้งให้อยู่ในรูปเอกสารที่มีโครงสร้างที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง นอกจากนี้ “วิกิ” ในภาพรวมยังหมายถึงไวยกรณ์ในการเขียนเนื้อหาเพื่อให้ปรากฎบนเว็บที่ง่ายกว่าการเขียนด้วยภาษา HTML ด้วย

"Choose It Right"

บทความนี้ผมได้อธิบายถึงความแตกต่างของเทคโนโลยีบนอินเตอร์เน็ตที่สามารถนำมาใช้เพื่อการจัดการความรู้ได้ ในการใช้งานที่แท้จริงนั้น ผู้ปฎิบัติย่อมต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่ออกแบบเหมาะสมกับรูปแบบงานที่ตนต้องการ เทคโนโลยีบนอินเตอร์เน็ตก็เหมือนกับรถ ถ้าใช้ได้ตรงกันกับการออกแบบ งานของผู้ใช้ก็ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จตรงความมุ่งหมายได้ง่าย แต่ถ้าใช้ผิดกับการออกแบบแล้ว ก็จะเหมือนนำรถสปอร์ตไปขับในถนนลูกรังหรือเอารถขับเคลื่อนสี่ล้อมาขับบนทางด่วนนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 9220เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2005 01:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 08:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท