BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๑๙ : สิ่งควรกระทำ (จบ)


ปรัชญามงคลสูตร

อนวัชชกรรม หรือ การงานไม่มีโทษ เป็นมงคลข้อสุดท้ายในคาถานี้ ซึ่งในคัมภีร์มังคลัตถทีปนีได้อ้างคัมภีร์อรรถกถาแห่งมงคลสูตรไว้สั้นๆ ดังนี้

กรรมมีการสมาทานองค์อุโปสถ การทำความขวนขวายการปลูกสร้างละเมาะไม้ในอารามและการสร้างสะพานเป็นต้น ชื่อว่ากรรมอันหาโทษมิได้

เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามนี้ จะเห็นได้ว่า การงานไม่มีโทษ มีนัยเป็น ๒ คือ

  • สมาทานอุโปสถศีล จัดเป็นการงานที่ไม่มีโทษต่อตัวเอง
  • สร้างสาธารณประโยชน์ จัดเป็นการงานที่ไม่มีโทษต่อสังคม

แต่รายละเอียดในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ท่านเน้นขยายความนัยแรกเป็นสำคัญ ส่วนนัยที่สองท่านยกนิทานมาเล่าไว้เพียงเล็กน้อย โดยนิทานที่ยกมาประกอบก็เน้นไปถึงผลของการสร้างสาธารณประโยชน์แล้วไปเกิดบนสวรรค์เป็นสำคัญ...

ตามนัยเบื้องต้น คัมภีร์อรรถกถาอธิบายไว้เกือบสองพันปีก่อน ส่วนคัมภีร์มังคลัตถทีปนีก็อธิบายไว้ประมาณสามร้อยปีมาแล้ว ซึ่งสมัยนั้นความจำเป็นคงจะแตกต่างจากสมัยปัจจุบันเป็นอย่างมาก ... ดังนั้น ผู้เขียนจะนำเรื่องเก่ามาขยายความเล็กน้อยแล้วก็ประยุกต์อธิบายตามสมัยปัจจุบันอีกเล็กน้อย...

..........

ประการแรก อุโปสถศีล มี ๔ ประการที่ต่างออกไปจากศีล ๕ หรือเบญจศีล กล่าวคือ...

ศีลข้อ ๓ ในเบญจศีล กำหนดให้เว้นจากการผิดประเพณี นั่นคือ การเป็นชู้กับผัวเค้าเมียเค้า หรือกับเด็กที่ยังอยู่ในปกครองของผู้ปกครองเป็นต้น... แต่ในอุโปสถศีล กำหนดให้เว้นจากการเสพกาม แม้แต่กับผัวหรือเมียของตัวเอง....

ศีลข้อ ๖ ให้เว้นจากการรับประทานอาหารในยามวิกาล โดยเริ่มนับตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่.....

ศีลข้อ ๗ ให้เว้นจากการประดับประดาและลูบไล้ด้วยของหอม และเว้นจากการดูการละเล่นต่างๆ.....

ศีลข้อ๘ ข้อสุดท้าย ให้เว้นจากการนอนในที่นอนสูงที่นอนใหญ่ หมายถึง  ให้นอนด้วยที่นอนธรรมดา ไม่จำเป็นต้องยัดนุ่นหรือฟองน้ำ ...ประมาณนี้

เมื่อพิจารณาศีลที่เพิ่มขึ้นมา จะเห็นได้ว่า ข้อปฏิบัติเหล่านี้จะไม่มีโทษต่อตัวเอง... ซึ่งนัยสำคัญของสิ่งเหล่านี้ คนโบราณคงจะพิจารณาเห็น.... ส่วนคนปัจจุบันสมัยก็ควรที่จะพิจารณาอีกครั้งว่า ไม่มีโทษจริงหรือไม่ และยังทันสมัยอยู่อีกหรือไม่ เมื่อคิดจะนำมาปฏิบัติ...

ตามความเห็นของผู้เขียน คิดว่า ต้องการให้ดำเนินชีวิตธรรมดา ไม่ฟุ้งเฟ้อ เพื่อจะได้พิจารณาเห็นว่า สิ่งจำเป็นจริงๆ ของชีวิตเป็นอย่างไร... ประมาณนี้

อนึ่ง ประเด็นของอุโปสถศีลนี้ จัดเป็นการงานไม่มีโทษ... ส่วนเบญจศีลนั้นจัดเป็นวินัยที่ศึกษาดีแล้ว ซึ่งอยู่ในการเตรียมตัวเองเพื่อจะครองเรือน ผู้สนใจทบทวนประเด็นนี้ดู ปรัชญามงคลสูตร ๙ : เตรียมตัวเองเพื่อครองเรือน (ต่อ)

...........

ประการหลัง เรื่องการสร้างสาธารณประโยชน์ จัดเป็นการงานไม่มีโทษ ซึ่งในยุคโบราณคนยังน้อยอยู่ สาธารณประโยชน์ก็คงจะไม่ซับซ้อน ท่านจึงยกตัวอย่างเพียงการสร้างป่าละเมาะคือที่พักร้อนไว้ตามในวัด หรือสร้างสะพานไว้ใช้สัญจรเท่านั้น... ถ้าขยายความตามยุคโบราณก็อาจเพิ่มเติมเป็น ศาลาริมทาง บ่อน้ำ หรือถนนหนทาง คูคลอง เป็นต้น

แต่ในยุคปัจจุบันนี้ คนมากขึ้น ความซับซ้อนของสังคมก็มีมากขึ้น อาจเพิ่มเติมเป็น ห้องสมุด ศูนย์กีฬา หรือสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ...

.........

อนวัชชกรรม คือ การงานไม่มีโทษทั้ง ๒ นัยนี้ มิใช่สิ่งบังคับว่า จะต้องกระทำ แต่ถ้ากระทำก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะไม่มีโทษทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่น ดังนั้น จึงจัดเป็นมงคลในฐานะสิ่งควรกระทำ โดยประการฉะนี้...

......

คาถาก่อนว่าด้วย สิ่งที่จะต้องกระทำ และคาถานี้ว่าด้วย สิ่งที่ควรกระทำ... ซึ่งความเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ทุกคนก็คงจะรู้และเข้าใจ...

ส่วนคาถาที่ตามมา จะว่าด้วย ผลกระทบของการดำเนินชีวิต ซึ่งมีทั้งแง่บวกและลบ... โดยผู้เขียนจะได้นำมาเล่าในตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 92082เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2007 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

          ราณีเห็นด้วยค่ะ คนเราทำอะไรก็ตาม อย่าให้คนอื่นเดือดร้อน และสังคมเดือดร้อน ก็ถือว่าเป็นคนดีในสังคมแล้วค่ะ ไม่ต้องเริ่มที่ไหนหรอกค่ะ เริ่มจากตนเองก่อนเลยค่ะ ว่าวันนี้ คิดดีหรือยัง ขอบคุณค่ะ

  • ขอตอกบัตรไว้ก่อนนะครับพระคุณเจ้า
  • ขอย้อนกลับไปอ่านตั้งแต่บทแรกๆ ก่อนนะครับ
  • ไม่รู้หลงตาไปได้ไงครับ

กราบสามครั้งครับ

P

สร้างแพลนเน็ตใหม่แล้ว...รวมบันทึกพระมหาชัยวุธ

สำหรับเรื่องนี้ คิดว่าเขียนจบ ก็จะนำมาปรับปรุงอีกครั้ง แล้วค่อยพิมพ์เผยแพร่...

เจริญพร

พระอาจารย์ครับ...สถานีวิทยุสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีนเปิดแล้วครับ...FM 96.70 เม็กกะเฮิร์ท.

 

กำลังทดลองออกอากาศ...ผมจะเอาบทความของพระอาจารย์ออกอากาศด้วยครับ...

 

ไม่ขออนุญาต...แต่ให้รับรู้ถึงกุศลกรรมที่จะเกิดร่วมกันครับ...55555

P

อนุโมทนา...

คิดถึงท่านเลขาฯ หลายเพลาแล้ว...

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท