เสวนาเศรษฐกิจพอเพียงและการเปลี่ยนแปลงโลก (1) ..... วูลฟกัง ซาคและพระไพศาล วิสาโล


การเน้นปัจจัยภายในเกินไปจะยังไม่สำเร็จ จำเป็นต้องมีการสนับสนุนของสังคมเพื่อให้คนมีความมั่นคง จนไม่ต้องสะสมมาก จำเป็นต้องมีเศรษฐกิจชุมชน

เสาร์ที่  21 เมย. 50  ไปร่วมงานสัมมนา เศรษฐกิจพอเพียงและการเปลี่ยนแปลงโลกในระดับรากฐาน  (Sufficiency Economy and Global Transformation)  ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    เป็นงานสัมมนาครึ่งวันที่เปิดมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างน่าสนใจ  จัดโดยบริษัทสวนเงินมีมา  (ต้องให้เครดิตผู้จัด ที่จัดงานดีๆโดยผู้เข้าฟังไม่ต้องเสียเงิน)

  

น่าเสียดายที่เราไปสายเพราะติดภารกิจครอบครัวตอนเช้าจึงไม่ได้ฟังอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กับ Dr. Franz-Theo Gottwald แห่ง Schweisfurth Foundation  แต่ก็ได้มีโอกาสฟังความเห็นของวิทยากรอีกหลายท่าน

  

วูลฟกัง ซาค

  

Professor Dr.Wolfgang Sachs แห่ง Wuppertal Institute for Climate, Environment and Energy  ประเทศเยอรมนี  ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนกล่าวถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต้องแลกกับการสูญเสียเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

   

ท่านเสนอ 3 หลักการ  ได้แก่  eco-efficiency (ประสิทธิภาพ) คือ ใช้ทรัพยากรอย่างไม่สูญเปล่า (เป็นนิยามเดียวกับทางเศรษฐศาสตร์) , eco-consistency (ความคงเส้นคงวา) คือ มีทิศทางที่แน่นอนที่จะปรับเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรจากการใช้พลังงานฟอสซิล (เช่น น้ำมัน แกสธรรมชาติซึ่งใช้แล้วหมดไป) เป็นการใช้พลังงานจากฐานพลังงานแสงอาทิตย์ (พลังงานจากธรรมชาติที่สร้างใหม่ได้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไบโอดีเซล)  และ eco-sufficiency (ความพอเพียง) คือมีความพอประมาณในการใช้ทรัพยากร  ดูเหมือนว่า แค่ฟังจากมิติเรื่องพลังงานอย่างเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะชี้ความจำเป็นของการที่สังคมโลกควรจะมี ความพอเพียง

  

ท่านบอกว่า ถ้าทำได้ทั้งสามอย่างจะเป็นการสร้างรูปแบบใหม่ของความมั่งคั่งที่สามารถนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมในสังคมโลกได้   ประเทศพัฒนาแล้วติดกับดักโครงสร้างพื้นฐานและการผลิตขนาดใหญ่ทำให้ยากในการปรับเปลี่ยน  ยังคงต้องใช้พลังงานจากฟอสซิล ผลิตและใช้พลังงานอย่างรวมศูนย์ 

   

ส่วนประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศรายได้ขนาดกลางอาจจะดีกว่าตรงที่มีธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม  ที่มีการกระจายการผลิตและการใช้พลังงาน น่าจะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานไปสู่พลังงานจากทรัพยากรที่สร้างใหม่ได้

  

พระไพศาล วิสาโล

  

พระไพศาล วิสาโล  วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ  ชี้ประเด็นที่เป็นประโยชน์มากในการมองปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเป็นเศรษฐกิจพอเพียง    คือ ไม่อยากได้มากขึ้นเรื่อยๆ  และ ไม่จำเป็นที่จะต้องมีมาก

  

ปัจจัยแรก ไม่อยากได้มากขึ้นเรื่อยๆ  เป็นปัจจัยภายใน นั่นคือ จิตใจสันโดษ  (ตรงนี้เป็นประเด็นหลักที่ต่างจากเศรษฐศาสตร์  คือ  ความอิ่มตัวของความต้องการ)

  

ปัจจัยข้อสอง ไม่จำเป็นที่จะต้องมีมาก เป็นปัจจัยภายนอก  เป็นปัจจัยทางสังคมแวดล้อม     เช่น ถ้ามีขนส่งมวลชนดีๆ คนก็ไม่จำเป็นต้องมีรถ  ถ้ารัฐจัดสวัสดิการได้ดี ปัจเจกบุคคลก็ไม่จำเป็นต้องสะสมเผื่อตนเองเผื่อลูกหลาน  การกระจายอำนาจ กระจายทรัพยากรให้ชาวบ้านได้มีโอกาสในการเข้าถึง มีโอกาสในการจัดการทรัพยากร  ทำให้การแย่งชิงน้อยลง  การเฉลี่ยกันทำได้ง่ายขึ้น    (เราเห็นว่าสิ่งที่ท่านพูดเป็นประเด็นสำคัญที่ยังไม่เคยได้ฟังจากใครมาก่อน และน่าคิดมากในเชิงนโยบายเพื่อสร้างสังคมพอเพียง)

  

ดังนั้น  การเน้นปัจจัยภายในเกินไปจะยังไม่สำเร็จ  จำเป็นต้องมีการสนับสนุนของสังคมเพื่อให้คนมีความมั่นคง จนไม่ต้องสะสมมาก  จำเป็นต้องมีเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งหมายถึงการจัดการและวางแผนโดยชุมชน ไม่ใช่หมายถึงเศรษฐกิจปิด มีวิสาหกิจชุมชน มีการจัดการทรัพยากร วางแผน  มีการออมทรัพย์และจัดสวัสดิการชุมชน   ทำให้ ไม่ขาด และ ไม่เกิน

  

ท่านบอกว่า  ครอบครัวที่อ่อนแอ  ชุมชนที่อ่อนแอ ไม่สามารถเป็นฐานทางศาสนธรรมที่ลึกซึ้งได้ (มีนัยที่ท่านไม่พูดตรงๆว่า  การสร้างจิตใจที่สันโดษ ก็อาจทำไม่ได้)  นำไปสู่ความไม่พอเพียง

  

เราเข้าใจว่า ด้วยการที่ท่านมีพื้นฐานทางรัฐศาสตร์  ท่านจึงเห็นบทบาทความสำคัญของโครงสร้างและระบบทางสังคมไม่น้อย

 
หมายเลขบันทึก: 91822เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2007 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เนื่องจากโครงการบ้านดิน อาศรมวงศ์สนิทและเสมสิกขาลัย จะมีกิจกรรม เปิดโลก เปิดฟ้า เปิดดวงตาไปกับโครงการท่องเที่ยว  "สะบายดี เมืองมรดกโลก หลวงพระบาง อดีตราชธานีศรีสัตนาคนหุตแห่งอาณาจักรล้านช้าง"

+ + เดินทางด้วยสายการบินลาว ขึ้นพระธาตุพูสี ชมวังเก่าและหอพระบาง ภาวนาและสนทนาธรรมเรื่อง “ความสุขและสันติ” กับพระไพศาลที่วัดโพนเพา วัดสายวิปัสนาที่มีเจดีย์งดงามยิ่งนัก
+ + ชื่นชมความงามของงานผ้าไหมและผ้าฝ้าย และร่วมสนับสนุนกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคมในหลวงพระบาง
+ + ล่องเรือลำน้ำโขงพร้อมฟังเรื่องเล่าและตำนานของลาวกับป้าดวงเดือน
+ + เยือนหอพระแก้ว และวัดพระธาตุหลวง พระธาตุเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของลาว เป็นพระธาตุที่มีขนาดทั้งสูงและใหญ่ที่สุดในลาว

วิทยากร  คือ  หลวงพี่ไพศาล วิสาโล พระนักพัฒนาผู้ปฎิบัติดีปฏิบัติชอบ และยังเป็นวิทยากรเรื่อง "เตรียมตัวตายอย่างมีสติ"   และป้าดวงเดือน บุญยาวงศ์  ผู้ชำระวรรณคดี ท้าวฮุ่ง ที่บิดา (มหาสีลา วีระวงส์) ได้ทำไว้ ให้เหมาะสำหรับ การอ่านร่วมสมัย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการบริษัทดอกเกดการพิมพ์ จำกัด และได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2549 จากผลงานเรื่องสั้น อาถรรพ์แห่งพงไพร


วันที่ 14- 19 พฤศจิกายน 2550  (เปิดรับสมัครถึง 20 ตุลาคมนี้)

สนใจรายละเอียด http://www.semsikkha.org
ภาวิกา อินทร์กลับ โทรศัพท์ 037- 333182 – 3, 086 - 6115242
สุวรรณี หิรัญมาลีเลิศ โทรศัพท์ 02-8803544, 086 - 5492427
Email : [email protected]

เที่ยวสนุกแล้วยังได้บุญไปกับเสมสิกขาลัย  เพราะรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว สนับสนุนมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เพื่อใช้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม และการศึกษาต่อไป

  • ขอบพระคุณมากครับ
  • อยากไปฟังจริง ๆ จัง

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท