มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

ห้ามโฆษณาเหล้า ทิ่มใจธุรกิจน้ำเมา


ไม่โฆษณาเหล้า...ก็ขายดี ทำไม?ต้องมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ในบรรยากาศที่พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กำลังอยู่ในการพิจารณา ของคณะกรรมาธิการวิสามัญในวาระที่ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

การที่แต่ละภาคส่วนจะยกเอาข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง คึกคัก...หลากหลายแง่มุม หรือใครจะคิดว่าเป็นการประลองกำลังขั้นสุดท้าย....ก็สุดแล้วแต่

นายแพทย์บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สถาบัน วิจัยระบบสาธารณสุข บอกว่า หากมองข้อมูลวิชาการของทุกฝ่าย ถือว่าเป็นความพยายามที่จะสร้างปัญญาให้กับผู้รับ

เป้าประสงค์ ให้ผู้รับข้อมูลได้สะกิดตาม ไม่ด่วนเชื่ออะไรง่ายเกินไป... มองทุกสิ่งทุกอย่างรอบด้าน

ประเด็นที่เถียงกันมาก...เหล้าขาวไม่เคยโฆษณา แต่ทำไมยังขายดี

ข้อเท็จจริงก็คือ เบียร์โฆษณามหาศาล...ขายดีกว่ามาก

นายแพทย์บัณฑิต บอกว่า ข้อมูลที่ควรพิจารณา คือการที่เหล้าขาวขายเพิ่มจาก 419.7 ล้านลิตร ในปี 2542 เพิ่มเป็น 507.1 ล้านลิตร ในปี 2548...

เฉลี่ยแล้ว...เหล้าขาว ขายได้เพิ่มขึ้นปีละ 3.47%

เบียร์ขายได้ 1,032.2 ล้านลิตร ในปี 2542 เพิ่มเป็น 1,468.7 ล้านลิตร ในปี 2548

เฉลี่ยแล้ว...เบียร์ ขายได้เพิ่มขึ้นปีละ 7.04%

ข้อมูลนี้ชี้ว่า...ทั้งเบียร์และเหล้าขาวขายดีขึ้นทั้งคู่ แต่เบียร์ขายดีขึ้นเป็น 2 เท่า

“นั่นเป็นเพราะอิทธิพลจากโฆษณา” นายแพทย์บัณฑิต ฟันธง

ทั้งๆที่เหล้าขาวราคาถูกเกินความเป็นจริงเพราะเสียภาษีต่ำ แต่ การโฆษณาก็ทำให้เบียร์ขายได้...แถมขายดีกว่าเหล้าขาวถึง 2 เท่า

ต้องเข้าใจว่า...เราจะใช้มาตรการใดมาตรการเดียว สำหรับควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ เพราะแต่ละชนิดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่างกัน

หากจะพูดว่า...ห้ามโฆษณา...เป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล นายแพทย์บัณฑิต บอกว่า ก็เป็นการให้ข้อมูลไม่รอบด้าน

จากที่มีการอ้างอิงข้อมูลของ Babor และคณะที่เขียนในเอกสาร “ประสิทธิผลของนโยบายและมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ว่ามาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์...ได้ผลแค่ระดับหนึ่ง

ประเด็นนี้...เป็นข้อมูลที่เขียนเอาไว้จริง แต่ถ้าดูข้อมูลทั้งหมดในงานวิชาการ ข้างๆข้อมูลของ Babor จะมีข้อมูลของ Lehto J. ที่ระบุว่ามาตรการควบคุมการโฆษณาได้ผลปานกลางเอาไว้ด้วย

ที่สำคัญ ในเอกสารวิชาการนี้ ยังมีการยกตัวอย่างมากมายว่า การโฆษณามีผลต่อการดื่ม และผลกระทบจากการดื่ม อาทิ...

การศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่า การโฆษณาสุราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคสุราของเยาวชน และพบความสัมพันธ์ระหว่างการ โฆษณาสุรากับอัตราการตายจากอุบัติเหตุจราจรอย่างมีนัยสำคัญ

การห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิง จะส่งผลต่อการบริโภคต่อสัปดาห์ ของเยาวชนลดลงจากร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 21

ลดการดื่มแบบเมาหัวราน้ำ จากร้อยละ 12 เหลือร้อยละ 7

สำหรับ...มาตรการที่ไม่ได้ผล คือ มาตรการควบคุมการโฆษณากันเองของธุรกิจสุรา

ประเด็นต่อมา...กระทรวงสาธารณสุขออกมาผลักดันมาตรการห้ามโฆษณา แต่ทำไม...ไม่ผลักดันมาตรการทางภาษี ภาษีแพง...สินค้าขึ้นราคา คนซื้อก็มีกำลังซื้อน้อยลง

คำตอบก็คือ...กระทรวงสาธารณสุขและภาคีทุกภาคส่วนเห็นด้วยกับมาตรการทางภาษีอยู่แล้ว

ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงการคลังก็รับว่าจะกลับไปหารือ...แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

การดำเนินการขึ้นภาษีเหล้าขาว เบียร์ เหล้าผสม และบรั่นดี ให้เต็มเพดาน เป็นสิ่งที่กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังดำเนินการได้ทันที ภายใต้ พ.ร.บ.สุรา 2493

“ผู้รับข้อมูลด้านนี้...คงต้องใช้วิจารณญาณในการตรวจสอบว่า ข้อมูลและแหล่งถูกต้องมากน้อยแค่ไหน”

นายแพทย์บัณฑิต ว่า

“แต่เสียงส่วนใหญ่...สนับสนุน ถ้ารัฐจะขึ้นภาษีสุรา ออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อจำกัดการเข้าถึงเพื่อหาซื้อ...หาดื่ม และห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิง”

การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งด้านส่งเสริมการขายและชวนให้ลดการดื่ม ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. บอกว่า การสื่อสารเพื่อให้เปลี่ยนพฤติกรรมมีขั้นตอนกระบวนการที่สื่อต่างๆทำหน้าที่ปรับพฤติกรรมได้

เริ่มตั้งแต่...การได้รับสาร กระตุ้นให้สนใจ เข้าใจ ยอมรับ ตั้งใจจะทำ กระทั่ง...เปลี่ยนพฤติกรรม

ดังนั้น การที่บางคนจะบอกว่า ไม่เห็นโฆษณาขายเหล้า ก็ยังกินเหล้าอยู่ดี หรือบอกว่า.. .มีโฆษณารณรงค์เลิกเหล้าเลิกจนแล้ว ปีใหม่ที่ผ่านมายังมีคนเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุสูงอยู่

แสดงว่า...ไม่ได้ผล

ผศ.ดร.วิลาสินี ชี้ว่า เป็นความไม่เข้าใจอิทธิพลของการสื่อสารหรือโฆษณา ว่าไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเฉียบพลัน เหมือนการได้รับเชื้ออหิวาตกโรคและป่วยหรือตายในไม่กี่วัน

แต่การโฆษณา...คล้ายกับการสะสมสารพิษหรือโลหะหนัก จนก่อให้เกิดมะเร็งร้ายในระยะเวลาหนึ่ง

ทำนองเดียวกับการรักษา การสื่อรณรงค์ก็ไม่ได้เหมือนการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออกไปได้ทันที ต้องใช้เวลาในการให้ยา ดูแลภูมิคุ้มกัน กำจัดโรคออกจากร่างกาย

“นักธุรกิจก็รู้อิทธิพลของโฆษณาเช่นนี้ดี ได้ลงทุนจำนวนมากเพื่อโฆษณา...ส่งเสริมการขายโดยหวังผลทั้งระยะสั้น...ระยะยาว

เมื่อมีมาตรการห้ามโฆษณาก็เดือดร้อน กลัวว่ายอดขายจะตก...จึงออกมาโฆษณาชวนเชื่อว่า...การโฆษณาไม่ได้ผล ไม่ควรห้าม ด้วยการใช้ ตรรกะง่ายๆ”

“แค่นี้ก็ชัดเจนแล้ว...ถ้าการห้ามโฆษณาไม่ได้กระทบยอดขาย แถมยังประหยัดเงินได้ปีละ 3,000 ล้านบาท ธุรกิจจะออกมาคัดค้านทั้งบนดิน...ใต้ดินรุนแรงขนาดนี้เชียวหรือ”

ตรงกันข้าม...การรณรงค์เพื่อปรับพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของคนไทย สสส. ใช้หลากหลายรูปแบบประสานกัน ทั้งสปอตวิทยุ...โทรทัศน์ สื่อกลางแจ้ง สื่อสิ่งพิมพ์ การให้ทุนอุปถัมภ์งานกีฬาหรือวัฒนธรรม ตามแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

ที่สำคัญ...การทำงานกับสื่อต่างๆ สสส.ไม่ได้ใช้การลงทุนทางการตลาดแบบภาคธุรกิจ แต่ใช้การสร้างความร่วมมือ

“คนเห็นปริมาณข่าวสาร สปอตทีวี นึกว่าใช้เงินมหาศาล...แต่ที่จริงครีเอทีฟ เอเจนซี่ที่ผลิตงาน ไม่ได้ทำด้วยผลตอบแทนทางธุรกิจ ทำในราคาพิเศษ และมีของแถมมากมาย เรียกว่า...ได้กล่องมากกว่าเงิน”

กรณีคอนเสิร์ตเรน...เมื่อสองปีที่แล้ว สสส.ก็ร่วมเป็นสปอนเซอร์ เพียงเสี้ยวเดียวของงานเท่านั้น ไม่ได้ใช้เงิน 20 ล้านอย่างที่ลือกัน

“เรารู้กันดี ข้อมูลข่าวสารมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการสร้างความเข้าใจ...ทัศนคติของผู้คน ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมและกลายเป็นนิสัยเคยชินจนยากที่จะเปลี่ยนแปลง

แต่ถ้าเราไม่ช่วยกันสื่อสาระที่เป็นประโยชน์ ปราศจากสิ่งแอบแฝง...สังคมไทยคงเต็มไปด้วยพิษภัย และความเสี่ยงมากมาย”

ผศ.ดร.วิลาสินีทิ้งท้ายว่า ภารกิจนี้...อยู่ในมือของนักสื่อสารที่ จะช่วยกันทำให้สังคมไทยก้าวไปในทางที่ดีงามได้ต่อไป.

ที่มา : http://www.thairath.co.th/news.php?section=hotnews02&content=44184


คำสำคัญ (Tags): #แอลกอฮอล์#โฆษณา
หมายเลขบันทึก: 91423เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2007 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท