ศิลปะสร้างความ “สมานฉันท์” บนเส้นทางแห่ง “ความขัดแย้ง”


บทสัมภาษณ์ ลงในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 17 เมษายน 2550 หน้า 11

ปัญหาความขัดแย้ง ไม่สมานฉันท์ทุกวันนี้ จะแก้กันอย่างไร

            สำหรับเรื่องการเมืองที่ดูตึงเครียดขัดข้องอยู่ขณะนี้ คิดว่าต้องพยายามช่วยกันหาทางออก ให้มันคลี่คลาย ทางที่ผมคิดได้ก็คือ การได้พูดได้จากันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง คงต้องเริ่มจากวงเล็กๆ แล้วค่อยขยายออกไป เข้าใจว่ามีการพูดจากันบ้างแล้ว อย่าง อาจารย์ธีรภัทร์ (เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ที่ไปพูดจากับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผมว่าอะไรทำนองนี้ดี เพราะลึกๆ แล้ว เราคนไทยด้วยกัน สังคมเดียวกัน ขัดข้องขัดแย้งกันแล้วมันจะนำไปสู่อะไร การต่อสู้เอาชนะกัน ถ้าชนะแล้วได้อะไร สิ่งที่น่าจะต้องการคืออยู่ร่วมกันได้เหมือนพี่เหมือนน้อง ความขัดข้อง ขัดแย้ง ก็มีได้เป็นธรรมดา แต่เราไม่ต้องการทำให้สังคม ครอบครัวแตกสลาย อาจไม่ต้องรักใคร่กลมเกลียวกันเต็มที่ แต่ต้องอยู่ร่วมกันได้

สถานการณ์ตอนนี้ สายเกินกว่าจะคุยกันหรือไม่

            ไม่มีอะไรสายไป ขนาดเขารบกันมาเป็นสิบปี ยังพูดจากันได้ ของเรายังไม่ถึงขนาดรบกัน แค่ตึงเครียด

แต่ถ้าอีกฝ่ายไม่อยากคุยจะทำอย่างไร

            ตรงนี้เป็นศิลปะ ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จ มันต้องหาทางไป เอาเป็นว่าผมเต็มใจและยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่ง แต่การกระทบกระทั่งที่เกิดขึ้นมันมีความเกี่ยวพัน ทุกอย่างสะเทือนกันไปหมดไม่ว่า รัฐบาล คมช. กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ อีกทั้งมีปัจจัยแทรกซ้อนเกี่ยวพันและสลับซับซ้อนกว่าแต่ก่อน ผมว่าเวลานี้ แรงกระทบกระทั่ง กดดันมากกว่าที่ผ่านๆ มา

กลัวหรือไม่ว่ารัฐบาลจะตกม้าตายไปก่อนที่จะอยู่ครบวาระ

            ทัศนคติในการดำเนินชีวิตของผมคือ ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด นึกถึงอนาคตด้วย เพื่อป้องกันปัญหาโดยการสร้างระบบ แต่ข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้น ผมทำใจ พร้อมรับสถานการณ์ เมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆ ก็ต้องดำเนินการไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่อยากไปคาดคะเนว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็วิเคราะห์ประเมินอยู่

ครม.รู้สึกอกสั่นขวัญหายหรือไม่ กับคำพูดเปิดทางของนายกฯที่พร้อมลาออกหากการเมืองเกิดวิกฤต 

            ไม่หวั่นไหวหรอก ไม่วิตกกังวลอะไร เพราะผมไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง ผมมีชีวิตอยู่เพื่อทำประโยชน์เท่าที่ทำได้ ผมไม่ต้องการอะไร มาอยู่ในรัฐบาลก็ไม่ได้ขวนขวายที่จะมา แต่สถานการณ์เป็นเหตุให้มา ดังนั้น ไม่ผูกพันติดยึดตำแหน่ง พร้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าเราทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อะไรจะเกิดก็เกิด และเชื่อว่า ครม.โดยรวมก็คิดทำนองนี้ คือ ไม่ได้หวั่นไหว เราเอาใจช่วยนายกฯ เพราะทราบดีว่าท่านตั้งใจ เราเป็นรัฐมนตรีในคณะของท่าน เราต้องอยู่ร่วมกับท่าน เป็นอะไรก็เป็นด้วยกัน (หัวเราะ)

ปัญหาส่วนหนึ่งเพราะ ครม.ไม่เก๋าเกมการเมือง 

            ต้องยอมรับว่า ครม.ชุดนี้เกือบหมด ไม่ได้เป็นนักการเมืองโดยพื้นฐาน แม้กระทั่งนายกฯ ส่วนใหญ่เราเป็นนักบริหาร งานก็ขับเคลื่อนไป แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องความอืดของระบบราชการ และความไม่ลงตัวภายนอก ซึ่งมีมานานแล้ว สมัยคุณทักษิณก็เจอ แต่คุณทักษิณสามารถบายพาส คือ เลื่อนระบบราชการไปได้ แต่รัฐบาลนี้ไม่อยู่ในฐานะอย่างนั้น แต่หลังจากมาเป็นรัฐบาลได้สักระยะ คิดว่าหลายคนได้เรียนรู้ความเป็นการเมือง (หัวเราะ) 

            เราเป็นนักบริหารอยู่ข้างหลังมากกว่าอยู่ข้างหน้า แต่ก็ได้เรียนรู้ว่า การเป็นนักการเมืองต้องอยู่ข้างหน้ามากกว่าอยู่ข้างหลัง น้ำท่วม ชาวบ้านก็อยากเห็นรัฐมนตรีลงไปยืนแช่น้ำมากกว่า การเมืองไทยมันเป็นอย่างนี้ เพราะสังคมมันคาดหวังให้นักการเมืองเล่นบทของตัวเอง ดังนั้น ถ้าประชาชนไม่เห็นหน้าเห็นตา ก็ไม่มีผลงาน แต่ก็สะท้อนความไม่เข้มแข็งของสังคมที่มองแต่ตัวผู้นำมาแก้ปัญหาให้

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

18 เม.ย. 50
หมายเลขบันทึก: 90986เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2007 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ท่านครับ !

ท่านยังมองบ้านเมืองในแง่ดี  (ฝัน)

การเมือง คือการจัดการผลประโยชน์

นักการเมืองคือผู้ที่จัดการผลประโยชน์

กลุ่มการเมือง คือกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน

ปัญหาต่างๆแก้ไขได้ ก็ด้วยจัดสรรค์ผลประโยชน์ที่ลงตัว

สรุปแล้วผู้ที่แก้ปัญหาได้ คือผู้ที่มีอำนาจในการแก้ปัญหา ก็คือรัฐบาล

อย่าลืมถึงบทบาทของตัวเองครับ

 

 

สิ่งที่ผมอยากจะมองเห็นมากที่สุด "สมานฉันท์" แต่ไม่ใช่ในรูปแบบการนั่งคุย ปรึกษาหารือน่ะครับ แต่ในรูปแบบการจัดกิจกรรม (หรือจะเรียกว่าละลายพฤติกรรมก็ว่าได้) ในรูปแบบร่วมจัดทำอะไรสักอย่างขึ้นมา เพื่อให้คน 2 ฝ่าย 2 กลุ่มได้ร่วมกิจกรรมกัน (ไม่ว่าที่ 3 - 4 จังหวัดภาคใต้ หรือ ในกรุงเทพ )  การแก้ไขปัญหา โดยการแก้ไขที่สาเหตุ โดยตรงบางทีไม่สำเร็จง่ายครับ  แม้แต่พระพุทธเจ้าเมื่อรู้สาเหตุแล้วยังคงคิดค้นวิธีการนำไปสู่การดับทุกข์ ( วิธีการอาณาปณสติ, หลักการสติปัฎฐานสี่ )  ทำไมเราไม่ใช้วิธีที่นักจิตวิทยาเขาไปเรียนรู้ แล้วนำมาใช้ประโยชน์ล่ะครับ

เรื่องศาสนาเราไปแตะต้องมากไม่ได้ แต่เรื่องการจัดการความเครียดในสังคมเราจัดการได้  ฝากไว้ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท