LIFE IS NOT FOR SALE !


ผลกระทบจาก FTA ไทย - สหรัฐอเมริกา

  

  

FTA ไทย - สหรัฐอเมริกา ดีจริงหรือไม่?

นี่เป็นคำถามที่ดิฉันตั้งโจทย์ไว้ในวันนี้ค่ะ เราคงแทบจะไม่ต้องกล่าวกันถึงข้อดีของการทำ FTA ไทย-สหรัฐฯ กันให้มากมายแล้วมั้งคะ เพราะเราก็รู้ดีกันอยู่ว่าหากทำ FTA ไปแล้วประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราจะได้รับประโยชน์ในแง่ที่สามารถส่งสินค้าไปขายในตลาดขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงได้ โดยปราศจากอุปสรรคทางการค้า นอกจากนี้เขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ยังจะส่งเสริมดึงดูดการลงทุนมาสู่ประเทศกำลังพัฒนาด้วย...ถึงตอนนี้ทุกคนคงจะคิดในใจเหมือน ๆ กันว่า "แน่ใจนะ? มันดีจริงหรือมีเงื่อนแง่แอบแฝงอะไรอยู่รึเปล่า?" คราวนี้ลองมาดูอีกแง่มุมหนึ่งของ FTA ไทย-สหรัฐฯ กันค่ะ

หลังจากที่ดิฉันไปเข้าร่วมสัมมนาในวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล
ทำให้ดิฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับ "ข้อตกลงเขตการค้าเสรี
ไทย-สหรัฐฯ (Thailand-US Free Trade Agreement)"
มากขึ้น
แม้ว่าในระยะหลัง ๆ มานี้ข่าวคราวจะซาลงไป แต่หลังจากที่
ดิฉันได้ฟังข่าวการลงนามใน FTA ไทย-ญี่ปุ่น หรือที่เรียกกัน
อย่างเป็นทางการว่า JTEPA (Japan-Thailand Exploitative
Partnership Agreement)
ที่เพิ่งจะลงนามกันเมื่อต้นเดือน
เมษายนที่ผ่านมาไม่นาน ก็ทำให้ดิฉันเกิดนึกอยากจะเขียนเป็น
บทความนี้ขึ้นมาแทบจะในทันทีเลยค่ะ

สถานะของ FTA ไทย-สหรัฐฯ ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา
ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ยังไม่ได้ลงนามให้มีผลบังคับใช้นะคะ
อันจะต่างกับ JTEPA ซึ่งลงนามมีผลบังคับใช้ไปแล้ว
สำหรับ FTA ไทย-สหรัฐฯ ได้ผ่านการเจรจามาทั้งหมด 6 รอบ
ด้วยกัน ครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อต้นเดือน
มกราคม 2549 ค่ะ

ในอีกแง่มุมหนึ่งนั้น ข้อตกลง FTA ไทย-สหรัฐฯ อาจถือได้ว่า
เป็นการแสวงหากำไรทุก ๆ ด้านอย่างยาวนานโดยอาศัยกลไก
ของทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะในส่วนสิทธิบัตรจนอาจ
เรียกได้ว่าเป็น "สิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย (Ever Greening Patent)"
ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับการสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค
ประกอบอยู่ด้วยอย่างมาก หากใครยังนึกไม่ออกว่าเกี่ยวข้อง
กันอย่างไร ให้ลองคิดถึงเรื่อง "สิทธิบัตรยา" ดูนะคะ
ในส่วนของประเด็นสิทธิบัตรที่น่าจับตามองนับตั้งแต่
เริ่มเจรจากันมา อาจสรุปได้ดังนี้ค่ะ

1. ให้มีการขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 20 ปี
เป็น 25 ปี ในกรณีที่การพิจารณาการออกสิทธิบัตรล่าช้า
หรือมีความล่าช้าในกระบวนการขึ้นทะเบียนตำรับยา
ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

2. ให้การคุ้มครองการประดิษฐ์ที่เป็นสิ่งมีชีวิต ขณะเดียวกัน
ก็เรียกร้องให้ไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญายูบอฟ (International
Union for the Protection of New Varieties of Plants - UPOV
Convention 1991)
ในบททั่วไป

3. ให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือ
ทางสิทธิบัตร (Patent Co-operation Treaty - PCT)

4. ให้ไทยให้สิทธิบัตรวิธีการวินิจฉัยโรค การรักษาผู้ป่วย
และการผ่าตัด

5. ให้มีสิทธิผูกขาดในข้อมูลผลการทดสอบความปลอดภัย
ของยาและเคมีภัณฑ์ และข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
(Data Exclusivity)

6. การจำกัดการใช้กลไกในการคุ้มครองพลเมืองไทย อันได้แก่
จำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ ห้ามเพิกถอนสิทธิบัตร
และจำกัดการนำเข้าซ้อน

7. ไม่ให้มีการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรก่อนการออกสิทธิบัตร

8. ให้โอกาสผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร แก้ไขคำขอได้อย่างน้อย 1 ครั้ง

9. ลดคุณภาพของข้ออ้างสิทธิในสิทธิบัตรโดยไม่จำเป็นต้อง
มีการทดลองได้ และไม่จำเป็นต้องประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม
เพียงแสดงว่ามีความจำเพาะ มีแก่นสาร และน่าเชื่อถือว่า
ใช้ประโยชน์ได้ก็พอ

สำหรับในรายละเอียดจะว่ากันในคราวถัดไปนะคะ
เว็บไซต์อ้างอิง
- www.ftawatch.org
- www.dtn.moc.go.th
- www.thaifta.com/ThaiFTA/

หมายเลขบันทึก: 90359เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2007 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีค่ะอ.หนู....
  • จะรออ่านตอนต่อไปนะคะ
  • สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ
  • สวัสดีค่ะ อ.ลูกหว้า ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ
  • ขอบคุณที่ติดตามนะคะ
  • สวัสดีปีใหม่ไทยเช่นกันค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท