ปาย ตอนที่ 2 : บ้านแม่กำปอง


การเดินทางวันแรก 05.30 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 จากเพชรบุรี สู่นครปฐม มุ่งตรงไปเชียงใหม่

คณะของเราออกเดินทางตั้งแต่เช้า มีเป้าหมายคืนแรกที่เชียงใหม่ การเดินทางครั้งนี้มี อ.จิตศักดิ์ (อ.ปอ) (ครูท่องเที่ยว) เป็นหัวหน้าทีม อ.ทิพย์สุดา (อ.ทิพย์) (ครูชุมชน) ภรรยาที่น่ารักเป็นครูพี่เลี้ยง มีพวกเรา ลูกศิษย์ สามซ่าส์ น้องบัง (เด็กชุมชน) น้องเอก (เด็กท่องเที่ยว) และพี่ฝน (เด็กเทคโน) เดินทางไปพร้อมกัน

แค่ผู้ร่วมทีมก็มหัศจรรย์แล้ว การเดินทางก็ยิ่งมหัศจรรย์เข้าไปใหญ่ บอกได้เลยว่าไม่ธรรมดา

เราเตรียมตัวกันไปก่อนหน้าว่าจะไปที่ไหนกันบ้าง โปรแกรมคือวันที่ 25 - 28 พ.ย. อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ อ.ปาย และ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ทริปนี้ต้องค้าง 3 คืนและต่างที่กัน เราก็จะเห็นบรรยากาศที่แตกต่างกัน แค่คิดก็หนาวแล้ว หนาวจริงๆ ด้วยอุณหภูมิประมาณสิบห้าองศาเห็นจะได้ 

การจัดการความรู้เริ่มตั้งแต่ออกเดินทาง เราต่างคนต่างเลือกศึกษาตามแต่ความสนใจ โดยทุกคนมีความสนใจของตนเองเป็นตัวตั้ง และแลกเปลี่ยนกันไปตลอดทาง อาศัยพื้นฐานของตนเป็นเครื่องช่วยลุยทาง

จากเช้ามืด...จนฟ้าสาง ถึงเชียงใหม่แล้ว ...  

หมู่บ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

ในที่สุดก็ได้ไปจนได้ หมู่บ้านโฮมสเตย์ต้นแบบที่ใครๆ ก็กล่าวถึง ไม่ผิดหวังจริงๆ ที่เห็นถึงความเรียบง่ายของชุมชน เส้นทางที่ยากลำบากกว่าจะเข้าถึงตัวหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการกรองนักท่องเที่ยวอย่างดี ไม่มีป้ายบอกทางใดๆ มีเพียงป้ายไม้เล็กๆ ที่ทางเข้า ในมุมมองของนักเทคโนโลยีการศึกษาอาจตีความว่าที่นี่ ขาดการประชาสัมพันธ์หรืออย่างไร ทำไมไม่ทำทางเข้าให้ชัดเจน แต่ที่จริงแล้วการเข้ามาของคนภายนอกต้องได้รับการอนุญาติจากชุมชน มิใช่ใครจะผ่านไปมา ด้งนั้นจึงมีเพียงคนคุ้ยเคยเท่านั้นที่เข้ามาถึงได้

การพบปะพูดคุยของชุมชนจะมีเวที ลานกว้าง อยู่ข้างๆ วัดซึ่งเล็กมากๆๆ แต่เป็นจะเต็มไปด้วยชาวบ้านเมื่อถึงเวลานัดหมาย ซึ่งแสดงว่าเขาจะประชุมกันตลอด ที่วัดก็มีพระเพียงรูปเดียวเท่านั้น แต่เป็นที่เคารพศรัทธาของคนที่นี่มาก

ที่สำคัญที่สุดก็คือผู้นำที่นี่ เขาจะเรียกว่าพ่อหลวง ซึ่งหมายถึงผู้ใหญ่บ้าน พ่อหลวงจะเป็นศูนย์รวมของชาวบ้าน จะเป็นผู้นำในทุกๆ เรื่องวางระเบียบระบบ แต่ทุกคนจะต้องประชุมเห็นชอบกัน มิใช่ทำแบบตามใจคนเดียว

บ้านเรือนที่นี่เป็นแบบบ้านธรรมดา มิได้จัดสร้างให้รองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวเท่าไร ฉะนั้นหากใครมาเยือนที่นี่ คงมีความรู้สึกเหมือนญาติมากกว่าแขกที่มาพักอาศัย

การท่องเที่ยวที่มีรูปแบบโดยชุมชนเป็นคนจัดตั้ง คงเปรียบได้กับการจัดการความรู้ที่มีตามธรรมชาติ เพราะเกิดจากการร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆ ไว้ด้วยกัน การกำหนดกิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นเพียงสื่อเพื่อให้ทราบถึงวิถีชีวิต และแบบฉบับของชาวบ้านแม่กำปอง

เสียดายที่เวลาสั้น จึงมิอาจได้มีส่วนร่วมพักค้างดั่งญาติผู้มาเยือนในตอนนี้ แต่ยังคงได้ให้สัญญากับพ่อหลวงว่า หากมีโอกาสจะแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนและสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านแม่กำปองสักครั้ง คงได้ลงมือเก็บเมี่ยง (ใบชา) ดูว่าจะเป็นอย่างไร

 

คำสำคัญ (Tags): #อ.ปาย
หมายเลขบันทึก: 9002เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2005 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
หากอยากไปที่นี่คงไม่ยาก สามารถเดินทางไปได้หลายเส้นทาง ไปถึงที่จังหวัดเชียงใหม่ กิ่งอำเภอแม่ออน และนัดหมายให้ทางหมู่บ้านไปรับขึ้นมาที่หมู่บ้าน แต่จะเดินทางมาเองก็ได้แต่ต้องขับรถเก่งหน่อยเพราะทางค่อนข้างคดเคี้ยว ที่สำคัญต้องติดต่อแจ้งให้พ่อหลวงทราบก่อนล่วงหน้าสัก 7 วันเป็นอย่างน้อย เพราะทางหมู่บ้านจะต้องพูดคุยกับผู้มาพักก่อนและจะไม่รับคนเข้าไปค้างโดยไม่มีการติดต่อล่วงหน้า (เป็นระเบียบของที่นี่) สิ่งสำคัญที่สุด การเตรียมตัวไปเที่ยวในลักษณะนี้ต้องทราบถึงกฎระเบียบของชาวบ้าน และมีจิตใจที่สนใจจะเรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่างว่าคนที่อยู่บนหุบเขาเขาอยู่กันอย่างไร อาจมิใช่แค่ไปเที่ยวสนุกๆ และสะดวกสบายนะคะ แต่คิดว่าจะคุ้มค่ามากค่ะหากได้ความสนุกและความรู้คู่กันไป

ระหว่างทางจะได้กลิ่นดอกไม้หอมมาก

ไปผ่านสันกำแพงทะลุดอยล้านช่วงปีใหม่จะเห็นซากุระสีชมพูทั้งเขาและดอกเสี้ยวหรือชงโคขาว มีบ้านพักริมลำธาร 2 แห่ง อากาศเย็นตลอดปี ไปออกแจ้ซ้อนแช่น้ำร้อนต่อ ป่าสมบูรณ์มาก สวย ถนนขับรถยากต้องชำนาญหรือเก่งแล้ว

แต่ผมไม่อยากให้ไปเที่ยวกันมากเพราะความสงบจะถูกทำลายธรรมชาติจะย่อยยับ ขอให้ผู้ที่มีสำนึกรักป่าและชาวบ้านจริงๆไปก็พอไม่ใช่แบกถุงพลาสติกกับอั้งโล่ไปทิ้ง 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท