การวางแผนชีวิตการทำงาน (ตอนที่ 2)


“งานที่ฉันทำก็เยอะ ก็มากพออยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของฉัน อีกทั้งทำไปเงินก็ไม่เพิ่มเหนื่อยเปล่า ๆ ดีไม่ดีคนรอบข้างอาจจะหมั่นไส้ได้อีก แล้วฉันจะทำงานให้มากไปทำไมกันเล่า” ถ้าท่านวาดหวังจะเป็นผู้บริหารระดับสูง หรือคนมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลแล้ว ท่านไม่สามารถมีความคิดแบบนี้ในสมองของท่านได้

3. ท่านเป็นคนที่รู้เรื่องงานที่ตนเองรับผิดชอบดีพอหรือไม่ และท่านสามารถมองภาพรวมขององค์กรที่ท่านปฏิบัติงานอยู่ได้อย่างทะลุปรุโปร่งหรือไม่ 

เมือพูดถึงการทำงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบซึ่งต้องปฏิบัติเป็นกิจวัตรแล้ว แน่นอนว่าท่านต้องมีความรู้ และความเข้าใจในงานนั้น ๆ เป็นอย่างดี แต่ประเด็นคำถามก็คือ การมีความรู้ความเข้าใจเพียงในงานที่ท่านได้รับมอบหมายหรือปฏิบัตินั้น เพียงพอหรือไม่กับการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น คำตอบคือ ไม่พอ ณ ประเด็นนี้ผมอยากจะชี้แจงให้เห็นภาพโดยละเอียดว่า การมีความรู้และความเข้าใจในงานที่ปฏิบัตินั้นก็ถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ถ้าท่านอยากจะก้าวไปให้ไกลกว่าคนอื่น ๆ ท่านต้องมองให้ทะลุไปถึงภาพรวมขององค์กร พันธกิจ เป้าหมาย และความมีปฏิสัมพันธ์ในงานที่ท่านปฏิบัติที่เกี่ยวเนี่ยงกับแผนกอื่น ๆ รวมถึง linkage ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ใช่ว่าจะคิดเพียงว่า งานในหน้าที่ที่ฉันรับผิดชอบมีเท่านี้ ฉันก็มีความรู้ในงานที่ฉันทำเป็นอย่างดี แล้วทำไมฉันต้องไปเรียนรู้งานในแผนกอื่น ๆ ด้วย ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่มีความจำเป็น หัวหน้าก็ไม่ได้สั่ง อันนี้ เป็นแนวคิดที่ผิดมหันต์ และมันก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญของท่านในการก้าวไปข้างหน้า แต่อยากให้ท่านคิดว่า งานทุก ๆ อย่างย่อมมีความเกี่ยวเนื่องกัน เป็นฟันเฟืองซึ่งกันและกัน ซึ่งแน่นอนว่าหากฟันเฟืองตัวใดในหน่วยงานมีปัญหาหรือชำรุดย่อมส่งผลกระทบไปสู่ฟันเฟืองตัวอื่น ๆ ด้วยไม่มากก็น้อย เช่น ถ้าท่านทำงานในฝ่ายประสานงานต่างประเทศ ท่านต้องรู้และทราบถึงกิจกรรมของฝ่ายประสานงานในประเทศด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการได้รับทราบถึงข้อมูลในแนวกว้างแล้ว จะทำให้ท่านสามารถพินิจพิเคราะห์ถึงปัญหา และโอกาสได้อย่างมีวิสัยทัศน์และมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เรื่องเรื่องในประเทศหรือต่างประเทศก็มีความสัมพันธ์กันไม่มากก็น้อย ซึ่งอยากให้ท่านลองพิจารณาถึงโลกไร้พรมแดน (Borderless World) จากแรงขับของโลกาภิวัฒน์ (Globalization) นะครับว่า มันทำให้โลกเรานั้นแคบลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในแง่ของการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตัวอย่างก็เช่น การแทรกซึมในทุกภาคส่วนของสังคมของระบบเครืออินเตอร์เน็ต (Internet Network) ในปลายทศวรรษที่ 1990 กอปรกับการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยผ่านดาวเทียม และระบบไยแก้วนำแสง ซึ่งทำให้โลกเรานั้นแคบลงทุกขณะ

กลับเข้าสู่ประเด็นอีกครั้งนะครับ นอกจากความรู้และความสามารถในงานที่ท่านทำแล้ว ท่านต้องมองไปว่างานที่ท่านทำสามารถ Support งานของแผนกอื่นได้อย่างไรด้วย งานของท่านสามารถสร้าง linkage ในหน่วยงานอื่น ๆ ขององค์กรได้อย่างไร ถ้างานของท่านพัฒนาไปแล้วหน่วยงานอื่น ๆ จะได้รับประโยชน์ และเอื้อให้องค์กรของท่านบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร ท่านมีความสำคัญและอยู่จุดใดขององค์กร ท่านมองไปถึงการพัฒนาการทำงานขององค์กรในภาพรวมได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้คนส่วนใหญ่อาจจะมองไม่ถึง เพราะคิดว่า งานที่ฉันทำก็เยอะ ก็มากพออยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของฉัน อีกทั้งทำไปเงินก็ไม่เพิ่มเหนื่อยเปล่า ๆ ดีไม่ดีคนรอบข้างอาจจะหมั่นไส้ได้อีก แล้วฉันจะทำงานให้มากไปทำไมกันเล่า ถ้าท่านวาดหวังจะเป็นผู้บริหารระดับสูง หรือคนมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลแล้ว ท่านไม่สามารถมีความคิดแบบนี้ในสมองของท่านได้ อยากให้ท่านลองดูผู้บริหารระดับสูงในองค์กรของท่านนะครับว่า ส่วนใหญ่ของผู้บริหารระดับสูงต่าง ๆ จะสามารถมองงานของแต่ละฝ่ายที่มีความแตกต่าง และเชื่อมโยงมันได้อย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ เขาหรือเธอยังสามารถทำให้งานของแต่ละฝ่ายซึ่งมีความแตกต่างกันในเชิงเนื้อหาสาระผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืนโดยออกมาเป็น Satisfied Output ขององค์กรในภาพรวมที่ดีเยี่ยม ไม่ใช่เพราะผู้บริหารเหล่านั้นจบการศึกษาสูงจากเมืองนอกหรอกนะครับ แต่เป็นเพราะว่าเขาสั่งสมประสบการณ์ สั่งสมความรู้จากสิ่งรอบข้าง จึงทำให้เขาสามารถมองงานในส่วนต่าง ๆ ของบริษัทได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ข้อสังเกตง่าย ๆ อีกประการหนึ่งคือ ผู้บริหารเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะต้องทำงานหนักกว่าเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานธรรมดา คือ ผู้บริหารเหล่านี้ถึงแม้จะเข้าทำงานสายแต่ก็อยู่ดึกเลยล่ะ ฉะนั้น เวลาการทำงาน และงานที่มากกว่าจึงเป็นบันไดให้ผู้บริหารเหล่านั้น มีวิสัยทัศน์และความคิดที่กว้าง ถ้าท่านอยากจะเจริญรอยตามเป็น Big Boss แล้วล่ะก็ ต้องเริ่มเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวอย่างจริงจัง และมองให้ไกลขึ้น ตั้งแต่วันนี้แล้วครับ 

4. ท่านเป็นคนที่ไฝ่รู้อยู่ในระดับใด ความถื่ในการติดตามข่าวสารบ้านเมือง รวมทั้งมีความรู้ที่ลึกซึ้งในสิ่งที่ท่านรักท่านชอบหรือเปล่า

ในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นโลกของการแข่งขันด้านข้อมูลข่าวสาร (ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น) ใครที่มีข้อมูลมากกว่าผู้นั้นย่อมได้เปรียบเสมอทั้งในแง่ของความพร้อมของข้อมูลดิบเพื่อการวิเคราะห์ และในแง่ของข้อมูลประกอบด้านการตัดสินใจ ดังนั้น การที่เป็นเราเป็นคนที่แสวงหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งอาจจะทำได้โดยการอ่านข่าวสถานการณ์บ้านเมืองทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้ง การพิจารณาถึงประเด็นสำคัญที่เป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง (เน้นว่าต้องเป็นวิชาการนะครับ) เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจ ความข่าวสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังเข้ามา เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่คนยุคดิจิตอลอย่างเราต้องมีข้อมูล และสามารถพินิจพิเคราะห์ความเป็นไปต่าง ๆ ของสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีเหตุผล

ถ้าพิจารณาในสิ่งที่ท่านรักท่านชอบล่ะ ท่านมีความรู้เกี่ยวกับมันอยู่ในระดับใด เช่น ท่านชอบโทรศัพท์มือถือ ท่านสามารถที่จะอธิบายถึงสรรพคุณของโทรศัพท์ดังกล่าว เปรียบเทียบกับรุ่นอื่น ๆ ในตลาด โดยท่านสามารถให้ทรรศนะและความคิดเห็นได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งบอกข้อดีข้อเสียของแต่ละรุ่นได้หรือไม่ หรือถ้าจะให้ดีไปกว่านั้น ท่านสามารถชี้แจงและเจาะเข้าไปถึงจุดแข็งและจุดอ่อนเชิงเทคนิคของตัวเครื่อง พร้อมทั้งระบบที่รองรับในปัจจุบันได้หรือไม่ ถ้าคำตอบของท่านคือ ได้ หรือ ใช่ กี่เยี่ยมเลยครับ แต่ถ้าคำตอบของท่าน คือ ไม่แน่ใจ ท่านต้อง Active ตัวเองแล้วนะครับ เพราะว่าการที่คนเรามีความชอบ หรือความสนใจในสิ่งใด ท่านต้องพยายามรู้ลึกและรู้จริงกับเรื่องนั้น ๆ ให้ได้ (ทั้งนี้ ไม่เกี่ยงนะครับว่าจะเป็นเรื่องที่มีสาระ หรือไม่มีสาระ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่มีสาระ ท่านก็อาจจะเป็นคนโชคดีขึ้นอีกนิด เพราะว่าเรื่องราวที่มีสาระนั้น สามารถนำไปพูดคุย หรือแลกเปลี่ยนได้กับคนได้ในหลาย ๆ วงการ) มาถึงจุดนี้แล้ว ผมใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองตอบคำถามเหล่านี้กับตัวเองดูนะครับ

v   ท่านอ่านหนังสือพิมพ์ และติดตามสถานการณ์ข่าวเหตุการณ์ปัจจุบัน บ่อยสักเท่าใด

v   ข่าวที่ท่านอ่าน หรือสนใจในรูปแบบต่าง ทั้งจากโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ และอินเทอร์เน็ต เป็นข่าวสารแบบใด และสิ่งที่ท่านอ่านนั้นช่วยให้ท่านมีความรู้ทางวิชาการ โดยมีการสนับสนุนอย่างสอดคล้องกับงานที่ท่านทำเพียงใด

v   ถ้าจู่ ๆ มีคนเดินเข้ามาถามท่านว่า วันนี้มีข่าวในประเทศ และต่างประเทศอะไรน่าสนใจบ้าง ท่านสามารถตอบได้อย่างฉะฉานมิติดขัดหรือไม่ หรือถ้าเพื่อนร่วมงาน หรือผู้บังคับบัญชาของท่านให้ท่านวิเคราะห์ถึงเหตุบ้านการเมืองในปัจจุบัน ท่านสามารถวิเคราะห์และถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นระบบหรือไม่

ถ้าคำตอบของท่านใน 3 ข้อบอกว่าท่านทำได้หมดแล้วละก็ ผมต้องขอแสดงความยินดีกับท่านด้วยนะครับว่า ท่านเป็นคนที่ติดตามสถานการณ์ปัจจุบันอย่างใกล้ชิด และมีความสนใจอยู่ในระดับที่ดี ส่วนท่านที่ตอบได้ 2 หรือ 1 ข้อ ท่านอยู่ในเกณฑ์ของความเสี่ยงของการที่จะตกเป็น คนล้าหลัง หรืออาจจะเรียกสั้น ๆ ได้ เชย ด้านข้อมูลข่าวสารแล้วล่ะครับ

ถ้าท่านไม่มีความรู้ด้านข้อมูลข่าวสาร ท่านอาจเปรียบได้เสมือนคนป่วย (หนัก) นะครับ ดังนั้น ถ้าท่านประสงค์ที่จะหายป่วยท่านต้องหายา ซึ่งยานั้นก็คือข่าวสารนั่นเอง มีอีกมุมมองเปรียบเทียบที่ผมอยากจะเล่าสู่กันฟังครับ คือ มีคนอีกประเภทหนึ่งซึ่งขยันป่วยด้วยคิดว่าตัวเองนั้นมีความรู้น้อย ซึ่งคนเหล่านั้นพยายามรักษาตัวเองให้หายขาดจากอาการป่วยนั้น โดยการรับประทานยา (นั่นก็คือเมล็ดพันธ์ความรู้) ให้ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และมากเท่าที่ทำได้ แต่คนเหล่านั้นก็ไม่หายขาดจากอาการป่วยเสียที ไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นขาดซึ่งความเพียรนะครับ แต่เป็นเพราะว่าชีวิตของคนเรานั้นสั้นนัก ไม่สามารถเรียนรู้สรรพสิ่ง และวิชาการทั้งหมดบนโลกใบนี้ได้ อย่างไรก็ดี คนเหล่านั้นพยายามทานยาอยู่ตลอดเวลาและสม่ำเสมอเพียงแค่หวังว่าจะทำให้อาการป่วยทางความรู้ทุเลาลงได้ (ซึ่งคนป่วยประเภทนี้ก็คือ คนทันโลกนั่นเอง) และเมื่อวันหนึ่งที่อาการป่วยเหล่านั้นแค่ทุเลา (เน้นนะครับว่าทุเลา) คนก็ยกย่องและเรียกท่านว่า ปราชญ์ เสียแล้ว  

ทั้งนี้ ในโลกยุคข่าวสารจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องเป็นคนไฝ่รู้ และเป็นคนที่มีความกระเหี้ยนกระหือรือที่จะติดตามข่าวสาร และข้อมูลรอบด้านอย่างใกล้ชิด และเป็นคนที่ก้าวทันโลกอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เดินออกมาจากบ้านแล้วเห็นภูเขาอยู่หน้าบ้าน นั่นเรียกว่า คนหลังเขา หรือคนที่ล้าหลัง (อันนี้เปรียบเทียบนะครับ ไม่ได้ว่าคนที่อยู่บนเขา) ซึ่งท่านเองก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ครับ เช่น การบอกรับเป็นสมาชิกของหนังสือพิมพ์ หรือเคเบิลทีวี (เพื่อให้ท่านรู้สึกเสียดายกับเงินที่จ่ายไป แล้วท่านก็จะต้องอ่านต้องดู (ข่าว) มากขึ้นไงครับ) หรือท่านอาจจะล้ำกว่านั้นก็คือการอ่านข่าวออนไลน์ ทั้งผ่านทางเว็บไซด์ ในรูปแบบของคลิปวีดีโอ หรือในรูปแบบของตัวอักษรก็ได้แล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคลครับ นอกจากนี้ พ็อกเก็ตพีซีโฟน ตลอดจนสมาร์ทโฟนต่าง ๆ ที่สามารถดาวโหลดคอนเทนต่าง ๆ มาวางอยู่ที่หน้าจอของโทรศัพท์มือถือ ท่านก็แค่กดอ่านข่าวสารเหล่านั้น ท่านก็ไม่หลุดเทรนแล้วล่ะครับ แน่นอนว่า เทคโนโลยีในโลกปัจจุบันนั้นทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าท่านจะเลือกใช้มันอย่างชาญฉลาดหรือไม่ก็เท่านั้นเอง..  

(โปรดติดตามอ่านในตอนที่ 3 ครับ)

5 เมษายน 2550

หมายเลขบันทึก: 88718เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2007 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท