ธุรกิจกับชุมชน


วันนี้ ได้มีโอกาสคุยกับ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ เกี่ยวกับช่องทางที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในงานชุมชนของธุรกิจที่มีแนวคิดรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)

วันนี้ ได้มีโอกาสคุยกับ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์  มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ  เกี่ยวกับธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม (CSR) กับงานชุมชน

ดร.พิพัฒน์  สนใจการทำงานของยูนุส ที่ร่วมกับบริษัทดานอน ทำโยเกิร์ตที่เพิ่มสารอาหารให้เด็ก  จำหน่ายในราคาต่ำและมีส่วนแบ่งเหลือเข้ากองทุนให้ชุมชน

เราบอกว่า  ตอนเริ่มทำโครงการแลกเปลี่ยนชุมชนเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน  เราก็มีสมมติฐานว่า ชุมชนขาดแคลนเงินตรา  แต่ในความเป็นจริงในปัจจุบัน ดูเหมือนจะไม่ใช่  เพราะงบประมาณต่างๆลงมาช่วยท้องถิ่นเยอะพอสมควร (ไม่ว่าจะเป็นด้วยนโยบายเศรษฐกิจแบบทักษิโณมิกส์  หรือนโยบายเศรษฐกิจแบบเคนเซียนของรัฐมนตรีคลังคนปัจจุบัน  ทักษิโณมิกส์เป็นเคนเซียนที่ดัดแปลงรูปแบบและเป้าประสงค์)  

เราคิดว่าปัญหาจริงๆคือ

ประการแรกจะนำเงินทุนตรงนั้นมาทำอะไรให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อชุมชน  ตอบโจทย์แก้ปัญหาให้ชุมชน  แผนแม่บทชุมชนที่เกิดจากชุมชนจริงๆน่าจะช่วยตอบตรงนี้ได้  แต่โดยส่วนตัว  เราเห็นว่าควรเป็นการแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น  ปัญหาเรื่องอุปทานและการจัดการน้ำ  ตลาดท้องถิ่น  ระบบแลกเปลี่ยนชุมชน  กองทุนสวัสดิการ  หรืออื่นๆ  ที่จะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของชุมชนได้

ประการที่สอง เงินเป็นของกลุ่ม ไม่ใช่ของปัจเจกบุคคล  ปัญหาคือคนจนจริงๆในชุมชนจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้นหรือไม่   การใช้เงินกองทุนจากเอกชนจึงอาจมีเป้าหมายโดยตรงที่ครัวเรือนชายขอบ

ประการที่สาม  มีความแตกต่างระหว่าง การนำเงินที่ได้ ไปซื้อสวัสดิการที่รัฐ หรือที่อื่นๆผลิต    กับการนำเงินที่ได้ไปให้ชุมชนเป็นผู้ผลิตสวัสดิการเอง เช่น การดูแลผู้ป่วย  การจัดการศึกษาที่ชุมชนเป็นเจ้าของ การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน หมอพื้นบ้าน ครูภูมิปัญญา  และอื่นๆ  เอกชนจะช่วยสนับสนุนตรงนี้ได้หรือไม่ (เรายังจำภาพ คนแก่ญี่ปุ่นมีหุ่นยนต์ป้อนข้าวป้อนน้ำด้วยความรันทดใจ) 

ประการที่สี่   หากชาวบ้านใช้เงินซื้อความสะดวก  เช่น จ้างคนอื่น หรือ เช่าเครื่องจักรแทน  เศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในเรื่องความมีเหตุมีผลของทุกคน  สอนเราว่า  ไม่ได้แปลว่าชาวบ้านขี้เกียจ  แต่เป็นเพราะมีค่าเสียโอกาสในการใช้แรงงานของเขา  เช่น  เขาอาจคิดว่า เอาแรงงานไปทำอย่างอื่นคุ้มกว่า   (แม้แต่การพักผ่อน)   ปัญหาที่สำคัญกว่าจึงน่าจะอยู่ที่ว่า  เครื่องจักรที่เอามาทดแทนแรงงานนั้นมาจากที่ไหน   ถ้าต้องซื้อน้ำมัน ซื้อเครืองจักร  คำถามคือ  เราสามารถผลิตเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อช่วยทดแทนแรงงาน แทนการพึ่งพาเครื่องจักรและเทคโนโลยีราคาแพงจากภายนอกได้หรือไม่   จะพัฒนาไบโอดีเซลที่มีราคาย่อมเยาคุณภาพดีขึ้นมาได้หรือไม่   หน้าที่ของรัฐและเอกชนที่มีแนวคิดเพื่อสังคมจึงน่าจะอยู่ที่การสนับสนุนลงทุนในส่วนนี้

ประการที่ห้า   เราคิดว่า รัฐควรสนับสนุนธุรกิจ CSR  แต่ตัวแปรสำคัญที่จะเป็นแรงผลักให้เกิดธุรกิจ CSR จริงๆอย่างยั่งยืน คือ ผู้บริโภค  จริงอยู่ธุรกิจกลุ่มหนึ่ง อาจมีแนวคิดรับผิดชอบต่อสังคมจากภายในตนเอง   แต่เราเห็นว่า  ในต่างประเทศที่มีธุรกิจ CSR มากๆ  แรงขับจริงๆมาจากการตระหนักด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค  ผู้บริโภคจึงหันมาสนับสนุนเป็นลูกค้าของธุรกิจประเภทนี้ แม้บางครั้งจะจ่ายแพงกว่าเราคิดว่า 

เราคิดว่าธุรกิจที่จะทำ CSR ได้ (โดยไม่มีรัฐสนับสนุน) มีสองประเภท 

ประเภทแรก:   ธุรกิจที่มีอำนาจผูกขาดในบางระดับ จึงพอจะมีกำไรส่วนเกินมาทำงานเชิงสังคมได้    แต่เขาจะทำอย่างนี้ก็ต่อเมื่อเขามีจิตสำนึกที่ดี   หรือไม่ก็เพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดี

ประเภทที่สอง: ธุรกิจที่อยู่ในตลาดแข่งขันด้านราคา จะไม่สามารถมีส่วนเกินมาสนับสนุนกิจกรรมเชิงสังคมได้มากนัก   ดังนั้นหากผู้บริโภคไม่เห็นความแตกต่างว่าหน่วยธุรกิจ CSR ทำดีกว่าหน่วยธุรกิจอื่นๆอย่างไร และยินดีจะจ่ายแพงกว่า เพื่อสนับสนุนธุรกิจประเภทนี้  ธุรกิจในตลาดแข่งขันก็คงเสียสละมาทำงานเพื่อสังคมได้ไม่นาน

อีกประการหนึ่งที่เราไม่ได้คุยกับ ดร.พิพัฒน์ แต่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน  คือ  การมีกองทุนสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นของชาวบ้าน  รวมถึงการลงไปทำความรู้จักกับชุมชนอย่างเป็นกัลยาณมิตร

หมายเลขบันทึก: 88590เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2007 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้พบกับ ดร.พิพัฒน์  ท่านชี้แจงว่า  ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม อาจทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน ธุรกิจขนาดเล็กจึงย่อมปฏิบัติได้  เช่น  การไม่ทิ้งของเสีย  การนำของเสียกลับมาใช้หมุนเวียนใหม่ เป็นต้น 

ต้องขอบคุณ ดร.พิพัฒน์มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

ต่อประเด็นดังกล่าว จำได้ว่า เมื่ออยู่ที่ญี่ปุ่นหลายปีก่อน  ภาคธุรกิจจะพูดถึงเรื่อง zero waste  เป็นเรื่องฮิตที่เป็นแนวปฏิบัติของธุรกิจที่ได้ชื่อว่า "ทันยุคสมัย" และถือเป็น "จุดขาย"

zero waste คือ ปฎิบัติการต่างๆที่จะทำเกิดของเสียน้อยที่สุด  ตัวอย่าง เช่น การนำ by product จากโรงงานเบียร์ มาทำเป็นพลังงานหมุนเวียน   ทำให้นึกถึงโรงสีของไทยที่นำแกลบกลับมาทำเป็นเชื้อเพลิง  ถือว่าลดต้นทุนให้ธุรกิจตัวเองและส่งผลดีต่อสังคมด้วย

อยากให้ธุรกิจไทยหาจุดขายของตัวเองโดยการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆให้กับสังคม  คิดว่า ผู้บริโภคก็น่าจะตอบรับในระดับดี  เป็นการสร้างจิตสำนึกให้ผู้บริโภคไปด้วยในตัวได้ด้วยเหมือนกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท