การวางแผนชีวิตการทำงาน (ตอนที่ 1)


1. ความก้าวหน้าของชีวิตการทำงาน 2. ความมั่นคงของอาชีพการงาน 3. ความมั่งคั่งหรือผลตอบแทนจากงานที่ทำ (ถ้าท่านต้องเลือกท่านจะจัดลำดับอย่างไร)

เมื่อพูดถึงการวางแผนการของชีวิตการทำงานแล้ว เราอาจจะมองเป็นภาพใหญ่ ๆ ได้อย่างน้อย 3 มิติ คือ 1. ความก้าวหน้าของชีวิตการทำงาน 2. ความมั่นคงของอาชีพการงาน 3. ความมั่งคั่งหรือผลตอบแทนจากงานที่ทำ แน่นอนว่าทุกคน ๆ ที่อยู่ที่วัยทำงานรวมทั้งหนุ่มสาวหน้าใหม่ไฟแรง ย่อมมีความประสงค์ที่จะได้รับทั้ง 3 สิ่งนี้จากงานที่เขาหรือเธอกำลังทำอยู่ หรือตามความฝันที่ได้วาดไว้ แต่ความจริงของชีวิตก็คือ คนเราย่อมมีตัวเลือกที่จำกัด มีค่าเสียโอกาสในการตัดสินใจนั้น ๆ จังหวะและโอกาส ซึ่งน้อยคนนักที่จะได้ทั้ง 3 สิ่งในงาน ๆ เดียว พูดง่าย ๆ ว่าถ้าได้ 2 สิ่งก็ถือว่าบุญหนักหนาแล้ว ในขณะที่บางคนได้เพียง 1 บางคนอาจจะไม่มีความชัดเจนเลยใน 3 ประเด็นดังกล่าว แต่ความจริงดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้เรายอมแพ้ต่อโชคชะตาของชีวิต โดยการก้มหน้าก้มตาทำงานกันไป สิ้นเดือนก็รับเงินเดือน แต่ก็ไม่ได้รับความสุข เป็นวงจรแบบนี้ ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นครับ ซึ่งแน่นอนว่าในโลกที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบันนั้น ได้มีโลกหลายใบซ้อนกันอยู่อย่างไม่สามารถที่จะแบ่งแยกได้ เช่น โลกการทำงาน โลกของการใช้ชีวิตครอบครัว โลกส่วนตัว โลกของความสงบสุขของจิตใจ และอีกมากมายครับ

แต่ที่แน่ ๆ คือ โลกของการทำงานนั้นสามารถเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมค่อนข้างมาก เพราะว่าทุกคนต้องทำงาน และใช้ชีวิตการทำงานถึง 1 ใน 3 ของชีวิตเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น 1 วันมี 24 ชั่วโมง 8 ชั่วโมงท่านต้องใช้ไปกับการนอน อีก 8 ชั่วโมง (อย่างน้อย) ท่านต้องทำงานประจำเพื่อหาเลี้ยงชีพ ส่วนอีก 8 ชั่วโมงที่เหลือท่านอาจจะหมดไปกับการใช้ชีวิตส่วนตัวต่าง ๆ ดังนั้น เวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตการทำงานนี้ มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งท่านควรจะใช้ชีวิตกับมันอย่างมีความสุข และที่สำคัญต้องมีเป้าหมายด้วย

สิ่งที่ผมอยากจะถ่ายทอดในบทความนี้ก็คือ ความสำเร็จและความเพียรพยายามอย่างเต็มความสามารถต่างหาก ที่จะทำให้คนเราบรรลุเป้าหมายของชีวิตได้  ซึ่งเป้าหมายชีวิตของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน บางคนต้องการทรัพย์สินเงินทองมาก ๆ บางคนต้องการใช้ชีวิตอย่างสมถะ ในขณะที่บางคนต้องการชื่อเสียงและยศถาบรรดาศักดิ์ ประเด็นนี้อยากให้ท่านผู่อ่านพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่า สำหรับตัวท่านแล้วท่านต้องการอะไร? หยุดคิดสักนิดก่อนนะครับแล้วค่อยอ่านย่อหน้าต่อไป...

ในส่วนแรกของบทความนี้ ผมอยากจะกล่าวถึงสถานการณ์ความเป็นจริงในตลาดแรงงานในปัจจุบันก่อนนะครับว่ามีความเปลี่ยนแปลง และแนวโน้มอย่างไร ซึ่งจะเป็นการจุดประเด็นเกี่ยวกับแนวทางที่ท่านจะก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายของชีวิตการทำงานของตัวท่านเอง และในส่วนที่สองจะกล่าวเกี่ยวกับความเจริญทางจิตใจ (ซึ่งออกจะธรรมมะสักหน่อย) โปรดติดตามอ่านได้เลยครับ...คนทำงานในตลาดแรงงานส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง คือ พอมีพอกินไม่ถึงกับหรูหราหรือใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยนัก แต่จะทำอย่างไรล่ะที่ให้เราได้ทั้ง 3 สิ่งตามที่กล่าวไว้ข้างต้น หรืออย่างน้อย ๆ ก็ 2 สิ่งก็ยังดี ผมขอสรุปเป็นประเด็นสั้น ๆ ให้ท่านผู้อ่านลองคิดและพิจารณาแล้วให้คะแนนกับตัวเองนะครับว่า ตัวท่านเองนั้นมีคุณสมบัติพอหรือไม่ที่จะได้สิ่ง 3 สิ่งนั้น 

1. วุฒิทางการศึกษาของท่านมีความได้เปรียบคู่แข่งหรือไม่

ในโลกการแข่งขันของตลาดแรงงานในปัจจุบัน การจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีย่อมไม่พออย่างแน่นอน ปี ๆ หนึ่งมีบัณฑิตจบการศึกษาระดับปริญญาตรีรวมแล้วทั่วประเทศกว่า 2 แสนคน ประเด็นนี้ไม่รวมถึงคนที่จบปริญญาตรีจากเมืองนอกแล้วกำลังจะบินกลับมาทำงานในประเทศไทยนะครับ แล้วปริญญาโทล่ะจะทำให้เราได้เปรียบหรือไม่ คำตอบคือ ไม่แน่ครับ ในปัจจุบันทั้งสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน ต่างแข่งขันกันเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทกันอย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี เพื่อผลิตบุคคลากรที่มีคุณภาพในระดับที่สูงขึ้นเพื่อป้อนตลาดแรงงานที่นับวันมีความต้องการบุคลากรที่มีวุฒิการศึกษามากขึ้น และแน่นอนว่า ยังไม่รวมถึงคนที่จบปริญญาโทจากเมืองนอกและกำลังจะกลับมาหางานทำในเมืองไทย (ส่วนปริญญาเอก ต้องขอข้ามไปก่อนนะครับ เนื่องจากอาจจะใช้เนื้อที่ในการบรรยายมากจนเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้ท่านผู้อ่านเบื่อเสียก่อน)

ที่อยากจะชี้ชัดลงไปอีกประการหนึ่งก็คือ ในสายตาของผู้จ้างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การระหว่างประเทศ บริษัทข้ามชาติ และ Top Company ต่าง ๆ ย่อมมองว่า จบโทเมืองนอกย่อมดีกว่าจบโทเมืองไทย อย่างน้อย ๆ ก็ในเรื่องของภาษา และประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างแดน ให้ลึกลงไปอีกนิดก็คือ จบโทย่อมดีกว่าจบตรี (แต่ในบางประเด็น บางกรณีของปัจเจกชน อาจจะมีความต่างกันได้ อันนี้ไม่ขอสรุปแบบฟันธงนะครับ แต่อยากให้ท่านผู้อ่านพิจารณาในมุมมองของตนเอง) แต่ผมอยากจะกล่าวอย่างกว้าง ๆ ว่า อย่างน้อยความน่าเชื่อถือก็ย่อมมีมากกว่า อีกทั้งโอกาสในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารช่องทางก็ค่อนข้างเปิดมากกว่า อันนี้ ท่านลองเปิด Classified ตามหนังสือพิมพ์รับสมัครงานดูได้ครับ ตำแหน่งผู้บริหารส่วนใหญ่รับวุฒิปริญญาโทขึ้นไปทั้งนั้น ยิ่งถ้าเป็นองค์การระหว่างประเทศ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่เขา Require ประสบการณ์การทำงาน และความสามารถพิเศษอื่น ๆ อีกเพียบ อีกประเด็นหนึ่งซึ่งคิดง่าย ๆ นะครับ เช่น ท่านจบปริญญาตรีและเริ่มทำงาน ท่านทำงานไป เรื่อย ๆ เงินเดือนก็จะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าถึงระดับของมันแล้วมันก็จะตัน คิดง่าย ๆ นะครับ Start 15,000 ท่านทำงานไป 10 ปี เงินเดือนท่านอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 แต่เงินเดือนท่านก็ถึงทางตันแล้ว การก้าวไปสู่ตำแหน่งผู้บริหารท่านก็มีค่อนข้างน้อย ถ้าเปรียบเทียบกันคนที่ทำงานด้วยกันที่เขาอาจจะมีวุฒิการศึกษาสูงกว่า และถ้าองค์กรนั้น ๆ ไม่มีนโยบายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนคนในด้วยแล้ว ท่านยิ่งเติบโตในหน้าที่การงานได้ยาก ในทางตรงกันข้ามถ้าท่านจบปริญญาโทเงินเดือน Start อาจจะ 20,000 ท่านทำงานไปสัก 10 ปี อาจจะเป็น 40,000 แต่ว่าเงินเดือนท่านอาจจะไม่ตันนะครับ เพราะวุฒิการศึกษายังเป็นตัวค้ำยันให้ท่านได้ อย่างน้อย ๆ การก้าวไปเป็น หัวหน้างาน หัวหน้าฝ่าย หรืออาจจะเป็นระดับผู้บริหาร (ที่เงินเดือนเหยียบหลักแสน) ก็มีความเป็นไปได้ไม่ยากนัก หรือถ้าท่านไม่พอใจ อยากจะขยับขยายย้ายงานก็เป็นไปได้ครับ เพราะถ้าประเมินจากสถานการณ์ในปัจจุบันวุฒิปริญญาโทในอีก 10 ปีข้างหน้า ความโดดเด่นก็จะลดลงกลายเป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานของคนทำงานรุ่นใหม่ครับ ดังนั้น อีก 10 ปีข้างหน้า ท่านก็ยังไม่ตกเทรนนะครับ ในขณะที่ปริญญาตรีหลุดเทรนไปนานแล้ว (**ประเด็นนี้ไม่ได้บอกว่าจบปริญญาตรีมันแย่ไปเสียทีเดียวนะครับ อยากให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาอย่างลึกซึ้งในรายละเอียด และแนวโน้มความเป็นไปในอนาคตมากกว่า) ในภาพรวม ลู่ทางการก้าวไปข้างหน้าย่อมจะแตกต่างกับวุฒิปริญญาตรีอย่างเห็นได้ชัด ถ้าท่านอยากจะก้าวให้ไกลกว่าคนอื่นในตำแหน่งหน้าที่การงาน วุฒิด้านการศึกษาท่านต้องมี และมันก็ช่วยท่านได้จริง ๆ (นะ)

ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น ยังไม่ได้ถามนะครับว่าถ้าท่านจบโทเมืองนอก ท่านจบจากประเทศอะไร มหาวิทยาลัยอะไร เกรดเท่าไร ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีความแตกต่างกันบ้างในสายตาของผู้ว่าจ้าง ส่วนจบปริญญาโทเมืองไทยนั้นก็จะมีคำถามว่า จบจากสถาบันใด และเป็นหลักสูตรนานาชาติหรือไม่ ส่วนในระดับปริญญาตรีนั้น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตอบคำถามดังกล่าวเช่นกัน แต่อาจจะมีอีกคำถามหนึ่งเพิ่มมาด้วย คือ ท่านจบเกียรตินิยมหรือเปล่า? (คำถามที่ท่านต้องถามตัวเองอาจค่อนข้างมาก แต่ท่านก็ต้องตอบตัวเองอย่างตรงไปตรงมาด้วยนะครับ)

ทั้งนี้ อาจจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า คนทำงานในยุคปัจจุบันอย่างเรานั้น มีคู่แข่งมากมายเหลือเกินในตลาดแรงงาน แล้วตัวท่านเองล่ะจัดเป็นคนจัดเป็นคนที่อยู่กลุ่มใด ถึงเวลาหรือยังที่จะอัพเกรดตัวเอง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชีวิต...

2. ประสบการณ์การทำงานของท่านสามารถไปปรับใช้กับงานอื่นได้หรือไม่

แน่นอนว่าการทำงานแต่ละแห่งย่อมมีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ของวัฒนธรรมองค์กร เนื้อหาและรายละเอียดของงาน แต่คำถามก็คือว่าประสบการณ์การทำงานของท่านมากพอที่จะเกื้อหนุนกับวุฒิการศึกษาได้หรือไม่ นั่นก็คือ งานในสาขาที่ท่านทำอยู่ตรงกับวุฒิการศึกษาของท่านหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ถือว่าดีไป เพราะว่าท่านจะได้เปรียบคนอื่นในแง่ที่ว่า ทั้งวุฒิการศึกษาและประสบการณ์การทำงานต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน อาจจะเรียกได้ว่าท่านมีคุณสมบัติที่ค่อนข้างปึ๊กเลยทีเดียวในสายงานที่ปฏิบัติ โดยการสนับสนุนจากวุฒิภาวะทางการศึกษา  

แต่ถ้าท่านไม่ได้ทำงานที่ตรงกับสาขาที่เรียนล่ะ คำตอบก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายและท่านอาจจะได้เปรียบกว่าคนที่จบตรงสาขาด้วยซ้ำไป เพราะท่านต้องใช้ความพยายามเรียนรู้ในงานที่ทำมากกว่าคนที่จบมาในสาขานั้น ๆ และความจริงที่ว่า ความรู้อาจเรียนทันกันได้  ก็ต้องเป็นแนวคิดที่ท่านต้องนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และสร้างความประจักษ์ชัดแก่ผู้ร่วมงาน และผู้บังคับบัญชา ณ ประเด็นนี้ ประสบการณ์การทำงานสามารถเรียนรู้กัน และเรียนทันกันได้ แต่ต้องอาศัยความวิริยะอุตสาหะในการที่จะสรรสร้าง และสะสมเป็นประสบการณ์ในระยะยาวอีกประเด็นที่สำคัญก็คือ เมื่อท่านจะเปลี่ยนงานประสบการณ์การทำงานในที่ทำงานเก่าของท่าน สามารถเป็นบันไดก้าวไปสู่ที่ใหม่ได้หรือไม่ เช่น ถ้าท่านประสงค์ที่จะก้าวหน้าในสายงานเดิมในที่ทำงานใหม่ท่านก็อาจจะไม่ต้องนับหนึ่งใหม่เหมือนคู่แข่งคนอื่นตรงที่ว่า ประสบการณ์การทำงานที่ท่านสั่งสมจากที่ทำงานเก่า สามารถนำไปปรับใช้และประยุกต์ใช้ได้กับที่ทำงานที่ใหม่ แล้วสำหรับคนที่จะเปลี่ยนงานใหม่ ในสาขาใหม่ล่ะ ควรจะทำอย่างไรดี ผมเองมีคำตอบให้ท่านอยู่แล้วครับ..

คนที่อยากจะเปลี่ยนงานใหม่ และเปลี่ยนสาขางานที่ทำ ท่านอาจจะต้องทำงานหนักสักหน่อยในการที่จะต้องขวนขวายหาความรู้ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานที่ท่านอยากจะไปทำ ซึ่งก็สามารถทำได้ไม่ยากเลยในยุคของการสื่อสารที่ไร้พรมแดนในปัจจุบัน ซึ่งท่านสามารถหาอ่านได้จากเว็บไซด์ของหน่วยงานนั้น ๆ โดยศึกษา Company Profile, Job Description, Applicant’s qualifications และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ท่านยังสามารถหาอ่านได้จากนิตยสารต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย หรือบทความที่ตีพิมพ์ตามที่ต่าง ๆ ซึ่งนั่นก็จะเป็นแนวทางในการเตรียมตัวของท่านในการเขียนจดหมายสมัครงาน และการสัมภาษณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น

แต่สิ่งที่ผมต้องการที่จะเน้นย้ำเป็นพิเศษก็คือ คุณสมบัติของผู้สมัคร ซึ่งท่านต้องอ่านอย่างละเอียดและพยายามศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด เช่น บริษัทที่ท่านต้องการสมัครทำกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งออกต่างประเทศ แต่ท่านทำงานบุคคล ท่านก็ต้องไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การส่งออกของประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจด้วย การดำเนินงานของบริษัทหรืออ่านจากนิตยสารที่เกี่ยวข้องประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ท่านต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมทั้งการเตรียมตัวที่ดี เพื่อที่ท่านจะได้ก้าวไปอีกก้าวในชีวิตการทำงาน 

(โปรดติดตามอ่านตอนที่ 2 ต่อครับ) 

**หากท่านผู้อ่านมีข้อแนะนำ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทความนี้ ทางผู้จัดทำยินดีน้อมรับข้อคิดเห็น และคำแนะนำต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงบทความให้ดีขึ้นในโอกาสต่อไปครับ

4 เมษายน 2550

หมายเลขบันทึก: 88481เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2007 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอแก้ข้อความช่วงที่เป็นแนวคิดว่า "ความรู้อาจเรียนทันกันได้"เป็น "ความรู้อาจเรียนทันกันหมด" ค่ะ และขอเสริมอีกประโยคว่า "ยกแต่ชั่วดีกระด้างอ่อนแก้ฤาไหว" หากมีความรู้อย่างเดียวแต่ไม่มีคุณธรรม ก็อาจมีจุดจบอย่างอดีตนายกทักษิณได้นะคะ

ขอขอบคุณข้อคิดข้อแนะนำดีคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท