สิ่งที่ สุจินดา เชิดชัย ไม่ได้ตอบ


บทบาทที่ภาคธุรกิจไทยพึงจะมี ถึงหน้าที่ความรับผิดชอบทางสังคม

สิ่งที่ สุจินดา เชิดชัย ไม่ได้ตอบ 

26 มีนาคม 2550 

ความสูญเสียของเหตุการณ์ไฟไหม้รถทัวร์ วันที่ 20 มีนาคม เวลาประมาณ 15.00 น. มีรายงานข่าวอุบัติเหตุผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดย พ.ต.ท. สำราญ โสรีกุน พนักงานสอบสวน สภ.อ. มวกเหล็ก จ.สระบุรี ได้รับแจ้งว่า เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ เกิดเหตุเพลิงลุกไหม้ โดยมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก บริเวณริมถนนมิตรภาพ เยื้องกับโรงเรียนมวกเหล็กวิทยา ฝั่งขาล่องเข้ากรุงเทพมหานคร

ในที่เกิดเหตุพบรถทัวร์ สีฟ้า ส้ม   ปรับอากาศชั้น 2 (ป.2) เลขทะเบียน 10 5320  กทม. สาย 25 43 วิ่งระหว่าง กรุงเทพฯ อุบลราชธานี ของบริษัท ศรีสงวนยานยนต์ จำกัด ถูกไฟไหม้ทั้งคัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ติดอยู่ภายในรถจำนวนมาก ส่วนที่หนีรอดออกมาจากตัวรถ ต่างได้รับบาดเจ็บจากไฟไหม้ 

ปัญหาและสภาพความสูญเสียครั้งนี้ เป็นสิ่งที่เราสามารถตรวจสอบได้ว่าไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นความผิดพลาดในตัดสินใจ และการแก้ปัญหาที่ผิดพลาดของรถโดยสารสาธารณะ เป็นภาพสะท้อนอันเจ็บปวด จากความตายของผู้โดยสารจำนวนมาก บนโศกนาฏกรรมที่หากเป็นญาติพี่น้องของเรา เราก็คงได้แต่พูดว่าทำไมต้องปล่อยให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้

และในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เราเห็นถึงปัญหาบางอย่าง จากกลไกการตรวจสอบระบบความปลอดภัยสาธารณะของสังคมไทย ว่ามีจุดบกพร่องใดบ้าง ซึ่งหากนับคุณูปการของปัญหาครั้งนี้ ก็คงจะทำให้เราได้เห็นโอกาสในการแก้ปัญหาบางอย่างในอนาคต เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย และเกิดหลักประกันของชีวิตและทรัพย์สินที่ครอบคลุมได้มากกว่านี้ ถ้าเราไม่เงียบเสียงในการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคเสียก่อน 

แต่ในขณะเดียวกัน ความหมายจากการแก้ปัญหา เมื่อสื่อมวลชนเริ่มต้นรายงานความสูญเสียที่มากขึ้น ผ่านคำจำกัดความแบบโศกนาฏกรรม จนกระทั่งไล่ลำดับถึงผู้ต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ว่าจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของพนักงานขับรถโดยสาร ที่ตัดสินใจขับรถต่อไป ขณะที่ไม่สามารถเข้าเกียร์ถอยหลังได้ หลังจากต้องหยุดซ่อมและหยุดพักรถเป็นระยะ หรือกระทั่งข้อมูลพื้นฐานว่า ระยะเวลาทำงานในฐานะพนักงานขับรถ มีอายุงานเพียง 6 เดือน หลังจากปรับความสามารถจากเด็กรถ

แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หากเราเชื่อมั่นว่า ไม่มีใครอยากต้องแบกความเจ็บปวด จากการขับรถเพื่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นนี้  แต่ประเด็นคำถามของสื่อมวลชน ก็แหลมคมเพียงพอ ที่จะทำให้กรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด ต้องออกมาตอบคำถามความปลอดภัยในการโดยสาร ของรถทัวร์ และรถโดยสารทั่วประเทศ

ประเด็นความรับผิดชอบค้นไปสู่สภาพของรถ ที่มีการดัดแปลงและต่อเติมสภาพ นานนับ 30 ปี จนต้องสอบถามต่อเนื่อง ถึงมาตรการตรวจสอบความปลอดภัย และกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง เสียงวิพากษ์ถึงมาตรการตรวจสอบ หลุดมาสู่ข้อเสนอของหน่วยงานภาครัฐ ให้มีการตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะระหว่างจังหวัดแบบเต็มระบบ ตรวจสภาพทั้งคันรถภายในระยะเวลา 2 ปี

ทำให้เกิดการสัมภาษณ์นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ซึ่ง คุณสุจินดา เชิดชัย ในฐานะนายกสมาคมฯ ได้ตอบคำถามในฐานะของตัวแทนกลุ่มประโยชน์ หรือสมาคมทางธุรกิจการค้า เฉกเช่นหอการค้าของผู้ประกอบการรถทัวร์ ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจน ว่าไม่เห็นด้วย และไม่เห็นว่าจำเป็นต้องทำ เพราะจะเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ  

คำตอบจากนายกสมาคมฯ ในนามของตัวแทนธุรกิจ ทำให้เราเห็นภาระบางอย่างในอนาคต ทำให้เราเข้าใจได้ว่า กลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มธุรกิจในประเทศไทย กำลังเลือกตัดสินใจเผชิญหน้าต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ด้วยการโดดเดี่ยวตัวเองไว้กับกำไรทางธุรกิจ โดยไม่คำนึงว่าคุณภาพชีวิตของคนไทยควรจะดีขึ้นมากกว่านี้  

น้ำเสียงน่าหดหู่จากการปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจ เพียงพอที่คนไทยซึ่งควรจะได้รับความปลอดภัย ในการเดินทางน่าจะคิดได้บ้าง โดยพวกเขาไม่จำเป็นต้องสูญเสีย จากการผิดพลาดในการปฏิบัติงาน การตัดสินใจที่ผิดพลาด หรือจากความไม่รัดกุมในด้านความรับผิดชอบทางธุรกิจ คำเปรียบเปรยพร้อมน้ำเสียงโอดครวญทุกครั้ง เมื่อให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงเวลาที่เรียกร้องขอขึ้นค่าโดยสารรถทัวร์ อันเนื่องมาจากเหตุผลของผู้ประกอบการรถโดยสารระหว่างจังหวัด รถโดยสารประจำทาง หรือจากรถทัวร์ทั่วประเทศ ทำให้เราเห็นว่า น้ำเสียงที่พร้อมจะออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของตัวแทนธุรกิจ กลับไม่ได้แสดงไมตรีจิต และความรันทดเสียใจต่อการสูญเสียครั้งนี้แม้แต่น้อย  

จนกระทั่งเราได้เห็นว่า น้ำเสียงจากการสัมภาษณ์สื่อมวลชน ได้ทำหน้าที่ตื้นเขินเกินกว่าที่จะสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบเชิงสาธารณะได้ ปกติแล้วน้ำเสียงให้การให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ในฐานะ เจ๊เกียว ของคุณ สุจินดา เชิดชัย มักจะมีบทบาทแหลมคมเสมอ ในยามออกมาปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจ หากนับความกล้าหาญเชิงภาพลักษณ์ ก็ต้องพิจารณาจากข่าว ในการขอเข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นข้อเสนอปรับราคาค่าโดยสารรถทั่วประเทศ โดยอ้างเหตุจากภาระต้นทุนของน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเกิดความสูญเสียขึ้น ลักษณะการออกมาให้สัมภาษณ์ กลับไม่มีน้ำเสียงของความรับผิดชอบ และไม่แสดงจริยธรรมทางธุรกิจให้ปรากฏขึ้นในสังคมไทย ด้านหนึ่งอาจจะมีเหตุผลประกอบที่น่ารับฟัง ว่าไม่ใช่ภารกิจโดยตรงของธุรกิจ หรือหน้าที่โดยตรงของสมาคมทางธุรกิจ ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสียงครั้งนี้ ในเมื่อบริษัทที่รับสัมปทาน ก็ได้รับการตรวจสอบแล้ว หรือต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

กระทั่งมุมมองที่ว่า ภาระต้นทุนทางธุรกิจที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นตัวตั้งสำคัญที่ทำให้เราเห็นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจรถทัวร์ทั่วประเทศ ต่างแบกความรับผิดชอบมากเพียงใด จนบ่อยครั้งที่เราพบเห็นน้ำเสียงในเชิงบุญคุณ ประกอบเป็นเหตุผลเข้ามาว่า หากรถทัวร์ไม่วิ่ง หรือไม่สามารถรับภาระต้นทุนได้ ประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน 

มุมมองที่ธุรกิจในประเทศไทย พยายามจะนำเป็นข้อต่อรอง หรือกระทั่งจับเนื้อหา ว่าเป็นความจำเป็นในชีวิตผู้คนของสังคมไทยแบบมัดมือชก หรือจับเป็นตัวประกัน จนกระทั่งนำประเด็นไปสู่บุญคุณทางธุรกิจนั้น ทำให้เราหลงลืมว่า ในแง่การบริหารงานทางธุรกิจ ไม่มีบริษัทใดจะยอมรับภาระการขาดทุนได้

ดังนั้นมุมมองที่บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นต้นทุนที่ยากปฏิเสธ จนกระทั่งรถทัวร์ไม่สามารถทำได้  สิ่งเหล่านี้ก็น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญ ในการปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทยเสียใหม่ หรือกระทั่ง ทบทวนต่อความปลอดภัยในการเดินทาง จนหน่วยงานภาครัฐต้องกลับมาพิจารณาว่า เมื่อบริษัทเอกชน หรือกลุ่มธุรกิจรายใดไม่มีความสามารถ หรือไม่มีความพร้อมทางธุรกิจ ก็น่าที่จะเปิดช่องเสรี เปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจ หรือกลุ่มบริษัทที่มีความสามารถในการบริหาร และจัดการธุรกิจรถทัวร์กลุ่มอื่น ได้มีโอกาสเข้ามารับสัมปทานเส้นทางรถที่มีกำไรบ้าง

โดยไม่จำเป็นต้องโอดครวญเฉพาะต้นทุนบังตา ที่ไว้คอยเพียรพยายามอธิบายเวลาที่ค่าน้ำมันแพงเท่านั้น หรือกระทั่งเป็นธุรกิจซึ่งมีการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยเพียงพอต่อผู้โดยสาร จนไม่ต้องมากล่าวอ้างถึงความยากลำบากในการประกอบธุรกิจรถโดยสารทั่วประเทศอยู่ร่ำไป 

เหตุผลหนึ่งที่เราก็ต้องยอมรับว่า ความเสี่ยงและค่าตอบแทนที่ได้รับของพนักงานขับรถ พนักงานต้อนรับ หรือกระทั่งเด็กรถได้รับนั้น ไม่ค่อยคุ้มต่อความจำเป็นในชีวิต หรือกระทั่งน้ำเสียงของการบริหารธุรกิจ ที่บอกว่าต้นทุนบริหารงานมีสูง จึงทำให้คุณภาพของพนักงานเหล่านี้มีเพียงเท่านี้

แต่ในด้านหนึ่ง ความจริงที่เราเข้าใจได้ก็คือ สภาพของกำไรในแต่ละปี ของบริษัทที่รับสัมปทานการเดินรถทั่วประเทศ แสดงผลต่อเนื่องในแต่ละปี จนเราต้องมานั่งถามว่า ส่วนต่างระหว่างพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ กับความปลอดภัยของผู้โดยสาร หายไปในจุดใดบ้าง 

ความเชื่อเบื้องต้น แบบไม่ต้องใจไม้ไส้ระกำมากนัก ก็คงต้องบอกว่า ไม่มีพนักงานคนใด จะโหดร้ายพอที่จะเลือกว่า หากเกิดอุบัติเหตุ และความผิดพลาด เขาจะเลือกให้เกิดความสูญเสียกับผู้โดยสาร หรือเขาเหล่านั้นจะยิ้มหน้าบานรับได้ จนกระทั่งออกมาบอกว่า มันเกิดแล้วจะให้ทำยังไง ในด้านคุณค่าความเป็นคน ก็น่าจะทำให้เราเชื่อได้ว่า ความเจ็บปวดสูญเสีย และความรับผิดชอบชั่วดี ว่าไม่อยากให้เกิดความสูญเสียเหล่านี้เกิดขึ้นในใจคนปฏิบัติงานแน่นอน แต่เหตุใด หรือลักษณะการปฏิบัติงานเช่นไร ที่ทำให้เขาเหล่านั้นจะแบกสภาพการขับรถแบบเสี่ยงภัยเช่นนี้ 

ด้านหนึ่งที่เราควรต้องยอมรับ ก็คือ คุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถโดยสารระหว่างจังหวัด ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการเดินทาง ถือเป็นหัวใจสำคัญที่คนไทย ผู้ที่ไม่มีโอกาสซื้อรถโดยสารส่วนบุคคล ไม่มีเงินขึ้นเครื่องบิน จำเป็นต้องนั่งและใช้บริการนั้น เป็นคุณภาพแบบที่เรารับรู้กันอยู่มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นบริการในระดับใด หากต้องการความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น เราก็จะต้องจ่ายเพิ่ม รวมทั้งการยอมเสียเวลาเพื่อแลกกับการเสี่ยงภัยนั้น ก็เป็นสิ่งที่คนไทยซึ่งเดินทางในต่างจังหวัดรับรู้มาโดยตลอด

มุมมองในการเลือกจะมีชีวิตไปถึงที่หมายนั้น ก็เป็นคำตอบแบบพื้นๆ ที่เราทุกคนก็ย่อมจะรับรู้ได้อยู่แล้ว ดังนั้น มุมมองของนายกสมาคมฯ และตัวแทนของกลุ่มธุรกิจ ที่ไม่มีแม้แต่การไปมอบดอกไม้ การไปเยี่ยมเยียน ซักถามถึงความเจ็บปวดจากปากของผู้ได้รับบาดเจ็บแม้แต่น้อย คือสิ่งที่คนในสังคมไทยหลายคนอยากถาม 

ข้อสังเกตจากการเรียกร้องของสื่อมวลชน และน้ำเสียงสลดหดหู่ของผู้คน ที่ต่างได้ยินข่าว ไม่ใช่การกล่าวโทษ หรือกระทั่งนำผู้กระทำความผิดขึ้นตะแลงแกง จนไม่นำพาต่อความจริงของเหตุการณ์ แต่สิ่งที่เราน่าจะทำให้นายกสมาคมธุรกิจแห่งนี้ ตอบสังคมไทยได้มากกว่านี้ ก็คือ คุณภาพในด้านความรับผิดชอบ และระดับความผิดชอบเหมือนที่เราเป็นคนไทยคนหนึ่ง จะพึงถอนหายใจ เวลารู้สึกรันทด รู้สึกเสียใจเจ็บปวดต่อความสูญเสียบ้าง ให้รู้ว่ายังมีจิตใจที่อ่อนไหวอยู่บ้าง 

แต่ในด้านหนึ่ง หากเราจะถามคำถาม ในเชิงประสิทธิภาพการบริหารงานทางธุรกิจ เราก็จะพบว่า นอกเหนือจากบทบาทในการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจ ที่จะแสดงความรับผิดชอบในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในเวลาที่อยากได้ดังใจนั้น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการไม่มีความรับผิดชอบทางสังคม ในการบริหารธุรกิจนั้น จะเป็นภาพสะท้อนรุนแรงที่ตามมาอย่างแน่นอน 

ในคำตอบของธุรกิจสมัยใหม่ มีการนำเสนอบทบาทของการโจมตีตัวเอง สำหรับธุรกิจที่ต้องพร้อมรับต่อความเปลี่ยนแปลง พร้อมรับต่อการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกัน หากเกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ผู้แข่งขันหน้าใหม่ หรือกระทั่งผู้ลงทุนต่างชาติ ที่พร้อมจะมาแบกภาระการขนส่งประชาชนไทย ให้ไปถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพและปลอดภัย หรือไม่ไปตายกลางทางนั้น ก็น่าจะเป็นภาพสะท้อนในทางธุรกิจ สำหรับสมาคมธุรกิจแห่งนี้ได้บ้าง 

การเลือกที่จะไม่โจมตีจุดบกพร่องทางธุรกิจของตัวเอง หรือเลือกที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจมากจนเกินไป จนหลงลืมว่าคุณภาพชีวิตของคนไทยมีอยู่จริงนั้น อาจเหมือนกับการถูกโจมตีทางธุรกิจ จากธุรกิจประเภทอื่น ที่เวลาไม่มีผู้แข่งขันหน้าใหม่ ก็พร้อมจะปะทะกับผู้บริโภคอยู่ร่ำไป กระทั่งเมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่ นักลงทุนแปลกหน้า หรือทุนข้ามชาติ เข้ามาแข่งขันในตลาดธุรกิจบ้านเรา ในแต่ละความหลากหลายของประเภทธุรกิจ กลุ่มธุรกิจไทยส่วนใหญ่ ก็เลือกที่จะใช้เหตุผลของความเป็นคนไทย หรือกระทั่งบอกว่า เป็นธุรกิจของคนไทยมากล่าวอ้าง 

ในขณะที่น้ำเสียงของผู้บริโภคคนไทย กลับนิ่งเฉย หรือนั่งเงียบ เมื่อค้นพบว่าคุณภาพจากสินค้าและบริการที่เขาเหล่านั้นได้รับจากผู้เล่นหน้าใหม่ดีกว่า โดยไม่จำเป็นต้องสนใจว่า อะไรคือธุรกิจคนไทยอะไรคือบริการและสินค้าไทยบ้าง เพราะว่าความทรงจำในอดีต ทำให้เขาจำได้ว่า เขาไม่ได้รับการบริการและสินค้าที่ดีเพียงพอต่อชีวิตเขา 

สิ่งที่ไม่ได้รับ และสิ่งที่ไม่ได้พูด นอกเหนือจากน้ำเสียงแสดงความเสียใจ และออกมารับผิดชอบทางสังคม  แม้สังคมไทยจะรู้ว่า นายกสมาคมไม่ใช่คนขับรถคันนั้น แต่สิ่งที่น่าจะทำให้เราช่วยอธิบาย ถึงสิ่งที่ควรจะพูด และควรจะให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชน สำหรับบทบาทผู้บริหารธุรกิจ ที่ได้ชื่อว่า ทำธุรกิจบนแผ่นดินไทย ซึ่งควรจะตระหนักว่าคุณภาพชีวิตของคนไทยมีค่า ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะซื้อบริการที่ถูกเพียงใด หรือกระทั่งตระหนักว่า เขาเหล่านั้นไม่ได้ปรารถนาที่จะมีจุดจบระหว่างทางเช่นนั้น

สิ่งเหล่านี้ คิดว่าเป็นสิ่งที่สังคมไทย และคนไทยที่หดหู่ต่อข่าวสาร ความสูญเสีย และโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ต่างต้องถอนหายใจ หากคิดว่าใครสักคนบนรถทัวร์คันนั้น เป็นญาติพี่น้องที่รักของเรา คำตอบถึงความรับผิดชอบทางสังคมของกลุ่มธุรกิจ ก็น่าจะมีเพียงเท่านี้ สำหรับสิ่งที่ยังไม่ได้ตอบ

หมายเลขบันทึก: 86674เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2007 02:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เหตุการณ์ไฟไหม้รถทัวร์ ทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบ ตั้งแต่คนขับรถผู้รับผิดชอบเบื้องต้น ขับรถเป็นอาชีพต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ คนขับเครื่องบินต้องผ่านการเรียนรู้เยอะกว่าจะได้ขับ คนเป็นครูกว่าจะได้อาชีพน้ำตาแทบกระเด็น คนขับรถทั้งที่เป็นอาชีพที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตผู้อื่นทำไหมเป็นกันได้ง่าย จะอาชีพอะไรก็แล้วแตกความรับผิดชอบ ความปลอดภัย โดยเฉพาะอาชีพขับรถต้องรับผิดชอบผู้โดยสาร ต้องนึกเสมอว่าผู้โดยสารมีหลายคนเขามีความสำคัญกว่าชีวิตเรา ถ้าตายขอให้ตัวเอง(ผู้ขับรถ)ขอตายคนเดียว นี้คือควมรับผิดชอบ  ต่อไปกรมขนส่งต้องตั้งโรงเรียนสอนขับรถยนต์โดยสาร แล้วสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุแต่งตั้งส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานขับรถให้กับบริษัทต่างๆต่อไปดีไหมครับ

ขอบคุณครับ

สำหรับการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน อย่างน้อยผมก็เชื่อมั่นว่า หากเรายืนยัน อธิบาย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และร่วมบอกกล่าวถึงสิ่งที่ควรจะเป็น ในเชิงผลประโยชน์สาธารณะร่วมกัน ของคนทุกคนในสังคม

ผมว่าสังคมไทย จะน่าอยู่ และเริ่มต้นที่พูดคุยกันด้วยเหตุผลมากขึ้น

สำหรับประเด็นการบรรจุพนักงานขับรถให้กับเอกชน

ผมก็เพิ่งเคยได้ยิน แต่อ่านประเด็นแล้วน่าสนใจมากครับ อย่างน้อยก็คิดว่า เป็นการสร้างมาตรฐานทางวิชาชีพที่ดีขึ้น

ธุรกิจกับความชอบธรรม มักจะสวนทางกันเสมอ

ประเด็นนี้ ไม่น่าจะเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ หลายครั้งก็เห็นสาเหตุ ผมคิดว่า ต้องพูดกันด้วยเหตุผลมากขึ้น พร้อมกับมาตรการที่เฉียบขาด ยึดถือชีวิตและความปลอดภัยชีวิตสูงสุด

  • การตรวจสภาพรถที่ละเอียด
  • การเข้มงวด พนักงานขับรถ

 

ส่วนประเด็น การตั้งโรงเรียนสอนขับรถยนต์ โดยสาร แล้วส่งไปยังบริษัทที่เดินรถ ตามที่คุณมงคลเสนอความคิดเห็นมาน่าสนใจมาก เพราะมีมาตรฐาน ที่ยอมรับ และเชื่อมั่นได้

น่าจะเป็นประโยชน์ในระดับนโยบายสาธารณะ

มีอีกมุมมอง และแนวคิดหนึ่งในการแก้ปัญหา

โดยเฉพาะการแก้ปัญหานโยบายสาธารณะ หรือนโยบายที่มีต่อผลประโยชน์โดยรวมของผู้คนในสังคมและชุมชน

นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมาย และการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ หรือแม้กระทั่งการเรียกร้องให้เกิดจิตสำนึกและความรับผิดชอบทางสังคมของภาคธุรกิจเอกชน

ข้อเสนอให้เรื่องของการพัฒนาประชาสังคม

เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ ควบคุม กำกับดูแลผลประโยชน์โดยรวม หรือผลประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องกดดัน เพื่อให้ภาครัฐใส่ใจ และกำกับดูแลชีวิตของผู้คนให้มากกว่านี้ การฟ้องร้องและนำคดีความขึ้นสู่ขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างให้เกิดบรรทัดฐาน ในด้านสิทธิมนุษยชนของผู้คนในสังคม

 รวมทั้งดำเนินการฟ้องร้องกับภาคเอกชน ที่ไร้ความรับผิดชอบทางสังคม ในฐานะที่ปล่อยปละละเลย ให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต และทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ ซึ่งรวมถึงการสร้างมิติของสิทธิผู้บริโภค

ไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงชื่อ แสดงความคิดเห็น ร่วมแสดงข้อมูลข่าวสารของภาคธุรกิจเอกชนที่ไร้ความรับผิดชอบ และก่อให้เกิดความเสียหาย จนกระทั่งการประท้วง เรียกร้อง รณรงค์ให้เกิดการต่อต้านสินค้าและบริโภคเหล่านั้น จนกว่าจะมีการดำเนินการแก้ไข โดยไม่ใช่การเคลื่อนเพื่อต่อต้าน กดดันในเชิงส่วนบุคคล แต่เป็นผลประโยชน์โดยรวมของผู้บริโภค ที่ไม่ควรถูกกระทำ จากความไร้สำนึก และไร้ความรับผิดชอบ

คิดว่า การสร้างภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะในมิติของสิทธิผู้บริโภค น่าจะเป็นทางออกในเรื่องนี้ ได้เช่นกัน หรือกระทั่งเป็นทางออก ในหลากหลายบริการและสินค้า ที่ผู้บริโภคเป็นผู้ถูกกระทำ จนก่อให้เกิดความเสียหาย โดยเป็นแนวทางที่เราหลีกหนีจากความเจ็บปวด จากการพึงพาอำนาจของภาครัฐ จนกระทั่งเราต้องรับทราบข้อมูลข่าวสารของความสูญเสียเหล่านี้ จนเจ็บปวดครั้งแล้วครั้งเล่า

 

ไม่ใช้บริการเชิดชัยทัวร์ตลอด
อ้างมาได้นะ E  KAE เกียว ว่าไม่จำเป็นต้องดูแลอะไรมากสำหรับคุณภาพ สภาพของรถโดยสาร เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการ แบกรับภาระมากขึ้น  มันดูเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเกินไป  สำหรับผม ถ้าเป็นนายกสมาคมผู้ประกอบการเนี่ย ผมให้ ความปลอดภัยในการเดินทางและความพึงพอใจที่มีให้กับผู้โดยสารเป็นอันดับแรก อย่านึกว่าเงินจะซื้อได้ทุกอย่างนะ

ผ่านมาเกือบสิบปีแล้วก็ยังคงเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

รถทัวร์สายกรุงเทพ–เชียงใหม่ คว่ำสยอง กู้ซากรถพบผู้เสียชีวิตติดซากศีรษะหาย

วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เวลา 08:49 น.

จากกรณีรถทัวร์พลิกคว่ำตกข้างทาง มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ถนนสายเอเชีย กม.132+300 ขาขึ้นภาคเหนือ บริเวณ ต.เสือโฮก อ.เมือง จ.ชัยนาท บริษัท พรพิริยะทัวร์ สายกรุงเทพ – เชียงใหม่ ทะเบียน 10-6419 เชียงใหม่ พลิกคว่ำในสภาพนอนตะแคงในร่องน้ำข้างทาง สภาพพังยับ พบร่องรอยชนต้นไม้ และลงไปชนสะพานทางเข้าร้านลาบยโสขาด

โดยความคืบหน้า เมื่อเวลา 05.30 น. ผู้บาดเจ็บชาย 10 ราย หญิง 11 ราย นำส่ง รพ.ชัยนาท รพ.สรรพยา รพ.มโนรมย์ พบผู้เสียชีวิตเป็นพนักงานประจำรถหญิง 1 คน ชื่อกาญจนา ไม่ทราบนามสกุล อายุ 50 ปี ซึ่งหลังจากนำซากรถขึ้นจากร่องน้ำ พบผู้เสียชีวิตติดคาซากรถ 2 ราย เป็นชาย 1 ราย หญิง 1 ราย ไม่ทราบชื่อ และที่อยู่ทั้ง 2 ราย เนื่องจากไม่มีเอกสารที่ตัวเลย ผู้เสียชีวิตไม่มีศีรษะและยังหาศีรษะไม่พบ

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้รถทัวร์คันนี้เบรกของล้อหน้าด้านขวาชำรุดและได้ถอดออก ทำให้เหลือเบรกเพียง 3 ล้อ จึงทำให้รถเบรกไม่อยู่และเสียหลักพลิกคว่ำตกข้างทาง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายดังกล่าว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท