ยูนุสกับธนาคารหมู่บ้าน Grameen Bank


การสร้างตัวชี้วัดความสำเร็จ โดยถือเอาจากการก้าวพ้นเส้นความยากจนของสมาชิก เส้นความยากจนที่ว่านี้ธนาคารตั้งเกณฑ์ขึ้นเองโดยมองสวัสดิการขั้นพื้นฐานของสมาชิกเป็นตัวตั้ง

ได้ชมรายการชีพจรโลกของเครือเดอะเนชั่นที่สัมภาษณ์ศาสตราจารย์ยูนุสในช่วงครึ่งชั่วโมงหลัง (เพราะต้องแบ่งให้ที่บ้านดูละครในช่วงครึ่งแรก)  สิ่งที่ประทับใจที่สุดมีอยู่ 3 เรื่อง 

เรื่องแรกคือ ความคิดริเริ่มและการออกแบบระบบที่สอดคล้องกับโจทย์ของพื้นที่ซึ่งมีปัญหาในเชิงวัฒนธรรมแตกต่างจากบ้านเราอยู่พอสมควร   โดยเฉพาะในเรื่องความแตกต่างของหญิงชาย

เรื่องที่สอง  คือ  การสร้างตัวชี้วัดความสำเร็จ โดยถือเอาจากการก้าวพ้นเส้นความยากจนของสมาชิก  เส้นความยากจนที่ว่านี้ธนาคารตั้งเกณฑ์ขึ้นเองโดยมองสวัสดิการขั้นพื้นฐานของสมาชิกเป็นตัวตั้ง   (ไม่ใช่มองความสำเร็จของโครงการจากความสามารถในการคืนหนี้  แล้วแบ่งเกรดสมาชิกเป็น หนึ่งเอ สองเอ สามเอ  อันเป็นการถือเอาผลกระทบต่อธนาคารเป็นตัวตั้ง) 

เรื่องที่สาม คือ การพยายามทำความเข้าใจว่า หนี้ที่คืนไม่ได้ อาจเป็นเพราะสมาชิกประสบปัญหาจริงๆ  ไม่ใช่เพราะสมาชิกต้องการเบี้ยวหนี้  ธนาคารจึงต้องช่วยหาทางออก    

อย่างไรก็ดี   มีคนมองต่างมุมในเรื่องความสำเร็จของ Grameen Bank  ซึ่งแปลว่า "ธนาคารหมู่บ้าน"

เช่น บทความเรื่อง MICROCREDIT, MACRO PROBLEMS”   หรือ  สินเชื่อขนาดเล็ก  ปัญหาขนาดใหญ่   โดย  วาลเดน  เบลโล (Walden Bello)   เขียนลง นสพ.  The Nation เมื่อ 15  ตุลาคม 2549  หลัง  มูฮัมหมัด ยูนูส  (Muhammad Yunus) ผู้ก่อตั้งธนาคารประชาชน Grameen Bank  ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

Bello เป็นศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาและการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์  และผู้อำนวยการ Focus on the Global South    เขียนหนังสือหลายเล่มที่แปลเป็นไทย  เป็นนักวิชาการสายต้านโลกาภิวัตน์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของเอเชียอาคเณย์ 

งานของเบลโลเริ่มต้นด้วยการให้ภาพว่า โครงการของศาสตราจารย์ยูนูสเป็นที่ชื่นชมของ Hillary Clinton และประธานธนาคารโลก Paul Wolfowitz ว่าสร้งโอกาสให้แก่สตรีและครอบครัวที่ยากจนถึง 75 ล้านคน 

 ต่อมาเบลโลก็เริ่มชี้ความเห็นที่ต่าง   ว่าจริงๆแล้ว การเงินชุมชนทำให้สตรียากจนหลายคนได้ยืดเวลาความจนเรื้อรังต่อไปอีก   ส่วนใหญ่คนที่ได้ประโยชน์เป็นคนจนในระดับกลาง ไม่ใช่คนจนที่สุดหรือจนมาก  มีเพียงไม่กี่คนที่จะบอกได้ว่า ตนสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างถาวร และไม่กี่คนจะบอกได้ว่าระดับการพึ่งตนเองและความสามารถในการส่งลูกเรียนหนังสือเพราะได้รับสินเชื่อ จะแสดงว่าพวกเขาได้ขยับเข้าสู่ความมั่งคั่งในระดับชนชั้นกลาง

เบลโลอ้างถึงงานสองชิ้น  (ซึ่งเราไม่แน่ใจว่า เป็นการสังเกตผลในบังคลาเทศ หรือในประเทศอื่นๆที่นำระบบนี้ไปใช้ เพราะดูมีอะไรบางอย่างต่างจากภาพที่เราเห็นในรายการชีพจรโลก)

Gina Neff ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ บอกว่า  หลังการกู้ยืมมา 8 ปี  ร้อยละ 55 ของสมาชิกยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ด้านโภชนการพื้นฐาน  ดังนั้นจึงยังต้องกู้ยืมเงินเพื่อซื้ออาหาร ไม่ใช่เพื่อการลงทุนประกอบการ

Thomas Dichter บอกว่า แม้สมาชิกจะเริ่มใช้ทรัพยากรของตัวเองในการประกอบการได้ แต่ไม่ได้ก้าวหน้านักเพราะตลาดจำกัด   เงินกู้มักถูกผันไปสู่การบริโภค   การเงินชุมชนยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการประกอบการได้   คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดไม่ใช่คนที่ขาดแคลนสินเชื่อจริงๆ แต่เป็นคนที่ต้องการเงินสินเชื่อก้อนใหญ่ขึ้น ซึ่งมักเป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีกำหนดจ่ายคืนต่างจากเงินกู้ก้อนอื่นๆที่ตนมีอยู่

พูดอีกอย่างหนึ่ง  สินเชื่อขนาดย่อมนี้  เป็นเครื่อมือที่ยิ่งใหญ่สำหรับการอยู่รอด  แต่ไม่ใช่เครื่องมือการพัฒนา   

การพัฒนาในสังคมปัจจุบันยังต้องการทุนเข้มข้น การลงทุนของรัฐในการการสร้างอุตสาหกรรม และยังมีโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกัน  เช่น การกระจุกตัวของการเป็นเจ้าของที่ดินที่ดูดเอาทรัพยากรของชาวบ้านไปอย่างเป็นระบบ    การเงินชุมชนจบลงด้วยการดำรงอยู่คู่ขนานไปกับโครงสร้างสังคมแบบนี้  และทำหน้าที่เป็นเพียงตาข่ายความปลอดภัยรองรับคนจนที่ถูกกีดกันหรือถูกทำให้อยู่ชายขอบโดยระบบสังคมดังกล่าว  แต่ไม่ได้ช่วยในการแปลงโครงสร้างสังคม 

  เบลโลจึงบอกว่า ปล่อยให้ประธานธนาคารโลกฝันไปเถอะว่า  การเงินชุมชนจะช่วยจบปัญหาความยากจนของตน 75 ล้านคนได้

 

การเงินชุมชนได้รับความสนใจมากในปัจจุบันเพราะเป็นเครื่องมือในกลไกตลาดที่ประสบความสำเร็จ  ในขณะที่โครงการพัฒนาอื่นๆในกลไกตลาดได้ล้มเหลว  โดยเฉพาะ การเปิดเสรีทางการค้า  การแปลงให้เป็นเอกชน 

สินเชื่อชุมชนจึงเป็นความสำเร็จบนความไร้เสถียรภาพจากความล้มเหลวของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระดับมหภาค

เบลโลปิดท้ายว่า ยูนูสสมควรได้รับการยกย่องในฐานะผู้ช่วยให้สตรีจำนวนมากอยู่รอดภายใต้ความยากจนได้  แต่ไม่ใช่  ผู้ประกอบการทางสังคม หรือเป็นทุนนิยมทางสังคม (social capitalism) ที่มีกระสุนวิเศษที่จะฆ่าความยากจนหรือส่งเสริมการพัฒนาได้จริง

มุมมองของเบลโลเป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าคิด... เป็นมุมมองของคนที่อยากเห็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งมิใช่เรื่องง่ายและยังหาหนทางที่เป็นรูปธรรมจริงที่มีประสิทธิผลมิได้

ดูงานของยูนุสแล้วกลับมานึกถึงองค์กรการเงินชุมชนของไทย  มีจุดต่างอยู่หลายเรื่อง(ด้วยความที่บริบทต่างกัน)  คิดว่า ปราชญ์ชาวบ้านเราเก่ง  ระบบของเราดีและน่าสนใจไม่แพ้ยูนุสเลย

คำสำคัญ (Tags): #muhammad yunus#grameen bank#microcredit
หมายเลขบันทึก: 86663เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2007 00:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • อ่านทุกตัวอักษรครับ :-)
  • ผมเห็นอย่างนี้ครับ บางที คนมอง (นักวิชาการ) กับคนทำ (นักปฏิบัติ) คงคิดกันคนละเรื่อง ถ้าให้นักวิชาการลงปฏิบัติ แน่นอนว่า คงทำไม่ได้ เพราะเอาแต่คิดว่า "มันจะเป็นไปได้หรือ ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องเจออย่างนี้ แล้วจะแก้อย่างไร" ประมาณนี้ ส่วนนักปฏิบัติ คงไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่า ทำอย่างไรให้ดีกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ ดีกว่างอมืองอเท้าไม่ทำอะไรเลย
  • จากการดูรายละเอียดเรื่องนี้ (บางครั้งเสียงหาย บางครั้งภาพเป็นคลื่น เฉพาะช่อง ๙) เท่าที่ประมวลกับเรื่องอื่นๆพบว่า ๑) เบื้องหลังของที่สุดในความทุกข์ยากจะมีดอกไม้ผลิบานอยู่เสมอครับ ๒) ดูเรื่องนี้เสร็จทำให้ผมต้องไปเปิดหนังสือ ศาสนาเปรียบเทียบ ของ อ.ฟื้น ดอกบัว ม.ศิลปากร เพื่อตรวจสอบความไม่ค่อยแน่ใจบางอย่าง พบว่า ช่วง ๑๐๐ ปี ก่อน พ.ศ. มีนักคิดและนักปฏิบัติเชิงคุณค่าของเอเชียอย่างน้อย ๔ คนที่มีอิทธิพลต่อระบบคิดคือ ประเทศจีน ได้แก่เล่าจื้อและขงจื้อ ประเทศอินเดีย ได้แก่ พระพุทธเจ้า และศาสดามหาวีระ และมาคิดถึงปัจจุบันในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา มีคนเอเชียจำนวนหนึ่งเช่น ยูนุส พุทธทาส พระพรหมคุณาภรณ์ และอีกหลายคนของเอเชีย คน ๒ ชุดนี้มีจุดร่วมทางความคิดแบบใด อิทธิพลความคิดส่งผลอย่างไร ความคิดเช่นนั้นเหมาะสมในปริบทหนึ่งๆเท่านั้นหรือ อะไรประมาณนี้ครับ ๓) คำว่า จน ที่ตั้งเกณฑ์ไว้ล้วนแต่จน วัตถุ แต่ดูเหมือนคนไม่ได้จนใจที่จะมีชีวิตอยู่รอดดังนั้น คำนี้น่าจะเหมาะครับ "จนแต่ไม่จน" เคยได้ยินคำพระ (จำไม่ได้ว่าท่านใด) "อยู่อย่างจนไม่จน" (น่าจะเป็นหลักเศรษฐศาสตร์ได้กระมัง) ผมจึงมองว่า ความจนไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหรือน่าเกลียดแต่ประการใด
  • มาคารวะครับผม :-)

พลังกระทำการของการเงินชุมชนแม้ว่าจะมากมายแต่ก็มีข้อจำกัด และสิ่งที่ขบวนการจะทำต่อไปคือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งต้องเชื่อมต่อกับการเมือง

ได้แต่หวังว่าพรรคการเมืองของยูนุสจะชนะการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลเพื่อสวัสดิการชุมชน

อาจารย์เอกคะ   ตอบช้าไปนิด ไม่ทราบว่าอาจารย์จะได้แวะมาอ่านอีกรึเปล่า

เห็นด้วยว่าความจนไม่น่ารังเกียจ ไม่น่ากลัว  แต่ถ้าขัดสนปัจจัยพื้นฐานก็ทำให้ชีวิตลำบาก  

สำหรับตัวเองคิดว่า  สิ่งที่น่ารังเกียจคือความเหลื่อมล้ำ  และการดูถูกคนอื่นค่ะ

ส่วนปรัชญาตะวันออกนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ

เรื่องของจิตใจ ดิฉันคิดว่าไม่จำกัดเฉพาะบริบท  เพียงแต่ตะวันตกเคยมองข้าม (เพราะเหตุใด คงต้องถามผู้รู้) 

อาจารย์ภีมคะ    หวังเหมือนกันค่ะว่า ยูนุสจะสร้างการเมืองที่ทำให้มีพลังจากล่างขึ้นบนได้   

แต่การเมืองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  ไม่ทราบว่า การเมืองบังคลาเทศกับการเมืองไทย ที่ไหนจะ "เล่นยาก" กว่ากัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท