เหนื่อยให้คุ้มค่า


เหนื่อยให้คุ้มค่า โดย...ธานินทร บุญยะกาพิมพ์

เหนื่อยให้คุ้มค่า
 โดย...ธานินทร  บุญยะกาพิมพ์
 ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร

เช้าวันจันทร์ ณ โรงเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง  ผู้บริหารของโรงเรียนกำลังปรึกษาหารือกัน เกี่ยวกับการเตรียมตัวรับการประเมินภายนอก โดยผู้ประเมินมาจาก สมศ. ………………..

ผ.อ.: โรงเรียนได้รับแจ้งจาก สมศ. ว่าจะเข้าประเมินภายนอก ภายใน 6 เดือนข้างหน้าผมกำลังคิดว่าเราน่าจะจัดเตรียมคนที่จะมาช่วยทำงานนี้มากขึ้นกว่าเดิม ไม่ทราบว่าทุกท่านมีความเห็นว่าอย่างไร 
รองฯ: ผมคิดว่าในระยะเวลาอีก 6 เดือน เป็นช่วงเวลาที่ไม่มากเท่าใดนัก การเตรียมการต่างๆ น่าจะหาคนที่สามารถทำงานได้จริง มีความละเอียดถี่ถ้วน ไม่มีปัญหาในการทำงาน
ผ.อ.:  ผมก็คิดเช่นนั้น แต่ผมว่าน่าจะมองดูคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ด้วยนะ และที่สำคัญน่าจะเป็นคนที่เก่งในเรื่องการคิดเชิงระบบและรู้จักการผ่อนสั้นผ่อนยาว
รองฯ: ผมเห็นด้วยครับ ผมขอเสนอครูสมชาย เขาเป็นคนรับผิดชอบงาน มีความละเอียด เอาจริงเอาจังกับการทำงาน ขยัน ไม่มีปากมีเสียง ให้ทำอะไรก็ทำทุกอย่าง
ผ.อ.: ผมเห็นด้วย สมชายนี่ขยันจริง ๆ ละเอียดดี  ผมคิดว่าอีกคนที่คงต้องให้มาช่วยดูแลงานด้านนี้ คือครูดนุดล เพราะเขาเป็นคนเก่ง มองอะไรเป็นระบบดี มีความคิดสร้างสรรค์ วิเคราะห์งานเก่ง  คนนี้ความรู้ดี
รองฯ: ผมเห็นด้วยครับ ครูดนุพลนี่ ความรู้แกดีมาก และยังปรับใช้กับการทำงานของแกได้ดีจริงๆ ผมขอเสนอทั้ง 2 คนเลยเลยครับ ไม่ทราบว่าท่านผู้อำนวยการคิดอย่างไรครับ
ผ.อ.: ผมไม่ขัดข้อง และคนอื่นๆ ก็ขอให้เป็นไปตามที่หัวหน้างานประกันคุณภาพเขาเสนอมาก็แล้วกัน ท่านรองฯ ก็ไปดำเนินการออกคำสั่งได้เลย ให้ครูสมชายมาช่วยทีมงาน และให้ครูดนุพลมาช่วยดูแลความเรียบร้อยของทุกงาน

จากการสนทนาของผู้อำนวยการฯ และรองผู้อำนวยการฯ โรงเรียนดังกล่าวข้างต้น น่าจะมีข้อสังเกตได้ว่า ครูสมชาย และครูดนุพลเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารให้เข้ามาช่วยทำงานและดูแลงานที่นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะน่าจะหมายถึงชื่อเสียงและความสำเร็จในภาพรวมของโรงเรียน คำถาม
ที่เกิดขึ้นต่อมา คือ ทำไมผู้บริหารจึงไว้ใจครู 2 ท่านนี้ ผมว่าเหตุผลคงเป็นที่ประจักษ์ในการสนทนา แต่ผมกำลังให้ความสนใจกับการที่ครูทั้ง 2 ท่านที่จะต้องเข้ามาทำงานในช่วง 6 เดือนต่อไปนี้ว่า ทั้ง 2 ท่านคงต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก และผลที่เกิดขึ้นคงเป็นที่ยอมรับกันว่างานที่เกิดจะต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ทั้งนี้เป็นเพราะความร่วมมือของทุก ๆ คนในทีมงาน และที่สำคัญมีมือดี อีก2 คนเข้ามาร่วมทีม แต่กว่างานจะสำเร็จก็เหนื่อยกันอย่างแสนสาหัส

มาพิจารณากันที่ข้อมูลครู 2 ท่านที่ได้รับเลือกเข้ามาทำงาน ครูสมชายเป็นครูชำนาญการ ได้รับเลือกให้เข้ามาช่วยทีมงานทำงานด้วยความที่ละเอียด ขยัน ฯลฯ ส่วนครูดนุพลเป็นครูชำนาญการพิเศษได้รับเลือกให้เข้ามาดูแลงาน เพราะเป็นคนเก่ง มีความรู้ดี ฯลฯ เมื่องานประเมินเสร็จสิ้น พบว่าทั้งสองคนเหนื่อยมาก เพราะได้รับการคาดหวังสูงจากผู้บริหาร แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้ทั้ง 2 หายเหนื่อยได้อย่างทันทีทันใด เพราะคณะกรรมการประเมิน มีมติให้โรงเรียนผ่านการประเมินระดับ ดี

ครูทั้ง 2 ได้รับความไว้วางใจเหมือน ๆ กัน ครูทั้งสองทำงานหนักเหมือน ๆ กัน ครูทั้ง 2 เหนื่อยมากเหมือน ๆ กัน ครูทั้ง 2 หายเหนื่อยเพราะงานสำเร็จเหมือน ๆ กัน แต่ครูทั้ง 2 คนนั้นมีความไม่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ เขายืนอยู่บนถนนแห่งความสำเร็จคนละสายกัน ครูสมชายยืนอยู่บนถนนที่เรียกว่า ชำนาญการ ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 3,500  บาท เงินเดือนตันที่ 32,250 บาท ส่วนครูดนุพลยืนอยู่บนถนนที่เรียกว่า ชำนาญการพิเศษ ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 11,200 บาท และเงินเดือนตันที่ 45,620 บาท

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ผมภูมิใจกับครูทั้ง 2 ท่านนะครับที่ประสบความสำเร็จดัวยความสามารถของตนเองบนความเหน็ดเหนื่อยที่ยากจะหาคนทำได้เช่นนี้ เป็นลักษณะที่สร้างความโดดเด่นเหนือเพื่อนร่วมงาน ผมขอย้อนถามท่านผู้อ่านว่าท่านอยากเป็นแบบครูสมชาย หรือครูดนุพลครับ ซึ่งไม่ว่าท่านจะเป็นแบบใดก็ตามผมก็ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของท่านที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ พร้อมกับที่ท่านจะต้องแบกรับภาระความเหน็ดเหนื่อยไว้อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ซึ่งนั่นคือความสุขของครูทั้ง 2 ท่าน นับว่าเหนื่อยแล้วคุ้มค่านะครับ

ผมอยากขอสรุปลักษณะของครูทั้ง 2 ท่านเพื่อที่จะได้เป็นแนวทางสำหรับท่านผู้อ่านว่าการที่จะเหนื่อยให้คุ้มค่านั้นควรปฏิบัติตัวอย่างไร

 ลักษณะเด่นของครูสมชาย              
1.  มีความรับผิดชอบ   
2.  มีความละเอียดถี่ถ้วน   
3.  เอาจริงเอาจังกับการทำงาน    
4.  มีความขยัน อดทน   
5.  ไม่เรื่องมาก ไม่เถียง   
6.  ทำทุกอย่างตามกฎระเบียบ  
7.  สนใจใฝ่รู้    
8.  ปฏิบัติงานตามแผนงานที่กำหนด  

 ลักษณะเด่นของครูดนุพล
1.  มีความรับผิดชอบ
2.  มีความละเอียดถี่ถ้วน
3.  เอาจริงเอาจังกับการทำงาน
4.   มีความขยัน อดทน
5.  ไม่เรื่องมาก ไม่เถียง
6.  ทำทุกอย่างตามกฎระเบียบ
7.  สนใจใฝ่รู้ และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
8.  ปฏิบัติงานตามแผนงานที่กำหนด ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์
9.  มีความคิดสร้างสรรค์
10.  มีความคิดเชิงระบบที่ประยุกต์องค์ความรู้ทั้งมวล
11.  มีความสามารถในการสื่อสารเป็นอย่างดี

การจะเลือกเป็นแบบครูสมชายหรือครูดนุพล ท่านผู้อ่านคงต้องสำรวจตัวท่านเองว่าอยากเป็นแบบใด และพยายามทำตัวให้ครบตามคุณลักษณะที่กำหนด แต่มิได้หมายความว่าเมื่อท่านปฏิบัติตามแบบดังกล่าวแล้วท่านจะเหนื่อยอย่างคุ้มค่านะครับ เพราะยังมีตัวแปรอื่น ๆ อีกซึ่งผมจะนำเสนอในโอกาสต่อไป

อ่านข้อมูลได้ที่ http://www.pjtc.ac.th/index.php

 

หมายเลขบันทึก: 86127เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2007 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท