กรณีศึกษา : ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)


ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี หรือ ทีเอ็มซี (Technology Management Center) อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้การบริหารงานของ “ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์” รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการทีเอ็มซี ประโยคเด่นคือ "ค่าแรงแพงสมองถูก"

สิ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาขึ้นมายืนบนลำแข้งของตัวเอง และก้าวออกไปแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมต้องมีการปรับตัวและพัฒนาตัวเอง โดยการนำเอาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนกำลังคนและเวลา แต่หลายคนอาจคิดว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีอาจจะต้องใช้เงินทุนมหาศาล หรือ มีความยุ่งยากในการเข้าหานักวิจัยเพื่อรับความช่วยเหลือ

 

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของการที่ IT Digest พาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี หรือ ทีเอ็มซี ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้การบริหารงานของ “ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์” รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการทีเอ็มซี ส่วนมุมมองวิสัยทัศน์ ในการทำงาน รวมถึงก้าวต่อไปของศูนย์แห่งนี้ จะเป็นอย่างไร เชิญติดตามได้ ณ บัดนี้...

IT Digest: อยากให้เล่าที่มาที่ไปของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี?


ศ.ดร.ชัชนาถ: เป็นที่เข้าใจกันมาแล้วว่า การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีการวิจัยและพัฒนา ทางสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ก็มีศูนย์วิจัยและพัฒนาอยู่ 4 ศูนย์ คือ เนคเนค เอ็มเทค ไบโอเทคและนาโนเทค อย่างที่ทราบ ทางมหาวิทยาลัยก็มีการวิจัยเช่นเดียวกันกับองค์กรภาครัฐต่างๆ ไม่ว่า จะเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือแม้แต่  และกระทรวงสาธารณสุข ก็มีงานวิจัย

ในแง่ของ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (Technology Management Center: TMC) ก็มีหน้าที่นำงานวิจัยต่างๆ ออกไปสู่ตลาด ควบคู่กับการรับฟังความต้องการของตลาดเพื่อนำมาวิจัยและพัฒนาต่อยอด โดยการบริการจัดการเทคโนโลยีจำเป็น เพราะมีผู้ที่ทำวิจัยและผู้ที่อยากจะได้งานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เท่ากับเป็น 2 ทางตาม ที่กล่าวมา ขณะเดียวกันเราก็ต้องนำเอาผลการวิจัยและความต้องการกลับมาให้นักวิจัยได้ทราบ ไม่เช่นนั้น ตรงนี้ เราจะหาไม่เจอ   


IT Digest: หมายความว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดการจัดการด้านเทคโนโลยีในแบบที่ควรจะเป็น?

ศ.ดร.ชัชนาถ: น่าจะพูดตามตรงว่า เราไม่เคยจัดระบบการบริหารงานประเภทนี้ แบบเป็นทางการ ห้องทดลองเมื่อได้ผลงานก็ต้องนำไปสู่การใช้ประโยชน์ เหมือนกับเราลงแข่งวิ่งแบบเดี่ยว วิ่งคนเดียวตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งที่ในคนหนึ่งคนย่อมมีความสัดทัดในหนึ่งเรื่องไม่ใช่ทุกเรื่อง การเป็นนักวิจัยที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นนักการตลาดที่ดี ตรงนี้ เหมือนกับการวิ่งผลัดมากกว่า
 
งานวิจัยมีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ แล้วการจัดระบบให้ครบวงจร คือ ความคิดที่เป็นแนวหน้าไปสู่การผลิต แล้วนำเอาความต้องการจากการผลิตกลับมาสู่ห้องวิจัย นี่คือ การจัดการที่ครบวงจร เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากกว่าจะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ เพราะทุกคนมีข้อจำกัด ประเทศไทยก็มีข้อจำกัดทั้งในเรื่องงบประมาณ กำลังคน และเวลา ดังนั้น จึงต้องบริการให้ดีในสิ่งที่เรามีจำกัดว่า เราจะทำอะไรใหม่ได้บ้าง

IT Digest: ดังนั้น มีกลยุทธ์ในการผลักดันให้ภาคเอกชนสนใจนำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปต่อนยอดในเชิงพาณิชย์อย่างไร?

ศ.ดร.ชัชนาถ: เป้าหมายของทีเอ็มซี คือ การจัดการเทคโนโลยีให้ครบวงจรเพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก โดยเรามีภาระกิจ 5 -6 ด้าน คือ 1) การถ่ายทอดเทคโนโลยี 2) สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี 3) พัฒนากำลังคน 4) วิจัยนโยบาย 5) สร้างความตระหนักและ 6) สร้างงานวิจัยเฉพาะด้าน เช่น ที่ศูนย์กำลังทำอยู่ในขณะนี้ คือ โซลาร์เซล หรือเซลพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นโครงการนำร่องให้ดูเป็นตัวอย่าง จะเป็นได้ว่า โครงการของเราขาดตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ต้องไปพร้อมๆ กัน

กลยุทธ์ของเราต้องการสร้างสูตรสำเร็จเพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาด้านผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต หรือ การคิดผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาด การจะสร้างสูตรสำเร็จต้องมีกลไกในการพัฒนานั่น คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศขึ้นไปสู่ระดับการวิจัยและพัฒนา ขณะเดียวกันก็ช่วยในการสร้างผู้ประกอบการใหม่  การใช้คำว่า ระดับวิจัยนั้น มาจากธนาคารโลกได้แบ่งระดับอุตสาหกรรมออกเป็น 4 ระดับ ต่ำสุดคือ การใช้แรงงาน ขั้นที่ 2 เป็นการใช้ฝีมือ ขั้นที่ 3 เป็นการใช้เทคโนโลยีเสริมและขั้นที่ 4 คือ การวิจัยและพัฒนาเป็นหลัก

ในส่วนของเราเองแบ่งเป็น 2 ระดับหยาบๆ คือ การสร้างผู้ประกอบการใหม่เท่ากับว่า เราเร่งสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมในระดับที่ 4 โดยเน้นตรงนี้ ควบคู่ไปกับกลไกอื่นๆ เพื่อจูงเขาเดินขึ้นบันได โดยทีเอ็มซีจะเอาขั้นที่ 2 ขึ้นขั้นที่ 3 และเอาขั้นที่ 3 ขึ้นไปขั้นที่ 4 แต่ไม่ลงไปที่ขั้นที่ 1 ด้วยความจำกัดของงบประมาณและเวลากับคนที่มีอยู่ โดยเฉพาะการใช้โครงการ ITAP: Industrial Technology Assistance Program ที่เป็นเรือธงของเราและเป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยเรานำเอาโครงการ IRAP: Industrial Research Assistance Program ของประเทศแคนนาดามาดัดแปลงให้เข้ากับประเทศไทย โดย National Research Center ของแคนนาดาได้ส่งคนเข้ามาช่วยเหลือเรา 3 ปี

รูปแบบการทำงานจะส่ง Industrial Technology Advisor: ITA หรือ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเข้าไปสำรวจความต้องการตามโรงงานต่างๆ คนเหล่านี้ เหมือนหมอตรวจโรคทั่วไปที่เข้าไปตรวจแล้ววินิจฉัยอาการว่า ป่วยเป็นโรคอะไร แล้วต้องไปหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางไปให้โรงงาน ตรงนี้ เป็นส่วนสำคัญแล้วจึงจะให้ผู้เชี่ยวชาญอยู่กับโรงงานประมาณ 3-6 เดือน ขณะนี้ เราได้ติดต่อกับโรงงานไปแล้วกว่า 5,000 แห่ง ในจำนวนนี้ ได้เริ่มวินิจฉัยอาการแล้ว 1,500 บริษัท เอาคนไปช่วยแล้วเกือบ 1,000 บริษัท

การดำเนินงานของ ITAP ทำมา 13 ปีแล้ว จากช่วงแรกใช้คน 1-2 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญจากแคนนาดาเข้าไปในโรงงานเมื่อก่อนเป็นชาวต่างประเทศ 80% แต่คนเหล่านี้ เป็นอาสาสมัครไม่มีเงินเดือน ขณะนี้ 80% ดังกล่าว เป็นคนไทยแล้ว ในเมืองนอกเขาจะมีศูนย์กลางให้ภาคอุตสาหกรรมมาดึงตัวผู้เชี่ยวชาญไปให้คำปรึกษา ส่วนเมืองไทยเราต้องเจาะเข้าไปเอง ทีละภาควิชา ในแต่ละคณะของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อสร้างฐานข้อมูลนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ แต่เราก็ไม่ได้มีมากเป็นพันคนเหมือนต่างประเทศ ตรงนี้ เราจะมีข้อมูลว่า ผู้เชี่ยวชาญคนนี้ เรื่องนี้ ระดับกี่ดาว งานไม่สำเร็จก็มีแต่น้อยมาก 5%

 ตรงนี้ นอกจากการพัฒนาให้เป็นคนไทย 80% ต้องมีการพัฒนา 2 ฝั่ง โดย TAP จะเป็นผู้ติดต่อโรงงานและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากก็ไม่อยากทำงานกับโรงงาน โดยเฉพาะอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพราะเขามีหน้าที่สอนทำวิจัยเพื่อผลิตคนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเพื่อให้มีงานวิจัยที่เป็นสิ่งใหม่ๆ ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในต่างประเทศ ดังนั้น การทำงานในโรงงานจึงไม่น่าสนใจ เพราะไม่สามารถจะเอาไปเป็นผลงานได้ ทำให้ไม่อยากเข้ามาทำ เราจึงจำเป็นต้องไปเปลี่ยนทัศนคติเรื่องนี้

ในส่วนของเถ้าแก่เองก็ยังไม่เห็นความจำเป็นในการลงทุนทำวิจัย หรือ เห็นความสำคัญ แต่ไม่คิดจะลงทุน และถ้าลงทุนก็ไม่อยากใช้คนไทย เพราะกลัวความลับทางการค้าจะรั่วไหลและขาดความมั่นใจว่า จะเก่งจริงหรือไม่ จึงระบุมาเลยว่า ขอเป็นคนต่างชาติ วันนี้ เราทำให้เขาเชื่อมั่นได้มากเขารู้จักเรา อาจารย์ก็ได้นำเอาความรู้กลับไปสอนเด็กในมหาวิทยาลัย เด็กจบมาใหม่ก็มีโอกาสได้เรียนรู้งาน เพราะจบออกมาสามารถทำงานได้ทันที และไม่ใช้แค่ทำกัน 3-6 เดือน แล้วจบ เพราะเมื่อรู้จักกันแล้วก็จะติดขอใช้บริการไปตลอด ไม่ว่าจะผ่าน ITAPหรือ ไม่ก็ตาม ตรงนี้ เป็นขาแรก คือ เอาความต้องการของตลาดมาตอบด้วยเทคโนโลยี

IT Digest: ตัวอย่างการนำเอาเทคโนโลยีไปใช้แบบเป็นรูปธรรม มีอะไรบ้าง?

ศ.ดร.ชัชนาถ: ยกตัวอย่าง การช่วยเหลือที่มีตั้งแต่การแก้ปัญหาในโรงงานเฉยๆ ไปจนถึงการทำวิจัยและพัฒนา เช่น บริษัททำเส้นก๊วยเตี๋ยวแห้ง เพราะเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตลาดตรงนี้ ก็หายไป เขาจึงหันไปบุกตลาดที่ญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้รับความนิยม เพราะคนญี่ปุ่นบอกว่า เส้นก๊วยเตี๋ยวแห้งและฝืดเกินไป เราจึงเอาผู้เชี่ยวชาญไปวิจัยตัวแป้ง ทำพื้นผิวของแป้งให้น่าทานมากขึ้นจนวันนี้ เขาสามารถส่งออกได้ถึง 80% ยอดขายเพิ่ม 5 เท่า และวันนี้ ตัวเจ้าของก็ศรัทธาในการทำวิจัย และเริ่มลงทุนทำวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ 4-5 งานแล้ว

ในด้านการเอางานวิจัยจากห้องทดลองไปสู่ตลาดทีเอ้มซีเพิ่งจะตั้ง “Technology Licensing Office: TLO” หลังจากมีทีเอ็มซีเพื่อนำผลงานวิจัยออกไปใช้ประโยชน์ ทั้งของ สวทช. ที่ต้องการนำงานวิจัยออกไปสู่ตลาดของมหาวิทยาลัย หรือบริษัทเอกชนที่ต้องการนำผลงานวิจัยมาใช้ หรือ ต่างประเทศที่เอาเทคโนลีมาปล่อย แต่เรามีบริการจดลิขสิทธิ์ โดยทำเรื่องยื่นขอกับกรมทรัพยสินทางปัญญา เกี่ยวกับการเขียนเอกสารไปยืน หัวใจสำคัญของสิทธิบัตรอยู่ที่การเขียน ถ้าเขียนไว้ไม่ครอบคลุม เขียนไม่ดีก็คุ้มครองได้แคบ คนอื่นมาเลียบเคียงก็เอาไปได้ แต่ถ้าเขียนได้ดีก็จะคุ้มครองกันไปยืดยาวกว่า ส่วนรับจดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความใหม่มากกว่า

ในอดีตเราดำเนินการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ไอพี ทั้งหมด ทุกอย่างให้กับให้กับทาง สวทช. มาแล้ว 7 ปี เมื่อมี TLO ขณะนี้ ก็ขยายบริการให้กับมหาวิทยาลัยและเอกชนข้างนอก และยังมีการทำฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อมูลการจดสิทธิบัตร การให้บรารปรึกษาแนะนำด้วย บางครั้งข้อมูลที่เก็บไว้เอาไปต่อยอดได้ การทำวิจัยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ หรือสิทธิบัตรเพราะไม่ได้ทำเชิงพาณิชย์ แต่ถ้าวิจัยแล้วประสบความสำเร็จจะเอาไปขาย จำเป็นต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนจึงนำไปขายได้  

อีกขาหนึ่งของ TLO คือ การขายงานวิจัย เพราะเรามีฐานข้อมูลอยู่แล้วว่า ใครจดอะไรทำอะไรไว้บ้าง สวทช. เองก็ยื่นขอไปกว่า 250 สิทธิบัตร ยื่นมาหลายปี เพราะใช้เวลานาน  แต่มีผลคุ้มครองตั้งแต่วันที่ยื่น ตรงนี้ เองที่ต่างชาติมักจะรีบเอาสิทธิบัตรมาขายก่อน ยิ่งขายเร็วยิ่งมีโอกาสสู่ตลาดได้ แต่ถ้าเอาความแน่นอนจะไปช้า แต่เรื่องแบบนี้ ต้องทำเป็นกรณีไปไม่ใช่จะขายได้ทั้งหมด เช่น เทคโนโลยีโซลาร์เซล ที่เรามีนั้น เราผลิตแผงเองได้ในขนาดเล็กทีละแผง หากเอกชนจะเอาไปผลิตในโรงงานต้องใช้เครื่องจักร เราที่มีเทคโนโลยีในมือ จึงต้องไปหาพันธมิตรกับคนที่มีเครื่องจักร แล้วจึงจะทำเป็นแพ็คเกจไปขายคนที่จะซื้อลิขสิทธิ์ได้

IT Digest: ในด้านทรัพยาการบุคล ขณะนี้ เพียงพอหรือไม่ จำเป็นต้องเพิ่มเติมจุดใดบ้าง?

ศ.ดร.ชัชนาถ: ยังไม่เพียงพอ ITAP ก็เป็นของ ITAP หากดูจากอัตราการแข่งขันของประเทศไทยเทียบกับทั่วโลก เราอยู่ประมาณอันดับที่ 30 กว่า จากการสำรวจของ IMD ที่รวมเอาปัจจัยทั้ง การเมือง เศรษฐกิจ และการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ถ้าไปดูเฉพาะการพัฒนาเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศไทยจะอยู่ในอันดับที่ 50 กว่าจาก 60 ประเทศ โดยแทบจะรองบ๊วย จะเห็นว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้ เป็นตัวฉุดเลย โดยหากพิจารณาในเรื่องนี้ ต่างประเทศจะดูเรื่อง การลงทุน งานวิจัย และกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องหลักๆ ที่เขาดูเพื่อวัดจุดนี้

ถ้าดูเฉพาะเรื่องการลงทุนทำวิจัย เราลงทุนด้านนี้ ไป 0.26% ของจีดีพีประเทศไทย ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วเขาลงทุน 2-3% ของจีดีพี บางแห่งไปถึง 4% แต่อย่าลืมว่า จีดีพีของเขานั้น ใหญ่มาก ถ้าดูเรื่องเงินลงทุนประเทศที่รวยแล้วภาคเอกชนลงทุนมากเป็น 2 ใน 3 ของเงินลงทุนทำวิจัย แต่เมืองไทย 2 ใน 3 กลับเป็นภาครัฐ แม้จะมีมาบ้างก็ยังต่ำ

ขณะที่หากเทียบปริมาณการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลงทุน ข้าราชการเมืองไทยมี 3 ล้านคน จากประชากร 63 ล้านคน ถ้าเอกชนไม่ลงทุน ทำวิจัยเราไม่มีทางแข่งขันได้ ตามไม่ทันช่องว่างจะห่างไปเรื่อยๆ หากมานั่งรอให้ภาครัฐลงทุนทำ แล้วถ่ายทอดจากท้องทดลองภาครัฐไปเอกชนตามไม่ทัน ญี่ปุ่นเขาเอกชนลงมือทำเองมากกว่าภาครัฐ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เอกชนหันมาทำงานวิจัยและพัฒนา เราก็ต้องมีกลไกต่างช่วยให้เขาทำวิจัยได้แบบเสี่ยงน้อย ใช้คนน้อย เวลาน้อยนั้น ก็เป็นที่มาของการมีอุทยานวิทยาศาสตร์ อุทยานซอฟต์แวร์ หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค

เปรียบเทียบระหว่างนิคมอุตสาหกรรมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ นิคมฯ จะเป็นสถานที่ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนการผลิต ไม่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค เช่นเดียวกับอุทยานวิทยาศาสตร์ที่ตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการวิจัย เอกชนอยากทำงานวิจัยก็มาใช้สถานที่ได้ เริ่มต้นได้เร็วมีต้นทุนต่ำ ทั่วโลกเขามีอุทยานวิทยาศาสตร์มานานแล้ว ประเทสไทยเราเริ่มต้นได้ช้ามาก แห่งแรกในโลกมีตั้งแต่ ค.ศ.1950 ที่สแตมฟอร์ด ต่อมากลายเป็น ซิลิกอน วัลเลย์ ต่อมาเมื่อ ค.ศ.1970 ก็มาโผล่ที่ยุโรปที่สก็อตแลนด์ ฝรั่งเศส และใน ค.ศ.1980 ก็มาเกิดในภูมิภาคเอเชีย และกระจายไปทั่วโลก เรียกว่ายุค Science Park Boom

ญี่ปุ่น ไต้หวัน เริ่มมีตั้งแต่ปี 1980 มาเลเซียมีในปี 1990 ส่วนประเทศไทยเพิ่งตั้งเมื่อปี ค.ศ.2002 แห่งเดียว ขณะที่ประเทศมหาอำนาจ หรือ มีฐานะเศรษฐกิจดีมีมากกว่า 30-100 แห่ง ประเทศจีมมาช้ากว่าเราแต่เครื่องแรงวูบเดียวมี 50 แห่ง เวลาที่บริษัทใหญ่ๆ สนใจมาลงทุนเราเคยถามว่า อะไรที่จะดึงดูดมาลงทุนกับเราได้ เขาจะพูดถึงทรัพยากร ต้องการคนอย่างเดียวที่เขามองหาอยู่ ถ้าเป็นบริษัทขนาดกลางจะมองหาเครื่องมือ ส่วนขนาดเล็กจะมองค่าเช่า อุทยานวิทยาศาสตร์ของเราก็ไม่ปิดกั้นเข้ามาได้หมด จำกัดไว้อย่างเดียวว่าเป็นงานวิจัยและพัฒนา หรือสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ อยู่ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี

สวทช. แบ่งการสร้างอุทยานฯ ออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก คือ การสร้างแรงดึงดูดให้คนมาอยู่เอาคนจาก สวทช. กว่า 2,000 ชีวิตมาอยู่ที่นี่ และมีมากกว่า 60 งานวิจัย โดย สวทช. เป็นผู้ใช้งานหลัก เพื่อให้บริษัทต่างๆ ได้เข้ามาใช้ร่วม เข้าถึงเครื่องมือ ห้องทดลอง และนักวิจัย เรามีท็อปกันอยู่ในมือ เราทำตึกให้ 7 หน่วยงาน ส่วนระยะที่ 2 จะนำเข้าเอกชนที่จะมาใช้งาน และระยะที่ 3 จะเติบโตไปเป็นชุมชนการวิจัย

อย่างไรก็ตาม วันนี้ เราได้ขอพื้นที่แต่ละหน่วยงานเพื่อขอให้เอกชนได้เข้ามาใช้ร่วมในระยะที่ 2 หลังจากลงทุนไปนานก็ต้องรีบเอาเขามาเก็บเกี่ยว และเมื่อได้รับการอนุมัติงบประมาณ ก็ได้นำมาทำอาคารใหญ่ 120,000 ตารางเมตร เริ่มปลายปี 2550 ก็จะทำให้มีพื้นที่อีกมากที่เดียว

ขณะนี้ ก็มีบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุน แต่เขาระงับการลงทุนในประเทสไทยไปจากความไม่แน่นอน ที่ผ่านมา เขาได้ไปดูการลงทุนในจีน และอินเดียมาแล้วพบว่า หากไปที่จีนโดนลอกผลงานไอพีแน่นอน ถ้าไปอินเดียฝีมือแรงงานก็สู้เมืองไทยไม่ได้ อีกทั้งหากไปผลิตในจีนก็ไปขายในอินเดียไม่ได้ แต่ไทยเรามีเอฟทีเอ ขายได้ทั้ง 2 ประเทศ เราจึงต้องดึงเอาธุรกิจที่ทำ R&D เข้ามาในบ้านเราไม่ใช่เอาแต่ ส่วนที่เป็นการผลิต

เราต้องการผลิตกำลังคนด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตรงนี้ มาก แต่เด็กเขาก็จะรอดูว่า เมื่อเรียนจบแล้วไปทำอะไรได้บ้าง ถ้าจบแล้วงานไม่มี เงินเดือนต่ำ เขาก็จะไม่เรียน ฉะนั้นภาควิชาที่แข่งขันกันมากๆ ก็จะได้คนที่เป็นหัวกะทิ หากมีตลาดงานวิจัยเด็กก็จะมาเรียน ที่ผ่านมา ตลาดแรงงานไม่มีใครประกาศรับนักวิจัยเลย รับแต่การตลาด วิศวกรคุมโรงงาน เราต้องมีอาชีพนี้ เพื่อผลักดันกลไกการพัฒนา ทำให้เขามาทำวิจัย เพื่อจ้างคนไทยทำงาน ถ้าเด็กไทยได้ทำงานมีประสบการณืแล้ว เขาก็อาจจะผันตัวออกมาตั้งบริษัทเพื่อวิจัยและพัฒนาเองได้ ตรงนี้ จะยิ่งเป็นการเร่งให้อุตสาหกรรมก้าวสู่ขั้นวิจัยและพัฒนาเร็วขึ้น

IT Digest: คนมักมองว่า ประเทศไทยถือเป็นแหล่งที่มีการผลิตชั้นยอด แต่ขาดการทำ R&D หรือ อุตสาหกรรมต้นน้ำ ผอ.มีความเห็นเป็นอย่างไร และจำเป็นแค่ไหนที่เราต้องมี งาน R&D ในประเทศ?

ศ.ดร.ชัชนาถ: ที่เราเป็นแหล่งผลิตชั้นยอดเพราะอะไร เรามีค่าแรงงานที่ถูก ที่ดิน น้ำประปา ไฟฟ้า ค่าก่อสร้างถูก ตรงนี้เป็นอดีต วันนี้ เรากำลังสูญเสียสิ่งเหล่านี้ ไป เราจะไปไม่รอดในอนาคต เพราะกำไรจะอยู่ที่การทำวิจัยและพัฒนา แข่งด้วยสมอง คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ อย่าไปบอกว่า ค่าแรงเราถูกนั่นเป็นการกดขี่คนไทยด้วยกันเอง ถูกแบบนี้กดขี่ข่มเหงกัน ค่าแรงต้องแพงแล้วแข่งที่สมอง วันนี้ ค่าแรงแพงสมองถูก แต่เมื่อเราทำได้สักระยะมีความรู้แล้ว ก็ค่อยแข่งกันที่สมองแพงๆ ได้ เราควรจะขายรถยนต์เพื่อซื้อข้าวได้แล้ว ไม่ใช่เอาข้าวกี่เกวียนไปแลกรถยนต์มา

IT Digest:: ขณะนี้ ปัญหาเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทั่วโลกตระหนักมาก และประเทศไทยเองก็เริ่มมองหาพลังงานทดแทนที่หลากหลาย ทางทีเอ็มซีมองเรื่องนี้ อย่างไร และมีอะไรตอบสนองจุดนี้ บ้าง?

ศ.ดร.ชัชนาถ: เราเห็นด้วย 100% ที่ไทยต้องพัฒนาพลังงานทดแทน หรือ พลังงานทางเลือกที่หลากหลาย อาทิ เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานจากพืช มูลสัตว์ ชีวมวล จะเป็นของเหลือขยะ พลังงานลม พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานแสงอาทิตย์ เราควรมีหลากหลาย เพราะแต่ละแบบมีความเฉพาะด้านทีเอ็มซีเชี่ยวชาญในโซลาร์เซลล์ที่เป็น อมอร์ฟัส ซิลิคอน โดยโซลาร์ เซลล์มีเทคโนโลยีหลายแบบใช้และไม่ใช้ซิลิคอน แบบใช้ซิลิคอนมีอีก 2 แบบ คือ แบบผลึก และผลที่เป็นอมอร์ฟัส โดยแบบผลึกจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าแต่แพงมาก แบบผงประสิทธิภาพต่ำกว่าแต่ถูกมาก

สาเหตุที่เราเป็นเลิศในด้านนี้ เพราะทำกันตั้งแต่ห้องทดลองจนออกสู่ตลาด และเมื่อ 2-3 ปี ที่แล้วได้ออกสิทธิ์การใช้เทคโนโลยีให้กับบริษัทคนไทย ไปผลิตแผงเซลแสงอาทิตย์แล้วที่ประสิทธิภาพ 7% (คิดจากการแปลงพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้า) ขณะนี้ เรากำลังทำโรงงานต้นแบบผลิตแผงเซลแสงอาทิตย์ที่ประสิทธิภาพ 10% แต่การทดลองในห้องวิจัยสามารถพัฒนาไปได้ถึง 15-18% แล้ว ตัวเซลแบบนี้ ไม่ใช่ขายแล้วจบ แล็ปเราก็ต้องพัฒนาตลอดเวลา เพราะเป้าหมายต่อไปอยู่ที่ 18%

บริษัทที่ซื้อสิทธิ์ไปเขาต้องติดต่อเพื่ออัพเดทเทคโนโลยีกับทีเอ็มซีตลอดเวลา มิฉะนั้นจะสู้คู่แข่งไม่ได้  เราต้องอยู่ด้วยกันจับมือกันไป วันนี้ เขาทำเซลไปขายได้ถึงเยอรมนี และ 10% ทีเอ็มซีกำลังเลือกคนที่จะรับสิทธิ์ไปอยู่ และยังต้องจับมือกับบริษัททำเครื่องจักรด้วย รวมถึงการทำวงานวิจัยที่ไม่ใช่ตัวเซลแต่เป็นส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ แผ่นฟิล์มเคลือบกระจก หรือเครื่องจักรที่ใช้ทำการผลิต ที่ต้องมีการลดต้นทุน อย่างไรก็ตามหัวใจของเราคือประสิทธิภาพของแผงเซลแสงอาทิตย์ว่าจะเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้เท่าใด

IT Digest: ภาคการเกษตรของไทยถือเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของชาติ ทางศูนย์ฯ มีการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแก่ภาคการเกษตรของเราอย่างไร?

ศ.ดร.ชัชนาถ: คำว่า เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช้โลว์เทคโนโลยี เหมือนกับเราไปกินบุฟฟเฟต์แล้วตักมาไม่เหลือทิ้งขว้าง กินแบบพอดี เราก็มองว่า การเป็น ศก.พอเพียงให้ชาวนาประหยัดการใช้น้ำ และไฟฟ้าก็พอเพียงได้ ทีเอ็มซีมีหน่วยงานที่เป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชนบทและชุมชน อาทิ การพัฒนาระบบน้ำหยด สำหรับให้น้ำแก่พื้นในสวน ไฟฟ้าก็หันมาใช้โซลาร์เซลล์ได้ แรงงานก็นำเอาเครื่องจักรกลมาใช้ โดยมีหลายระดับทั้งที่เราสร้าง และต่างประเทศทำ 

ทีเอ็มซีจะไม่เน้นการทำธุรกิจแพงๆ อาทิ การปลูกพืชเศรษฐกิจ การปลูกพืชแบบไฮโดรโฟนิกส์ หรือ การปลูกในน้ำ การเลี้ยงไส้เดือนดิน การผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ การผลิตสาหร่ายสไปรูลินาเพื่อเลี้ยงปลา เอามาผสานกับภูมิปัญยาชาวบ้านมาเป็นตัวตั้ง อาทิ การผลิตกะทิ น้ำมะพร้าว การทำผ้าไหมมัดหมี่ย้อมคราม เราเริ่มจากภาคการเกษตรแล้วไปจบที่ห้องวิจัย
 
ยกตัวอย่างเช่นโรงงานน้ำตาลมิตรผลที่ทำวิจัยกับเรา เขามีชาวไร่อ้อยที่เป็นเครือข่ายมากมาย เราไม่ต้องลงไปเองเขาไปทำให้แล้วเอาผลมาให้ไบโอเทค เอ็มเทค เป็นต้น ในเรื่องพัฒนาพันธุ์อ้อย และมีดฟันอ้อยที่ออกแบบมาเพื่อแรงงานชาย-หญิง เหมือนไม้กอล์ฟ หรือไม้เทนนิส เพื่อสร้างมีดที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงทีเอ็มซีมีโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับโรงงานที่ต้องการปรับปรุง พัฒนาโรงงานคิดดอกเบี้ยครึ่งหนึ่งของดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ในวงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท เพื่อจูงใจให้เอกชนหันมาลงทุน ถือเป็นการให้นำร่องแก่เอกชนเพื่อให้เขาเห็นว่าเทคโนโลยีดีอย่างไร

IT Digest: ในส่วนของการสนับสนุนจากทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นอย่างไรบ้าง และยังมีอะไรที่ทางทีเอ็มซีที่ต้องเพิ่มเติม?

ศ.ดร.ชัชนาถ: ทางกระทรวงฯ ก็สนับสนุนเรามาโดยตลอดทั้งในแง่ของการประชาสัมพันธ์ วันนี้ เราคิดว่า มีวิธีการที่ดีในการเพิ่มปริมาณ อย่าง ITAP มีสมาชิกกว่า 200 บริษัท แม้งบที่ได้ 100-200 ล้าน จะสามารถเดินหน้าต่อได้ แต่ถ้าจะให้มีผลกระทบสูงจริงต้องมีอีก 10 เท่า หรือ 2,000 บริษัท จึงต้องการงบประมาณเพิ่ม ก็อยากจะเริ่มทำควบคุ่กับอุทยานภูมิภาคนำร่อง สวทช. ไม่ต้องทำเอง ITAP มีอีก 9 มหาวิทยาลัยร่วม กระทรวงวิทย์ฯ ไม่ได้มีหน่วยงานเป็นสาขาเหมือนกับกระทรวงอื่นๆ เหมือนกับเราวิ่งผลัดแต่ไม่มีใครจับเอาทั้งวิ่งทั้งหมดมาฝึกซ้อมกัน

IT Digest: มีอะไรอยากฝากถึงผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์บ้าง?

ศ.ดร.ชัชนาถ: การพัฒนาสังคมปัญญานี้ ให้รอดก่อน แล้วค่อยทำให้เกิดความยั่งยืน สิ่งที่พูดกัน คือ เรายังขาดเศรษฐกิจ และสังคม ที่มีสังคมฐานความรู้ และเศรษฐกิจฐานความรู้รวมอยู่ด้วย เพราะก่อนหน้านี้ เราขาดคำว่า “ฐาน” ไป รวมทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิต สิ่งเหล่านี้ ต้องผลักดันทำให้ได้ ไม่ทำตายแน่ต้องทุบหม้อข้าวตีเมือง และการจะทำทั้งหมดนี้ ได้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี

การจะบริหารได้ดีก็มีส่วนที่แยกเฉพาะออกมา คือ การบริหารจัดการเทคโนโลยีที่ดี ตรงนี้ จำเป็นมากว่าจะเป็นการหาเทคโนโลยีที่ดี การสร้างเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การกระจาย การแพร่เทคฏโนโลยีจึงจะทำให้วิสหกิจไทยแข่งขันได้ในระดับสากล ทั้งนี้ ถ้าต้องการรายละเอียดหรือ อยากรู้จักทีเอ็มซีมากกว่านี้ สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th

 ไทยรัฐ    

รู้จักกับทีเอ็มซีหน่วยงานผู้ผลักดัน เทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรม [24 มี.ค. 50 - 05:15]
 

ปีที่ 58 ฉบับที่ 17959 วันเสาร์ ที่ 24 มีนาคม 2550

 

หมายเลขบันทึก: 86048เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2007 08:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ในเรื่องศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) มองว่าเป็นแนวความคิดที่สอดคล้องกับยุคสมัย แต่ในมุมมองส่วนตัวคิดว่า  คนอยู่ในสาขาไหน ก็มองปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ บนพื้นฐานความถนัดของตน  จากข้อความที่ปรากฏ จะพูดถึงแต่เทคโนโลยีในลักษณะอุปกรณ์ และการวิจัย  แต่ไม่มีส่วนใดที่พูดถึงสภาพแวดล้อม หรือลักษณะเฉพาะที่เป็นอยู่จริงของคนไทย  ทำให้คิดถึงคำว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสม  สำหรับประเทศไทยอาจหมายถึงหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือวิสาหกิจชุมชน  ซึ่งมองที่ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมบวกเทคโนโยลีคือความคิดความถนัด หรือความชำนาญในเรื่องนั้น ๆ เป็นองค์ประกอบในการผลิต  ถ้าเปรียบกับประเทศจีนก็น่าจะหมายถึงวิสาหกิจเกษตร  สิ่งสำคัญสำหรับการผลิตคือตลาด และไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นที่ตลาดต่างประเทศ แม้ว่าในระยะยาวการจัดการเทคโนโลยีจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาท แต่ก็เป็นระยะท่ผู้ประกอบการมีความพร้อมและความต้องการมากขึ้น  ไม่ใช่ในลักษณะเกือบจะเป็น topdown เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งดูเหมือนประสบความสำเร็จ แต่เมื่อเทียบระหว่างทุนที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นเงิน คน เวลา ฯลฯ กับผลที่ได้รับเพียงหน่วยหรือ 2 หน่วยที่พอยกเป็นตัวอย่างได้ ...คุ้มหรือไม่? มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะนำทรัพยากรที่มีอยู่ของศูนย์ฯ  ไปลงทุนในลักษณะต่อยอดให้กับกลุ่มที่เริ่มต้นจากทรัพยากรและเทคโนโลยีท้องถิ่น  เพื่อต่อยอดให้เข้มแข็ง อย่างยั่งยืน สามารถผลิตเพื่อขายในตลาดต่างประเทศได้   

นายทวี นริสศิริกุล 493010 Christian University

มีความเห็นว่าการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี่หรือ TCM เป็นเสิ่งที่จำเป็นในยุคนี้และต่อไปในอนาคต เพราะเป็นการช่วยผู้ประกอบการ ธุรกิจ และประชาชนทั่วไปที่สามารถพึ่งพาได้

            เป็นส่วนที่ภาครัฐจะสนับสนุนร่วมกับภาคเอกชนในเองของเทคโนโลยี่

Impressive! Technology Management in Thailand should have been advanced with the implementation of TMC. However, through the following “half-empty of the glass” view, two MAIN comments should be also considered: 1.      The fundamental root of the problem could be that “Thailand only invests 0.26 % of its GDP on research” according to Dr. Chainart of TMC. In USA, R&D grew more rapidly than GDP in the United States resulting in an R&D to GDP ratio of 2.7% in 2003. Japan's R&D/GDP ratio subsequently rose to 3.1% in 2002. Several Asian countries, most notably South Korea and China, have been particularly aggressive in expanding their support for R&D.
  1. What roles should TMC play in addressing the above-mentioned root cause to the general public and the government?  To be specific, does TMG has enough resources to carry-out its mission. How long those with “cheap brains” will remain with the organization?
  2. With surprise! Google search indicates that TMC stands for ”Thai Massage School of Chiang Mai”. My next step was thus making a search for “Technology Management Center AND Thailand”. The result was superb amazing! I found 0 result!
 Should we jump to a conclusion that this animal would never achieve its ambitious mission in technology management – if even customers cannot find it from Google? I wish this conclusion is based on a wrong assumption. Well, the above comments could be considered as comments from the “half-empty glass” view.Regards, Chatri MoonstanPh.D student, Chritian University of Thailand
สมศักดิ์ จังตระกุล

บทความนี้ชี้ให้เห็นความก้าวน่าด้านเทคโนโลยีของไทยที่พึงมีตามกำลังความสามารถในปัจจุบัน สิ่งที่อยากฝากต่อ คือ

๑.ทำอย่างไรพัฒนาเทคโนโลยีให้ถูกและเหมาะสมกับการใช้งานในบ้านเรา

๒. พัฒนาการศึกษาให้มีนักวิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ในไทยให้มากกว่านี้ โดยปรับปรุงการเรียนจากสายศิลป์มาเป็นสายวิทย์ให้มากขึ้นครับ

ชาตจุมพล ยุธานหัส - Christian University - class Seminar in Information, Knowledge and Technology Management
The TMC is a good initiative by government to manage innovation and research in Thailand.   The Government could not perform R&D alone because there are many research areas and each ones require a large amount of funding and resources. The government should concentrate only on the strategic areas that will give benefits the country as the whole.  The private sectors must invest more in R&D to improve their sustainability.  The government may indirectly support funding the R&D in private sector by taxation system.

อยากให้อาจารย์ม.คริสเตียนพาไปดูงานครับ อยากได้ความรู้ในการจัดการบริหารของศูนย์เพื่อนำไปปรับปรุงที่ทำงานครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท