ใจละเอียด กายละเอียด (ทำไมต้อง ๑๘ กาย)


ใจละเอียด กายละเอียด (ทำไมต้อง ๑๘ กาย)

     ระ พุทธศาสนานั้น ใช่ว่าเราจะใช้สมองตรึกนึกตรองข้อธรรมต่างๆ แล้วจะเข้าใจแจ่มแจ้งได้ เราต้องปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมนั้นๆ สมาธิขั้นสมถะเป็นเบื้องต้น เมื่อใจสงบระงับมีกำลังจึงยกภูมิสูงขึ้นสู่ภาควิปัสสนา ภาควิปัสสนานั้นเราต้องมีรู้ญาณหรือมีญาณทัสสนะเห็นธรรมตามความเป็นจริงได้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในเรื่อง ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ อริยสัจ ๔ ใช่ว่าเราจะใช้สมองคิดตรึกตรองแล้วจะเข้าใจสภาวธรรมเหล่านี้อย่างแจ่มแจ้ง ได้ เราต้องปฏิบัติให้รู้ให้เห็นจริงๆ ให้เกิดเป็นอธิจิต อธิปัญญา รู้เห็นตามสภาพความเป็นจริง

     เวลาฝึกสมาธินั้นหลายท่านบอกว่าเราฝึกสมถะจนจิตสงบ พอออกจากสมาธิแล้วจะใช้ปัญญาคิดพิจารณาข้อธรรมต่างๆ แล้วเป็นวิปัสสนาได้หรือไม่ ชื่อว่าไม่ได้แน่นอน เพราะขั้นตอนของสมถะและวิปัสสนาต้องต่อเนื่องกันไปในขณะหลับตาทำสมาธิอยู่ เช่น เราต้องการพิจารณาขันธ์ ๕ เมื่อปฏิบัติสมาธิเบื้องต้นจนจิตสงบแล้วต่อไปก็ยกภูมิขึ้นสู่วิปัสสนา รู้เห็นขบวนการของขันธ์ ๕ รู้ญาณชนิดนี้เป็นรู้ญาณละเอียดขั้นอธิจิต อธิปัญญา จึงมีตาวิเศษ รู้เห็นขบวนการของขันธ์ ๕ อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน เพียงแต่ว่าใจเราละเอียดอยู่ในระดับใด ถ้าละเอียดอยู่ในขั้นโลกีย์ก็ไม่สามารถรู้เห็นสภาพธรรมชั้นสูงในภาคโลกุตระ ได้ เพราะชั้นโลกีย์เราจะมีคุณธรรมคือ ระดับจิตได้แค่ มนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปพรหม ซึ่งทั้ง ๔ ระดับนี้ พิจารณาได้แต่ธรรมแบบโลกีย์ เช่น มนุษยธรรมได้แก่ใจระดับที่มีหิริโอตตัปปะ เทวธรรมคือใจที่มีศีลห้าธรรมห้า(กุศลกรรมบถ ๑๐) พรหมธรรมได้แก่ ใจที่สำเร็จฌานโลกีย์ ๔ ระดับ หรืออย่างหยาบต้องมีพรหมวิหารธรรม ๔ อรูปพรหมธรรมได้แก่ ใจที่สำเร็จอรูปฌาน ๔ นี่คือรู้ส่วนเห็นนั้น ตาหยาบก็เห็นของหยาบ ตาละเอียดก็เห็นของละเอียด เหมือนนักวิจัยใช้กล้องส่องดูอนุภาคเล็กๆ ถ้ากล้องมีกำลังขยายสูงเราก็เห็นได้ละเอียด

     ตามนุษย์เรียกว่ามังสะจักษุ ตาเทวดา(ทิพย์)เรียกทิพจักษุ ตาพรหมเรียกว่าปัญญาจักษุ ตาอรูปพรหมเรียกว่าสมันตจักษุ ตาระดับโลกุตรภูมิเรียกว่าพุทธจักษุ

     เข้าถึงภูมิระดับใดใจก็มีตาระดับนั้น รู้เห็นได้ละเอียดกว่ากันเป็นชั้นๆ รู้และเห็นธรรมต่างๆ ทั้งโลกียธรรมและโลกุตรธรรมได้เป็นชั้นๆ ไป ตามแต่ภูมิธรรมที่เข้าถึง เมื่อใจละเอียดมีอย่างนี้แล้ว ก็เป็นธรรมดาที่ว่า มีใจที่ใดต้องมีกายครองที่นั่น ก็กายกับใจเป็นของคู่กัน เหมือนรูปกับนามเป็นของคู่กัน เมื่อมีรูปย่อมมีนาม เมื่อมีนามย่อมมีรูป เมื่อใจมีกายก็ต้องมารองรับ ใจละเอียดกายก็ละเอียด ใจหยาบกายก็หยาบ ใจหยาบช้าทำแต่กรรมชั่ว กายที่มารองรับก็อัปลักษณ์น่าเกลียดอย่างเช่น สัตว์นรก เปรต อสูรกาย และพวกสัตว์เดียรัจฉานต่างๆ นี่เพราะใจหยาบช้ากายก็หยาบช้า ถ้าใจละเอียดกายก็ละเอียดเป็นเครื่องรองรับกันเสมอ เช่น ทิพย์ พรหม อรูปพรหม เมื่อใจเรางามกายที่งามสมกับใจก็มารองรับซึ่งกันและกัน ตรงนี้เป็นผังสำเร็จ เป็นผังชีวิตที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ถ้าเราเข้าใจเรื่องกายกับใจเช่นนี้ได้ เราก็จะสามารถเข้าใจสภาวธรรมต่างๆ ได้ง่ายเข้า 

     วิชชาธรรมกายสอนเรื่องกายละเอียดต่างๆ นั้นมิได้หมายเรื่องนิมิตหรือเห็นอะไรสักแต่เป็นนิมิต แต่นี้เป็นผังชีวิตของจริงที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายท่านได้รู้ ได้เห็น เพียงแต่ว่าต้องปฏิบัติจนเข้าถึงจึงจะหมดข้อสงสัย เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นของลุ่มลึกเกินวิสัยแห่งปุถุชนที่จะคาดเดาเอา เองได้ ต้องไปรู้ไปเห็นด้วยญาณทัสสนะอันละเอียดจึงจะเข้าใจ ที่พระองค์ไม่ทรงตรัสไว้โดยละเอียดเพราะเนื้อแท้แล้วพระองค์ต้องการให้เรา ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงเองดีที่สุด พระองค์จึงตรัสบอกแต่วิธีการเข้าถึง เช่น ให้ปฏิบัติตามกัมมัฏฐาน ๔๐ วิธี หรือแบบอานาปานัสติ หรือสติปัฏฐาน ๔ เพื่อให้เข้าถึง กาย เวทนา จิต ธรรม ที่ละเอียด เข้าถึงได้แล้วจะเข้าใจแหมดข้อกังขาเอง

     ตรองดูเถิดท่านทั้งหลาย ใจละเอียดมีตาละเอียด ตาละเอียดมีญาณทัสสนะที่ละเอียด รู้ได้เห็นได้อย่างละเอียดถึงรูปแบบและขบวนการของสภาวธรรมในระดับวิปัสสนา ได้ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ อริยสัจ ๔ หรือธรรมขั้นโลกุตรใดๆ ก็รู้เห็นได้หมด เพียงขอให้เข้าถึงใจละเอียดเป็นอธิจิต อธิปัญญาเถิด แต่พิจารณาอย่างเดียวไม่พอต้องทำการสะสางธาตุธรรมภายในให้หมดกิเลสเป็นชั้นๆ ได้ด้วย เพระกิเลสอวิชชาเขาก็มีเป็นชั้นๆ ซ้อนอยู่ในกายและใจของเราที่เป็นชั้นๆ อยู่ด้วยเหมือนกัน ชำระสะสางกิเลสให้หมดจากจิตใจได้จึงเชื่อได้ว่าหลุดพ้นจริง หมดภพหมดชาติ หมดการเวียนว่ายตายเกิดจริง

     ถ้าเรารู้จักกายมนุษย์หยาบกายนี้กายเดียวไม่มีทางกำจัดกิเลสเข้าไปเป็นชั้นๆ ได้ เพราะกิเลสระดับละเอียด(อนุสัย)เขามีอยู่ เขาก็อยู่ในชั้นละเอียดเข้าไป กายและใจมนุษย์ไม่สามารถรู้เห็นได้ ต้องใช้รู้ญาณทัสสนะที่ละเอียด(ญาณธรรมกาย)เข้าไปจึงจะทำลายกิเลสให้หมดจนสุดหยาบสุด ละเอียด 

     หลวงพ่อวัดปากน้ำมีวิริยคติที่ว่า “บัดนี้ของจริงที่พระพุทธเจ้าทรงรู้เห็น เราก็ยังไม่รู้เห็น สมควรที่เราจะลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง” ในที่สุดหลวงพ่อเข้าถึงกายละเอียใจละเอียดเป็นชั้นๆ ซึ่งมีกายและใจละเอียดถึง ๑๘ ชั้น (วิชา ๑๘ กาย) จึงได้รู้เห็นผังของจริง เมื่อเรารู้เห็นเป็นชั้นๆ เข้าไป ต่อไปงานสะสางธาตุธรรมเป็นชั้นๆ เข้าไปจนหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ก็ทำได้ นี้จึงชื่อว่าเป็นเหตุเป็นผลรองรับกัน ฉะนั้นเราเข้าถึง กายมนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปพรหม กายธรรม ทั้งหยาบและละเอียด ก็คือเรามีหนทาง(มรรควิธี)แห่งการกำจัดกิเลสอวิชชาเป็นชั้นๆ เข้าไป ตามที่กล่าวมาแล้วส่วนขั้นปฏิบัติจริงจังนั้นจะต้องว่ากันโดยละเอียดต่อ ไป...

     พระพุทธเจ้า สอนให้เราละกิเลส สอนให้เราละสังโยชน์ แปลว่า อย่าไปเพิ่มกิเลสให้มากขึ้น ของเก่าเรายังทำให้หลุดไปไม่ได้ อย่าไปเพิ่มพูนขึ้นใหม่อีกเลย

     ท่านทราบแต่ว่า กายมนุษย์ คือตัวท่าน ยังมีกิเลส เราเจริญภาวนารักษาศีลกันอย่างทุกวันนี้ เป็นการไม่เพิ่มพูนกิเลสใหม่เท่านั้น ส่วน “ของเก่า” คือกิเลสเดิมที่นอนเนื่องอยู่ใน “ใจ” นั้นมีอะไรบ้าง

     และกิเลสที่อยู่ในกายละเอียดของท่าน ท่านเข้าไปสืบทราบแล้วหรือยัง การจะไปดูกิเลสในกายละเอียดอื่นๆ ถ้าดูด้วยตามนุษย์ไม่เห็น จะต้องทำ “ธรรมกาย” เป็น และใช้รู้ใช้ญาณธรรมกายตรวจจึงจะเห็นได้ รู้ได้

     ฝ่ายอวิชชาได้เอากิเลสต่างๆ ตรึงติด “ใจ” ของสัตว์โลกไว้ ดังนี้

     ๑.กายมนุษย์ และกายมนุษย์ละเอียด(กายฝัน)
          อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ

     ๒.กายทิพย์หยาบ กายทิพย์ละเอียด
          โลภะ โทสะ โมหะ

     ๓.กายรูปพรหมหยาบ กายรูปพรหมละเอียด
          ราคะ โทสะ โมหะ

     ๔.กายอรูปพรหมหยาบ กายอรูปพรหมละเอียด
          กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย

     ๕.ธรรมกายโคตรภูหยาบ ธรรมกายโคตรภูละเอียด
          สักกายทิฏฐิ สีลัพพตปรามาส วิจิกิจฉา

     ๖.ธรรมกายพระโสดาหยาบ ธรรมกายพระโสดาละเอียด
        ธรรมกายพระสกิทาคามีหยาบ ธรรมกายพระสกิทาคามีละเอียด
          กามราคะ ปฏิฆะ

     ๗.ธรรมกายพระอนาคามีหยาบ ธรรมกายพระอนาคามีละเอียด
          รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

     ๘.ธรรมกายพระอรหัตต์หยาบ ธรรมกายพระอรหัตต์ละเอียด
          ไม่มีกิเลสใดเจือปน

ข้อคิดเรื่องการสะสางกิเลส

     ๑. กายของท่าน ๑๘ กาย

          - ท่านเห็นได้กี่กาย
          - กายมนุษย์ คือ ตัวตนของท่าน ท่านเห็นอยู่แล้ว ถึงไม่บรรลุธรรมอะไร ก็เห็นกันอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร
          - กายฝันเป็นกายละเอียดต่อจากมนุษย์ มีกี่ท่านได้เห็นอย่างถูกวิธี ถ้าเห็นกายฝันเมื่อนอนหลับ ก็ได้เห็นกันทุกคนเพราะทุกคนเคยฝัน แต่ถ้าเห็นในขณะที่เรา “ไม่หลับ” คือ เห็นในขณะที่เราปฏิบัติธรรมมีใครบ้างที่ได้เห็น

     ถ้าถามว่า ใครเห็นกายฝันอยู่ในดวงวิมุตติญาณทัสสนะบ้าง อันเป็นการเห็นที่ถูกวิธี คงไม่มีใครเห็นเลย เว้นแต่ท่านที่ฝึกวิชชาธรรมกายเท่านั้น เมื่อไม่เห็นกายฝัน กายที่ละเอียดต่อจากนั้นไปเป็นอันไม่ต้องพูดถึง 

     ๒.กายของเรา ๑๘ กาย ไม่มีกิเลส เพียง ๒ กาย

          - ท่านจะเห็นว่า กายของเรามี ๑๘ กาย ไม่มีกิเลสเพียง ๒ กายเท่านั้น คือธรรมกายพระอรหัตต์หยาบและธรรมกายพระอรหัตต์ละเอียด นอกนั้นมีกิเลสทุกกาย แต่ละกายมีชื่อกิเลสต่างกันออกไป ตั้งแต่กิเลสหยาบไปถึงกิเลสขั้นละเอียด ตามหลักฐานดังกล่าวนั้น 
          - เพียงทำให้เห็นธรรมกาย ก็ยากแทบจะล้มประดาตายแล้ว เรายังต้องศึกษาความรู้สะสางกิเลสอีก ซึ่งงานสะสางกิเลสไม่ใช่งานที่ทำง่ายเลย

วิธีทำกิเลสให้หมดหรือเรียกว่าการสะสางกิเลส

     - เราทราบแล้วว่า เรามีกิเลสหรืออวิชชาห่อหุ้ม “ใจ” ของเราอยู่ทุกกาย เป็นผลให้เราอยู่ในภาวะแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ไม่รู้จบ ไม่รู้สิ้น เพราะอานุภาพของกิเลสนั้นๆ 

     - หน้าที่เรา ก็ต้องแก้ไขตัวเอง จะทำอย่างไรกิเลสและอวิชชาเหล่านั้น จึงจะหมดและสูญหายไปจากใจเรา

     ในเรื่องนี้ พระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ได้แสดงไว้
ใน หนังสือ “ธรรมกาย” พิมพ์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๙๙ ที่โรงพิมพ์ไทยพาณิชยการ สีลมพระนคร เป็นหนังสือบรรณาการงานกฐินพระราชทาน วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๙๙ 
     ลิขสิทธิ์เรื่อง “ธรรมกาย” ของหนังสือนี้ เป็นของมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ตั้งแต่หน้า ๑๐๓ ถึงหน้า ๑๒๙ ท่านได้แสดงวิธีทำให้กิเลสหมด กิเลสสูญ คือ

     อาราธนาธรรมกายพระอรหัตต์ในท้องของท่าน มาเดินสมาบัติเป็นอนุโลมปฏิโลม ๗ เที่ยว และดูอริยสัจ ๔ ที่ดวงธรรมของกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ทั้งกายหยาบและกายละเอียด

     ๑. การดูอริยสัจ ๔ ดูเฉพาะกายโลกีย์ คือกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ทั้งกายหยาบและกายละเอียด
     อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

     ทุกข์ มี ๔ ดวง ดวงเกิดเป็นดวงใส แปลว่าทุกข์ไม่จริง ดวงแก่สีน้ำตาลจนคล้ำ ถ้าดวงนี้โตมาก กายมนุษย์ก็ชรามาก ดวงเจ็บเป็นดวงดำ ถ้าดวงโตแปลว่าป่วยมาก ดวงตายเป็นดวงดำประดุจนิล ดวงนี้ถ้ามาจรดขั้วหัวต่อกายเมื่อไร ทำให้ขั้วหัวต่อกายขาดจากกัน เราจะตายทันที

     สมุทัย เป็นดวงดำ ๓ ดวงซ้อนกัน ดวงในประดุจนิล ดวงนอกดำเรื่อๆ สมุทัยนี้เป็นเหตุ ส่วนทุกข์คือความทุกข์ร้อนที่เรารู้สึกเป็นผล 

     นิโรธ เป็นดวงใสสว่างโชติ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕ วาขึ้นไป เส้นผ่าศูนย์กลางของดวงแค่ไหน ก็เป็นเกณฑ์ของธรรมกายนั้น เช่นธรรมกายโคตรภู ดูอริยสัจ ๔ ของกายมนุษย์ ดูทุกข์เสร็จแล้วมาดูสมุทัย พอดูสมุทัยเสร็จ เกิดดวงนิโรธ เป็นดวงใสสว่างโชติ เส้นผ่านศูนย์กลางของดวง วัดได้ ๕ วา ขณะนั้นดวงทุกข์ดับ ดวงสมุทัยดับ จึงว่า “นิโรธ เป็นผู้ดับทุกข์และดับสมุทัย”
พอนิ่งไปกลางดวงนิโรธ เกิดธรรมกายพระโสดาขึ้นทันที (หน้าตักกว้าง ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม)

     มรรค แปลว่าทางเดิน ได้แก่ดวงธรรมในท้องธรรมกาย ๖ ดวง ดวงธรรมเหล่านี้ เป็นทางเดินให้แก่กาย คือ กายธรรม อย่างเช่น กายธรรมพระโสดาจะไปหาพระสกิทาคามี ก็ต้องผ่านดวงธรรมในท้องของพระองค์ ๖ ดวง จึงจะถึงพระสกิทาคามี เป็นต้น

     ๒. จากนั้นอาราธนาธรรมกายพระโสดา ดูอริยสัจ ๔ ของกายทิพย์ ตามแนวที่กล่าวแล้ว พอเกิดดวงนิโรธ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางของดวงนิโรธได้ ๑๐ วา เกิดกายธรรมพระสกิทาคามี พระสกิทาคามีดูอริยสัจ ๔ ให้กายรูปพรหม เกิดดวงนิโรธเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๕ วา เกิดธรรมกายพระอนาคามี ธรรมกายพระอนาคามีดูอริยสัจ ๔ ให้แก่กายอรูปพรหม เกิดดวงนิโรธ เสั้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ วา เกิดธรรมกายพระอรหัตต์ ธรรมกายพระอรหัตต์เดินสมาบัติในธรรมกายโคตรภูเรื่อยไป

     ๓. การดูอริยสัจ ๔ ดูได้เฉพาะกายโลกีย์ ในกายธรรมไม่มีอริยสัจ ๔ ธรรมกายใหญ่เพียงเดินสมาบัติในธรรมกายเล็ก เพื่อให้กิเลสละเอียดในธรรมกายเล็กหมดไป สูญไป

     ๔. การเดินสมาบัติของธรรมกาย ได้แก่การเอาแผ่นใสที่รองรับของธรรมกายมาซ้อนกัน มาสับกัน เป็นผลให้กายใส ดวงธรรมก็ใสยิ่งขึ้น แผ่นใสนั้นก็คือ ฌาน มีลักษณะเป็นแผ่นใสกลมรอบตัว หนาคืบหนึ่ง

     จะเดินสมาบัติให้กายใด ก็ขยายดวงธรรมของกายนั้นให้ใหญ่กำหนดให้ถูกเอกายนมรรค คือ “กลาง” ตรงจุดใสเท่าปลายเข็ม พอจุดใสเท่าปลายเข็มว่าง ก็จะเห็น ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ของกาย ซึ่งดวงทั้ง ๔ ซ้อนกันอยู่ จะเห็นกิเลสซ้อนกันอยู่ในดวงทั้ง ๔ นั้น เมื่อธรรมกายพระอรหัตต์ละเอียดเดินสมาบัติ เป็นอนุโลม (เดินหน้า) และปฏิโลม (ถอยหลัง) แล้ว กิเลสเหล่านั้น จะหมดและสูญไป แต่ต้องขยันทำ หากทำบ้างไม่ทำบ้าง กิเลสก็เพียงเบาบางไป ส่วนอีกวิธีหนึ่ง ใช้เครื่องกำจัด เห็นว่ายากไปจึงไม่นำมาแสดงไว้ ไม่มั่นใจว่าท่านผู้ศึกษาจะเข้าใจได้แค่ไหน แต่ถ้าไปรับการฝึกจากวิปัสสนาจารย์ ท่านจะเข้าใจและทำได้ ไม่ยากอะไร

     หลักมีอยู่ว่า กายของเราทุกกาย ทั้งกายหยาบและกายละเอียด มีกิเลสเกือบทุกกาย

     เราเข้าถึงกายละเอียดของเราได้กี่กาย

     กายเหล่านั้น มีกิเลสอะไรบ้าง

     ท่านเข้าไปทำลายกิเลสในกายเหล่านั้นแล้วหรือยัง

*********

 

 



ความเห็น (2)

ขอตอบคำถามของคุณ Maxymillion ที่ได้กรุณาถามในบอร์ดพันธุ์ทิพย์นะครับ ถามมาว่า :

ถามต่อว่า แล้วอะไรล่ะ ที่ไปรู้ว่าเห็นภาพกายต่างๆ?

คำตอบก็คือจิต ที่ไปเห็นภาพกายต่างๆ

ยิ่งเห็นต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ มีอารมณ์เดียวไปเรื่อยๆ

ก็แปลว่าเป็นสมถะ ที่เป็นเรื่องของการหน่วงอารมณ์

เมื่อมีการหน่วงอารมณ์ จิตก็จะอยู่กับอารมณ์เดียวเท่านั้น

เมื่อจิตอยู่กับอารมณ์เดียว ก็จะไม่เห็นการเกิดดับใดๆทั้งสิ้น

แล้วจะรู้ได้อย่างไรครับว่า ทุกสิ่งไม่เที่ยง

ในเมื่อเห็นกายในกายอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ในเมื่อไม่เห็นไตรลักษณ์คือความเกิดดับ เนื่องจากเห็นกายในกายตลอด

ไม่เห็นความทุกข์ ไม่รู้ทุกข์ เนื่องจากอารมณ์แช่มชื่นตลอด

ไม่เห็นความเป็นอนัตตา กายใจบังคับไม่ได้ เนื่องจากต้อง "ให้หยุด" คือบังคับให้ใจหยุด

แล้วจะนับเนื่องเป็นวิปัสสนา คือเรื่องสติปัฎฐานได้อย่างไรครับ?

อนึ่ง กายในกาย อยู่ในส่วนของอานาปานบรรพ กายานุปัสสนา

กายานุปัสสนา เป็นเรื่องของการรู้กายล้วนๆ

ที่การที่ภาพกายซ้อนกายที่เห็นผ่านทางใจนั้น

เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ไม่สามารถนับเนื่องกับเรื่องกายานุปัสสนาได้เลยครับ

เนื่องจากไม่ได้รู้กายจริงๆ แต่ไปรับรู้มโนภาพแทน

=========================================

ท่านผู้อ่านนั่งหลังตรงหรือไม่ หายใจออกหรือเข้า สั้นหรือยาวครับ?

=========================================

จากคุณ : Maxymillion (Maxymillion) - [ 16 พ.ค. 52 ]

การพยายามคิดแทนผู้ฝึกสมาธิวิชชาธรรมกายตามที่คุณMaxymillion ได้แสดงความเห็นมานั้น แปลว่าไม่มีความเข้าใจในการปฏิบัติในกรณีนี้เลยนะครับ

สมถะตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นของที่คู่กับวิปัสสนา เป็นกำลังให้วิปัสสนา การรวมใจหยุดเป็นจุดเดียวกันแล้วเห็นกายในกาย ไม่ใช่เป็นเรื่องของรูปนิมิต แต่เป็นการเห็นกายที่ซ้อนเข้าไปเป็นชั้นๆ กายในกายเหล่านี้มีชีวิตจิตใจ มีนามรูปให้เราพิจารณาได้ไม่แตกต่างจากกายมนุษย์ เมื่อเห็นกายในกายได้ก็สามารถพิจารณาวิปัสสนาให้เห็นพระไตรลักษณ์ตามความเป็นจริงได้ เพราะกายในกายเป็นอุปการะ

ทำไมไปคิดเอาเองว่า การเห็นกายในกายเห็นอนิจจังไม่ได้ การเห็นกายในกายนี่แหละที่ทำให้เข้าถึงพระไตรลักษณ์ตามความเป็นจริงได้ เรื่องของเรื่องก็คือท่านเข้าใจผิดไปเอง คิดว่าผู้ฝึกธรรมกายไปติดในรูปนิมิตและไม่ยึดอัตตา ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย ท่านเข้าใจไปเอง

ใจหยุดใจนิ่งคือ ตัวสมถะ ไม่ต้องบังคับนะครับ เราปฏิบัติตามหลักพระศาสนา อย่าได้ใส่อคติลงไปเลย ท่านจะคิดเอาเองว่าคนฝึกไม่เหมือนท่านคือไม่ถูกต้องก็สุดแล้วแต่...แต่ท่านก็ไม่เคยเข้าถึงสภาวะธรรมเช่นนี้ ท่านเคยรวมใจหยุดเป็นจุดเดียวจนกระทั่งเกิดเป็น จิตตังภาวิยะติไหม จิตเคยเป็นขึ้นไหม...?

ขอร้องว่าถ้าไม่รู้จริงก็อย่าตีความให้เกิดการไขว้เขวใดๆ เลยครับ ผู้ฝึกธรรมกายต้องพิจารณาพระไตรลักษณ์ตามความเป็นจริงอยู่แล้ว การเห็นกายในกายก็แปลว่าเราไปรู้เห็นเรื่องของอนุสัยอันเป็นกิเลสอย่างละเอียดที่ซ่อนตัวอยู่ในขันธสันดานที่ซับซ้อนที่สุด จงปฏิบัติให้เข้าถึงกายในกายแล้วท่านจะเข้าใจได้ว่า กายในกายนั้นสามารถน้อมเข้ามาพิจารณา สมถะ-วิปัสสนา ได้อย่างแน่นอนครับ

ตอบข้อสงสัยของคุณจากคุณ : Yogi Playgirl ที่กล่าวว่า...

อริยสัจ 4 แบบธรรมกาย

อริยสัจ 4 ทุกข์ เป็นลูกกลมๆ สีดํา

สมุทัย ก็เป็นลูกกลมๆสีดํา

นิโรธ เป็นรูปธรรมกาย

มรรคคือการทําวิชาธรรมกาย

พิจารณาอริยสัจ 4 พิจารณาลูกกลมๆเหรอค่ะ !

จากคุณ : Yogi Playgirl - [ 10 พ.ค. 52 19:08:36 ]

เรียนคุณจากคุณ : Yogi Playgirl การพิจารณาในขั้นละเอียดด้วยรู้ญาณทัสสนะ ที่สาวไปหาเหตุแห่งทุกข์นั้น ท่านจะพบความจริงที่ไม่อาจใช้สมองไปคิดตามได้ อุปมาเหมือนเราเห็นคนป่วย มีอาหารป่วยต่างๆ ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวเลย เจียนอยู่เจียนไป แต่ไม่ทราบว่าคนๆ นั้นป่วยเพราะอะไร รู้เท่าที่เห็นได้จากอาการภายนอก จากผลที่ผู้ป่วยแสดงออกมา แต่หมอที่ชำนาญการท่านทราบว่าการป่วยเช่นนี้มีเหตุ ก็คือ ตัวเชื้อโรค มันเล็กมากจนไม่มีใครจะคิดนึกไปถึง ไม่มีใครเคยเห็นรูปร่างหน้าตาของมัน แต่มันก็ทำหน้าที่ให้เราป่วยได้ พอมีคนมาบอกว่า ที่ผู้ป่วยเจ็บไข้ไม่สบายนั้นเพราะเชื้อไวรัส หน้าตามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คนฟังก็ไม่เชื่อเพราะไม่เคยเห็นด้วยตนเอง และไม่สามารถเห็นได้ด้วยตนเอง ซึ่งในกรณีนี้ไม่มีใครผิด เพียงแต่การเข้าถึงความจริงของต้นเหตุแห่งทุกข์มีความละเอียดแตกต่างกันนั่นเอง

การเห็นกระบวนการของดวงทุกข์-สมุทัย อันเป็นต้นเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในระดับนี้ เราก็จนปัญญากันแล้ว เราพิจารณาอริยสัจ ๔ ได้เพียงในชั้นผิวเผินตามตัวหนังสือตามตำรา ยังไม่เคยเห็นกระบวนการและรูปร่างหน้าตาอันเป็นญาณวิสัยในเรื่องของอริยสัจ ที่กำกับอยู่ในสัตว์โลก เมื่อธรรมกายมีญาณทัสสนะที่ละเอียดเข้าไปรู้เห็นได้เราก็เข้าถึงต้นเหตุเพื่อดับเหตุได้ในที่สุดนั่นเอง อธิบายอย่างนี้หวังว่าคงจะพอเข้าใจได้บ้างนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท