Acad.-Edu.
นางสาว ธันย์ชนก ปานทะโชติ

:❉:ข้อคิดดีๆ จาก คนตัดต้นไม้.。.:*・


"คุณลับขวานครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่"

                  เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางคณะได้จัดโครงการเสวนา QA คณะศึกษาศาสตร์ ก็มีท่านคณบดีฯ (รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก) เป็นประธานเปิดโครงการ ท่านก็ได้พูดถึงความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษาที่บุคลากรทุกคนควรทราบและควรปฏิบัติ และที่ท่านไม่เคยที่จะลืมกล่าวกับกับพวกเราในทุกครั้งที่มีการประชุมบุคลากรก็คือ ข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ ในการทำงาน 

                 การเสวนาครานี้ ท่านก็เลยเล่าเรื่อง "คนตัดต้นไม้" ให้พวกเราฟังแบบคร่าวๆ ค่ะ ฟังแล้วรู้สึกว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนทำงานแบบ Workaholic (ท่านคณบดีฯ ท่านใช้คำนี้เรียกพวกเราค่ะ) ก็เลยอยากจะนำเสนอให้ทุกท่านได้รู้จัก "คุณคนตัดต้นไม้" ค่ะ 

มีคนตัดไม้คนหนึ่ง
นำฟืนไปขายให้แก่ร้านขายฟืน
ซึ่งร้านขายฟืนก็ปฏิบัติต่อคนตัดไม้ดีมาก
ดังนั้นคนตัดไม้จึงคิดอยากตอบแทน
โดยการจะตัดไม้ให้ได้เป็นจำนวนมากๆ
ในวันแรกคนตัดไม้ตัดไม้ได้ 20 ต้น
แล้วนำมาให้ร้านขายฟืน
ซึ่งร้านขายฟืนก็ชมเชยและปฏิบัติต่อคนตัดไม้อย่างดี
แต่พอในวันที่ 2 คนตัดไม้ก็ตั้งใจจะตัดให้ได้มากขึ้น
แต่ปรากฏว่ากลับตัดได้เพียง 18 ต้น
ในวันรุ่งขึ้นก็กะว่าจะตัดให้ได้มากยิ่งขึ้น
แต่ก็กลับเหลือ 16 ต้น
ยิ่งนับวันผ่านไปเรื่อยๆ ก็ตัดได้น้อยลงเรื่อยๆ
จนในที่สุดคนตัดไม้ก็รู้สึกละอายใจ
จึงไปกล่าวคำขอโทษกับทางร้านขายฟืน
แต่เจ้าของร้านขายฟืนก็กลับถามคนตัดไม้ว่า
"คุณลับขวานครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่"
คนตัดไม้ตอบว่า
"ผมไม่มีเวลาหยุดลับขวานเลย
เพราะขนาดไม่หยุดยังตัดไม้ได้น้อยขนาดนี้"
ซึ่งเจ้าของร้านก็บอกแก่คนตัดไม้ว่า
"คุณลองคิดดูสิว่าหากคุณหยุดลับขวานให้คม
โดยเสียเวลาเพียงเล็กน้อย
คุณอาจตัดไม้ได้มากกว่านี้ก็ได้"
การทำงานก็เปรียบได้กับคนตัดไม้
ถ้าคุณก้มหน้าก้มตาทำโดยไม่หยุดพักหยุดคิด
คุณก็จะล้าลงไปเรื่อย

 

                   ท้ายนี้ก็เลย อยากนำเสนอท่านอาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งค่ะ ท่านทำงานหนักมาก ไม่เว้นวันหยุดราชการ ท่านบอกว่า ท่านเหนื่อย แต่ก็ต้องฝืนทำ เพราะกลัวงานจะไม่เสร็จ ไม่เคยปฏิเสธ ดึกดื่นก็ยังไม่ยอมกลับบ้าน  จนในวันหนึ่ง ท่านก็ไปตรวจสุขภาพ ก็ตรวจพบว่า ท่านมีน้ำตาลและอีกมากมายในเลือดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงผิดปกติ คุณหมอให้งดอาหาร (ที่อาจารย์ชอบ) และไปตรวจเลือดอีกเป็นประจำตามที่คุณหมอนัด

                   ณ ปัจจุบัน เมื่อไหร่ที่อาจารย์รู้สึกเหนื่อย ท่านก็จะไม่ฝืน และพักผ่อนเป็นเวลามากขึ้น รักษาสุขภาพมากขึ้น หันกลับมาดูแลตัวเองมากขึ้น อะไรที่คุณหมอไม่ให้ทาน อาจารย์ท่านก็จะไม่ทานเลย เรียกว่าไม่แตะเลยดีกว่า ทั้งๆ ที่ท่านอาจารย์ชอบทานมากก็ตาม เป็นคนไข้ที่ดีมากๆ (จนน่าจะได้โล่) เพราะอาจารย์ท่านบอกว่า เวลาที่มีอาการไม่สบายเนี่ย  มันทรมานมากๆ และก็เกรงว่าจะเป็นอะไรมากไปกว่านี้

                   แค่อยากจะบอกค่ะว่า ถึงแม้ว่าเราจะสนุกกับการทำงานมากแค่ไหน แต่ร่างกายไม่ได้สนุกไปกับเราซะทุกครั้งและตลอดเวลาหรอกค่ะ

                   ให้เวลากับการพักผ่อน กับตัวเองสักนิด แล้วเราจะมีกำลังในการทำงานมากขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ...ไม่เชื่อก็ลองดูสิค่ะ   

หมายเลขบันทึก: 84788เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2007 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท