เทคโนโลยี


คลังปัญญาไทย
คลังปัญญาไทย ห้องสมุดไร้พรมแดน แห่งใหม่บนโลกไซเบอร์
ห้องสมุด เป็นแหล่งความรู้ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีมาหลายศตวรรษ เพราะเป็นสถานที่ที่รวบรวมหนังสือนานาชนิดไว้ให้ค้นคว้าอย่างมากมาย หากในปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และอินเทอร์เน็ตเข้ามาแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน รูปแบบการเรียนรู้ของคนก็เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เดินหาข้อมูลตามชั้นหนังสือ ก็เปลี่ยนเป็นการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อท่องไปยังเว็บไซต์ต่างๆ ด้วยปลายนิ้ว และพึ่งพิงเสิร์ชเอนแทนเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ หากความรู้ที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตก็ยังกระจัดกระจาย และบางครั้งการค้นหาผ่านเสิร์ชเอนจิ้นก็ปะปนมาด้วยข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น ชักจูงให้ผู้ใช้ไหลไปกับขยะเหล่านั้น ซึ่งถ้าเป็นเว็บไซต์ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยก็คงไม่มีปัญหาอะไรมากไปกว่าการเสียเวลา อินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนมีด 2 คม จะเอาไปปอกผลไม้ก็ได้ เอาไปแทงเพื่อนตายก็ได้ ถ้าเราใช้อินเทอร์เน็ตสำหรับเข้าเว็บที่มีภาพลามก เข้าเว็บไซต์พนันบอล คงไม่ดี หากอีกทางหนึ่งอินเทอร์เน็ตก็เป็นช่องทางการเรียนรู้ที่ดี แต่ถึงอย่างนั้นก็มีทั้งความรู้และของเล่นรวมอยู่ บางทีเราหาความรู้แต่ไปเจอของเล่นก็อาจหลงไปกับของเล่นเหล่านั้นมากเกินไป แต่คลังปัญญาไทยจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ กับเยาวชนในการเข้าถึงความรู้นายปรเมศวร์ มินศิริ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ผู้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และภาคีอีกนับสิบ เปิดพื้นที่เรียนรู้ผ่านโครงการคลังปัญญาไทยทางเว็บไซต์ www.panyathai.or.th กล่าว เว็บไซต์ panyathai.or.th เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดย ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ราชบัณฑิต ในฐานะประธานโครงการคลังปัญญาไทย ได้บอกเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการให้ฟังว่า เว็บคลังปัญญาไทยนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระราชทานว่า เด็กควรได้เรียนรู้ ควรได้เรียนความดี และควรได้เรียนวิธีการทำงานประกอบกับการมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ตในด้านการเผยแพร่ข่าวสาร การใช้ประโยชน์จากการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และการสนทนาโต้ตอบออนไลน์ รวมถึงการแสดงความคิดเห็นที่มีทั้งสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ ประธานโครงการคลังปัญญาไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันพื้นที่สร้างสรรค์ในอินเทอร์เน็ตมีอยู่น้อย และเด็กไทยกว่า 70% ใช้อินเทอร์เน็ตในทางไม่สร้างสรรค์ มีโอกาสเกิดพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น ถูกล่อลวง หรือนัดกันไปฆ่าตัวตายผ่านเว็บ เรื่องเหล่านี้ทำให้อินเทอร์เน็ตถูกเพ่งเล็งว่าเป็นตัวการให้เกิดปัญหาสังคม นอกจากนี้ องค์ความรู้ส่วนใหญ่ที่มีก็เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเยาวชนไทยไม่ถนัด ดังนั้น ทางสมาคมเว็บฯ จึงได้หารือกับ สสส. นำเสนอแนวคิดการสร้างสรรค์เว็บที่ดีเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และสร้างทางเลือกให้แก่เยาวชนคนไทยมากขึ้น สำหรับรายละเอียดในคลังความรู้แห่งนี้นั้น ดร.ครรชิต อธิบายว่า www.panyathai.or.th เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ที่ใช้หลักการสารานุกรมเสรีหรือวิกิพีเดีย (www.wikipedia.com) เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้ร่วมบริจาคและแบ่งปันข้อมูล โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ คลังสะสมองค์ความรู้ นำเสนอข้อมูลจากแหล่งที่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์มาแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ อาทิ พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส งานวิจัย บทความเชิงวิชาการ วิทยานิพนธ์ เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งคือ สารานุกรมต่อยอด หรือ วิกิ ที่อนุญาตให้คนทั่วไปสามารถเพิ่มเติมหรือแก้ไขความรู้ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ความรู้ในส่วนที่ 2 นั้นจะเปิดรับความรู้ทุกด้าน โดยเฉพาะสิ่งที่เป็น ความรู้ ความดี และคำแนะนำในการทำงาน เช่น ความรู้ อาจได้จากครูอาจารย์ทั่วประเทศในแง่ความรู้เชิงวิชาการ นอกจากนี้ยังต้องการความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น ที่ทำกิน ภูมิปัญญาไทย ฯลฯ ส่วนในด้านความดี ก็จะเป็นเรื่องราวประวัติคนไทยที่มีความสามารถและความดี คุณธรรมในศาสนาต่างๆ บทสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณงามความดีและตัวอย่างการประกอบความดี สุดท้ายในเรื่องของการทำงานหรือการปฏิบัติ เช่น แนวทางประกอบอาชีพต่างๆ วิธีการพัฒนาตนเอง วิธีการเรียนรู้เพิ่มทักษะ เรื่อยไปจนถึงตำราทำอาหารอย่างแกงเขียวหวานหรือแกงขี้เหล็กประธานโครงการคลังปัญญาไทย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเว็บไซต์ทางเลือกสำหรับผู้ต้องการเข้าถึงความรู้แห่งใหม่ ในโอกาสเปิดโครงการคลังปัญญาไทยนี้ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาโครงการคลังปัญญาไทย ได้ให้ปาฐกถาที่น่าสนใจไว้ด้วยว่า การจัดทำโครงการนี้ขึ้นมานั้นก็เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้ผ่านเว็บไซต์ ทั้งนี้เป้าหมายหลักของการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า การที่มนุษย์เรียนรู้กันตั้งแต่เกิดจนตายก็เพื่อให้หลุดจาก 3 สิ่ง คือ 1. เป็นอิสระความโง่เขลา ซึ่งเว็บไซต์คลังปัญญาไทยตอบโจทย์ข้อนี้โดยตรงอยู่แล้ว 2. เป็นอิสระจากกิเลสทั้งหลาย และสร้างคุณธรรมให้เกิดในใจ ส่วนนี้เว็บไซต์มีรูปแบบการนำเสนอที่ช่วยให้ผู้ใช้ได้เข้าไปรับรู้ความดีผ่านทางพระราชดำรัส บทความเกี่ยวกับคุณธรรม ฯลฯ อยู่แล้ว และ 3. เป็นอิสระจากอัตตา หรือ การยึดถือตัวเองเป็นใหญ่ เพราะโดยปกติธรรมดานั้น คนที่คิดว่าตัวเองถูกตลอดเวลาจะเรียนรู้น้อย แต่คลังปัญญาไทยจะมีการใส่ความรู้เข้าไปตลอด เปิดให้บุคคลอื่นที่มีความรู้ในเรื่องเดียวกันสามารถเข้าไปแก้ไขเพิ่มเติมได้ อันจะช่วยให้บุคคลเกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดที่มาและความตั้งใจของหนึ่งเว็บไซต์ดีๆ ที่จะเป็นเวทีในการแบ่งปันความรู้เพิ่มพูนปัญญาของคนไทยทั้งชาติ ซึ่งนอกจากจะช่วยไม่ให้องค์ความรู้อันทรงคุณค่าสูญหายไปตามกาลเวลาแล้ว ยังเป็นการเปิดกว้างทางวิชาการ และเพิ่มพื้นที่สีขาวบนอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นทางเลือกของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการท่องเว็บอีกด้วย โดยหวังว่าสักวันหนึ่ง โลกออนไลน์แห่งนี้จะเต็มไปด้วยสื่อสร้างสรรค์ และมีพลังพอที่จะเบียดเว็บไซต์สีเทาดำให้มีปริมาณลดน้อยถอยลง ปาจารีย์ พวงศรี
[email protected]

บทความจาก : ไทยรัฐ
วันที่ : 4 ธันวาคม 2549
 
คำสำคัญ (Tags): #เทคโนโลยี
หมายเลขบันทึก: 84782เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2007 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท