ท่าเรือ อบจ.ชุมพร


ข้อคิดเห็นที่ได้นำเสนอในที่ประชุมต้อนรับประธานหอการค้าไทย ณ ท่าเรือ อบจ.ชุมพร

เมื่อวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา หอการค้าจังหวัดชุมพรได้มีโอกาสต้อนรับประธานหอการค้าไทย นายประมนต์ สุธีวงศ์ และคณะ ซึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมหอการค้า 3 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี, ระนอง และชุมพร คณะที่มากับท่านประธานหอการค้าไทยเป็นนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ โดยเฉพาะที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ได้แก่ นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง จาก จ.ตรัง, นายพิพัฒน์ พะเนียงเวทย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยเพรซซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์บะหมี่สำเร็จรูป มาม่า เป็นต้น

หลังจากเยี่ยมชมหอการค้าจังหวัดชุมพรและรับประทานมื้อเที่ยงร่วมกัน โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายพินัย อนันตพงศ์ และคณะผู้บริหารระดับสูงของจังหวัด มาร่วมต้อนรับกันอย่างพร้อมพรั่ง หอการค้าฯ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ก็ได้จัดการดูงานที่ท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวของ อบจ.ชุมพร ซึ่งเพิ่งจะสร้างเสร็จ กำลังทำการส่งมอบ และอยู่ในระหว่างการเตรียมการเข้ามาบริหารโดย อบจ.ชุมพร

ท่านนายก อบจ.ชุมพร นายอำนวย บัวเขียว และคณะ ได้นำเสนอวิดีทัศน์ให้เห็นถึงความเป็นมาและความสำคัญของการก่อสร้างท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวแห่งนี้อย่างละเอียด และเมื่อถึงขั้นตอนของการแสดงความคิดเห็น ที่ประชุมก็ร่วมให้ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารท่าเรือแห่งนี้ในอนาคต

ผมเองก็มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น โดยนำเสนอ 4 ประเด็น คือ

1. การดึง แม่เหล็ก ซึ่งก็คือ ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จัดการเดินทางโดยเรือไปยังแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม โดยเฉพาะ เกาะเต่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

ในเรื่องนี้ ผมคิดว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับ 1 คือ ลมพระยา ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ยุทธศาสตร์ในการสร้างธุรกิจของเขาใช้หลักการ พึ่งตนเอง เป็นสำคัญ การลงทุนในเรื่องต่าง ๆ ทำด้วยตนเองเป็นหลัก โดยเฉพาะการสร้างท่าเรือที่อ่าวทุ่งมะขาม ดังนั้น การจะเจรจาให้เขามาใช้ท่าเรือ อบจ. แห่งนี้ คิดกันตามหลักของเหตุและผล คงจะต้องนำเสนอผลประโยชน์ที่ชัดเจน เช่น สามารถลดต้นทุน และเพิ่มความสะดวกให้กับเขาได้จริง ๆ ถ้าไม่สามารถวิเคราะห์และนำเสนอให้ตัดสินใจได้อย่างชัดเจนแล้ว คงจะเป็นเรื่องยากที่จะดึงมาใช้ประโยชน์

2. การดึง อันดับ 2, 3, ... เข้ามาใช้ประโยชน์ท่าเรือ อบจ.

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการแต่ละรายก็มีท่าเรือเพื่อใช้เดินทางไปสู่เกาะเต่าอยู่แล้ว การขอให้เปลี่ยนมาใช้ท่าเรือ อบจ. ก็จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์และนำเสนอประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน แนวทางที่ 2 นี้ ผมประเมินว่าน่าจะมีความเป็นไปได้สูงกว่าแนวทางแรก เพราะบรรยากาศของการแข่งขันในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพการบริหาร, ราคา และต้นทุนการประกอบการ ยังมีช่องว่างให้นำเสนอเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจใช้ประโยชน์ท่าเรือ อบจ.ร่วมกัน

ผมได้ถามปัญหาทางเทคนิคบางประการ โดยเฉพาะความลึกของแม่น้ำในเวลาน้ำลง และความกว้างบริเวณหน้าท่าซึ่งต้องใช้ในการกลับเรือ ได้รับคำตอบจากท่านนายก อบจ.ชุมพร ทำให้ทราบว่าประเด็นเหล่านี้ได้มีการเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี ไม่มีปัญหาต่อการให้บริการเรือโดยสารขนาดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

3. การจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ท่าเรือ อบจ.

หอการค้าจังหวัดชุมพร เราได้เคยหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกัน มีข้อคิดเห็นธรรมดา ๆ แต่ว่ามีความสำคัญจากสมาชิกว่า เราน่าจะคิดคล้าย ๆ กับเมื่อมีการสร้าง ตลาดสด ขึ้นมาใหม่ เงื่อนไขจูงใจอย่างเช่นให้วางแผงขายฟรีในระยะแรกเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ความคึกคัก สนุกสนาน สีสันสวยงาม ฯลฯ จะต้องนำเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการจัดการแสดงมหรสพลิเก, ดนตรีลูกทุ่ง ฯลฯ

ท่าเรือ อบจ. ก็อาจจะต้องทำเช่นนั้น โดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้ประกอบการทางด้านเรือท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

4. การส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวหมู่เกาะชุมพร

ผมแสดงความคิดเห็นไปว่า ในช่วงเวลานี้ เรือประมงจำนวนมากในเขตปากน้ำชุมพรประสบปัญหาการขาดทุนจากธุรกิจประมงอย่างหนัก และถ้าปล่อยให้เนิ่นนานไป ทรัพยากรทางด้านการประมงของจังหวัดชุมพรคงจะค่อย ๆ เสื่อมสลายไปในที่สุด การนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจ แต่จะต้องมีกระบวนการในการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว ให้รู้และเข้าใจในมิติทางด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ข้อเสนอเหล่านี้คงจะเป็นประโยชน์บ้าง ขอเชิญได้นำไปใช้ตามความเหมาะสมเพื่อบ้านเมืองของเรา.

 

คำสำคัญ (Tags): #ท่าเรือ
หมายเลขบันทึก: 84374เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2007 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เห็นด้วยครับ อ.ไอศูรย์

อยากเห็น อบจ.ชุมพร มีการพัฒนาที่จริงจัง และเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดชุมพร เพราะที่ผ่านมาเป็นแค่เพียง ผ่านมาก็ผ่านไป และมีแต่โครงการที่สวยหรู และ เงียบ....

อยากฝากว่าความเงียบเป็นสิ่งที่ดี แต่ความเงียบมีหลายมิติ ไม่ทราบว่าท่าเรือของ อบจ. จะอยู่ในมิติไหนดี

ใช่แล้ว เพราะการท่องเที่ยวของจ.ชุมพร ยังไม่บูม หรือเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว

น่าจะพัฒนาด้านการท่องเที่ยวให้มากกว่านี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท