เรื่องเล่าจากดงหลวง 48 Book tag บางทรายโดยดอกแก้ว 2


“พระจันทร์สวย แต่จริงๆแล้วมันไม่สวย แต่มันก็สวย”
 ได้รับเกียรติจากน้องดอกแก้ว Book tag ครับ  ผู้บันทึกชอบอ่านหนังสือ และสะสมหนังสือ ส่วนมากเป็นทางวิชาการ สารคดี เกล็ดประวัติ จนที่บ้านจัดเป็นห้องสมุดส่วนตัวมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่จำเป็นต้องย้ายห้องทำงานที่บ้านเลยมั่วไปเลย ยังไม่ได้จัดระบบอีกเลย ขณะที่จำนวนหนังสือก็มากขึ้น มากขึ้น เคยโละ ไปแล้วครั้ง สองครั้ง เพราะมีใครๆ กล่าวว่า  หากหนังสืออะไรไม่เคยหยิบมา 10 ปีแล้วก็ทิ้งไปได้แล้ว  แสดงว่าไม่มีประโยชน์ เพียงแต่มันมีวางอยู่ในบ้านเท่านั้นเอง ดังนั้นมีหนังสือในดวงใจมากมายหลายเล่มทั้งในอดีต และปัจจุบัน ขออนุญาตผสมผสานเก่ากับใหม่ก็แล้วกันนะครับ 

สาม:- ผู้เขียนสนใจศาสนาคู่กับเรื่องราวของธรรมชาติต่างๆที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ ประมาณสัก 20 ปีที่ผ่านมามีหนังสือออกมาเล่มหนึ่งที่สาระเป็นการบรรยายความจริงทางวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ควบคู่กับความจริงทางธรรมชาติศาสนา ผู้เขียนเป็นนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ที่ชื่อ ฟริจ้อบ คัปปรา หนังสือแปลฉบับนี้อธิบายการค้นพบต่างๆทางหลักกลศาสตร์ และนิวเคลียร์ ปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านั้นช่างแปลกเหลือเกินที่ไปตรงกับคำอธิบายทางการค้นพบทางศาสนา 

 

ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนหลังไปสมัยเรียนหนังสือที่เคยฟังท่านศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ ศศิธร อภิปรายว่า ไม่ว่าผู้ใดมีอาชีพอะไรก็ตาม หากเขาเข้าสู่ความจริงสูงสุดของที่สุดแล้ว ความจริงของที่สุดนั้นจะเหมือนกันหมด ผู้เขียนไม่เข้าใจหรอกครับว่ามันหมายความว่าอย่างไร  แต่เมื่ออ่านสิ่งที่ ฟริจ้อบ คัปปรา เขียนแล้วทำให้ผู้เขียนเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น และเปลี่ยนทัศนคติต่อธรรมชาติไปจากเดิม ผู้เขียนอ่านหนังสือเล่มนี้รวดเดียวจบตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง เป็นหนังสือเล่มเดียวที่ทำได้อย่างนี้  หนังสือเล่มนี้ชื่อ “Tao of Physics” เข้าใจว่าไม่มีวางขายแล้วครับ

 

สี่: ช่วงที่เรียนจบใหม่ๆเริ่มทำงานชนบททางภาคเหนือ พวกเรามักจะไปมาหาสู่กันกับเพื่อนๆที่ทำงานด้านนี้ด้วยกัน เช่น เพื่อนที่ทำงานกับสังฆมณฑลเชียงใหม่ เพื่อนๆที่อยู่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตามนิสัย คนทำงานมือใหม่และยังติดต่อกับพี่ๆที่ทำงานโครงการบูรณชนบทแห่งประเทศไทย ชันนาท สมัยนั้นเป็นยุคเริ่มต้นการรวมตัวกันขององค์กรพัฒนาเอกชนชนบท ทำให้มักจะนัดกันรวมตัวประชุมเพื่อวางแผนการเกาะกลุ่มกันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยมี พี่ๆที่ทำงานกับ Asian Cultural Forum On Development(ACFOD) เป็นแกนนำ

ครั้งหนึ่ง ACFOD จัดการสัมมนานักพัฒนาขึ้นแล้วเชิญท่านอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ มาบรรยาย ท่านอาจารย์ ส. เปิดฉากอย่างดุเดือด เผ็ดร้อน ตามสไตล์ของท่าน ผู้เขียนจำได้ว่า ท่านกล่าวว่า พวกทำงานพัฒนาเนียะ มันยะโสโอหังมาจากไหน ที่เข้าไปพัฒนาชาวบ้าน ศึกษาหาความรู้อะไรมาบ้าง  ติดหัวไปสักเท่าไหร่ แล้วไปแนะนำอะไรกับชาวบ้านบ้าง  ไม่ชวนกันไปตายหมดหรือ...ในที่นี้มีใครรู้จัก อี เอฟ ชูเมกเกอร์ บ้าง   ไม่มีใครยกมือสักคนเดียว..???  ท่านถามอีกว่า รู้จัก อังเดร กุลเธอร์แฟร้งค์ ไหม เงียบ... ไม่มีใครยกมือสักคน เอ้าทีนี้ คนไทยก็ได้ ใครรู้จักท่าน พระธรรมปิฏกบ้าง เงียบครับ....(เมื่อปี 2525 นั้นผู้เขียนจำไม่ได้ว่าท่านมีพระนามว่าอะไร) ท่านอาจารย์ ส. กล่าวต่อว่า  ตายๆ ไม่พาชาวบ้านไปตาย สังคมไม่วุ่นวาย ฉิบ..วาย ป่วง หมดหรือเนี่ย..

ผู้เขียนละสะอึกเลยไม่เคยพบเคยเห็นใครพูดจาหนักหน่วงอย่างท่าน แต่ท่านมีเหตุมีผลมาก เพราะชื่อต่างๆที่ท่านเอ่ยมานั้นล้วนเป็นผู้อาวุโสที่มีความรู้เรื่องของโลก เรื่องของประเทศ เรื่องของสังคม และเรื่องของคน พระธรรมปิฏก ก็มาเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นและติดตามศึกษาแนวคิดท่านอย่างมาก ส่วนอังเดรกุลเธอร์ แฟร้งค์ นั้นเขียนหนังสือชื่อ Development Under-development Country หรือการพัฒนาประเทศด้อยพัฒนา ส่วน อี เอฟ ชูเมกเกอร์ ดังสุดๆในสมัยนั้น หนังสือของท่านถูกแปลมาหลายเล่ม ที่สำคัญที่สุดที่ผู้เขียนต้องออกจากห้องสัมมนาแล้วมุ่งตรงไปร้านหนังสือหามาอ่านเสียจุใจเลยครับ หนังสือเล่มนั้นชื่อ จิ๋วแต่แจ๋ว หรือชื่อเดิมคือ “Small is Beautiful”

 

ห้า : ผู้เขียนเป็นผลผลิตเดือนตุลา อยากกล่าวว่าคนกลุ่มหนึ่งในสมัยนั้นคลั่งไคร้ในการศึกษาหนังสือความรู้ต่างๆมาก  กองล้นห้อง ล้วนเป็นหนังสือหนักๆ ทั้งนั้น เพราะกิเลสที่อยากรู้ อยากเข้าใจ อยากต่อยอดความรู้ที่คนอื่นค้นพบมาก่อนแล้วในทุกๆเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมมนุษย์ ส่วนใครจะหนัก จะเอียงไป ทางใดก็เป็นความสนใจส่วนตัว เช่น บางคนสนใจเรื่องการปกครอง บางคนสนใจเรื่องการทำมาหากิน  บางคนสนใจเรื่องสุขภาพอนามัย สารพัดเรื่อง แต่ผู้เขียนสนใจเรื่องราวของชุมชนชนบท และกระโดดเข้าสู่ชนบททันทีตั้งแต่ก่อนเรียนจบ เราเข้าสู่ชนบทก็พบพระเทพกวี แห่งวัดเจดีย์หลวง และวัดป่าดาราภิรมย์ ทำงานพัฒนาชนบท พบพระเพื่อนคือท่านไพศาล วิสาโล พบพระดุษฎี และพระชาวบ้านอีกหลายท่านใช้ศาสนาทำงานพัฒนาคนในชนบทไปด้วย เคยไปกราบหลวงปู่แหวน สุจินโณ เคยไปกราบหลวงปู่สิม แห่งถ้ำเชียงดาว  เคยไปกราบพระสายวิปัสสนาที่ถ้ำแก่งปันเต๊า ที่เชียงดาว เลยไปถึงกราบเจ้าสำนักสวนโมกข์ ชัยยา ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ไปกราบหลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่เทศ เทศรังสี 

แล้วในที่สุดผู้เขียนก็บวช 1 พรรษาที่สำนักวิปัสสนาไทรงาม แห่งจังหวัดสุพรรณบุรีขณะทำงานพัฒนาที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ แล้วผมก็พบความจริงทางศาสนาในหลายแง่มุมที่ผมไปมีส่วนสัมผัสบ้างแม้เพียงผิวเผิน  เช่น ประโยคที่ว่า พระจันทร์สวย แต่จริงๆแล้วมันไม่สวย  แต่มันก็สวย ผมอ่านครั้งแรกก็คิดว่าเขาเขียนผิดหรือเปล่า ไม่เห็นเข้าใจอะไรเลย แต่ต่อมาจึงเข้าใจ หรือ เช่น สติปัฐฐาน 4”  ซึ่งเป็นฐานที่สำคัญของ การทำวิปัสสนา กรรมฐาน ดังนั้น เมื่อผมพบหนังสือแปลของท่านดาไล ลามะที่ 14 จึงรีบคว้ามาศึกษาทันที หนังสือเล่มนี้ขายดีทั่วโลก ฉบับที่มีอยู่เป็นฉบับที่พิมพ์ครั้งที่สอง เล่มนี้ชื่อ ศิลปะแห่งความสุข    หรือ “The Art of Happiness”  ผู้เขียนอ่านแล้วเย็น ผ่อนคลายจากความวุ่นวายมากจริงๆครับ ปุถุชนคนอย่างเราควรจะหามาอ่านครับ

 

หมายเลขบันทึก: 84094เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2007 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 12:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะคุณบางทราย

เต๋า ออฟ ฟิสิกส์ มีแค่โอกาสอ่านแต่ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของเพราะยืมมาอ่าน ( ถ้ามี สนพ.ไหนจะกรุณาพิมพ์ใหม่จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ) หนังสือเล่มนี้ทำให้เบิร์ดมองศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์เลยล่ะค่ะ

ศิลปะแห่งความสุขท่านดาไล ลามะ ก็เขียนได้อย่างน่าอ่านมาก คุณบางทรายเคยอ่าน.. ตาที่สาม.. ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคัดเลือกผู้ที่จะเป็นองค์ดาไล ลามะมั้ยคะ เรื่องนี้ก็น่าสนใจเหมือนกัน

จิ๋วแต่แจ๋ว..นี่ยังไม่เคยอ่านค่ะส่วนมากหนังสือเี่กี่ยวกับการพัฒนาชนบทเบิร์ดจะอ่านน้อยมาก เพิ่งมาสนใจจริงๆก็ตอนที่มาช่วยราชการอยู่ที่กลุ่มงานสุขศึกษา เพราะพี่ที่ทำงานด้วยทำงานเชิงรุกในชุมชน..ซึ่งมีชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นชุมชนกรณีศึกษาของกองสุขศึกษาอยู่ 2 ชุมชน ( เป็นชุมชนรักษ์สุขภาพในวิถีกึ่งเมือง และวิถีชนบทที่ดำเนินกิจกรรมแบบเศรษฐิกจพอเพียง ) รวมทั้งตอนนี้กำลังจะเริ่มขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบ ( โครงการ 5 ปี ) 3 แห่งของ อ.เมือง ชร.( ไม่รู้ว่านานไปจะไม่เหลือสักชุมชนเลยหรือเปล่า ^ ^) คงต้องขอคำแนะนำจากคุณบางทรายในการทำงานกับชุมชนแบบหวังผลอย่างยั่งยืนด้วยนะคะ..อิ อิ

สวัสดีครับคุณ 

P
  • ผมก็ชอบมาก เรื่อง เต๋า ออป  ฟิสิกส์ ยังนึกถึงอยู่เรื่อยๆ
  • ตาที่สามยังไม่ได้อ่านครับ อีกหลายเล่มก็ยังไม่ได้อ่าน ช่วงหลังมานี้ถ้าเกือบจะไม่มีเวลาอ่านหนังสือเลยครับ
  • จิ๋วแต่แจ๋ว ผมคิดว่าอาจจะหมดไปจากท้องตลาดแล้ว  หากจะมีก็ 2 แห่งคือ ศูนย์หนังสือจุฬา กับห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ
  • ผมยินดีแลกเปลี่ยนครับ และขอแลกกับภาพดอกไม้ต่างๆที่คุณเบิร์ดมีอยู่ครับ  แฮะ แฮะ ชอบดอกไม้
  • หากมีประเด็นไหนก็บอกมานะครับ แลกเปลี่ยนกัน
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณบางทราย

ถ้าชอบดอกไม้โดยเฉพาะดอกไม้ไทยลองเข้าไปที่นี่ดูนะคะhttp://rspg.thaigov.net/homklindokmai/homklin/index.htm

พี่  

P
ครับ

small is beutiful นั้นน่าสนใจมากครับ เพราะผมเองสนใจนักเขียนที่ชื่อ อี.เอฟ .ชูมาเกอร์

ข้อเขียนอันโด่งดังชิ้นนี้ ทราบมาว่า อีเอฟ ได้แรงบันดาลใจเมื่อชูมาเกอร์ได้รับเชิญจากประธานาธิบดีอูนูในนามรัฐบาลพม่าให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ๓ เดือน

การมองทุนนิยมจากตะวันตกสู่ตะวันออก ทำให้วิถีพม่าเปลี่ยนไป เขาจึงเริ่มเขียน Economic in A Buddhist Country ต่อมารู้จักแพร่หลายใน นาม เศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ

ผมเคยอ่านจากหอสมุด มช. เมื่อหลายปีก่อน แต่จำไม่ค่อยได้ ...และประทับใจครับ

จาก Small is beautiful สู่ "จิ๋วแต่แจ๋ว" ฉบับภาษาไทย พี่มีเล่นนี้มั้ยครับ

ด้วยเป็นผมเด็กดอย บ้านที่ห่างไกล ผมเลยพลาดโอกาสดีๆในการหาอ่านหนังสือง..ที่มีก็พยายามซื้อเก็บไว้ เป็นห้องสมุดย่อมๆที่บ้านเลยครับ

สวัสดีคุณ

P
ครับ
  • ขอบคุณครับที่แนะนำผมจะเข้าไปดูครับ
  • ยิ่งดอกไม้ไทยยิ่งชอบครับ
  • ขอบคุณครับ
น้อง
P

ครับ

  •  Small is beautiful ถ้าพี่หาเจอะจะส่งมาให้นะครับ  ต้องขุดจากซอกไหนยังไม่รู้เลยเนียะ ห้องสมุดส่วนตัวมันเสีนระบบไปตอนย้ายห้อง เลยมั่วๆอยู่มากทีเดียว
  • .การห่างไกลศูนย์กลาง "ความเป็นสมัยใหม่" ก็อาจจะมีข้อด้อยเรื่องข้อมูลข่าวสาร  แต่อาจจะดีในเรื่องอื่นๆนะครับ

พี่บู๊ทขา  น้องลูกหว้าบ่นถึง ที่นี่ค่ะ ^__*

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท