“รู้จักชม รู้จักดม” กับการจัดการความรู้


เมื่อเห็นคนอื่นทำดี ก็ชมเขาบ้าง? เพื่อจะได้เป็นกำลังใจ
  

     ทีมงานการจัดการความรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ขนานนามใหม่ให้ดิฉันว่า  คุณชม  คุณดม  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า

                 1.  เมื่อมีคนใดคนหนึ่งในทีมงานการจัดการความรู้ทำความดี  เช่น  พูดเรื่องดี ๆ  หรือทำงานเก่ง  หรือทำอะไรแล้วสำเร็จ  และอื่น ๆ ๆ   ดิฉันก็มักจะชมว่า เยี่ยมมากเลยค่ะแจ๋วมากเลยค่ะ….ใช้ได้ ๆ ๆ  และเก่ง ๆ ๆ พี่  ทั้งนี้ ดิฉันมีเป้าหมายเพื่อให้กำลังใจทีมงาน               

                  2.  เมื่อ คุณอุษา  ทองแจ้ง  ทำหน้าที่ชวนผู้รู้ KM  คุยในเวทีเสวนาการจัดการความรู้โดยใช้ระบบส่งเสริมการเกษตร  และขณะที่คุณอุษาทำหน้าที่นั้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่า  พี่เขาจะพูดน้อยมาก  คอยโยนประเด็น  เชื่อมโยง  และสรุปประเด็น เท่านั้นเอง  ฉะนั้น เมื่อคุณอุษา ทำหน้าที่ดังกล่าวเสร็จก็มาเล่าให้ดิฉันฟังว่า ตอนอยู่บนเวทีนั้นนะ  พี่รู้สึกอึดอัดมาก เมื่อต้องทำบทบาทนี้พี่อยากจะพูด  อยากจะแลกเปลี่ยนด้วย  และอยากจะเล่าให้ฟังด้วยคน…เพราะที่เขาพูดกันนั้นพี่รู้ทุกอย่างเลย  แต่พี่ก็ต้องระงับใจตนเองไว้  เพราะเรากำลังทำบทบาทผู้นำเสวนา  ซึ่งต้องเตือนตัวเองไว้ว่าห้ามพูด ๆ ๆ ๆ  เมื่อฟังจบ  ดิฉันก็เลยขอจับมือพี่อุษาและพูดว่า ดีใจด้วยพี่พี่ทำสำเร็จแล้วพี่ชนะใจตนเองและพี่ทนฟังคนอื่นพูดได้จนจบ

                3.  เมื่อ คุณมัลลิกา  เขียวหวาน  ทำหน้าที่ประมวลและสะท้อนข้อมูลจากการฟังผู้นำเสนอทั้ง 6 กลุ่ม หรือ 6 เขตเสร็จแล้ว  พี่มัลลิกา  ก็ได้ขึ้นไปนำเสนอบนเวทีเกี่ยวกับเรื่องราวทั้งหมดของทุกกลุ่มที่นำเสนอนั้นมีอะไรบ้าง?  โดยการอ่านและวิเคราะห์ข้อมูลให้คนเข้าสัมมนาฯ ได้ฟัง และที่สำคัญคือ ไม่มีการสรุปให้ แต่ให้ผู้ฟังเป็นคนสรุปข้อมูลและบทเรียนด้วยตนเอง ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที (ซึ่งทุกกลุ่มที่นำเสนอใช้เวลารวมกัน ประมาณ 1.30 ชั่วโมง)  ฉะนั้น เมื่อพี่เขาทำหน้าที่เสร็จและประธานได้ปิดเวทีเรียบร้อยแล้ว  พวกเราก็ช่วยกันเก็บของ ดิฉันก็เลยพูดกับ คุณพิชฎา ว่า พี่แจ๋วนี่เก่งนะประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลได้ชัดเจน  แถมยังใช้เครื่องมือตารางอีกต่างหากอยากเห็นมานานแล้ว  และที่สำคัญคือ  พี่แจ๋วปล่อยให้คนฟังเป็นคนสรุปบทเรียนของตนเองอีกต่างหาก  ซึ่งดีมาก ๆ  แล้วดิฉันก็พูดต่อว่า ขอรบกวนพี่แมวหน่อยเถอะช่วยบอกพี่แจ๋วด้วยว่าจือ ฝากชมมาด้วยแต่ถ้าให้ดีนะพี่แจ๋วช่วยเขียนออกมาอย่างที่พูดด้วยนะจะยิ่งดีมากเลย  เพราะจะได้เป็น Case ให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้ด้วย เกี่ยวกับการใช้ตารางวิเคราะห์ข้อมูล  หลังจากนั้นเมื่อมีการประชุมคณะทำงานกลุ่มใหญ่  ดิฉันก็ชมด้วยตนเองเช่นกัน และผลปรากฏว่า พี่แจ๋ว  ก็ตอบตกลงที่จะเขียนเรื่องนี้ออกมาด้วยค่ะ   

 

                ส่วน รู้จักดม  นั้น เราจะต้องเสาะหาว่าของดี ๆ มีอยู่ที่ไหนบ้าง? แล้วจึงหยิบมาใช้กับงาน  กับคน  และกับตัวเราให้เป็น  ใช้ให้เหมาะกับเวลาจังหวะ  และกาลเทศะ  เราก็จะได้เพื่อนและได้ความรู้เพิ่มขึ้นและยังช่วยสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ดีอีกด้วย

 

                ตัวอย่างเช่น  ใช้เพื่อสร้างบรรยากาศร่วมกัน

 

                ท่านรู้มั้ย?ว่ามีคนทานกาแฟแล้วตาบอด (คนฟังก็จะนิ่งเงียบ และพูดว่ามีด้วยเหรอ ๆ ๆ) แล้วเราก็พูดต่อว่า แต่ท่านไม่ต้องห่วงหรอกนะเพราะเราค้นพบทางแก้เรื่องนี้แล้ว (คนฟังก็จะถอนใจเฮือก ๆ ๆ) แล้วเราก็พูดต่อว่า คือ  ก่อนดื่มกาแฟเราก็เอาช้อนออกจากแก้วเสียก่อนท่านก็จะตาไม่บอดแล้ว  เรื่องราวก็มีอยู่เพียงเท่านี้เองค่ะ  ท่านก็สามารถสร้างบรรยากาศและความรู้สึกดี ๆ ให้กับผู้ฟังได้

 

                ซึ่งนิทานเรื่อง  ดื่มกาแฟแล้วตาบอด  ดิฉันก็หยิบมาจากฟังคนอื่นเล่า  (คุณยอดธงชัย รอดแก้ว) แล้วนำมาใช้ต่อกับคนฟังคนอื่น ๆ ก็สามารถเรียกเสียงหัวเราะได้

                 ฉะนั้น  เราควรฝึกตนเองให้มองคนอื่น ๆ ด้านดี ๆ และเมื่อเขาทำดี ก็รู้จักชม  รู้จักดม เพื่อให้กำลังใจระหว่างกัน  ซึ่งสิ่งนี้ ดิฉันก็ได้นำ หลักการของการจัดการความรู้ มาใช้ในการทำงานร่วมกันนั่นเองค่ะ.
คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 83876เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2007 07:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท