ทำไมนักศึกษาในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตจึงต้องเขียนหนังสือเป็น


สำหรับผมแล้ว การเขียนหนังสือเป็น เป็นตัวชี้วัดสำคัญอันหนึ่งของความสำเร็จของการศึกษาเลยทีเดียว เพราะการ "เขียนเป็น" หมายถึงการ "คิดเป็น"

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วกับสองเดือนแรกของปีนี้ ผมเดินทางเกือบทุกวัน ทั้งเหนือใต้ออกตก เพื่อพบปะกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นและกับศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต ทั้งที่กำลังจะเกิดและที่กำลังดำเนินการอยู่แล้ว มีคำพูดหนึ่งที่อาจารย์ประจำศูนย์เรียนรู้หลายๆ ศูนย์พูดกับผม คือ "นักศึกษาเราเขียนไม่ได้ แต่พูดได้" บางแห่งก็เล่าว่านักศึกษาทำข้อสอบอัตนัยไม่ได้เพราะเขียนไม่ได้ มีคนหนึ่งไม่ตอบอะไรเลย ใช้วิธีเขียนลอกโจทย์ลงมาใหม่เป็นข้อๆ เพียงเพื่อให้เห็นว่าได้เขียนอะไรบ้างแล้ว อาจารย์ประจำศูนย์ท่านนั้นถามผมว่าควรจะให้คะแนนอย่างไร ผมตอบโดยไม่ลังเลเลยว่า ถ้าเป็นผมๆ ก็จะให้ 0 คะแนน เพราะเขาไม่ได้ตอบคำถาม

อาจารย์บางท่านก็บอกว่านักศึกษาในศูนย์เรียนรู้ของท่านส่วนใหญ่จบ ม.ปลาย การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ผมก็บอกว่าพูดแบบนั้นก็เท่ากับไปกล่าวหา กศน.ว่า ม.ปลายเขาไม่มีมาตรฐาน แม้หลักสูตรกศน. ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษานอกระบบสำหรับนักศึกษาผู้ใหญ่ จะไม่เข้มข้นทางวิชาการ เรียนกันเอาเป็นเอาตาย  (ภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น คณิตศาสตร์ ฟิลิกส์ เคมี ชีวะ) อย่างโรงเรียน ม.ปลายในระบบ แต่เขาก็มีมาตรฐานตามระบบการศึกษานอกโรงเรียน และยังไงๆ ผู้จบ ม.ปลายก็ต้องทำได้มากกว่า "อ่านออกเขียนได้" ซึ่งเป็นมาตรฐานของชั้นประถม ชั้นมัธยมต้อง "เขียนเป็น" ด้วย

ยิ่งถ้าอาจารย์จะบอกว่า เมื่อคนที่เข้ามาเรียนแล้วเขียนไม่เป็น แล้วอาจารย์ไม่ช่วยให้เขาเขียนเป็นแล้วอาจารย์จะยอมให้เขาจบระดับอุดมศึกษาไปโดยเขียนไม่เป็นต่อไปอีกหรือ ยิ่งข้อสอบอัตนัยของวิชาต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ถามวัด "ความรู้ความจำ" เพราะเราไม่สอนให้ท่องจำข้อมูลความรู้ไม่ว่าจากตำราหรือผู้สอน แต่เป็นการถามความคิดความเห็น โดยเฉพาะความคิดความเห็นและความรู้ของนักศึกษาเองที่เกิดจากการปฏิบัติกิจกรรม งานเดี่ยว งานกลุ่ม

ในวิชาที่ผมรับผิดชอบ สอบปลายภาคผมมักจะถามแบบซื่อๆตรงๆ ง่ายๆ ว่า งานกลุ่มของท่านทำเรื่องอะไร ได้ผลเป็นอย่างไร ท่านคิดอย่างไรกับผลนั้น ตัวเองจะใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ได้อย่างไร ถ้านักศึกษาท่านนั้นได้ทำมาจริงก็ย่อมต้องเขียนตอบลงไปได้แน่นอน (แต่ก็มีคนตอบไม่ได้เช่นกันเพราะไม่ได้ร่วมทำงานกลุ่ม อาศัยเกาะกลุ่มได้คะแนนชิ้นงานกลุ่มไปกับเพื่อน)

สำหรับผมแล้ว การเขียนหนังสือเป็น เป็นตัวชี้วัดสำคัญอันหนึ่งของความสำเร็จของการศึกษาเลยทีเดียว เพราะการ "เขียนเป็น" หมายถึงการ "คิดเป็น" (อ้างจาก เสรี พงศ์พิศ, ๓ หลักใหญ่ของมหาวิทยาลัยชีวิต http://www.phongphit.com/index.php?option=com_content&task=view&id=309&Itemid=2) ซึ่งก็คือสามารถคิดเป็นระบบ คิดเป็นนามธรรมธรรมได้ วิเคราะห์(แยกแยะ)ได้ และสังเคราะห์(เชื่อมโยง-รวม-สร้างความรู้ใหม่)ได้

สำหรับนักศึกษาคนใดที่ยังปักใจเชื่อว่าจะสามารถเรียนจบหลักสูตรนี้โดยไม่ต้องเขียนเป็น ท่านต้องคิดใหม่ว่าท่านมีความพร้อมจะเป็นบัณฑิตจริงหรือเปล่า

อาจารย์เสรี พงศ์พิศ เล่าให้ฟังว่าท่านขอให้พี่น้องทุกคนช่วยกันเขียนความทรงจำที่มีต่อพ่อที่ล่วงลับ เพื่อแจกในงานทำบุญร้อยวัน พี่น้องท่านบางคนบอกว่าเขียนไม่ได้เพราะไม่เคยเขียน อาจารย์เสรีถามว่าพูดเล่าเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่ยังจำได้เมื่อครั้งพ่อมีชีวิตอยู่ได้หรือเปล่า ทุกคนบอกว่าได้ อ.เสรีก็บอกว่าก็เขียนลงไปอย่างที่จะพูดนั่นแหละ ปรากฏว่าทุกคนเขียนได้ และหลายคนก็เขียนได้ดีเสียด้วย

อาจารย์ประจำศูนย์บางท่านถามผมว่า นักศึกษาที่เขียนไม่ได้ ไม่ได้ตอบข้อสอบ สอบตกจะทำอย่างไร ผมก็ตอบว่าตกก็คือตก ถ้ามหาวิทยาลัยใดมีระบบการสอบซ่อมก็ต้องเข้าสู่ระบบการสอบซ่อม แต่หากไม่มีก็อาจต้องจบหลังคนอื่นในรุ่นเดียวกันเพราะต้องเรียนวิชาที่ตกใหม่

ผมเคยได้รับโทรศัพท์จากศูนย์เรียนรู้แห่งหนึ่งเมื่อปีที่แล้วว่า มีนักศึกษาบางคนส่งงานทีกำหนดไม่ครบทุกชิ้น(งานเดี่ยว) จะให้คะแนนในชิ้นนั้นไปเลยได้ไหม ผมตอบไปว่า ถ้าเป็นผม ผมจะไม่ให้คะแนนงานชิ้นนั้นเลย จนกว่าจะส่งหรือสามารถนำหลักฐานมาแสดงได้ว่าส่งแล้ว ผมถามอาจารย์ท่านนั้นกลับไปว่า อาจารย์ทำใจได้ไหมเวลานักศึกษาไปคุยกันในหมู่พวกเขาว่า "ขนาดเราไม่ส่งงาน อาจารย์ยังให้คะแนน" ถ้าอาจารย์ทำใจไม่ได้ อาจารย์ก็ต้อง "กล้า" ที่จะให้ 0 คะแนนสำหรับงานชิ้นนั้น ผมคิดว่า "ความเมตตา" นั้นต้องมี แต่ "กติกา" ก็ต้องมีเช่นกัน



ความเห็น (4)

ผมเห็นด้วยกับบทความ"ทำไมนักศึกษาในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตจึงต้องเขียนหนังสือเป็น"ของอาจารย์สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

ประหลาดใจพร้อมๆกับดีใจมากครับที่มีนักศึกษาในโครงการ ม.ชีวิต ใช้ G2K

ชื่นใจที่โครงการนี้ทำให้คนทำกับข้าวขายในตลาดสตึกใช้ไอทีเป็น และเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่นๆ ได้ ขนลุกครับ

เรียน อ.สุรเชษฐ์ฯ ที่เคารพครับ

ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ เขียนไม่ค่อยเป็น แต่คิดเป็น พิมพ์จากแป้นอักษร พิมพ์ดีม และคอมพิวเตอร์ ออกมาเป็นชิ้นงานนำเสนอได้  (ผมทำงานด้านธุรการครับ)

มีอยู่วันหนึ่งไฟฟ้าดับ และเครื่องพิมพ์ดีดเสีย (ตั้งแต่สำนักงานมีคอมฯ ไม่มีใครสนใจดูแล)  ผู้บังคับบัญชา(ใกล้เกษียณแล้ว)  ท่านบอกว่า ลองหัดเขียนดูเวลาเสนองาน บางคนไม่เคยเขียนเสนองาน  จะเขียนไม่เป็น  เขียนไม่ออก  เป็นความจริงด้วยครับ เวลามานั่งจรดปลายปากกาแล้ว ประสาทสองส่วนเชื่อมโยงกันตะกุกตะกัก คิดได้แต่เขียนผิด กลัวนายอ่านลายมือไม่ได้ กลัวไม่พอบรรทัด  งานนำเสนอเลยออกมาไม่ค่อยดี  ดังนั้น การหัดเขียน หัดจดบันทึกบ่อย ๆ ก็จะเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเกิดทักษะในการเขียน

เวลานั่งเรียนในห้องเพื่อนร่วมกลุ่มบางคนมักจะทักท้วงว่า จดทำไมชีตอาจารย์ก็แจกแล้ว  แต่สำหรับผม ต้องจด เขียนด้วย จึงจะจำ  แม้จะจำได้ลาง ๆ เราก็มีดัชนีสืบค้นว่าเราเคยจดไว้ตรงนั้นตรงนี้ .../

%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%8b%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%b9%e0%b9%84%e0%b8%a3

มาถึงเรื่อง การจัดการความรู้ (km) 

วันจันทร์ที่  ๑๙ พ.ย.๒๕๕๐  นี้ นักศึกษาศูนย์เชียงใหม่ ๑ ชั้นปีที่ ๒ ได้รับการจัดสรรเก้าอี้ให้เข้าร่วมสัมมนาการจัดการความรู้ (KM) ในส่วนของสำนักงานการส่งเสริมการวิจัย (สกว.) ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ซึ่งมีเพื่อนนักศึกษาลูกศิษย์ของอาจารย์นี่แหละ ชื่อ ปณิธี  บุญสา (ดำ สุราษฎร์ธานี)  เขาทำงานที่ สกว.แม่โจ้  ทำวิจัยกับท้องถิ่นและชุมชนมาตลอด ๑๖ ปี (ทำจนหัวหงอก แกว่างั้นนะ) เพราะฉะนั้น งานที่ดำเขาทำคือ งานที่เรากำลังศึกษาในหลักสูตรทุกวิชา ยกเว้นวิชาบังคับ  งานที่พวกผม(กลุ่มที่ ๖ รุ่งอรุณ) (ร่วมกันทำวิจัยเพื่อจัดทำแผนแม่บทชุมชนในหมู่บ้านป่าไม้แดง ซึ่งเป็นบ้านเพื่อนนักศึกษาในกลุ่มนี้เอง จะปล่อยให้พวกผมเรียนรู้ด้วยตนเอง จะไม่บอก ไม่ประคับประคอง กว่าจะรู้จะยืนได้ด้วยตนเอง ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน ตอนนี้ภาพวิสาหกิจชุมชนมันออกเพียงข้าวกล้อง ขาดแต่การจัดการความรู้ให้มันเป็นเลิศทางการปฏิบัติ กล่าวคือ ขาดการจัดการระบบที่ดี เพราะยังใหม่  พี่น้องในชุมชนยังคงต้องประกอบอาชีพของตนตามวิถี  จึงต้องค่อย ๆ ร่วมกันเรียนรู้ไปเป็นระยะในเวทีย่อยครับ)

ประธานนักศึกษายกหูโทรศัพท์มาหาผมให้ผมช่วยจัดการเรื่องนี้ อาจจะได้นำเสนอในส่วนมหาวิทยาลัยชีวิต   เพราะเขาคงเห็นว่าผมเคยทำเรื่องนี้ในส่วนของงานราชการ (คือ คำรับรองการปฏิบัติราชการ ตัวชี้วัด ที่ ๑๓.๒ ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ผมยกเอามาหนึ่งองค์ความรู้คือ การสังเกตุวัตถุต้องสงสัย) 

บรรยากาศในห้องจะประกอบด้วย นักวิจัยท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะเป็นหมู่บ้านบริวาร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเองมาจากพระราชดำริ ห้วยฮ่องไคร้  ที่ คุณปณิธีฯ กับพวกในฐานะนักวิจัยพี่เลี้ยง  เป็นผู้นำเสนอให้อาจารย์ สมคิด  แก้วพิศ หัวหน้า สกว. เหมือนรายงานความก้าวหน้าส่วนของทีมงานวิจัยภายใต้การควบคุมของ สกว. 

ในส่วนของผมถ้าถูกเชิญให้พูดแสดงความคิดเห็น ผมจะเสนอการจักการความรู้บนนาข้าว  ของชาวนาญี่ปุ่น   เขามีความรู้เกี่ยวกับการผลิตข้าว  ไม่ต้องพูดถึงว่า ปลูกเพียงเพื่อบริโภคเพื่อขาย  แต่ภาพที่เห็นคือการบริหารจัดการองค์ความรู้ของตน อันเกิดจากการเรียนรู้  ภาพที่เห็นไม่ต้องจุดเทียนไปขอหวย  เพียงแต่เป็นการวางกรอบ  หยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว ต่าง ๆ  ที่ให้สีสันตามสายพันธุ์  รู้เวลาการเจริญเติบโตของข้าวแต่ละพันธุ์ วางแปลนว่าส่วนไหนคือหัว ตา จมูก เสื้อผ้าเมื่อข้าวสร้างแป้งก็จะเป็นไปตามกลไกของการเจริญเติบโตตามสายพันธุ์ อยู่ในสภาพของเป๊บติน (เขียวดิบ) กลายเป็นเซลลูโลส ก็จะมีสีเหลือง หรือสีก่ำม่วง ให้รูปร่างดังที่เห็น  (ภาษาอังกฤษเพื่อนนักวิจัยเขาให้หลีกเลี่ยง เพราะจะทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจ จะไม่บรรลุเป้าหมายว่างั้น) แต่ทำไงได้ละครับ เช่นคำหลักของมหาวิทยาลัยชีวิต คำแรก ก็ยากเกินพอที่จะแปลงให้เป็นไทยแบบเข้าใจง่ายง่าย เช่น คำว่า Copcept )  ดังนั้น ภาพมหัศจรรย์ที่เห็นคือการจัดการองค์ความรู้ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ อันเกิดจากพื้นฐานการเรียนรู้อย่างรอบด้าน (คิดเชิงระบบ)บนความคิดสร้างสรรค์  บ้านเราก็ทำได้  หากไม่มุ่งคิดแต่จะขายข้าวดิบ  แล้วซื้อข้าวสุก ข้าวสารกรอกหม้อ  บ้านเรามีคนเก่งมากมาย แต่เรากลงประเด็นการต่อสู้กับชีวิต มันเลยเฉไฉ ออกนอกกรอบการพึ่งตนเองไปมาก  โดยพึ่งปัจจัยภายนอกอย่างเต็มตัว  ดินแดนที่มีการจัดการความรู้ (อย่างสร้างสรรค์ด้วยนะ) ดินแดนแห่งนั้นก็จะเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน และมีความสุข  เช่น ชุมชนของทุกท่านที่กำลังเรียนรู้ วิจัยร่วมกับ สกว.เพื่อการพึ่งตนเอง หากมีการจัดการความรู้อย่างสร้างสรรค์แล้ว (ความรู้ซ่อนเร้น ในตัวตน /ความรู้แจ้งชัด งานวิจัยของชุมชนท่านนั่นแหละ บนความคิดที่สร้างสรรค์ จนเกิดองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นเลิศ ที่มาในนามวิสาหกิจชุมชนที่แต่ละชุมชนท่านมีอยู่นี้ คือการจัดการความรู้ไงครับ  ทีนี้คงไม่มีใครคิดที่จะบุกป่าใหม่ หนีเข้าเมือง หรือไปรับจ้างเป็นแรงงานราคาถูกต่างถิ่นอีกใช่ไหมครับ ถ้าเรามีการจัดการความรู้)  ชีวิตไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก หากมีทักษะ จากการเรียนรู้ ดังคำของอาจารย์เสรี ฯ กล่าว .../

ผมก็จะนำเสนออะไรในทำนองนี้  ไม่ทราบว่า เข้าประเด็นการจัดการความรู้หรือเปล่าครับอาจารย์ หรืออาจารย์มีข้อแนะนำอะไรเพิ่มเติม ผมยินดีปรับปรุง และนำไปศึกษาเพิ่มเติมครับ..หากแม้นว่าอาจารย์ตอบบล๊อกนี้ช้า หลังจากลูกศิษย์เข้าสู่สนาม สกว.ไปแล้วก็ไม่เป็นไร KM  นั้น ยังต้องใช้ตลอดชีวิต และต้องเหลือไว้ให้ลูกหลาน แม้ชีวิตนี้ไม่มีในโลกแล้ว

ไม่มีรูป ด.ต. ธีรกานต์ เทพขาว ครับ

ท่อนข้างล่างเขียนดีมากเลยครับ ผมขอแนะนำให้นำข้อความนี้ไปเขียนลงในสมุดของคุณธีรกานต์หรือของกลุ่มร่งอรุณ เพื่อให้คนอื่นๆ ได้อ่านในวงกว้าง (กว่าที่เขียนเป็นความเห็นต่อท้ายบันทึกของผม)

ขณะนี้ผมอยู่ที่ ศรร.สันติสุข จ.น่าน (พระอาจารย์สมคิด) จะไปเชียงใหม่วันที่ ๒๐ พ.ย. ขึ้นไปพักที่หมู่บ้านบนดอยของคุณเจริญ (นักศึกษาจาก ศรร.แม่วาง) และจะกลับลงมาเชียงใหม่เย็นวันที่ ๒๑ เพื่อในวันที่ ๒๒ จะถ่ายทำสารคดีเกษตรทฤษฎีใหม่ของคุณมนูญ นักศึกษา ศรร.ดอยสะเก็ด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท