เจงกีสข่าน ตอนที่ 2 เมื่อท่านข่านยกพลบุกโลก


ถ้ายังไม่ได้อ่านตอนแรก ขอเชิญได้ที่นี่นะครับ เจงกีสข่าน ตอนที่ 1

ตอนแรกผมได้พูดถึงเรื่องสมัยเด็กของท่านข่านและการรวบรวมเผ่ามองโกลขึ้นมา ซึ่งก็คือการรวบรวมบรรดาเผ่าต่างๆที่อยู่ในทุ่งหญ้า steppe ให้เข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของเตมูจินหรือเจงกิสข่าน

ตอนที่ 2 นี้ผมจะเล่าถึงชีวิตของท่านข่านหลังจากรวมเผ่ามองโกลเป็นหนึ่งได้แล้ว จนถึงการเสียชีวิตของท่านข่านครับ แต่ที่พูดถึงโดยมากจะเป็นเรื่องกลยุทธที่ท่านข่านใช้ในการรบมากกว่าครับ

ลงใต้ บุก Jurched 

หลังจากที่เจงกีสข่านรวบรวมมองโกลได้หมดเรียบร้อยแล้ว ก็มองไปที่ทุ่งหญ้ากว้างแล้วมองไปถึงเส้นทางสายไหมที่เป็นแหล่งค้าขายของตะวันออกและตะวันตก

ที่แรกที่มองไว้ก็คือแหล่งความเจริญทางใต้ ที่เป็นที่ตั้งของแมนจูในปัจจุบัน แต่ในอดีตเผ่าที่ว่านี่เรียกว่าพวก Jurched

การบุกเผ่าทางด้านใต้นี้ ต้องเรียกว่ายากลำบากมาก เพราะต้องข้ามทะเลทรายโกเบ (Gobi desert) ที่โหดร้าย รวมไปถึงความเจริญทางตอนใต้นั้นทำให้เผ่า Jurched มีการสร้างป้อมปราการที่เข้มแข็ง รวมไปถึงจำนวนทหารที่มากกว่าถึง 2 เท่า

แล้วเจงกีสข่านทำอย่างไร

ลักษณะเด่นๆของการเคลื่อนทัพของมองโกลนั้นมีดังนี้ครับ

  • เน้นเรื่องการข่าว การที่ต้องยกทัพข้ามทะเลทรายที่มีความกันดารและแห้งแล้งมากนั้น ทำให้ทัพมองโกลต้องประสบกับภาวะที่ยากลำบาก 
    • วิธีแก้ที่สำคัญก็คือการข่าวที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการหาแหล่งน้ำ การส่งทหารไปดูลาดเลาของเผ่า เช็คอากาศในแต่ละช่วง เพื่อเตรียมการรบ
  • ทัพทหารม้า มองโกลซึ่งเป็นชาวเผ่าเร่ร่อน อยู่บนหลังม้าเกือบทั้งชีวิต ทำให้ทัพมองโกลนั้นเป็นทัพทหารม้าอย่างเดียวไม่มีทหารราบ เน้นถึงความเร็วของการจู่โจม
  • ไม่มีกองเสบียง ในขณะที่นโปเลียนบอกว่ากองทัพนั้นเดินด้วยท้อง แต่เชื่อไหมครับว่า ทัพมองโกลไม่มีกองเสบียงครับ แล้วเขาหาเสบียงยังไง
    • Dr. Weatherford บอกว่ามองโกลนั้น ก็ล่าสัตว์เอาครับ ด้วยความที่เป็นนักล่าอยู่แล้ว ไปไหนก็เลยล่าสัตว์กินเอา ไม่มีกองเสบียง
    • ซึ่งมันส่งผลต่อการเดินทัพครับ แทนที่ทหารจะเดินเป็นแถวตอน แต่ทหารมองโกลนั้นขี่ม้าเป็นแบบแถวหน้ากระดานครับ เพื่อให้สามารถล่าสัตว์ได้ในพื้นที่กว้างและง่ายต่อการล่า

อีกอย่างที่ Dr. Weatherford ชื่นชมในมองโกลก็คือ เมื่อไรก็ตามที่พักทัพนั้น กองทัพมองโกลจะมีการตั้งค่าย เหมือนกันทุกครั้ง ทำให้ทหารนั้นรู้ว่าต้องไปรายงานที่ไหน ถ้าต้องการอะไรจะไปเอาที่ไหน เพียงแต่เปลี่ยนที่ไป Dr. Weatherford ยังบอกต่อไปว่า ไม่ใช่แค่ตั้งค่ายนะครับเทคนิคการรบของมองโกลนั้นเหมือนเดิมเกือบทุกครั้ง แต่จะมีอาวุธที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น

 เทคนิคการรบที่เห็นได้ชัดๆจากเท่าที่อ่านมาก็มีดังนี้ครับ

  1. สร้างความสับสนให้กับศัตรู
    • วิธีการก็คือใช้คนที่มากมายของศัตรูมาเป็นยุทธปัจจัย
      • Dr. Weatherford นั้นบอกว่า ทหารมองโกลที่มีน้อยนั้น จำเป็นต้องมียุทธวิธีที่ยอดเยี่ยมเพื่อที่จะชนะทหารที่มากกว่าได้
      • การสร้างความสับสนของศัตรูนั้น มองโกลทำโดยการนำเอาชาวบ้าน ที่เป็นชนเผ่าศัตรูนั้น เดินดาหน้าวิ่งเข้าไปหาศัตรู
      • พอเดินเข้าไปหาแล้ว ก็จะเกิดความสับสน เพราะว่าทหารที่รักษาการณ์นั้นไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จะฆ่าก็ไม่ได้
      • จังหวะเดียวกับที่สับสนทหารมองโกลก็จะใช้ความเร็วมาจู่โจมแล้วฆ่าทิ้งครับ
  2. ทำให้ศัตรูกลัว
    • วิธีการก็คือใช้ความเร็วในการจู่โจม จู่โจมแล้วหายตัวไปอย่างรวดเร็ว ก็แน่หล่ะครับเพราะว่าทหารมองโกลนั้นเป็นทหารม้า ทหารราบนั้นไม่มีทางที่จะไปสู้ความเร็วของทหารม้าได้
    • Dr. Weatherford กล่าวว่าวิธีการทำให้ศัตรูกลัวสมัยก่อนนั้นจะเน้นการทรมานครับ การทรมานประหลาดๆ เช่น
      • เผ่าหนึ่งในตะวันออกกลางเมื่อโบราณกาลมาแล้ว จับเฉลยมาได้ 100 คน ควักลูกตาออกมาทั้ง 2 ข้างไปซะ 99 คน อีกคนหนึ่งควักมาข้างเดียว แล้วก็ผูกตรวนให้คนที่มีตาเดียว พากลับไปเมืองตัวเอง
      • หรือพวกเยอรมันที่เอาเด็กมาโยนใส่เครื่องดีดหิน ฟาดไปกับประตูเมือง
    • ความโหดเหี้ยมนั้นก็เพื่อให้ศัตรูนั้นกลัว แล้วก็เป็นที่ครั่นคร้ามของประชาชนของตน
    • แต่มองโกล ในความเห็นของ Dr. Weatherford นั้นต่างกันครับ คือไม่มีการทรมาน ฆ่าอย่างเดียว ฆ่าเพื่อไม่ให้ศัตรูนั้นสามารถที่จะตั้งตัวได้
    • Dr. Weatherford เองจากที่อ่านก็ดูเหมือนว่าจะค่อนข้างคิดว่ามองโกลนั้นมีมนุษยธรรมพอสมควรครับ
  3. ยุแหย่ภายใน
    • เมื่อแต่ละเมืองนั้น มีหลายๆเผ่ามาอยู่รวมกัน การยุแหย่ภายใน ทำให้เกิดความสับสน และทำให้เกิดการแตกสามัคคี และง่ายต่อการยึด
  4. โฆษณาชวนเชื่อ
    • มองโกลนั้นใช้เทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อให้ชาวบ้านนั้นกลัว การชวนเชื่อนั้นมีตั้งแต่ชวนเชื่อเพื่อให้ชาวบ้านเห็นถึงความน่ากลัวของมองโกล รวมไปถึงการโม้ที่ว่า ท่านข่านนั้นได้รับบัญชาสวรรค์ รบที่ไหนชนะที่นั่น

ในเทคนิคที่ใช้บ่อยๆทั้ง 4 วิธีนี้นะครับ Dr. Weatherford บอกว่า มันก็เหมือนกับเทคนิคที่ใช้ในสงครามปัจจุบัน แต่การใช้พวกชาวบ้านที่อยู่ในเผ่าที่ถูกรุกรานของมองโกลนั้น ต่างจากสงครามปัจจุบันและอดีตมากครับ

ถ้าเป็นสงครามในอดีตนั้น ชาวบ้านก็จะเป็นเหยื่อของการปล้น ฆ่า ข่มขืน และในสงครามปัจจุบันนั้น ถึงแม้ว่าชาวบ้านนั้นยังเป็นเหยื่อของการปล้น ฆ่า ข่มขืนอยู่ แต่ก็มีการออกกฏบัตรที่ว่าด้วยนักโทษสงครามด้วย

แต่อันนี้ผิดกับมองโกลมากครับ เพราะมองโกลนั้นใช้ชาวบ้านมาเป็นทัพหน้าครับ เอาไว้สร้างความสับสน ไม่ได้เอามาปล้น ฆ่า ข่มขืน

อีกวิธีการหนึ่งก็คือ เผาหมู่บ้านที่อยู่รอบนอกเมือง แล้วไล่ไปให้เข้าไปในเมือง พอไล่ไปแล้ว เมื่อประตูเมืองนั้นเปิดรับชาวบ้าน ในเมืองก็จะมีคนมาก ทำให้เสบียงหมดเร็ว นี่ยังไม่รวมไปถึงการที่ชาวบ้านหนีตายไปออกันหน้าประตูเมือง เปิดโอกาสให้ทหารมองโกลนั้นโจมตีอย่างรวดเร็วเข้าไปในเมือง

Dr. Weatherford ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างหนึ่งครับว่า ท่านข่านนั้นรักลูกน้องมาก เห็นชีวิตของทหารมองโกลนั้นสำคัญมาก ผิดกับกษัตริย์หรือผู้ปกครองเผ่าอื่นในสมัยก่อน ที่จะเห็นชีวิตตัวเองสำคัญที่สุดและต้องการให้ทหารนั้นมาปกป้องชีวิตตนเอง

เพราะฉะนั้น เจงกีสข่านนั้นไม่สนว่าจะชนะอย่างไร ขอแค่ชนะ สำหรับมองโกลนั้น ชัยชนะอย่างเด็ดขาดสำคัญที่สุด ไม่เน้นเกียรติยศศักดิ์ศรีใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะนอกแบบ เช่นการปลอมตัวเป็นทูตแล้วบอกว่า ทหารมองโกลนั้นถอยแล้ว ทำให้ชาวเมืองตายใจ และไม่ป้องกันอย่างเข้มแข็ง

หรือการรบแบบในแบบ ที่เน้นการรบของทหารม้าเป็นหลัก Dr. Weatherford นั้นบอกว่า เพราะว่าเป็นการรบของทหารม้า ทำให้มองโกลนั้นเน้น รบไปในที่กว้าง เน้นการจู่โจมที่รวดเร็วว่องไว เวลาบุกเมืองใดๆก็ตาม ก็จะบุกแบบพร้อมกันทุกด้าน และรบหลายๆเมืองพร้อมๆกัน

ถ้ามองโกลนั้นเจอกับเมืองที่มีป้อมปราการเข็มแข็ง แข็งแรงมาก วิธีการก็คือให้ทหารนั้นล่อคนในเมืองออกมาสู้นอกเมืองครับ โดยการจงใจทิ้งของมีค่าให้คนในเมืองตาลุกวาว แล้วออกมาเก็บของ พอออกมาเก็บของก็เสร็จครับ ถูกทหารมองโกลนั้นรีบรุกมาตียึดเมือง

เจงกีสข่านใช้เวลาทั้งหมด 3 ปี ในการยึดเผ่า Jurched แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ก็จะยึดเมืองได้โดยใช้เวลาประมาณ ไม่กี่อาทิตย์ หรือมากสุดก็ประมาณ 2-3 เดือน

ตามไปบุกไซบีเรีย

พอกลับมาถึงบ้านปุ๊ป ท่านข่านกลับพบว่า เผ่าที่ตั้งในไซบีเรียที่เคยมายอมอยู่ภายใต้อาณัติของท่านข่าน กลับเอาใจออกห่าง เพราะว่าท่านข่านไปรบนาน

ท่านข่านก็เลยโมโหมากครับ ส่งทูตไปก่อน ไปเจรจากับพระราชินี Botohui-tarhun แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Big and fierce อาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่าอ้วนและเหี้ยม

ก็คงสมชื่อครับ เพราะพอทูตมองโกลมา พระราชินีก็จับขังคุกครับ ทำให้ท่านข่านนั้นโมโหถึงขั้นส่งกองทัพมา

แต่เพราะว่าไซบีเรียเป็นป่าครับ เลยโดนทหารพระราชินีฆ่าตายเกือบหมด ยิ่งทำให้ท่านข่านโกรธเข้าไปใหญ่ ท่านข่านเลยส่งทหารไปอีกกองครับ แต่คราวนี้ท่านข่านแบ่งทหารเป็นสองส่วน ส่วนแรก ทำท่าว่าจะไปทางเดิม แต่อีกส่วนนั้นแอบไปตัดถนนไว้แล้ว

พอตัดเสร็จ ก็บุกพร้อมกัน เล่นเอาเผ่าของพระราชินีทำอะไรไม่ได้ ตัวพระราชินีถูกจับกลับมา ท่านข่านก็ไม่ฆ่านะครับ แต่ก็ให้พระราชินีนั้นแต่งกับทูตที่ถูกจับไป

Dr. Weatherford บอกว่า ท่านข่านก็แบบนี้ครับ คือพอยึดได้ก็ให้ปกครองกันเองต่อ แต่ว่าผู้ปกครองนั้นถ้าอยากปกครองต่อก็ต้องมาเลียท่านข่านหน่อย เพราะว่าท่านข่านนั้นจะตั้งผู้ปกครองครับ บางเมืองก็อาจจะมีทหารมองโกลคอยดูแล แต่บางเมืองก็ไม่มี

บุกตะวันออกกลาง

หลังจากที่บุกไซบีเรียเรียบร้อยแล้ว ท่านข่านก็ส่งทูตและกองคาราวานไปยังแคว้น Khwarizm ซึ่งก็รวมตะวันออกกลางกับพวกประมาณคาซักสถาน เคจิกิสถานในปัจจุบันครับ ซึ่งพวกนี้นั้นเป็นพวกมุสลิมเป็นส่วนมาก

ตอนแรกท่านข่านก็ขอเป็นไมตรีเฉยๆครับ แต่กองคาราวานนั้นดันไปถูกเจ้าเมืองคนนึงฆ่าซะ พอส่งทูตไปทวงความยุติธรรมก็โดนฆ่าอีก คราวนี้ท่านข่านโกรธจนหนวดกระดิกครับ เพราะอย่างที่กล่าวไว้แล้วครับว่า ท่านข่านนั้นรักทหารและรักลูกน้องมากกกกกกกกกกกกก

แต่บุกตะวันออกกลางนี้ไม่ง่ายนะครับ ไม่ง่ายเลย เพราะว่าท่านข่านนั้นไม่ใช่สู้กับแคว้นหนึ่งแคว้นครับ แต่สู้กับอารยธรรมหนึ่งอารยธรรมครับ เพราะที่ตั้งของแคว้น Khwarizm นั้นรวมพวกอาหรับ เปอร์เซีย แล้วก็พวกเติร์กเข้าด้วยกัน

ดังนั้นอาณาจักร Khwarizm นั้นก้าวหน้ามาก ทั้งทางด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ การเพาะปลูก แล้วก็มีอัตราการรู้หนังสือที่สูงมาก

แต่กับมองโกลแล้ว ทั้งชีวิตรู้จักแค่ ยิงธนู เลี้ยงสัตว์ แล้วก็ขี่ม้าเท่านั้น แล้วจะรอดไหมนั่น

วิธีการรบของมองโกลก็ยังทำแบบเดิมครับ คือทำให้คนนั้นสับสนแล้วก็กลัว มองโกลนั้นจะยึดเมืองรอบนอกก่อน พอยึดได้ก็จะ

  1. ฆ่าทหารครับ
  2. แล้วก็แบ่งคนออกมาตามอาชีพ แล้วก็ขนคนพวกนี้ไปที่เมืองมองโกล เพราะคนมองโกลนั้นไม่ทำอะไรครับ แล้วก็ไม่ฝึกที่จะทำด้วย
  3. ถ้าพวกที่ไม่มีอาชีพ ก็เอามาเป็นทหารช่วยมองโกลซะ ทำหน้าที่ยกของ ขุดทาง เหมือนทหารช่างพวกนี้ครับ

Dr. Weatherford บอกว่าคนที่โชคร้ายจริงๆนะในเมืองแต่ละเมืองนั้นคือคนชนชั้นสูง เพราะพวกนี้ท่านข่านสั่งฆ่าหมดไม่มีเหลือ เหตุผลเพราะว่าชนชั้นสูงนั้นอาจจะหวกกลับมาก่อกบฏได้

ซึ่งพวกนี้จะต่างจากการรบของเผ่าอื่นที่ใช้ชนชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นการต่อรอง หรือการเรียกค่าไถ่

และเมื่อฆ่าชนชั้นสูงนั้น สิ่งที่ตามมาด้วยก็คือการทำลายระบบสังคมของเมืองบางเมืองไปเลย เป็นผลทำให้เมืองบางเมืองล่มไปเลย

ส่วนวิธีการสร้างความหวาดกลัวนั้น ท่านข่านก็อาศัยความรู้หนังสือของพวกมุสลิมนี่แหละครับ เพราะว่าพอเมืองไหนเจอท่านข่านบุกเข้าไป ก็จะพูดถึงการปล้น ฆ่า เผา

ท่านข่านก็ไม่ห้ามครับ กลับชอบ ไม่มีการบอกว่าต้องเขียนถึงท่านข่านแต่ในแง่ดีๆ ไม่ต้องเขียนให้มันดูเหี้ยมมาก ยิ่งเขียนให้ดูโหดๆ ท่านข่านยิ่งชอบครับ เพราะจะทำให้สร้างความกลัวให้เกิดขึ้นมา พอไปที่เมืองไหน จะได้ไม่ต้องรบ เขาจะได้มาอ่อนข้อเสียแต่โดยดี

บทสรุป

  • ท่านข่านนั้นทำทุกอย่างเพื่ออนาคต ไม่มีการฆ่าเล่นๆ ไม่เน้นการทรมาน
    • ท่านข่านฆ่าเพราะไม่ต้องการให้มีการกบฏขึ้นมาได้อีก
  • ท่านข่านนั้นเป็นคนที่เรียนรู้จากอดีต
    • เรื่องการฆ่านั้นจะสังเกตได้อย่างเด่นชัดครับว่า สมัยก่อนตอนยังปราบชนเผ่าเร่ร่อนในมองโกลนั้น ไม่ค่อยฆ่าครับ ทำให้เกิดการล้างแค้น เกิดการฆ่าต่อเนื่อง ดังนั้นการฆ่าเลยจำเป็นเพื่อให้เกิดความสงบขึ้นมา
    • หรือเรื่องการรบที่ท่านข่านนั้นคิดทดน้ำจากแม่น้ำมาทำลายฝ่ายตรงข้าม แต่ครั้งแรกนั้นทำลายแต่ทหารมองโกล แต่ก็พยายามเรื่อยๆจนสำเร็จ
  • ท่านข่านเป็นคนที่เน้นเรื่องข้อมูล และเน้นเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ
    • เห็นได้จากตอนต้นที่ได้พูดว่า ถ้าจะข้ามทะเลทรายโกเบ นั้นต้องมีการส่งหน่วยสอดแนม มีการดูว่าจะไปหาน้ำที่ไหน ไปพักที่ไหน
    • เรื่องโฆษณานั้นก็เป็นผลพวงมาจากการสร้างความหวาดกลัวกับศัตรู
  • ท่านข่านเป็นคนเปลี่ยนจุดอ่อนของศัตรูเป็นจุดแข็งของตัวเองครับ
    • ศัตรูนั้นมีคนมากกว่า ก็ใช้ประชากรที่มีมากกว่ามากินเสบียง แพร่ความน่ากลัว ทำให้เกิดจลาจลในเมือง ไม่ได้คิดว่าคนมากกว่าจะได้เปรียบมากมายแต่อย่างใด
  • ท่านข่านเป็นคนรักลูกน้องและให้เกียรติลูกน้อง
  • บทสรุปสุดท้าย
    • ตอนนี้ยาวมากครับ!!!!

ผมว่าผมขอจบแค่ตรงนี้ก่อนดีกว่าครับ มันดูจะยาวมากไปจริงๆ

 ที่มา: Weatherford, J. Genghis Khan, Three river press, NY, 2004. ISBN: 0-609-80964-4

หมายเลขบันทึก: 83378เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2007 08:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

      ตามมาอ่านค่ะหลังจากติดใจจากตอนที่ 1 ที่ไม่ได้ตอบในทันทีเพราะไม่อยู่มาหลายวันค่ะพานักศึกษาไปดูงานและไปอบรม ประจวบเหมาะกับ Internet ที่มหาวิทยาลัยเสียเลยไม่ได้เข้าเลยค่ะ

      ไม่น่าเชื่อค่ะเทคนิคที่คนส่วนใหญ่ใช้บ่อย ๆ ในการยุให้คนอื่นทะเลาะกันจะเป็น  เทคนิคการรบที่เห็นได้ชัดๆ สามารถที่จะ....

  1. สร้างความสับสนให้กับศัตรู
  2. ทำให้ศัตรูกลัว
  3. ยุแหย่ภายใน
  4. โฆษณาชวนเชื่อ

       อย่างนี้ถึงขยายอาณานิคมได้เยอะ  แต่คนเราจะให้ดีจะให้เก่ง ต้อง supportลูกน้อง  เห็นได้ในตัวเจงกิสข่านคนนี้ ซึ่งเขาสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้  จะตามไปอ่านตอนต่อไปนะค่ะ

     

 

สวัสดีครับอาจารย์Ranee

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่ได้ติดตามอ่านมาตลอดครับ :D

ในหนังสือนั้น Dr. Weatherford เขียนไว้ชัดเจนมากว่า เจงกีสข่านนี่รักลูกน้องมาก โดยบอกว่า ท่านข่านไม่เคยขอให้ลูกน้องมาปกป้องตัวเอง ซึ่งต่างจากหัวหน้าหรือผู้นำคนอื่นๆครับ

อีกอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ตัวท่านข่านเองนั้น ไม่สนวิธีการครับ จะโดนด่าว่าขี้โกง ไม่เป็นสุภาพบุรุษก็ไม่สน ขอชนะและรักษาชีวิตทหารตัวเองให้ได้มากที่สุดเป็นพอครับ

สวัสดีค่ะพี่ต้น

แวะมาดูเรื่องเจงกิสข่านของพี่ต้นหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่เคยอ่านเป็นเรื่องเป็นราวสักที วันนี้อารมณ์ดี เคลียร์งานเสร็จ เลยตั้งใจมาอ่านค่ะ

ขอบคุณสำหรับบทความนะคะ

 ..ณิช.. 

สวัสดีครับคุณน้องณิช

ขอโทษทีครับที่ตอบช้ามาก อ่านแล้วเป็นไงบ้างอ่ะครับ ไม่เห็นเล่าให้ฟังเลย :P

แต่ก็ขอบคุณมากครับที่ได้สละเวลาเข้ามาอ่าน

ต้น 

สวัสดีอีกครั้งค่ะพี่ต้น

อาจจบทุกตอนแล้วค่ะ ไม่ค่อยมีความรู้ด้านประวัตศาสตร์มากนัก (จริง ๆ แล้วไม่ค่อยรู้อะไรเป็นเรื่องเป็นราวตะหาก ฮ่าๆๆๆ) เรื่องเจงกิสข่านนี่มีสัจจธรรมอยู่หลายอย่างนะคะ เช่น

  • หลายครั้งที่คนคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ ต้องใช้พลังในตัวเองและมีแรงขับเคลื่อนอย่างสูงค่ะ เจงกิสข่านเองก็เช่นกัน เพราะมีชีวิตที่รันทด จึงต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อถีบตัวเองขึ้นมาให้ได้
  • ยุทธวิธีการรบที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย แม้จะไม่ใช้ในด้านการสงครามโดยตรง แต่การเมืองก็ใช้วิธีนี้ในหลาย ๆ อย่าง เช่น การข่าว การโฆษณา ยุแหย่ให้แตกคอกันเอง วิธีเหล่านี้ถ้าเอาไปใช้ให้ถูกทิศถูกทางจะได้เปรียบไม่ใช่น้อย
  • ความอยากได้ ความพอใจและชัยชนะไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อได้เมืองนึงก็ยังอยากได้เมืองอื่น มีอำนาจสูงสุดจุดหนึ่ง ก็ยังอยากได้อำนาจที่เหนือขึ้นไปอีก
  • ความเจริญรุ่งเรืองมาคู่กับความล่มสลาย เหนือฟ้าย่อมมีฟ้า ต่อให้มีใครเก่งกาจสามารถสักแค่ไหน สักวันก็ย่อมมีคนที่เหนือกว่า (เช่นแข่งโอลิมปิค ที่ทำลายสถิติกันประจำค่ะ ฮ่าๆๆๆ)

แต่ความคิดและจินตนาการหลายอย่างน่านับถือ เช่นการมีสถานีไปรษณีย์ สร้างโรงเรียน เขียนกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการมองการไกลและวิสัยทรรศน์ที่ดีค่ะ

แต่สงสัยนิดนึงค่ะว่า มองโกลเคยบุกมาถึงเมืองไทยรึป่าวคะ เพราะรู้สึกว่ามีการพูดถึงบุกอินโดนีเซีย ถ้าอย่างนั้นมองโกลไปอินโดด้านไหนค่ะ แล้วทำไมถึงไม่มาบุกเมืองไทย หรือว่าขึ้นอยู่กับจุดยุทธศาสตร์ (อันนี้ไม่ค่อยแน่ใจนะคะ เกรงว่าจะมั่ว 555) 

แล้วจะแวะไปตามอ่านเรื่อง Overthrown นะคะ ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ อีกครั้งค่ะ

..ณิช.. 

ในเรื่องที่กล่าวมา เป็นเนื้อหาที่ดีมากเลยครับเป็นบทสรุปที่ ok แล้วอยากจะบอกว่ามีเรื่องอื่นที่จะมาบอกกันอีกไหมอ่ะอยากรู้+อยากได้+(~ตอนนี้ทำบันทึกการอ่านอยู่)อยากได้ข้อมูลแบบสรุปอ่ะมีมะๆๆๆ อิอิ

<-> อิอิ

มีไหม

ตอบด้วยนะ จะรออีก10ปี

จาก...HeartZeZeo

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท