ชีวิตที่พอเพียง : 232. เรียนรู้จากการทำหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุติคณะกรรมการเจรจาข้อตกลงระหว่าง กพร. - สบร.


       บ่ายวันที่ ๒๗ ก.พ. ๕๐ ผมไปที่ สบร. อีกครั้งหนึ่ง หลังจากไปเมื่อเช้าวันที่ ๒๖     คราวนี้ไปทำหน้าที่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการเจรจาข้อตกลงระหว่าง กพร. - สบร.     ในการให้ความเห็นต่อผล SSR (Self-Assessment Report) ของ สบร. เอง     ผมเพิ่งรู้ตอนจบว่าผู้รับผิดชอบจัดการประชุมนี้คือ TRIS     ทำให้ผมนับถือ TRIS น้อยลงไปเยอะ    เพราะจนถึงวันนี้ผมไม่ได้รับเอกสาร SAR นี้     บังเอิญผมมาที่นี่เมื่อวาน    และบ่นกับเจ้าหน้าที่    เขาบอกว่าส่ง กพร. ไปตั้งนานแล้ว     และเอามาให้ผม ๑ เล่ม จึงได้เห็นรายละเอียด เป็นประโยชน์ต่อการให้ความเห็นเป็นอันมาก     ตกลงการทำงานชิ้นเล็กนิดเดียวนี้ทำให้ผมมีศรัทธาต่อการทำงานของหน่วยงานลดลงถึง ๓ หน่วยงาน

         ประธานกรรมการคือหม่อมเต่า     ท่านซักเจ้าหน้าที่จากตัวเลขคะแนนตัวชี้วัด   และตัวเลขผลงาน  ของ สบร. หรือ  OKMD (www.okmd.or.th) อย่างดุดันเสียดสีสไตล์หม่อมเต่า     ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีเป็นกรรมการประเมินหน่วยงานสไตล์หม่อมเต่า     ซึ่งถ้าผู้ได้รับการประเมินทนได้ จะได้รับความรู้เป็นอันมาก

       ผมมองว่า วิธีซักของท่าน เป็นวิธีแหวกวงล้อม หรือมายา ของตัวชี้วัดที่รายงานเป็นตัวเลข    ท่านสวมวิญญาณทนาย ซักหาวิธีการได้ตัวเลข    เป็นวิญญาณ evidence - based    และสวมวิญญาณครูมวย (สอนมวย) เป็นระยะๆ     

       ผมเห็นใจคนมาชี้แจง    เกรงว่าจะเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตก หรืออาเจียน    เพราะโดนคำถามและเสียดสีสไตล์หม่อมเต่า ที่ไม่มีใครลอกเลียนได้    ผมจึงเสนอว่าตัวชี้วัดที่ตั้งไว้นี้ เน้นตัวเลขหรือ quantitative มากเกินไป จนเมื่อซักหาความหมายก็ตอบกันไม่ค่อยได้     แสดงว่าเราหย่อนด้าน qualitative หรือด้านคุณค่าที่แท้จริงของงาน     ดังนั้น จึงไม่อยากให้เอาจริงเอาจังกับตัวเลขมากเกินไป    ขอให้หันมาดูผลงานที่แท้จริง เพื่อประโยชน์ในอนาคตของ สบร. และของประเทศไทยดีกว่า

         ดูผู้มาชี้แจงจะยิ้มออกหน่อย     และคงจะคิดว่าผมจะตั้งใจมาช่วย

         ซึ่งผมก็ตั้งใจไปช่วยจริงๆ     แต่ไม่ใช่ช่วย สบร. ในการทำงานแบบเดิม     ผมต้องการช่วยประเทศไทยให้มีหน่วยงานทำหน้าที่ innovate การเรียนรู้ของคนไทย ที่ทำงานได้ผลอย่างแท้จริง     ดังนั้นพอถึงตัวชี้วัดที่ ๑๐ ระดับคุณภาพการดูแลกิจการ ซึ่งแตกออกเป็นตัวชี้วัดย่อย  ๑๐.๑ บทบาทของคณะกรรมการองค์การมหาชน    ซึ่งสบร. เขาประเมินตนเองว่าได้คะแนนเต็ม ๕     แต่ผมแย้งว่าควรได้คะแนนต่ำที่สุดคือ ๑    เพราะคณะกรรมการไม่ได้ทำหน้าที่กำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์ และนโยบายขององค์กรเลย  หลักฐานอยู่ในข้อความรายงานการประชุมคณะกรรมการ ที่มีแต่การพิจารณาอนุมัติแผนงานแบบราชการ     ไม่ใช่การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์      ท่านประธานเห็นด้วยกับผมทันที      ผมบอกที่ประชุมว่า การเสนอเช่นนี้ ไม่ใช่ต้องการให้ได้คะแนนต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องของอดีต     แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า หาก สบร. จะดำรงอยู่อย่างสง่าผ่าเผย และทำประโยชน์ต่อสังคมไทยได้จริง  ระบบ governance ต้องไม่ชุ่ยอย่างในอดีต   

          ตัวชี้วัดอื่นที่ได้คะแนนต่ำสุด (๑) คือรายงานการเงิน และการประเมินผู้บริหารสูงสุด   

          เรื่อง สบร. นี้มีข่าวเหม็นตุ่ยๆ มาเป็นระยะ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ     พอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ก็กลายเป็นข่าวฉาวโฉ่     ข้อตำหนิคือการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตามอำเภอใจ     ไม่มีระบบตรวจสอบ     ดังนั้นจุดออ่นที่สุดในสายตาของผมคือ Good Governance     จุดอ่อนที่สุดคือประธานคณะกรรมการกับ ซีอีโอ เป็นคนเดียวกัน     ซึ่งผิดระเบียบ ก็ใช้วิธีเลี่ยงโดยรักษาการ     รักษาการถาวร     แสดงเจตนาอย่างโจ่งแจ้ง

          เวลานี้เปลี่ยนประธานแล้ว ยังใช้ประธานรักษาการ ซีอีโอ อีก     แสดงว่า สบร. ใช้วัฒนธรรมหย่อน Good Governance จนเป็น norm หรือไร     ผมมีความเห็นว่า ศ. ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานท่านปัจจุบัน ต้องรีบหาคนอื่นรักษาการ ซีอีโอ    เพื่อรีบลบล้างวัฒนธรรมส่วนที่เป็นจุดอ่อน

          การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับผม คือ mindset ต่อเป้าหมายของการปฏิบัติงาน     เรากำหนดเป้าหมายไว้เพื่ออะไร     ราชการนิยมกำหนดให้ต่ำ เพื่อจะได้บรรลุเป้าได้ไม่ยาก (และจะได้โบนัสจาก กพร.)      แต่เอกชน (และองค์กรเรียนรู้) ต้องกำหนดเป้าให้ท้าทาย ให้ไม่แน่ใจว่าจะบรรลุได้หรือไม่     ให้ต้องใช้ความพยายาม     เพื่อจะได้บรรลุผลลัพธ์ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะบรรลุได้

วิจารณ์ พานิช
๒๗ ก.พ. ๕๐    

หมายเลขบันทึก: 82771เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2007 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ไม่เห็นด้วยหลายเรื่อง
คนที่จะทำหน้าที่ประเมินต้องถามตัวเองว่า เป็นกัลยาณมิตรหรือไม่ การแสดงความเกี้ยวกราด เสียดสีมิใช่วิสัยของผู้เป็นอารยชน ยิ่งไปทำให้คนเขาเกิดความเครียดมากขึ้น...จึงผิดด้วยหลักการประเมินที่ดี และขัดแย้งกับ Good Governance ...ผมเห็นว่า คุณภาพ มักชอบพูดชอบนำมาอ้าง เพราะเอาตัวเองเป็นเครื่องวัด ใส่ความรู้สึก สามัญสำนึกเชิงลบมากไป   

              ขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยสะท้อนความเป็นจริงออกมาครับให้สังคมได้รับรู้  คล้ายๆกับเวลามีการประเมินของ กพร.ในจังหวัดจะดูแต่ตัวเลข หากใครตั้งตัวเลขต่ำ ก็จะได้โบนัสสูงเพราะผ่านง่ายกว่า

              กพร.หรือหน่วยงานที่ประเมินผู้อื่นก็ควรมีหน่วยงานกลาง(ที่กลางจริงๆ) มาประเมินด้วยเช่นกันเพื่อความโปร่งใส

               แต่อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าทุกหน่วยย่อมมีทั้งข้อดีและข้อด้อยเสมอ หากยอมรับข้อด้อยได้แล้วหาทางพัฒนาจะเป็นประโยชน์มาก 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท