จัดทัพใหม่ ขี่กระแสนโยบายรัฐ ทำโมเดลนครให้เป็นจริง


โมเดลนครศรีธรรมราชคือการทำงานเป็นทีมของส่วนราชการด้วยบทบาท3ประการคือคะตะไลส์ วิทยากรกระบวนการ และการเชื่อมเครือข่ายทุกภาคส่วนโดยมีชุมชนเป็นเจ้าของเรื่อง

วันนี้ผมได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการผู้นำชุมชนแห่งชาติที่สัญจรมาจัดที่นครศรีธรรมราชโดยบังเอิญ เข้าใจว่าเป็นการมาเรียนรู้ตัวแบบของนครศรีธรรมราช ทั้งที่ไม้เรียงและกลไกระดับจังหวัดที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกำลังขับเคลื่อนงานบูรณาการหน่วยงานจัดการความรู้เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน

นอกจากนี้ยังเป็นการเติมข้อมูลนโยบายด้านการพัฒนาสังคมท้องถิ่นของรัฐบาลโดยรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดร.เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์อีกด้วย (นอกจากวาระการประชุมตามปกติของคณะกรรมการ)

ผมได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากสไลด์นำเสนอแนวคิด ทิศทางและวิธีการขับเคลื่อนนโยบายด้านศก.พอเพียงของรองเลขาธิการนายกฯ และเมื่อนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลที่มีอยู่เดิมทำให้ผมมีภาพร่างแนวทางการพัฒนาในปี2550ดังนี้

จะมีโครงการพัฒนาจากกรมเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐไปตามโครงสร้างหน้าที่ของหน่วยงานจังหวัด/อำเภอในกระทรวงต่างๆ

ที่พอทราบคือ

1)ศก.พอเพียงผ่านมท.ดูแลโดยกรมการพัฒนาชุมชนเป้าหมาย8,367หมู่บ้าน    ทั่วประเทศ ที่นครศรีธรรมราชจำนวน276หมู่บ้าน งบเรียนรู้1,000บาท งบอุดหนุนโครงการพัฒนา10,000บาท

2)งบซีอีโอเดิมจำนวน5,000ล้านบาทใช้ชื่อใหม่"จังหวัดอยู่ดีมีสุข" กระจายตามเกณฑ์ 60%เท่ากัน ที่เหลือใช้3ตัวแปรในการแบ่งคือจำนวนประชากร จปฐ. และรายได้ นครศรีธรรมราช ได้มา96ล้านบาท กลไกจัดการอยู่ที่อำเภอโดยคณะกรรมการ มี5แผนงานหรือ5เมนู

3)งบSMLจำนวน5,000ล้านบาทชื่อใหม่คือคพพ. กลไกไม่ต่างจากเดิมเท่าไรนักคือ อำเภอเป็นหน่วยกลั่นกรอง ที่ต่างคือลักษณะโครงการที่มียี่ห้อศก.พอเพียงแปะไว้ด้วย

ผมเข้าใจว่าคล้ายคลึงกับตัวอย่างในข้อ1) จะมีโครงการที่ต่างๆกันออกไปของแต่ละหน่วยงานผ่านมาทางสำนักงานเกษตร สธ. และหน่วยงานอื่นๆ อีกเพียบ

เมื่อนับรวมแล้วคิดว่ามีงบลงมาที่นครศรีธรรมราชมากกว่าตำบลละ1ล้านบาท ซึ่งไม่ต่างกับปีที่แล้วๆมา

ต้องเข้าใจว่านวัตกรรมงบจังหวัดและต่อถึงหมู่บ้านโดยตรงมาจากรัฐบาลไทยรักไทยโดยโยกมาจากงบโครงสร้างหน้าที่ซึ่งรวมศูนย์ที่กรม

ไทยรักไทยทุ่มงบกองทุนหมู่บ้านๆละ1ล้านบาท งบตำบลๆละ1ล้านบาท งบSMLตำบลละมากกว่า1ล้านบาท(หมู่บ้านละ2-3แสนบาท) เป็นการกระจายอำนาจที่ยังมีปัญหาเช่นเดียวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่ผมคิดว่าเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ลัดสั้นที่สุดหาก

1)มีทีมสนับสนุนจากส่วนราชการทำหน้าที่ปชส. และสร้างการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

2)ทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลอย่างกว้างขวางและทั่วถึง

ผมเห็นว่าการจัดขบวนของนครศรีธรรมราชซึ่งมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่เข้มแข็งได้สร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญยิ่งในเชิงกลไกการเชื่อมโยงภาคีหน่วยงานและชุมชน ซึ่งในปี2550นี้เราจะต้องเพิ่มความเข้มข้นโดยใช้นโยบายอยู่ดีมีสุขและศก.พอเพียงมาช่วยขับเคลื่อนงานให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

วันที่6มีนาคมนี้ ผมอยากให้แต่ละหน่วยงานช่วยกันขึ้นกระดานแผนงานโครงการที่ได้รับมอบหมายจากกรม กลไกที่ใช้ในการดำเนินงาน และวิธีการในการดำเนินงาน จากนั้นจัดแบ่งพื้นที่แข่งขันกันทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่ท่านผู้ว่าให้แนวทางไว้คือ คะตะไลส์ วิทยากรกระบวนการและnetworkerโดยสนับสนุนให้ชุมชนเป็นแกนกลางของการพัฒนา

จะพูดว่าเป็นการจัดขบวนใหม่ทั้งระบบโดยให้แม่ทัพเชิงประเด็นคือกศน. พช. เกษตร ปกครอง และสาธารณสุข ทำงานร่วมกับแม่ทัพพื้นที่คือนายอำเภอก็ได้

พัฒนาการจังหวัด กศน.จังหวัด เกษตรจังหวัดและที่เหลือจะได้แสดงศักยภาพร่วมกับนายอำเภอในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งต้องทำงานประสานกัน    เช่นเดียวกับที่สกว.ให้ผอ.ฝ่ายต่างๆลงมารับผิดชอบพื้นที่โดยใช้ฐานงานของตนเองเชื่อมโยงกับฐานงานของเพื่อนเพื่อขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมาย

แต่ละหน่วยงานจะเป็นทั้งหัวหน้าและผู้ร่วมทีมร่วมกันทำงานเพื่อความสำเร็จร่วมกัน โดยมีที่ทางให้ภาคีต่างๆเข้ามาร่วมมือ

โมเดลนครศรีธรรมราชคือการทำงานเป็นทีมของส่วนราชการด้วยบทบาท3ประการคือคะตะไลส์ วิทยากรกระบวนการ และการเชื่อมเครือข่ายทุกภาคส่วนโดยมีชุมชนเป็นเจ้าของเรื่อง

หมายเลขบันทึก: 81636เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2007 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อาจารย์ภีมครับ

ผมพยายาม "แกะรอย" ทำความเข้าใจตามที่อาจารย์เขียน กับหัวข้อที่อาจารย์ให้ไว้   ดังนี้

จัดทัพใหม่  คือ ตัวแทนกรมต่างๆ ที่อยู่ในระดับจังหวัด ทำงานกับนายอำเภอในพื้นที่ 

 ขี่กระแสนโยบายรัฐ คือ เม็ดเงินที่ลงมาคล้ายๆเดิมภายใต้ชื่อใหม่

เข้าใจถูกไหมครับ

ถามต่อเพราะอยากรู้จริงๆครับว่า  ทัพใหม่ที่ว่านี่เป็นเฉพาะการจัดทัพของนครฯใช่ไหมครับ  ไม่ได้เป็นนโยบายจากข้างบน (ส่วนกลาง) ลงมา

พี่ชายเป็นนายอำเภอ เคยบ่นว่า เมื่อครั้งที่หน่วยราชการระดับอำเภอ เช่น เกษตรอำเภอ ถูกยุบรวมไปสมัยคุณทักษิณ  ทำให้ทำงานในพื้นที่ลำบาก เพราะนายอำเภอเองก็ใช่จะรู้เรื่องเกษตร แล้วจะไปโยงกับเกษตรจังหวัดก็ยังห่างๆกันอยู่ 

คำถามคือ  ด้วยทัพใหม่ที่ว่า   เช่น  เกษตรจังหวัดต้องดูแลทุกอำเภอจะไหวหรือครับ  เกษตรจังหวัดจะทำงานหนักขึ้นไหมครับ  หรือว่า เกษตรจังหวัดก็มีทีม (คือเกษตรอำเภอเดิมที่ถูกดึงเข้าไปอยู่ที่จังหวัด)  อันนี้ผมไม่มีความรู้จริงๆครับ   

แล้วถ้าเกษตรจังหวัดก็มีทีม  อันนี้ต้องไปทำ KM ในทีมตัวเองด้วยไหมครับ  หรือทุกคนต้องลงมาทำ KM กับท่านผู้ว่าฯหมด

ขอบคุณล่วงหน้าครับท่าน

ถูกต้องครับ

จัดทัพเฉพาะนครศรีธรรมราช เข้าใจว่าระดับประเทศกำลังหาตัวแบบเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน และนครศรีธรรมราชก็เป็นต้นแบบในเรื่องนี้ครับ แต่ในรายละเอียดยังต้องพัฒนาอีกมาก

ตอนนี้เกษตรอำเภอกลับลงมาทำงานพื้นที่แล้วครับ มีเกษตรตำบล2ตำบล/1คน จึงช่วยงานนายอำเภอได้เป็นอย่างดี

ที่ผ่านมาคนดูแลพื้นที่คือนายอำเภอ แต่ส่วนใหญ่ไม่คิดว่างบที่ไม่ผ่านมือก็คืองบพัฒนาพื้นที่ของตนเอง จึงไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร เช่น เงินกองทุนหมู่บ้าน

ที่จริงการดูแลพื้นที่ ใครเข้ามาก็ถือว่าเป็นโอกาสทั้งหมด ทั้งอบต.และงบจากกรมต่างๆ จะเชื่อมโยงให้เกิดพลังอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญ

ผมรู้สึกว่า การแบ่งงานกันทำตามความถนัดกับการแบ่งแยกแล้วปกครองมันคล้ายๆกัน แต่ให้ผลต่างกันมาก

ประสิทธิภาพมาจาก 1)การแบ่งงานแบบผสานกำลังกันแบบmatrix ซึ่งนครศรีธรรมราชพยายามทำกันอย่างเต็มกำลัง 2)ความสามารถของเจ้าหน้าที่ซึ่งท่านผู้ว่านครศรีฯสรุปว่ามี3เรื่องคือวิทยากรกระบวนการ  คะตะไลส์และนักเชื่อมเครือข่าย

ผมเห็นว่าแต่ละหน่วยงานเปรียบเหมือนฝ่ายของสกว.มีความถนัดเฉพาะต่างกัน(ประเด็น) ให้แบ่งกันรับผิดชอบพื้นที่โดยทำงานร่วมกับนายอำเภอซึ่งรับผิดชอบพื้นที่โดยตรงตามไสตล์ของตนเองแข่งขันแบบช่วยเหลือกันเช่น เกษตรรับไป250หมู่บ้าน พช.รับไป 250หมู่บ้าน พื้นที่ไหนใครรับก็เป็นหัวหน้าทีม ส่วนงานอื่นๆก็เป็นลูกทีมลงไปหนุนเสริมชุมชนใน3บทบาท เรียนรู้ระหว่างกัน ทำงานเป็นทีม น่าจะสนุกและเกิดผลสำเร็จร่วมกันครับ

 

 

ขอบคุณครับ

นึกว่าอาจารย์ไปต่างพื้นที่แล้วซะอีก

           พี่ภีมทราบเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นแล้วหรือยัง ซึ่งเป็นชุดที่เป็นคำสั่งกระทรวงพ.ม มีรัฐมนตรีเป็นประธาน มีชื่อพี่ภีมเป็นกรรมการด้วย ส่วนรายละเอียดค่อยถ่ายเอกสารไปให้วันที่ 6มี.ค ที่ห้องผู้ว่าค่ะ
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์ภีมค่ะ  ที่จริงต้องยินดีกับขบวนสวัสดิการชุมชนที่ท่านรัฐมนตรีเห็นความสำคัญและท่านได้คัดเลือกกรรมการที่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนี้จริงๆ

ขอส่งข่าวนะคะ ....ได้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ เห็นข่าว (ที่จริงคงเป็นประชาสัมพันธ์) เรื่อง "กองทุนทวีสุข: สวัสดิการจากเงินออม หลักประกันเพื่อเกษตรกรยามชรา" ของ ธกส.   (ชื่อกองทุนเป็นชื่อตั้งใหม่ของ "กองทุนบำเหน็จและสวัสดิการเกษตรกรลูค้า ธกส.")  จะเริ่ม 1 เมย.นี้   

น่าสนใจว่า จะมีผลต่อองค์กรการเงินชุมชนอย่างไร   เกษตรกรที่เป็นสมาชิกองค์กรการเงินชุมชน และสามารถเข้าถึง ธกส.ด้วย จะตัดสินใจ เลือกการออม อย่างไร 

ขอบคุณพัชและอาจารย์ปัทมาวดีมากครับ

ที่จริงถ้าสมาชิกร่วมกันจัดการ ผลประโยชน์จะตกถึงสมาชิกมากที่สุด แต่ต้องเป็นการจัดการที่มีประสิทธิภาพ

การให้ผู้อื่นจัดการอาจได้ประโยชน์น้อยกว่าหรือมากกว่า ประสิทธิภาพเป็นตัวแปรสำคัญ

ผมเดาว่าเกษตรกรคงเลือกทั้ง2อย่าง (ถ้ามีกำลัง)

ถ้าคิดภาพรวม ทุกเครื่องมือล้วนมีประโยชน์ กองทุนทวีสุขของธกส.ก็มีประโยชน์

ถ้าชุมชนเข้มแข็งขึ้น    รัฐวิสาหกิจเช่นธกส. หรือเอกชนพวกบริษัทประกันชีวิตก็ต้องมีคุณภาพตามไปด้วย

เป็นบทบาทของรัฐที่จะเลือกปฏิบัติเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน ความเท่าเทียมในการแข่งขัน และความเข้มแข็งมั่นคงของประเทศครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท