Quantum Psychics and Relativity


ในธรรมอันแทงตลอดได้ยาก กล่าวว่า “ ความต่างแห่งสัญญา ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่างแห่งเวทนา. ”

Quantum Psychics and Relativity.

ควันตัม พไซคิคส์ เอง ก็มีลักษณะปรากฏคล้ายๆกันกับควันตัมฟิสิกส์ จะต่างกันเพียงชื่อเรียกหน่วยพื้นฐานเท่านั้น.

โครงสร้าง เปรียบด้วยดวงอาทิตย์ในอากาศ

จากตอนก่อน ที่กล่าวถึงดวงอาทิตย์ดวงเดียวในอากาศ ซึ่ง มีขอบเขตที่ปรากฏเป็นของแข็ง เป็นฐานเปลว เป็นเปลวที่สะบัด และเป็นอนุภาคเล็กๆจำพวกรังสีต่างๆแผ่ออกไปโดยรอบ บางเบาไปเป็นลำดับ. เปรียบวิญญาณด้วยรังสีเหล่านั้น เปรียบสังขารด้วยเปลวที่สะบัดไปมา เปรียบเวทนาด้วยอาโป และเปรียบก้อนแข็งนั้นด้วยสัญญา.

สัญญาเป็นที่บรรจุ อัดแน่นไปด้วย เวทนา สังขาร และวิญญาณ และเป็นที่ส่งออกซึ่งเวทนา สังขารและวิญญาณ. เหมือนอย่างก้อนแข็งของดวงอาทิตย์ เป็นที่ส่งออกแห่ง อาโป วาโย และเตโช.

สิ่งที่เรียกว่า จิตเดิมแท้ นั้นเป็นที่อาศัยอยู่แห่ง สัญญา เวทนา สังขารและวิญญาณ. ดุจดังอากาศ เป็นที่อาศัยอยู่แห่ง ปฐวี อาโป วาโยและเตโช.

ก็แต่ว่า ในจิตดวงเดียว นั้น ไม่ได้มีสัญญาเพียงอันเดียวปรากฏ โดยที่แท้แล้ว มีสัญญามากมายปรากฏอยู่ในจิตอันนั้น และสัญญาแต่ละอย่าง ก็เปล่งรังสี

ของมัน มีเครื่องหล่อเลี้ยงของมัน มีความเคลื่อนไหวเป็นการเฉพาะของตัวมันเอง.

เหมือนอย่างในอวกาศ ไม่ได้มีดวงอาทิตย์ดวงเดียว ที่แท้แล้ว มีดวงอาทิตย์มากดวง ทั้งไม่ได้มีเฉพาะดวงอาทิตย์ หากแต่ยังมีฝุ่นละออง อุกาบาต ดาวหาง ดาวเคราะห์ หลุมดำ ..ฯลฯ ซึ่งนั่นก็คือ สัญญามีไปต่างๆกันเช่นกัน.

เมื่อจำแนกสัญญา เวทนา สังขาร วิญญาณ ออกไปในทางแยกย่อย เล็กละเอียด เรียกว่าเป็นควันตัมละกัน ก็จะเห็นว่า สุดท้าย มันปรากฏเป็นความว่างเปล่าไป เรียกว่า เห็นแต่จิตบริสุทธิ์(คำพระนักปฏิบัติ) หรือพระนิพพานเท่านั้น.

แต่ เมื่อไม่วิจัย ไม่แยกแยะสะสางออกดู ย่อมเห็นความปรากฏแห่งสัญญา เวทนา สังขาร วิญญาณ ปรากฏไปต่างๆกัน แผ่ไปไม่มีที่สิ้นสุด คือ จิตมีอาณาเขตอยู่เท่าไร สัญญา เวทนา สังขาร วิญญาณก็แผ่ไปทั่วถึงอาณาเขตเหล่านั้น ดุจดังความที่ว่า อากาศแผ่ไปถึงที่ใด มหาภูตทั้ง๔ก็แผ่ไปถึงนั่น.

ก็อากาศนั้น ไม่มีขอบเขต ไม่มีที่สุดอย่างไร แม้จิตบริสุทธิ์นั้น ก็ไม่มีที่สุด ไม่มีขอบเขตอย่างนั้น. อากาศว่างอย่างไร จิตบริสุทธิ์ก็ว่างอย่างนั้น แต่ว่า อากาศก็อย่างหนึ่ง จิตก็อย่างหนึ่ง.

คล้ายอย่างตอนที่เราพิจารณาปฐวีลงไป จนไปถึงที่สุดอยู่ที่ความว่าง คือ ความดับแห่งปฐวีนั้นเอง เรียกว่า อากาศ แล้วรู้สึกอัศจรรย์ใจว่า โอหนอ.. ท่านทั้งหลาย มันเป็นไปได้อย่างไร มหาภูตอาศัยความว่างเปล่าเกิดขึ้นมา แล้วมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรในเมื่อมันไม่มีอยู่จริง แต่มันกลับปรากฏประดุจว่ามี.

แม้ สัญญา เวทนา สังขาร วิญญาณเองก็เช่นกัน เมื่อพิจารณาจนไปถึงที่สุดแล้วอยู่ที่ความว่าง คือ ความดับแห่งสัญญา เวทนา สังขาร วิญญาณ เรียกว่า จิตเดิมแท้ จิตบริสุทธิ์ หรือนิพพาน. แล้วก็เกิดอัศจรรย์ใจว่า โอหนอ.. ท่านทั้งหลาย นี่มันเป็นไปได้อย่างไร นามรูปทั้งหลาย อาศัยความว่างเปล่าเกิดขึ้นมา แล้วมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อมันไม่มีอยู่จริง แต่มันกลับปรากฏประดุจว่ามี.

ก็ความเห็นว่า ปฐวี อาโป วาโย เตโช เหล่านี้ สักแต่ว่าเป็นเงาของอากาศ เป็นมายาของอากาศดังนี้ เกิดขึ้นแล้ว แก่ท่านผู้พิจารณาธาตุเหล่านั้นจนถึงความว่าง. ฉันใด แม้ความเห็นว่า สัญญา เวทนา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ ก็สักแต่ว่า เป็นเงาของจิต เป็นมายาของจิต ดังนี้ ก็ย่อมเกิดขึ้นเหมือนกัน แก่ท่านผู้พิจารณานามธาตุเหล่านี้จนถึงความว่างเปล่า. ฉันนั้น

สัมพัทธภาพแห่งนาม

สัญญา ที่เบาบางลง ละเอียดลงไป เรียกว่า เวทนา
สัญญา ที่เบาบางลงไปอีก ละเอียดลงไปกว่านั้นอีก เรียกว่า สังขาร
สัญญา ที่เบาบางลงไปอีกลงไปอีก ละเอียดยิ่งไปกว่านั้นกว่านั้นอีก เรียกว่า วิญญาณ.
นี่เรียกว่า เป็นสัมพัทธภาพแห่งสัญญา.

เวทนาที่หยาบขึ้น หนาแน่นขึ้นไป เรียกว่า สัญญา
เวทนา ที่เบาบางลงไป ละเอียดลงไป เรียกว่า สังขาร
เวทนาที่ เบาบางลงไปอีก ละเอียดลงไปอีก เรียกว่า วิญญาณ.
นี่เรียกว่า สัมพัทธภาพแห่งเวทนา.

สังขาร ที่หนาแน่นอย่างยิ่ง หยาบอย่างยิ่ง เรียกว่า สัญญา
สังขาร ที่หนาแน่นขึ้น หยาบขึ้น เรียกว่า เวทนา
สังขาร ที่เบาบางลงไปอีก เรียกว่า วิญญาณ.
นี่เรียกว่า สัมพัทธภาพแห่งสังขาร.

วิญญาณ ที่หนาแน่นขึ้น เรียกว่า สังขาร
วิญญาณ ที่หนาแน่นขึ้นไปอีก เรียกว่า เวทนา
วิญญาณ ที่หนาแน่นยิ่งขึ้นไปอีก เรียกว่า สัญญา
นี่เรียกว่า สัมพัทธภาพแห่งวิญญาณ.

 

ในธรรมอันแทงตลอดได้ยาก กล่าวว่า “ ความต่างแห่งสัญญา ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่างแห่งเวทนา. ”

คล้ายอย่างว่า ความต่างกันแห่งปฐวี ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งอาโป เป็นเหตุให้ก้อนหินและก้อนดินต่างกัน เพราะอาโปที่รักษารูปร่างมันไว้ มันต่างกัน แม้สัญญาก็เช่นกัน ย่อมต่างกัน เมื่อระดับความรู้สึกต่างกัน คือ หนาแน่นมากหรือน้อยต่างกัน ความยาวนานในการเสวยอารมณ์ด้วยสัญญานั้นก็จะต่างกัน ทำให้สัญญาแต่ละอย่าง ปรากฏมากน้อยต่างกัน ยาวนานต่างกัน.

เป็นต้นว่า วิราคะสัญญา ปรากฏแก่บางบุคคลน้อย ปรากฏแก่บางบุคคลมาก ก็เพราะว่า ในบุคคลที่ปรากฏวิราคะสัญญามากนั้น เพราะเขาเสวยวิราคารมณ์มากกว่า จึงมีวิราคะสัญญาหนาแน่นกว่า. หรือแม้แต่ในบุคคลคนเดียว แต่มีกามสัญญา กับเนกขัมมสัญญา ปรากฏแก่เขาต่างกัน เช่นว่า กามสัญญาหนาแน่น เนกขัมมสัญญาเบาบาง เป็นต้น ก็เพราะความต่างแห่งการเสวยอารมณ์ว่า เขาเสวยกามารมณ์มากกว่าเนกขัมมารมณ์ จึงเกิดกามสัญญาหนาแน่นกว่าเนกขัมมสัญญาเป็นต้น.

ที่ตั้ง

การถามว่า สัญญา เวทนา สังขาร วิญญาณ ตั้งอยู่ที่ไหน ? ก็คล้ายกับถามว่า ปฐวี อาโป วาโย เตโช ตั้งอยู่ที่ไหน?

เมื่อตอบว่า ปฐวี อาโป วาโย เตโช ตั้งอยู่ในท่ามกลางอากาศ. ก็ควรจะตอบว่า สัญญา เวทนา สังขาร วิญญาณ ตั้งอยู่ในท่ามกลางจิต.

เมื่อถามว่า แล้วปฐวี อาโป วาโย เตโช ตั้งอยู่ในส่วนใดของอากาศ ? หรือ ว่า สัญญา เวทนา สังขาร วิญญาณ ตั้งอยู่ในส่วนใดของจิต? มันก็ยากจะตอบได้ เพราะอากาศไม่มีที่อ้างอิง แม้ที่จิตเองก็ไม่อาจกำหนดที่อ้างที่อิงได้ว่า นามขันธ์ไปตั้งอยู่ในส่วนใดของจิต กล่าวได้กว้างๆเพียงว่า ปรากฏในท่ามกลางแห่งอากาศ ปรากฏโดยความเป็นปฐวี อาโป วาโย เตโช. ปรากฏในท่ามกลางแห่งจิต ปรากฏโดยอาการว่าเป็นสัญญา เป็นเวทนาเป็นสังขารเป็นวิญญาณ.

แล้วถามว่า จิตตั้งอยู่ที่ใด ? ก็เหมือนกับถามว่า แล้วอากาศ ตั้งอยู่ในที่ใด? มันก็ตอบไม่ได้ เพราะมันไม่มีที่เปรียบอ้างตำแหน่ง. หากเพ่งมองว่า เป็นจุดอากาศ คือ อากาสรูป มันก็พอจะตอบได้ โดยเปรียบอ้างเอากับมหาภูตว่า อยู่ที่ตำแหน่งนั้นๆเทียบกับมหาภูต. หรือหากเพ่งมองว่า จิตเป็นจุดแห่งจิต ขณะแห่งจิต ก็อาจจะตอบได้โดยการเทียบกับตำแหน่งของ สัญญา เวทนา สังขาร วิญญาณ ว่า วิญญาณปรากฏที่ใด จิตก็ปรากฏที่นั่นล่ะ แต่จิตจริงแท้นั้น ไม่มีที่เปรียบอ้างเพื่อจะตอบว่า มันตั้งอยู่ที่ไหน. เหมือนอย่างอากาศทั้งสิ้นนั้นล่ะ ที่ไม่อาจจะตอบอ้างเอาได้กับอะไรๆ ว่ามันตั้งอยู่ที่ไหน.

คลื่นจิตจากสัญญา

ความปรากฏแห่งสัญญาเอง ก็คล้ายๆเรื่องความปรากฏแห่งปฐวีธาตุในอากาศ คือ มันมีทั้งสัญญาอย่างหยาบอย่างละเอียด. แม้เวทนา สังขาร วิญญาณก็เช่นกัน มันก็มีทั้งหยาบและละเอียด.

ถามว่า การแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ การเคลื่อนไหวของอนุภาค ต่างๆในอวกาศ มันเกิดจากความพยายามของสิ่งใด ? มันก็ตอบไม่ได้ ตอบได้เพียงว่า มันเป็นไปเองโดยธรรมชาติของมัน และปรากฏผลไปตามเหตุปัจจัย.

แม้เรื่องการแผ่การไหวออกแห่งสัญญาเองก็เช่นกัน ถามว่า ใครทำให้มันปรากฏ มันก็ตอบไม่ได้ว่า ใครทำให้มันปรากฏ ตอบได้เพียงว่า มันเป็นไปเองของมัน ตามเหตุตามปัจจัย.

การแทรกสอดกันของคลื่นรังสีต่างๆในอากาศ ทำให้เกิดจุดแสงสว่าง การตัดกันของเส้นคลื่น อะไรทำนองนี้ ก็ทำให้เกิดปฐวีธาตุที่หยาบขึ้นได้ ปรากฏต่างหากจากดวงอาทิตย์นั้นๆ ที่ส่งรังสีมา. แม้เรื่องของสัญญาก็เช่นกัน สัญญาเล็กๆ เกิดจากการเปล่งออกของสัญญาใหญ่ๆ ไปในรูปแห่งเวทนา สังขาร วิญญาณ แล้วเกิดการพาดผ่านกัน ทับซ้อนกัน ก่อตัวเป็นกระจุกแห่งสัญญาอย่างอื่นขึ้นไปอีก ซับซ้อนกันกลับไปกลับมา ตามแต่เหตุปัจจัยอะไรจะมากระทบเข้า. พระพุทธเจ้ากล่าวว่ามันยุ่งกันเหมือนกลุ่มด้ายที่ช่างหูกไม่ได้กรอ แล้วเขวี้ยงออกไป ถูกไก่เตะเสียหน่อยก็ยุ่งเหยิง ปรากฏเป็นปมขึ้น ยากที่จะจำแนกออกเป็นเส้นๆเหมือนด้ายที่กรอใส่แกนไว้.

แม้การอธิบายถึงธรรมชาติทั้งหมดก็เช่นกัน ก็ย่อมปรากฏว่าเป็นของยุ่งดุจกลุ่มด้ายนั้น มีส่วนที่ผูกกันเป็นปม ยากจะแก้ไขให้กระจ่างได้ หากจะทำให้กระจ่าง ก็กระจ่างเป็นจุดๆไป ไม่ใช่ทั้งหมด เหมือนอย่างที่ว่า กลุ่มด้ายที่ยุ่งนั้น มันมีตรงที่เป็นปมและเป็นเส้น ตรงที่เป็นเส้นคืออธิบายให้แจ้งชัดได้ แต่เมื่ออิงออกไปไกลหน่อย ก็ปรากฏว่ายุ่ง. สุดท้ายพึงกระทำอย่างไรกับสิ่งที่ยุ่งอย่างนั้น ก็พึงตัดมันเสีย ไม่ต้องไปแก้อะไรมัน ปล่อยให้มันเป็นอย่างนั้นล่ะ เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดาของโลกของธรรม.

อย่างการเขียนเรื่องนี้ก็เช่นกัน แม้ดูเหมือนว่า จะพาความแจ่มแจ้งมา แต่ที่สุดท้าย ความแจ่มแจ้งหามีไม่ ด้วยอาศัยการกล่าวด้วยถ้อยคำ. หากจะให้แจ่มแจ้ง ก็คือ ปล่อยมันไปเท่านั้นเอง มันจะเป็นอะไรอย่างไรก็ช่างหัวมัน เพราะไม่มีสาระที่ต้องไปแก้ไข มันเป็นไปเองของมันอย่างนั้น.

เมื่อเกิดสังขารพุ่งออกไปในสัญญาอันใดอันหนึ่ง เปรียบเหมือนเรือดำน้ำที่ประกอบไปด้วยธาตุลมคือการเคลื่อนที่ไปในท่ามกลางน้ำ ย่อมก่อให้เกิดคลื่นที่น้ำนั้น. สัญญาที่แล่นไปด้วยอำนาจแห่งสังขาร ย่อมพุ่งไปตามทิศทางของสังขาร ตามความมุ่งหมายของจิตนั้น แหวกเวทนาพื้นฐานคืออุเบกขา แล้วเกิดกระแสคลื่นคือความแปรปรวนในเวทนา ปรากฏเป็นสุขบ้างทุกข์บ้าง แล้วแต่ลักษณะการมุ่งไปของสังขารและลักษณะของสัญญา คือ หากเป็นสุขสัญญา ก็เกิดการเสวยอารมณ์ของสุขเวทนา เป็น+ และ หากเป็นทุกขสัญญา ก็เป็นทุกขเวทนา เป็น- ปรากฏเป็นคลื่นที่เกิดจากการพัดไหวสัญญา. ปรากฏอารมณ์เป็นห้วงๆ คล้ายๆคลื่น แรงบ้าง บางเบาบ้าง ก็แล้วแต่ความรุนแรงของสังขารและสัญญา. ก็เหมือนอย่างเรือดำน้ำที่แล่นไปท่ามกลางน้ำ ย่อมก่อให้เกิดคลื่นแรงบ้าง เบาบางบ้าง แล้วแต่ขนาดของเรือ(สัญญา)และความเร็วเรือ(สังขาร) ตามประสงค์.

 

คำสำคัญ (Tags): #psychic physics รูปนาม
หมายเลขบันทึก: 80919เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2007 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท