ชีวิตที่พอเพียง : 226. ฝึกสมอง


           ผมชอบฝึกสมองตนเอง      แต่ก็ล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ     สมัยเด็กๆ เคยฝันอยากฝึกให้ทำโน่นทำนี่ได้      ต่อมาก็ตระหนักว่าคนเรามีทั้งศักยภาพและข้อจำกัด     อย่างผมฝึกเรื่องกีฬาอย่างไรก็เอาดีไม่ได้      ร้องเพลงก็ไม่เป็น    การแสดงออกในที่สาธารณะก็ไม่เอาไหน    จึงค่อยๆ โอนอ่อนไปฝึกในเรื่องที่ตนชอบและสนุก รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อหน้าที่หรือต่อสังคมด้วย      สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย เราก็เป็นคนที่มีอะไรดีๆ ได้เหมือนกัน  แม้จะใช้เวลานานสักหน่อย  

          ตอนนี้ผมเชื่อว่า การฝึกสมองที่สำคัญที่สุด คือการฝึกสมองให้เราเป็นคนดี  เอื้อเฟื้อต่อคนอื่น  มีความเมตตากรุณา     มีความสุขอยู่กับการทำดี  คิดดี     ฝึกสมองโดยการกระตุ้นสมองด้วยเรื่องราวดีๆ      เพื่อให้การเชื่อมโยงใยประสาทในสมองเป็นการเชื่อมโยงเพื่อขยายธรรมชาติด้านดีของความเป็นมนุษย์      ผมพยายามกระตุ้นสมองด้านดีของผม    เพื่อให้มันตื่นตัว พัฒนาตัว อยู่ตลอดเวลา      ผมเชื่อว่า เมื่อฝึกเช่นนี้  เวลามีเรื่องราวต่างๆ เข้ามากระทบ  การตอบสนองของผมจะเป็นไปในทางสร้างสรรค์มากขึ้น   ตอบสนองในลักษณะที่เป็น "ประโยชน์ท่าน" หรือประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้น     ตอบสนองโดยน้ำหนักด้านเห็นแก่ตัวเบาลง

           เขียนอย่างนี้ ไม่ได้บอกว่าผมเป็นคนดีหมดจด      ผมกำลังบอกว่า ผมต้องการฝึกฝนสมองของตนเอง     ให้มี "ทุน" หรือทักษะ ในการคิดดี ทำดี ได้มากขึ้น     มีการตัดสินใจอัตโนมัติที่เห็นแก่ตัวน้อยลง เห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้น

           นิตยสาร ไทม์ ฉบับวันที่ ๑๒ ก.พ. ๕๐ (ฉบับที่น่าสงสัยว่ามีคนจ้างให้เอารูปตนเองขึ้นปกนั่นแหละ) มีเรื่อง A User's Guide to the Brain เป็นเรื่องเด่นประจำฉบับ    มีคนเก่งๆ เขียนบทความสรุปความรู้เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสมอง     เขียนแปลความหมายของผลงานวิจัยเกี่ยวกับสมองให้คนทั่วไปอ่านรู้เรื่องได้ง่าย    น่าอ่านมาก    ผมอ่านแล้วบอกตัวเองว่า     เราใช้สมองของตัวเราเองทุกวัน     แต่แปลกที่เราไม่รู้จักสมองของตนเอง    
 
            จริงๆ แล้วยิ่งกว่านั้น     นอกจากไม่รู้จักสมองของตนเองแล้ว เรายังควบคุมการทำงานของสมองของเราเองไม่ได้     เขียนอย่างนี้อาจจะผิด     จริงๆ แล้วสมองทำงาน ๒ ส่วน คือส่วนที่เรารู้สึกตัว ควบคุมได้ด้วยสติการระลึกรู้ของเรา     แต่อีกส่วนหนึ่งสมองทำงานโดยอัตโนมัติ     ตัวเราควบคุมได้น้อย หรือไม่ได้เลย      การทำงานของสมองแบบหลังนี่แหละที่ผมกำลังหมั่นฝึกสมองของตนเองอยู่

           มีผลการวิจัยบ่งชัดเจน ว่าสมองทำหน้าที่แทนกันได้     ตามปกติจะมีสมองส่วนหนึ่ง เป็นเสมือน "จักษุสมอง" คือทำงานด้านการรับรู้ทางตา      ในคนที่ตาบอดตั้งแต่เด็ก สมองส่วนนี้จะโยกไปทำหน้าที่ด้านอื่น    ในคนที่สมองบางส่วนถูกทำลาย (เช่นจากหลอดเลือดเส้นเล็กๆ อุดตัน)      สมองส่วนอื่นจะเข้ามาช่วยทำหน้าที่แทน     ความรู้ชิ้นนี้เป็นความรู้ใหม่ ที่ลบล้างความรู้เดิม     เดิมเชื่อกันว่า เมื่อสมองเจริญถึงขีดสุด (อายุ ๒๕ ปี) สมองก็จะหมดความสามารถในการปรับตัวอีกต่อไป     คล้ายสร้างบ้านเสร็จ ต่อไปก็มีแต่จะผุพังทรุดโทรม

            การเปรียบเทียบสมองกับวัตถุที่เป็นรูปธรรมอย่างบ้านนั้น ทำให้เราเข้าใจง่าย      แต่ก็เสี่ยงต่อความเข้าใจผิด    เพราะบ้านมันซ่อมแซมปรับปรุงตัวเองไม่ได้     แต่สมองทำได้ และทำอยู่ตลอดเวลา แม้ในผู้สูงอายุมากๆ      คือสมองจะมีการซ่อมแซมและ "ต่อสาย" (rewire) ใหม่อยู่ตลอดเวลา      โดยที่เราไม่รู้ตัว     ตรงนี้แหละครับ ที่ผมกำลังฝึกสมองของผม (จะได้ผลหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ  แต่ก็สนุกกับการทดลองและพยายาม)      ผมพยายามบอก (และอ้อนวอน) สมองของผม     ให้คิดใหญ่  หัดมีจิตใหญ่ มองสรรพสิ่งอย่างเชื่อมโยง เห็นอิทัปปัจจยตา และอนัตตา      "เห็น" อย่างละเอียดลึกซึ้งจนเวลามีเรื่องที่ผมตัดสินใจปฏิบัติแบบเกือบไม่คิด     ผมจะตัดสินใจแบบไม่มี hidden agenda เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม    

         ย้ำว่าผมกำลังเล่าความใฝ่ฝันในการเป็นนักเรียนของผมอยู่นะครับ ไม่ใช่เล่าความสำเร็จ

วิจารณ์ พานิช
๙ ก.พ. ๕๐
โรงแรมโฆษะ  ขอนแก่น

หมายเลขบันทึก: 80821เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2007 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
กำลังฝึกตามอาจารย์เหมือนกันค่ะ
อยากให้ทุกคนได้ฝึกแบบอาจารย์จังครับ  โลกนี้จะได้สงบ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท