การบริหารงานแบบ KM


การบริหารงานแบบ KM

         ผมเกิดจินตนาการเรื่องนี้ระหว่างนั่งประชุมสภามหาวิทยาลัย จุฬาฯ  วันที่ 24 พ.ย.48   มีการพิจารณาเกณฑ์ภาระงานขั้นต่ำของนักวิจัย   ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดไว้สำหรับใช้ประเมินตัวบุคคล   และใช้ในการบริหารหน่วยงานฟังการอภิปรายโดยกรรมการสภาที่เป็นอาจารย์ประจำแล้ว   รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่อธิการบดีและทีมบริหารของอธิการบดีจะต้องออกแรงชี้แจงเกณฑ์นี้ต่อผู้ที่มีตำแหน่งนักวิจัยทั่วทั้งมหาวิทยาลัย

         ผมเกิดความรู้สึกว่าประเด็นเกณฑ์ภาระงานขั้นต่ำนี้เป็นเพียงส่วนย่อยนิดเดียวของการบริหารงานบุคคลด้านการวิจัย   และของระบบวิจัยของมหาวิทยาลัย   ซึ่งหัวใจคือ output ด้านการวิจัยที่เกิด impact ต่อสังคม

         การมีเกณฑ์ภาระงานขั้นต่ำเป็นของดี   และเกณฑ์ที่เสนอในที่ประชุมก็เหมาะสม   แต่ผมเป็นห่วงว่าเวลาปฏิบัติจริงถ้าเราบริหารกฎระเบียบและนักวิจัยก็ทำงานเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ขั้นต่ำ   งานวิจัยก็จะไม่พัฒนา   ไม่มีผลลัพธ์และผลกระทบที่มีคุณค่า

         จะเกิดผลงานวิจัยที่ทรงคุณค่า   การบริหารงานและการปฏิบัติงานต้องเลย (beyond) เกณฑ์ขั้นต่ำไปเป็น 2 เท่า 3 เท่า หรืออาจถึง 5 - 10 เท่า      สมัยที่ผมยังหนุ่ม ๆ ทุ่มเททำงานวิชาการใน ม.สงขลานครินทร์   ผมเคยประมวลภาระงานของตัวเองและบอกตัวเองอยู่คนเดียวด้วยความภูมิใจว่าผมทำงานให้แก่มหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 5 เท่าของเกณฑ์ขั้นต่ำ   เมื่อพิจารณาที่ผลงานทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ

         การที่ผลงานวิจัยจะทรงคุณค่า   คนทำงานและผู้บริหารต้องมุ่งที่ผลงาน   ไม่ใช่มุ่งที่เกณฑ์ขั้นต่ำของภาระงาน

         คือต้องบริหารผลงาน   ไม่ใช่บริหารเกณฑ์ขั้นต่ำ

         การบริหารผลงาน   ควรบริหารแบบ KM

         การบริหารแบบ KM เน้นที่บริหารความสำเร็จ   เอาความสำเร็จตามเป้าหมาย (วิสัยทัศน์) ของมหาวิทยาลัยมา ลปรร. กัน   ท่ามกลางความชื่นชมยินดีและสกัด Knowledge Assets เพื่อการบรรลุเป้าหมายนั้น ๆ ไว้ใช้งานและยกระดับความรู้นั้นขึ้นไปเป็นวงจรไม่รู้จบ

         นอกจาก KA และ KS ก็ต้องบริหาร KV ด้วย   คือคอยหมั่นตรวจสอบว่าองค์กรบรรลุผลสำเร็จตาม KV มากน้อยเพียงใด   ส่วนไหนที่ยังอ่อนแอก็พยายาม "คว้า" (capture) ความรู้จากภายนอกและ "ค้น" ความรู้จากภายใน   เอามา ลปรร. กันเพื่อยกระดับการปฏิบัติและยกระดับความรู้   เป็นวงจรไม่รู้จบ

วิจารณ์  พานิช
 24 พ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 8011เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2005 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท