เก็บตกจากยอดตึก


การเดินขึ้นไปบนที่สูง เมื่อเราสอดสายตาลงสู่เบื้องต่ำ จะเห็นอะไรต่อมีอะไรมากมายให้ศึกษาและคิดครวญ ผู้คนกำลังเดินขวักไขว่ไปมา บางคนกำลังโศกเศร้า บางคนกำลังวุ่นอยู่กับการทำงาน บางคนกำลังเปิดประตูรถ แต่ถ้าไม่มองก็แล้ว ไป นอกจากการมองจากที่สูงสู่ที่ต่ำแล้ว บนยอดสูงคือตึก มีกิจกรรมบางอย่างของมนุษย์อยู่ และกิจกรรมแต่ละวัน มีสาระให้คิดครวญเสมอ

อารัมภบท

   เมื่อวาน ตั้งใจว่า วันรุ่งขึ้นจะรีบมาเขียนบันทึก แต่พอตกรุ่งเช้า รีบทำภาระกิจส่วนตัวเป็นที่เรียบร้อย ปั่นจักรยานคู่ใจที่สำรองใจอยู่ว่าวันหนึ่งนักเลงฝีมือร้าย (ไม่ใช่ฝีมือดี) คงจะหยิบไป หรือสักวันมันก็คงจะผุพังไปตามกาลเวลา วันที่เราต้องสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก มักเป็นวันที่น่าเศร้า โดยเฉพาะจักรยานคันนี้ กว่าจะซื้อได้ต้องเดินไป-เดินมาระหว่าง บิ๊กซี โลตัส ฟิวเจอร์ฯรังสิต อยู่หลายรอบ เก็บหอมรอบริบมาจนได้จักรยานหนึ่งคัน วันที่ซื้อ ก็เป็นวันที่ เบียร์จัง บังคับ (ขู่เข็ญหัวใจ) ให้ซื้อ และในที่สุดผมก็ได้มันมาปั่นในมหาวิทยาลัย เหมือนวันนี้ เมื่อมาถึงที่ทำงาน เปิดคอมพิวเตอร์ หวังจะเขียนอะไรบางอย่างที่คิดไว้ แต่แล้วต้องผิดหวัง เมื่อเครือข่ายอินเตอร์เนตไม่เปิดโอกาสให้สมหวัง จึงตั้งใจใหม่ว่า หลังจากเข้าบรรยายนักศึกษาแล้ว จะมาระบายความคิดบนหน้าจอ บรรยายเสร็จ รีบกลับมาเปิดอีกครั้งหนึ่ง ก็ยังใช้ไม่ได้ ไม่เป็นไร รอทานข้าวเสร็จ ไปบรรยายรอบบ่าย กลับมาน่าจะใช้ได้ เมื่อกลับมารีบเคลียร์งานที่ค้างไว้เรียบร้อย จึงเปิดและแล้วมันก็ใช้การได้ แต่สิ่งที่ผมคิดจะบันทึกไว้เมื่อเช้า มันไม่มี มันหายไปจากสมองอันน่าสงสารของผมเสียแล้ว แต่จำได้ว่า เมื่อคืนนี้ ดวงจัง อุ๋มจัง และเบียร์จัง มาพบเอกคุงที่ ห้องนอน (ห้องนั่งเล่น กินข้าว ทำงานและนอน) เราได้พูดคุยอะไรบางอย่างไป แต่บัดนี้มันหายไปแล้ว ปะติดปะต่อไม่ได้ แต่คุ้นๆ ว่าทำภาพซ้อนภาพเหมือนช่อง ๗ สี (ไว้ให้เบียร์คุงเขียนละกัน) เพื่ออธิบายเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านออกมาเป็นภาพ ถึงกระนั้น เมื่อคิดไม่ออกก็ไม่เป็นไร เพราะมีเรื่องใหม่ให้บันทึก (ขณะนี้ เบียร์คุงคงอยู่ในหมู่บ้าน ร่วมงานเปิดธนาคารหมู่บ้านอยู่)

เรียงร้อยเรื่องราว

    ช่วงเช้า รับผิดชอบในการบรรยายให้นักศึกษาวิชาเอกบรรณารักษ์ฯ บัญชี และการเงินฟัง โดยจัดกิจกรรมให้นักศึกษาอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาชุมชน สร้างความผิดหวังนิดๆ บนหัวใจน้อยๆ ของผู้ตั้งความหวังไว้เกินกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น "นี่ถ้ายืมกล้องวีดีโอของคณะฯมาเก็บกิจกรรมไว้อย่างที่เคยตั้งใจ คงสิ้นเปลื้องแน่ๆ แต่บางกลุ่มเขาก็อภิปรายได้ดี" ความคิดดังกล่าวนี้ ผุดขึ้นในใจหลังจากนักศึกษาทั้งหมดอภิปรายจบ ช่วงบ่ายเข้าห้องบรรยาย เป็นนักศึกษาวิชาเอกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ทำให้รู้สึกมีกำลังใจ จิตวิญญาณของ "ความอยากให้" มันฟูขึ้น เมื่อเห็นความตั้งใจ ความเอาจริงเอาจัง ความกล้าหาญ (แม้มือของบางคนจะสั่นระริกเมื่อต้องออกมาอภิปรายกลุ่ม) ทำให้คิดโครงการอันหนึ่งขึ้นมาได้ "โครงการ การแข่งขันการอภิปรายกลุ่ม จากสารัตถะทางสังคม ปรัชญาและศาสนา" โดยความร่วมมือของ หลักสูตรภาษาไทย (หลักเกณฑ์การอภิปรายกลุ่ม) และกลุ่มวิชาปรัชญาและศาสนา (เนื้อหาสาระ) ของคณะมนุษย์ฯ" อย่างไรก็ตาม เมื่อนักศึกษาอภิปรายจบ (คงเหลือ ๑ กลุ่ม ยกไปอภิปรายสัปดาห์หน้า) ผมพิจารณาเนื้อหาในชิ้นงาน ตลอดถึงรูปลักษณ์การอภิปราย มี ๓ กลุ่มที่น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเพื่อนๆ ๑) ปัญหาชุมชน "ชุมชนพุทธฉาย" นักศึกษาเก็บข้อมูล โดยการลงพื้นที่ สังเกต สอบถาม และนำมาวิเคราะห์ลงในเอกสาร จุดเด่นของกลุ่มนี้ นอกจากการพยายามวิเคราะห์เนื้อหาในเอกสารแล้ว การอภิปรายดูจะเป็นธรรมชาติมากๆ และได้เนื้อหาสาระเป็นอย่างดียิ่ง ๒) ปัญหาการอยู่ร่วมกันเป็นคู่ของนักศึกษา นักศึกษาเก็บข้อมูลจากการสังเกต สัมภาษณ์ สำรวจหอพักนักศึกษาย่านประตูน้ำพระอินทร์ ๓) ปัญหาชุมชน ถนนพหลโยธิน ซอย ๙ อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี นักศึกษาเข้าไปศึกษาทุกๆ ปัญหาที่จะศึกษาได้ และนำมาวิเคราะห์ตามเกณฑ์ที่ตกลงกัน เกณฑ์ที่ตกลงคือ ๑) นักศึกษาลงไปศึกษาปัญหาชุมชน ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง หรือปัญหาเดียว แล้วแต่ถนัด จากนั้นนำมาวิเคราะห์ แยกประเด็นเป็น ๔ ประเด็นเป็นอย่างน้อยคือ ๑) สภาพปัญหา ๒) ผลกระทบของปัญหา ๓) สาเหตุของปัญหา ๔) แนวทางหรือวิธีการแก้ไข ทั้งที่เป็นความคิดของชุมชน และของกลุ่มที่ระดมความคิดกัน พิมพ์หรือเขียนก็ได้ (บางคนเขียน) ลงในกระดาษ A4 จำนวน ๓ หน้า ไม่ต้องทำปก ให้นำเม็กมาเย็บที่มุมกระดาษก็พอ

ข้อคิดจากยอดตึก

   ระหว่างที่นักศึกษาอภิปราย นอกจากนักศึกษาจะได้ความรู้ ได้กระบวนวิธีการศึกษาชนิดหนึ่ง เพื่อนๆ ก็ได้ความรู้ด้วย ผมก็ได้ความรู้ด้วย เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน บุคลิกในการอภิปรายของแต่ละคนแตกต่างกัน นักศึกษาบางคนผมมองภาพไปถึงนักวิชาการบางคน นักศึกษาบางคนผมมองภาพไปถึงนักการตลาด นักบริหารที่ผมเคยเห็นบุคลิกนั้นมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ระหว่างฟังผมก็ได้ความคิดบางเรื่องนอกจากความรู้มาด้วย

  ๑. การอภิปรายในวันนี้ มันไม่ยากเลย หากเราได้ทำด้วยความสามารถของเราเอง

  ๒. ทุกครั้งที่เราเข้าห้องประชุม เราจะได้อะไรบางอย่างมาเสมอ แม้ห้องประชุมนั้นจะเป็นห้องเรียนของนักศึกษาที่เรามองว่าน่าจะไม่มีอะไร

  ๓. นับครั้งไม่ถ้วน ที่ไม่ได้เตรียมอุปกรณ์บันทึกกิจกรรมมา สิ่งดีๆ จำนวนมากได้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย

  ๔. การบรรยายออกมาให้เข้าใจ บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้สื่อภาพ วีดีโอ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ

  ๕. ไม่ต้องขออภัยผู้ฟังหลังจากเสนองานจบ ผิดพลาดหรือไม่ขอให้ผ่านไปอย่างไร้ถ้อยคำ

  ๖. แค่เพียงคำพูดสองสามคำ ก็พอจะเดาออกแล้วว่า สิ่งที่พูดนั้นคือความรู้ของตนเองหรือความรู้ของผู้อื่น

  ๗. การที่เราไม่มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ข้อมูลก็ดี ลงพื้นที่ก็ดี เราคือคนที่กำลังดึงผู้อื่นให้ต่ำลงตามเรา อนึ่ง ในหมู่พวกเรา คนใดมิได้อาศัยความสามารถของคนอื่นมายืนเด่นในสังคม ผ่านประสบการณ์ชีวิต ด้วยความสามารถ ความบริสุทธิ์ยุติธรรม เราผู้นั้น ย่อมได้รับการสรรเสริญ และเป็นแบบที่ดีในหมู่นักปราชญ์ น่าละอายนัก กับการที่ต้องคอยเกาะเกี่ยวผู้อื่นมีชีวิต น่าเวทนาแท้กับการต้องคอยพยุงผู้อื่นไม่ให้ล้ม ทั้งที่เขาก็มีชีวิตเหมือนมนุษย์ทุกคน กอดคอไปด้วยกัน เพื่อนรู้สิ่งใด เราต้องรู้สิ่งนั้น เรารู้สิ่งใด เพื่อนต้องรู้สิ่งนั้น ฝากรอยยิ้มและความรู้สึกที่ดีให้แก่กันและกัน

นมินทร์ บดินทรสิงห์

เวลา ๑๘.๐๐ น.

วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๗

แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒

  

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 7966เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2005 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท