แนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนนครศรีฯ


หน่วยงานต่างๆจะต้องไม่มุ่งเปิดหน้างานขึ้นมา แต่จะให้แต่ละหน่วยงานส่องกล้องมองงานต่างๆ หน้างานต่างๆที่เปิดไว้แล้วให้เห็นงานในฟังชั่นของตนเองให้ได้

วันที่ 16 ก.พ.เป็นวันที่ภาคีพัฒนาภาคประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเคลื่อนไหวงานพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผมเองเพิ่งเข้าไปมีส่วนรับรู้เรียนรู้และเคลื่อนไหวอยู่ด้วยเล็กน้อยในระยะหลัง ได้รวมตัวกันเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านวิชม ทองสงค์ ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้เข้าร่วมจากภาคประชาชน ภาคีพัฒนาต่างๆ และตัวแทนจากภาครัฐประมาณ 40 คน ระหว่างเวลา 10.00 -12.00 น

จุดมุ่งหมายของการเข้าพบในวันนี้ นอกจากจะรายงานผลการเคลื่อนไหวกิจกรรมพัฒนาภาคประชาชนให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทราบแล้ว ก็เป็นการเตรียมการประชุมปฏิบัติการแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรชุมชนสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช กำหนดจัดขึ้น วันที่ 26 ก.พ. ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ท่านผู้ว่าฯเองก็เป็นทั้งเจ้าภาพงานและเป็นวิทยากรด้วยท่านหนึ่ง จึงต้องมีการประชุมเตรียมงาน ซักซ้อม BAR กันก่อน

การพบปะกันของภาคีพัฒนาภาคประชาชนกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนภาครัฐ ทำให้ทั้งสองภาคส่วนได้เรียนรู้หลักการและแนวทางการทำงานร่วมกัน เท่าที่ผมประมวลได้ ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องต่างๆคือ แนวคิดบูรณาการทั้งจังหวัด การทำงานโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก Area approach

พูดคุยกันถึงแนวทางการทำงานของโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครฯ ที่ขับการพัฒนาจากหน่วยหมูุ่บ้านขึ้นสู่ระดับหน่วยตำบล ในขณะที่เครือข่ายแผนชุมชนพึ่งตนเองภาคใต้ที่นำโดย   ผู้ใหญ่โกเมศว์ ทองบุญชู ซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชน ขยับการพัฒนาจากหน่วยตำบลลงสู่ระดับหน่วยหมู่บ้าน ซึ่งท่านผู้ว่าฯสรุปว่าไม่ว่าจะโดยใครจะขยับจากไหน  ก็บรรจบกันที่ตำบล ซึ่งเมื่อได้พัฒนาขึ้นสู่ระดับตำบลแล้ว ก็จะทำให้สามารถเชื่อมต่อกิจกรรมพัฒนาต่างๆเข้ากับกิจกรรมการพัฒนาซึ่งมีอยู่ตามโครงสร้างอำนาจได้ง่ายขึ้น จึงนับว่าทั้งภาครัฐและภาคประชาชนขยับงานพัฒนาที่สอดคล้องและหนุนเสริมกันและกัน ท่านพูดถึงตรงนี้ก็ทำให้ได้เห็นรอยยิ้มของทุกฝ่ายอย่างมีความสุข

ท่านผู้ว่าฯท่านได้กล่าวย้ำถึงการพัฒนาที่จะต้องคำนึงถึงทุนเดิมและประสบการณ์การเรียนรู้เดิมของชุมชน ว่าทุกภาคส่วนจะต้องไม่พยายามเปิดหน้างานขึ้นมาใหม่ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ให้ต่อยอดไปจากฐานการเรียนรู้เดิม ของกิจกรรมที่ทำอยู่แล้วในชุมชน จะเริ่มไว้โดยใครหน่วยงานใดก็แล้วแต่ ให้ทำงานอย่างบูรณาการกันในพื้นที่เดียวกัน หนุนเสริมกัน ประสานความร่วมมือกัน ไม่ใช่ขัดแย้ง ซ้ำซ้อน หรือเหยียบตาปลากัน แต่เป็นการส่งต่อกิจกรรมการพัฒนา ส่งไม้อย่างวิ่งผลัดกัน  หากทำได้อย่างนี้เป้าหมายชุมชนอินทรีย์ หมู่บ้านอินทรีย์ ตำบลอินทรีย์ ฯลฯ ก็จะใสสะอาดขึ้นเพราะหน่วยงานต่างๆได้ช่วยกันคัดกรองให้ชาวบ้าน และก็จะไม่รกรุงรังด้วยปรักหักพังของการพัฒนาที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้

หน่วยงานต่างๆจะต้องไม่มุ่งเปิดหน้างานขึ้นมา แต่จะให้แต่ละหน่วยงานส่องกล้องมองงานต่างๆ หน้างานต่างๆที่เปิดไว้แล้วให้เห็นงานในฟังชั่นของตนเองให้ได้ (หัดวิเคราะห์ สังเคราะห์ เชื่อมโยงระหว่างงานเรางานเขา) ชาวบ้านจะได้ไม่สับสนกับบทบาทของตนเอง ชาวบ้านคนเดียวกันบางคนทำหน้าที่ให้กับหลายหน่วยงาน แบบสวมหมวกหลายใบ จนต้องขัดแย้งกับตนเอง กลายเป็นคนเดียวแต่สองพวก จึงต้องปรับฐานคิดตรงนี้

ทักษะในการวิเคราะห์สังเคราะห์งานของคนอื่นเพื่อให้เห็นงานหน้างานของตนเอง เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความสามารถมาก ท่านยกตัวอย่างโครงการทดลองนำร่องจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชนซึ่งนำร่องในพื้นที่ 3 ตำบล ของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งดำเนินการเมื่อกลางปี 2548 ว่า  หน่วยงาน 9 หน่วยงานที่มาร่วมทำงานอย่างบูรณาการร่วมกันนั้น สามารถมองเห็นงานพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนที่ทำร่วมกันในงานปรกติของหน่วยงานของตนเองได้ ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้

เมื่อเห็นงานหน้างานของตนเองแล้ว ก็เป็นเจ้าภาพทำเรื่องนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งในบทบาทของคุณอำนวยซึ่งอยู่หน้างาน จะต้องทำบทบาททั้งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ facilitator ในบทบาทของการเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา  catalyst ที่ดี และในบทบาทของการเป็นตัวสร้างเครือข่าย  networker ให้เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งเชื่อว่าเมื่อได้ฝึกอย่างนี้ทำอย่างนี้หลายๆรอบหลายๆครั้งแล้วก็จะทำให้คุณอำนวยเกิดความชำนาญการในเรื่องนั้นๆ

ยังมีต่อครับ



ความเห็น (6)
พบปะพูดคุยกันบ่อยๆ ก็ดีนะค่ะ จะได้ทราบข้อมูลที่เป็นข้อมูลล่าสุดอยู่เสมอค่ะ เผื่อจะได้แนวทางใหม่ๆ ด้วยนะคะ

คุณสุธรา ครับ

           ใช่เลยครับ ลปรร.กันบ่อยๆนอกจากจะได้ทบทวนงานที่ทำกันแล้ว เกิดความคิดและเห็นงานใหม่ขึ้นอีกด้วยครับ

  • เห็นด้วยครับที่มาร่วม BAR กันก่อน และที่ไม่จำเป็นไม่อยากให้หน่วยงานเปิดหน้างานขึ้นมาใหม่  เห็นด้วยอย่างยิ่งครับเพราะขอให้ให้ทำงานเก่าๆ ให้ดีก็ถือว่าเยี่ยมแล้วนะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำมาบันทึกแบ่งปัน

น้องสิงห์ป่าสัก ครับ

         BAR กันก่อน ก่อนทำอะไรเป็นการเรื่องดี จะได้ไม่ประมาท เห็นด้วยครับ

ครูนง คิดว่าแผนที่จะเกิดจะเป็นแผนราชการจ๋า หรือว่าจะใกล้มาทางแผนที่ครอบคลุม ความต้องการภาคประชาชน และมีภาคีมาร่วมทั้งลงขัน ลงมือ และรับประโยชน์อย่างกว้างขวางครับ

คุณ สมศักดิ์ ครับ

         เป็นการหันหน้าเข้าหากัน ร่วมวงเรียนรู้เดียวกัน และสร้างแนวทางการทำงานในแนวเดียวกันครับ

         อย่างให้คุณสมศักดิ์ได้เข้าระบบเสียก่อน จะได้ลิ้งค์ถึงกันได้ ดีไหมครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท