กระบวนการจัดการความขัดแย้งของชุมชน


ระบบการจัดการของชุมชนที่ยังไม่หายไป

การศึกษาเรื่อง “กระบวนการจัดการความขัดแย้งของชุมชน” นี้มีความมุ่งหมายที่จะวิเคราะห์ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ในบริบททางสังคมของชุมชน ในการจัดการความขัดแย้ง มีความสอดคล้องและสัมพันธ์กับการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นภายในชุมชน ภายใต้ฐานการศึกษาที่ใช้แนวคิดกระบวนการยุติธรรมชุมชนเชิงสมานฉันท์

ผลการศึกษา พบว่า พบว่าฐานสำคัญของกระบวนการจัดการความขัดแย้งของชุมชนที่จะนำมาซึ่งความสมานฉันท์ คือ การสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคม โดยการป้องกันแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง โดยใช้ฐานทุนทางสังคม (Social capital) และหลักจารีตวัฒนธรรม (Customary Laws) ที่แสดงออกในรูปแบบประวัติศาสตร์ความเป็นชุมชน โครงสร้างสถาบันทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม การรวมกลุ่ม จารีต และการควบคุมทางสังคมของชุมชน โดยชุมชนได้การเรียนรู้ และพัฒนาจากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้น ผ่านการกลั่นกรองจากการแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ภายใต้ความต่างต่างกันทางด้านวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตามกรอบความเชื่อของศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ที่มีแกนหลักของคำสอนเหมือนกันคือ การทำให้คนเป็นคนดีและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ผู้ศึกษาได้ใช้ฐานการวิเคราะห์จาก ประวัติศาสตร์ของชุมชน กรณีข้อขัดแย้ง และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชน แล้วนำมาเปรียบเทียบกับฐานความรู้ทางด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ทำให้พบว่า กระบวนการจัดการความขัดแย้งของชุมชน แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ คือ

  1. การจัดการความขัดแย้งโดยองค์กรชุมชน ได้แก่ คณะกรรมการชุมชน คณะกรรมการมัสยิด กลุ่มสตรีแม่บ้าน และกลุ่มงานทางด้านการพัฒนานาชุมชน
  2. การจัดการความขัดแย้งด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยโดยคนที่ชาวบ้านเชื่อถือ
  3. การจัดการความขัดแย้งโดยการใช้กิจกรรมประสานใจ เป็นวิธีการที่จะทำให้คนที่ขัดแย้งกันหรือกลุ่มที่ขัดแย้งกันหันหาเข้าหากันได้ และ
  4. การจัดการความขัดแย้งด้วยการหยุดเรื่องขัดแย้งดังกล่าว โดยไม่กล่าวถึง

ลักษณะทั้ง 4 ประการนี้ได้มาจากฐานการคิด หรือภูมิปัญญาของชุมชนที่เรียกว่า “การปาก๊ะ” หรือวิธีการที่สร้างคนให้เกิดความสมานฉันท์ ร่วมมือร่วมใจกันที่จะทำในสิ่งต่าง ๆให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งการปาก๊ะ เน้นกระบวนการพูดคุยเพื่อให้เกิดความคิดในสิ่งที่เราจะทำ โดยต้องใช้การรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน หาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน อันจะนำมาซึ่งผลสำเร็จของการทำงาน หรือการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชุมชน อย่างสมานฉันท์ จากการศึกษายังพบว่า การส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของชุมชน ในการนำทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม กระบวนการเรียนรู้ในการจัดการความขัดแย้งของชุมชน มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ได้นั้น จะต้อง

  • การสร้างความเข้าใจวัฒนธรรมและบริบทของชุมชน ผ่านการศึกษาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชุมชน การใช้ประโยชน์ การร่วมดูแลรักษาฐานทรัพยากรของชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อปากท้องและความอยู่รอดของชุมชน
  • ส่งเสริมให้ชุมชนควรมีความเชื่อมั่นในความสามารถในการจัดการความขัดแย้ง โดยถือเป็นคุณค่าร่วม (core value)
  • องค์กรส่วนท้องถิ่นควรจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์ประสานงานของชุมชนในการจัดการความขัดแย้ง
  • ภาครัฐควรจะสร้างนโยบายและแผนการการทำงานที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และนำเอาความสามารถของชุมชนในการจัดการความขัดแย้ง และปัญหาตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของชุมชนมาประยุกต์ใช้ รวมทั้งสนับสนุนให้ชุมชนเกิดการพัฒนากระบวนการจัดการความขัดแย้งให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น


ความเห็น (2)

แล้วหลักจัดการความขัดแย้งในตนเองไม่มีบ้างเหรอครับ  ว่าจะเอาไปประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกใครดี ในวาเลนไทน์คืนนี้

 

สุข สมหวัง รับวาเลนไทน์ ครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท